เพชรพระอุมา : สุดยอดวรรณกรรมแห่งการผจญภัยในผืนป่าลึกลับระดับตำนาน

เรื่องราวชีวิตของ พนมเทียน นักประพันธ์ผู้ล่วงลับที่สร้างสรรค์วรรณกรรมผจญภัยระดับตำนานอย่าง “ เพชรพระอุมา ” ซึ่งสร้างภาพจินตนาการอันบรรเจิดน่าตื่นเต้นในโลกแห่งพงไพร และสร้างแรงบันดาลใจในการออกท่องป่าให้กับผู้อ่านมาแล้วมากมาย

นวนิยายเรื่องหนึ่งอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องเล่าที่ส่งเสริมจินตนาการ เปิดหูเปิดตา ให้ความรู้ พาให้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น สร้างอารมณ์หลากหลาย เกิดเป็นเรื่องราวอันประทับใจไม่รู้ลืม

ในแต่ละยุคสมัย ก็จะมีนวนิยายที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไปหลายเรื่อง ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปในเมืองไทยช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2500 ในยุคที่นิยายที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารกำลังเฟื่องฟู นวนิยายที่คนในยุคสมัยนั้นลงความเห็นว่าโดดเด่น อ่านสนุก ผู้เขียนมีฝีไม้ลายมือจนนักอ่านในสมัยนั้น (ที่ตอนนี้อาจเริ่มอยู่ในวัยกลางคนกันแล้ว) รอคอยติดตามกันอย่างเหนียวแน่น ก็คงจะเป็นนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” เรื่องราวของการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นในป่าลึก โดยนักเขียนที่มีฝีมือโดดเด่นและฝากผลงานเอาไว้มากมายอย่าง พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากโรคชรา สิริรวมอายุ 89 ปี ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความอาลัยให้กับนักอ่านและวงการวรรณกรรมอย่างยิ่ง เพราะนี่ถือเป็นการสูญเขียนนักประพันธ์คนสำคัญที่ฝากงานเขียนชั้นเลิศไว้กับวงการวรรณกรรมไทยหลายเรื่อง มิใช่แค่เรื่องเพชรพระอุมาเท่านั้น

พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ภาพจาก http://art2.culture.go.th/

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของนามปากกา พนมเทียน เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดปัตตานี เขาเริ่มเขียนนวนิยายครั้งแรก เรื่อง เห่าดง ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาสันสกฤตและประวัติศาสตร์ อินเดียโบราณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย

หลังเรียนจบกลับมา เขาได้ยึดการเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ สร้างผลงานมาเป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษ มีผลงานนิยายกว่า 38 เรื่อง หลายเรื่องถูกนำมาสน้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ ละครเวที เช่น จุฬาตรีคูณ กัลปังหา กว่าชีวิตนี้จะสิ้น ก่อนอุษาสาง คิมหันต์สวรรค์หาย มัสยา ละอองดาว แววมยุรา สกาวเดือน เล็บครุฑ สิงห์สั่งป่า เห่าดง ทางเสือผ่าน และอื่นๆ

โดยฝีมือการเขียนนวนิยายของเขา ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่มีจินตนาการโดดเด่น และได้ใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์ชีวิตมากมายที่เขามีในการสร้างสรรค์งานเขียนออกมาได้หลากหลายแนว ทั้งจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนสาระนิยาย เป็นต้น

เนื่องจากผลงานทางด้านวรรณศิลป์อันโดดเด่น ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2540

“เพชรพระอุมา” นวนิยายแนวผจญภัยระดับตำนานในวงวรรณกรรมไทย

หากพูดถึงชื่อพนมเทียนแล้ว นวนิยายที่เป็นผลงานเด่นซึ่งถือเป็นผลงานอันเลื่องชื่อและครองใจนักอ่านหลายคนก็คือเรื่อง เพชรพระอุมา ซึ่งตัวพนมเทียนได้เขียนขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน 2533 ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน โดยเพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลายครั้ง ในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค จำนวน 48 เล่ม แบ่งเป็นสองภาค คือภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน จึงถือเป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย

สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ พนมเทียนนำเอาประสบการณ์ในการเข้าป่าจากการการติดตามทั้งปู่ของเขาคือ หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของเหมืองทองคำโต๊ะโมะ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และตาคือ รองอำมาตย์ตรี หมื่นบรรจง เจียรนัย (สว่าง รัตนกุล) ซึ่งถือเป็นครูพรานคนแรกของเขา และตาของเขาเป็นผู้บุกเบิกการเดินป่าผืนใหญ่อย่างดงพญาไฟ (เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นในปัจจุบัน) (ราว 60-70 ปีก่อน) เขาได้นำเอาความชำนาญในการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์ เรื่องราวจากพรานป่าที่เขาได้รับฟังจากหลากหลายผืนป่า ผสมเข้ากับจินตนาการของตน จนเกิดเป็นนวนิยายการผจญภัยในป่าที่บรรยายเรื่องราวที่แจ่มชัดได้อย่างน่าตื่นเต้น

หนังสือเพชรพระอุมา ภาค 1 มีจำนวนทั้งหมด 24 เล่ม ภาพจาก naiin.com

โดยในเว็บไซต์วิกิพีเดียได้ระบุเรื่องย่อของเพชรพระอุมา (ภาคแรก) ซึ่งถูกสมมุติให้เกิดขึ้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใหม่ๆ (ราว พ.ศ.2490) ไว้ว่า

