ภาพผู้หญิงคนหนึ่งอาบน้ำที่เมือง Bhubaneshwar ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของรัฐโอดิชา แม้กระทั่งในพื้นเมือง หลายครัวเรือนก็ไม่มีน้ำประปา ส่วนในพื้นที่ชนบทที่ไม่มีน้ำประปามีมากถึงร้อยละ 82 ภาพถ่ายโดย ANDREA BRUCE, NAT GEO IMAGE COLLECTION
เดลี, อินเดีย – ในหมู่บ้านไกธิ เมืองบุนเดลขัณฑ์ (Bundelkhand) ที่ตั้งอยู่ในตอนเหนือของภาคกลางในอินเดีย จะมีก๊อกน้ำสาธารณะ 1 ก๊อก ในทุก 5 ครัวเรือน เมืองบุนเดลขัณฑ์ต้องพบกับทุกข์ทนเนื่องจากภัยแล้งมาแล้วใน 2 ทศวรรษให้หลัง การขาดแคลนน้ำถือเป็นวิถีชีวิตของที่นี่ เนื่องการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส COVID-19 ชาวบ้านมีตัวเลือกชวนกระอักกระอ่วนใจในการป้องกันตัวเพียง 2 ตัวเลือก คือล้างมือ ไม่ก็ทำระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน
“เราไม่ได้รับอนุญาตให้มีคนมากๆ รวมตัวกันรอบก๊อกน้ำ และพยายามล้างมือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” มันกัล ซิงค์ ชาวบ้านในหมู่บ้านไกธิ กล่าว เขาเพิ่งทิ้งงานคนขับรถในเดลีเพื่อกลับมาบ้านเกิดของตัวเองเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งให้ชาวอินเดีย 1.3 ล้านคนอยู่ภายในบ้านอย่างน้อย 3 สัปดาห์
และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม กระทรวงทรัพยากรน้ำฯ ของอินเดียกระตุ้นให้รัฐบาลกระจายข้อความซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่า: ให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นเวลา 20 วินาที ไปตลอดทั้งวัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่สำหรับในอินเดียและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ข้อความนี้กลับละเลยปัญหาสำคัญที่ว่า: แล้วถ้าหากไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอล่ะ?
เมื่อปีที่แล้ว เมืองเจนไน เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในอินเดียเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากภาวะแห้งแล้งต่อเนื่อง NITI Aayog สถาบันคลังสมองด้านนโยบายของรัฐบาลอินเดียออกรายงานถึงวิกฤตการขาดแคลนน้ำที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศว่า ร้อยละ 82 ของครัวเรือนในชนบท หรือบ้านเรือนว่า 146 ล้านหลังไม่มีท่อประปา และเกือบร้อยละ 60 ของครัวเรือนในเมืองใหญ่ก็ไม่มีท่อประปาเช่นเดียวกัน
ปัญหาในอินเดียไม่ได้มีเพียงการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ธนาคารโลกได้รายงานว่า มากกว่าครึ่งของเขตที่อยู่อาศัยในอินเดียกำลังประสบกับการขาดแคลนน้ำบาดาลหรือน้ำที่ปนเปื้อน ในปีนี้ก่อนช่วงฤดูร้อน พื้นที่เกือบร้อยละ 33 ของอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง หรือภาวะที่ใกล้เคียงกับภัยแล้ง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบทต้องพึ่งพารถบรรทุกน้ำจากรัฐบาลที่จะส่งน้ำมาให้อย่างมากที่สุดจำนวน 20-25 ลิตร ต่อคนใน 1 วัน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการล้างมือเพื่อป้องกันไวรัส COVID-19 หากแต่ชาวบ้านจำเป็นต้องนำน้ำเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
หมู่บ้านนับพันแห่งในภูมิภาค Marathwada ที่อามาร์ ฮาบิบ ทำงานและอาศัยอยู่ก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน ฮาบิบกล่าวว่ามีหลายครั้งที่รถบรรทุกน้ำของรัฐบาลไม่ได้เข้ามาที่หมู่บ้าน ความคิดที่จะให้ประชาชนล้างมือราว 10 ครั้งเป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้งจึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดยิ่ง
“พื้นที่ชนบทในอินเดียไม่มีน้ำเพียงพอที่จะล้างมือไปตลอดทั้งวันหรอกครับ” ฮาบิบ กล่าว
