ชีวิตในฉนวนกาซาเป็นเรื่องยากลำบาก พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง, ความยากจน และพลังงานไฟฟ้าก็มีให้ใช้เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ประชาชนราว 2 ล้านคนอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยรัฐปาเลสไตน์ ที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 2 เท่าของเขตดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่แออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ฉนวนกาซามีเขตแดนติดกับอียิปต์และอิสราเอลซึ่งปิดชายแดน ควบคุมการเดินทางเข้าออกอย่างเข้มงวด ฉะนั้นแล้วการใช้ชีวิตในฉนวนกาซาจึงไม่ต่างจากการอยู่ในเรือนจำที่มีสภาพเปิดโล่ง หรือบางทีอาจแย่กว่านั้น
โมนีก ชากส์ ก็เหมือนกับช่างภาพข่าวทั่วไป จุดเริ่มต้นของความสนใจในฉนวนกาซามาจากการเดินทางเข้าไปเก็บภาพสงครามระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลในปี 2004 แต่หลังจากใช้เวลาอาศัยอยู่กับครอบครัวหนึ่ง และผูกมิตรกับลูกสาวของพวกเขาที่มีอายุอ่อนกว่าเธอมาก ชากส์เริ่มเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในฉนวนกาซาที่เผชิญกับความท้าทายในทุกวันของชีวิต การเติบโตขึ้นในฐานะของเด็กผู้หญิงเป็นเรื่องยากลำบาก ในฉนวนกาซาลูกสาวคือภาพสะท้อนของครอบครัว ชากส์กล่าว พวกเธอต้องเผชิญกับแรงกดดันในการใช้ชีวิต เมื่อค่านิยมการแต่งงาน เป็นทางออกเดียวที่จะช่วยปลดเปลื้องภาระของครอบครัวได้
ในฉนวนกาซาผู้คนอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ และการจะทำอะไรก็ตามมักไม่รอดจากสายตาของกันและกัน แม้แต่การพบปะกับเพื่อนชายในร้านกาแฟ โดยปราศจากคำอนุญาตจากครอบครัว ก็สามารถกลายเป็นที่ถูกติฉินนินทาได้
เพื่อเข้าถึงชีวิตของผู้หญิงในฉนวนกาซา ชากส์พบปะกับเด็กสาวมากมายและขอให้พวกเธอแบ่งปันเรื่องราวของตนเองออกมา จากคนหนึ่งแนะนำชากส์ให้รู้จักกับอีกคน ช่วยให้เธอพบเด็กสาวจำนวนมาก แม้ว่าบุคคลส่วนใหญ่ที่เธอถ่ายภาพจะอาศัยอยู่ในเมืองกาซา ที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นเหล่านี้แล้ว การอนุญาตให้คนแปลกหน้าถ่ายภาพยังคงเป็นเรื่องท้าทายต่อบรรทัดฐานทางสังคมที่พวกเธอเติบโตมา
เด็กสาวส่วนใหญ่ที่ชากส์ถ่ายภาพไม่เคยเดินทางออกจากกาซา และพวกเธอปรารถนาที่จะออกไป แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม “ฉันวาดฝันว่าอยากจะไปที่ไหนสักแห่งแค่หนึ่งวันก็ยังดี ขอให้เป็นที่ที่ไม่มีใครรู้จักฉันเลย” เด็กสาวคนหนึ่งกล่าวกับชากส์
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางชีวิตที่ยาก ชากส์เลือกที่จะห้ความสำคัญกับช่วงเวลาแห่งความสุข, ความหวังและความเข้มแข็งแทน ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปเหมือนที่เธอกล่าวไว้ว่า “ชีวิตแม้จะถูกคุมขัง แต่คุกกลับค่อยๆ ฉีกขาดออกทีละนิด” ชากส์บันทึกภาพของเด็กสาวเหล่านี้เอาไว้ ในช่วงเวลาส่วนตัว แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่นการทำงานในฐานะแพทย์หรือตำรวจ การเดินทางไปโรงเรียน หรือพบปะเพื่อนฝูงตามร้านกาแฟ ชากส์ถูกวิจารณ์ว่าจงใจถ่ายทอดวิถีชีวิตอันยากลำบากในฉนวนกาซา แต่เธอก็อดทนและทำงานของเธอต่อไป “มีภาพสงครามมากพอแล้วที่ถ่ายทอดความเป็นฉนวนกาซา” เธอกล่าว “เด็กผู้หญิงเหล่านี้มีชีวิตที่มหัศจรรย์ พวกเธอไปทำงาน ไปโรงเรียน มีความหวังและอุดมไปด้วยความฝัน”
เรื่อง อเล็กซา คีฟเฟอร์
ภาพ โมนีก ชากส์
อ่านเพิ่มเติม