เพชรพระอุมา เป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหาย (น้องชาย) ของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัยเพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจันพรานเกิดและพรานเส่ยพรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายนานาชนิด ที่ทำให้คณะเดินทางต้องเสี่ยงภัยและเผชิญกับสัตว์ร้ายในป่าดงดิบ อาถรรพณ์ของป่า นางไม้ ภูตผีปีศาจหรือแม้แต่สัตว์ประหลาด ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลาในการเดินทาง พลัดหลงเข้าไปในดินแดนลึกลับของอาณาจักรนิทรานคร ต่อสู้กับจอมผีดิบร้ายมันตรัยที่มีพละกำลังกล้าแข็งและมีอำนาจอย่างแรงกล้า ผ่านห้วงเวลาเหลื่อมซ้อนกันจนหลุดผ่านเข้าไปในยุคของโลกดึกดำบรรพ์ และค้นพบปริศนาความจริงของกะเหรี่ยงลึกลับในฐานะคนรับใช้และองค์รักษ์ประจำตัวของดาริน ที่ติดสอยห้อยตามคณะเดินทางมายังเนินพระจันทร์และมรกตนคร ซึ่งฐานะที่แท้จริงของแงซายถูกเปิดเผยและคณะเดินทางของเชษฐาได้พบเจอกับบุคคลที่ออกติดตามค้นหารวมทั้งช่วยกันกอบกู้บัลลังก์คืนให้แก่แงซายจนสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมีส่วนของการตามหาขุมทรัพย์ “เพชรพระอุมา” ที่เป็นตำนานเล่าขานกันมา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่องอีกด้วย

ส่วนสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้น่าติดตาม มีทั้งตัวละครเอกฝ่ายชาย รพินทร์ ไพรวัลย์ พรานหนุ่มเงียบขรึมผู้เก่งกล้าและมีความรู้ความสามารถในการเดินป่าอย่างน่าทึ่ง พาคณะเดินทางฝ่าอันตรายมานับไม่ถ้วน จนกลายเป็นตัวละครเอกที่อยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน รวมไปถึง หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ ตัวละครเอกฝ่ายหญิงสาวสวย ที่วางอุปนิสัยให้เป็นหญิงสูงศักดิ์ในเมืองผู้เย่อหยิ่งแต่ก็มีความกล้าหาญ

นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นคณะเดินป่าและมีนิสัยใจคอแตกต่างกันไปที่ล้วนสร้างเสน่ห์ให้กับการเดินเรื่องของเพชรพระอุมา เช่น คณะนายจ้างที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา, พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย,มาเรีย ฮอฟมัน, แงซาย พรานคู่ใจของรพินทร์ ฯลฯ และตัวละครปลีกย่อยอีกนับไม่ถ้วน (เพราะนวนิยายเรื่องนี้ยาวมาก)

โดยแนวคิดหลักที่ได้รับการเล่าในเรื่องซึ่งทำให้ผู้อ่านต่างพากันติดใจ มีทั้งความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้เดินป่าอย่างปลอดภัย ลักษณะ และความดุร้ายของสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่เคยเดินป่าหลายได้มีความรู้สึกราวกับได้เปิดโลกแห่งพงไพรอันน่าตื่นตะลึง และค่านิยมเรื่องของความสื่อสัตย์และความช่วยเหลือระหว่างบ่าวกับนาย เรื่องรักใคร่ระหว่างตัวละครเอกที่ชวนให้ผู้อ่านลุ้นให้ความรักของตัวละครสมหวัง รวมไปถึงการผูกเรื่องความลี้ลับ ไสยศาสตร์ กฎแห่งกรรม ซึ่งพนมเทียนนำเสนอเรื่องราวอันหลากรสนี้รวมกันได้อย่างน่าทึ่งผ่านกลวิธีภาษาที่โดดเด่นดังที่กล่าวไป

นอกจากนี้ เพชรพระอุมาถือเป็นนวนิยายที่ปลุกไฟความเป็นนักผจญภัยในตัวผู้อ่าน จนมีหลายคนอยากเป็นนักเดินป่าหรืออยากทดลองเริ่มเดินป่าจากนวนิยายเรื่องนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในวงการศิลปะ แม้ผู้สร้างสรรค์จะได้ลาจากโลกไป แต่ผลงานที่เยี่ยมยอดจะยังคงอยู่ยั้งยืนยงได้นับร้อยปี เช่นเดียวกับผลงานของพนมเทียนเรื่องนี้ซึ่งจะยังคงอยู่ และตกทอดไปกับนักอ่านอีกหลายรุ่น เนื่องจากความโดดเด่นของเรื่องราว การใช้ภาษาที่เยี่ยมยอด และกลวิธีการเล่าเรื่องที่ไร้กาลเวลา ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความคลาสสิกอันเป็นเสน่ห์ชวนติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนยุคสมัยใหม่ที่เรื่องราวของป่า สิงสาราสัตว์ และธรรมชาติเป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” และ ”ลึกลับ” มากขึ้นทุกที

แหล่งอ้างอิง

“พนมเทียน” อําลาชีวิต 89 นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ (คลิป)

ความตายนั้นผมไม่กลัว แต่กลัวจะเขียนเรื่องไม่จบ : พนมเทียน นักบุกเบิกนวนิยายผจญภัยไทย

อาลัย ‘พนมเทียน’ อัจฉริยสุภาพบุรุษนักเขียนผู้สร้างตำนานแห่งพงไพรในเพชรพระอุมา

เพชรพระอุมา นวนิยายที่ยาวที่สุดในโลก

เปิดแรงบันดาลใจของ “เพชรพระอุมา” จากสถานที่จริงในประสบการณ์ชีวิต “พนมเทียน”


อ่านเพิ่มเติม รวมภาพบรรดาห้องสมุดที่น่าหลงใหลที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.