เคซาร์ ซิงค์ ประธานขององค์กรน้ำแห่งเมืองบุนเดลขัณฑ์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไรท้องถิ่น กล่าวว่าหลายคนในภูมิภาคนี้ไม่มีแม้กระทั่งก๊อกน้ำส่วนรวม ผู้หญิงตามหมู่บ้านต่างๆ ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางนับกิโลเมตรเพื่อไปต่อคิวตักน้ำอันยาวเหยียด และพวกเขาก็ให้ความสำคัญกับการนำน้ำไปทำอาหาร ดื่ม หรือเลี้ยงสัตว์มากกว่าเอามาล้างมือ
เรื่องของวัฒนธรรมนั้นมีส่วน
นอกจากเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำ ชาวอินเดียในชนบทต่างมีทัศนคติที่ไม่ใส่ใจเรื่องการล้างมือมากนัก จากการสำรวจของรัฐบาล ชาวอินเดียกว่าร้อยละ 70 ล้างมือโดยไม่ใช้สบู่ก่อนการรับประทานอาหาร ในขณะที่ราวร้อยละ 30 จะล้างมือหลังการขับถ่าย ที่มักจะทำในพื้นที่เปิดโล่ง และบางครั้งก็มีการใช้ทราย ขี้เถ้า หรือโคลนแทนสบู่
การขาดสุขลักษณะที่ดีในพื้นที่ชนบททำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดหลายชนิด ในอินเดีย ราวร้อยละ 21 ของการเกิดโรคระบาด ทั้งอหิวาตกโรค โรคบิด โรคไวรัสตับอักเสบเอ หรือไข้ไทฟอยด์ ต่างเกิดจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการล้างมือที่เหมาะสม เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่หรือ COVID-19
ในส่วนของทั่วโลก มีการประมาณการณ์ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 297,000 คนต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงซึ่งเกิดจากการขาดแคลนน้ำดื่ม การสุขอนามัยที่ดี และการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสุขอนามัย (เช่นการล้างหรือทำความสะอาด) ซึ่งในอินเดียเป็น สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในเด็กมากที่สุด อนึ่ง มีการศึกษาว่าการล้างมือช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคท้องร่วงได้มากถึงร้อยละ 43
โครงสร้างพื้นฐานก็เป็นส่วนสำคัญ
รายงานขององค์การอนามัยโลกและองค์กรยูนิเซฟเมื่อปีที่แล้วพบว่า ในปี 2017 คนกว่า 3 ล้านทั่วโลกหรือกว่าร้อยละ 40 ของประชากรโลก ขาดแคลนอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานในการล้างมือด้วยสบู่กับน้ำภายในบ้าน คนมากกว่า 670 ล้านคนยังต้องขับถ่ายในที่เปิดโล่ง และอีกกว่า 700 ล้านคนยังต้องใช้อุปกรณ์ที่ขาดสุขอนามัยในการใช้ชีวิต
ยูซูฟ กาบิร์ เจ้าหน้าที่ขององค์กรยูนิเซฟในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) กล่าวว่า ความกังวลใน COVID-19 จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะชักจูงคนในพื้นที่ชนบทให้พัฒนาสุขอนามัยของตัวเอง
“มันเป็นไปได้ที่จะล้างมือให้เป็นกิจวัตรประจำวันแม้จะมีน้ำใช้อย่างจำกัด” คาบิร์ กล่าว โดยองค์กรยูนิเซฟได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลอินเดียเพื่อติดตั้งจุดล้างมือในตลาด โรงเรียน สถานีอนามัยตามพื้นที่ชนบาท
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังมีความกังวลเมื่อยามหน้าร้อนนี้มาถึงว่า อินเดียอาจจะพบกับภัยแล้งรุนแรงและเกิดการขาดแคลนน้ำอย่างหนักเช่นเดียวกับปีที่แล้ว โดยเมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีโมทีได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาน้ำประปาให้กับบ้านเรือนในชนบททุกหลัง ในอัตรา 55 ลิตรต่อคน ต่อวัน ภายในปี 2024
โดยสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 จะกระตุ้นให้รัฐบาลอินเดียต้องทำตามคำมั่นนั้น และจะกระตุ้นให้ชาวอินเดียต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เร็วมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันจะส่งผลดีที่ยั่งยืนหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไป