เหตุใดมนุษย์จึงยังทำพิธีกรรมแม้ในช่วงโรคระบาด

แม้ที่มาของหลายๆ พิธีกรรม ของมนุษย์ยังคงไม่ชัดเจน งานวิจัยกล่าวว่าเราได้พัฒนาวิถีปฏิบัติเหล่านี้เพื่อกำจัดหรือระบุที่มาของภัยที่มีร่วมกันในสังคม

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้คนรอบโลกต่างเข้าร่วม พิธีกรรม การเฉลิมฉลองต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือน ที่ประเทศอินเดีย มีผู้คนกว่า 7 แสนคนเข้าร่วมพิธีกรรมที่แม่น้ำคงคา แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดใหญ่อย่าง โควิด-19 นอกจากนี้ในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ พื้นที่ต่างๆ รอบโลกก็ยังจัดการเฉลิมฉลองในรูปแบบของตัวเอง

ในทุกวัฒนธรรมของมนุษย์ต่างมีพิธีกรรมเป็นของตัวเอง และมักเกิดขึ้นซ้ำๆ พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเรารับรู้ว่ามีจุดประสงค์นี้และไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันได้ผลอย่างไร ได้เสริมความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนและความเชื่อที่มีร่วมกัน แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันน่าฉงนนี้ก็สามารถทำให้มีการแตกแยกหรือแบ่งแยกระหว่างผู้คนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณค่าของพิธีกรรมหนึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องประหลาดในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องของพิธีกรรมมองว่าจุดเริ่มต้นของมันที่ไม่ชัดเจนคือหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญ แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยมีความสงสัยว่า ก่อนที่พิธีกรรมจะกลายเป็นคุณสมบัติเฉพาะของสังคม หลายๆ พิธีกรรมมีจุดเริ่มต้นจากความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงหายนะทางธรรมชาติมาก่อน

ผู้จาริกแสวงบุญรอลงอาบนํ้าเพื่อชำระล้างบาปในพิธีกุมภ์เมลาเมื่อปี 2013 ที่เมืองอัลลาฮาบาด ประเทศอินเดีย แม้นํ้าจะปนเปื้อนมลพิษ อากาศเย็นยะเยือก และเต็มไปด้วยความแออัดยัดเยียด แต่พวกเขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลับถึงบ้านพร้อมกับสุขภาพที่ดีกว่าตอนมาถึง

กระบวนการทำให้เป็นพิธีกรรม (Ritualization) อาจช่วยให้วัฒนธรรมของมนุษย์รักษาพฤติกรรมที่ผู้คนคิดว่าจะทำให้พวกเขาปลอดภัย แม้เหตุผลในตอนแรกเริ่มจะถูกลืมเลือนไปในตอนหลังก็ตาม นี่คือแนวคิดว่าผู้เขียนงานวิจัยหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับพิเศษของ Philosophical Transactions of the Royal Society B.

โดยวิธีการของพิธีกรรม เช่นการเตรียมอาหารหรือชำระร่างกาย อาจปรากฎขึ้นในฐานะวิธีการหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ โดยหลายๆ พิธีกรรมได้ให้การปลอบประโลมทางจิตวิทยา (psychological comfort) ในช่วงเวลาอันยากลำบาก และหลังจากกลายเป็นวิถีปฏิบัติปกติแล้ว พิธีกรรมก็จะทำให้ผู้คนรวมตัวกันโดยการเสริมสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชน

ในขณะนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 มนุษย์ต่างรับเอาวิถีชีวิตใหม่เพื่อรับมือกับภัยคุกคาม ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าวิถีชีวิตเหล่านี้จะกลายเป็นพิธีกรรมในที่สุด ตามคำนิยามแล้ว วิถีชีวิตใหม่อาจจะเข้ากรณีของความเป็นพิธีกรรมเมื่อพฤติกรรมที่มีความสำคัญทางสังคมนี้ได้ถูกมองมีความสำคัญเกินกว่าความเป็นวิถีปฏิบัติธรรมดาที่ใช้หลีกเลี่ยงโรคภัยหรือภัยธรรมชาติ มาร์ก เนลเซ็น นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กล่าวและเสริมว่า นี่เป็นสิ่งที่แยกพิธีกรรมออกจากวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรม เช่นการทำอาหาร

“เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะทำอาหารบางชนิด คุณจะต้องทำตามสูตรอาหารนั้น แต่เมื่อคุณทำอาหารนั้นหลายครั้งเข้า คุณอาจจะปรุงมันในแบบของคุณเอง” เขากล่าว การทำให้เป็นรูปแบบของตัวเอง (personalization) เช่นนี้มักจะไม่เกิดขึ้นในแนวปฏิบัติทางพิธีกรรม ซึ่งมันจะเป็นการทำซ้ำอย่างระมัดระวังจนกลายเป็นเช่นนั้นไปตลอด “พิธีกรรมจะเสียคุณค่าในหน้าที่อันเป็นจุดเริ่มต้น และกลายมาเป็นค่านิยมทางสังคมแทน”

ขณะอาบไล้แสงสีทองยามเย็นผู้จาริกแสวงบุญดื่มดํ่านํ้าศักดิ์สิทธิ์บริเวณใกล้จุดบรรจบของแม่นํ้าคงคาและยมุนาโดยไม่ห่วงว่านํ้าอาจปนเปื้อนมลพิษ เพราะพวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า มีนํ้าอมฤตหรือนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะเจือปนอยู่

ความสบายใจในการทำตามวิถีเดิมๆ

ในภูมิภาคที่ภัยทางธรรมชาติและโรคภัยเป็นเรื่องปกติ และภัยทั้งจากความรุนแรงและโรคภัยนั้นมีสูง สังคมมีแนวโน้มที่จะเป็นในรูปแบบ “แน่นแฟ้น” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะมีบรรทัดฐานทางสังคมที่เข้มงวดและมีความอดทนในยอมรับพฤติกรรมที่แปลกแตกต่างที่ต่ำ มิเชล เกลฟานด์ นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กล่าวและเสริมว่า พิธีกรรมมีแนวโน้มที่จะเป็นศาสนามากขึ้น กลายเป็นพฤติกรรมทางพิธีกรรมที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

เมื่อเราปฏิบัติบางสิ่งพร้อมๆ กัน หรือแสดงพฤติกรรมแบบเดียวกันในรูปแบบที่ทำนายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติพิธีกรรม ก็จะเป็นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย และในช่วงแห่งการเผชิญหน้ากับภยันตราย การรวมกลุ่มเพื่อร่วมมือกันอาจจะมีผลในเรื่องของความเป็นความตายได้

“วัฒนธรรมของกองทัพถือเป็นตัวอย่างที่ดี” เกลฟานด์กล่าวและเสริมว่า การเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มในเวลาเดียวกันซึ่งฝึกฝนโดยกองทัพทั่วโลกจะเป็นการเตรียมตัวในการปฏิบิติการในสถานการณ์ที่อันตราย

นอกจากนี้ พิธีกรรมสามารถช่วยผู้คนในการเอาชนะความกลัวและความวิตกกังวลในรูปแบบอื่นๆ ได้ มาร์ติน แลง จากมหาวิทยาลัย Masaryk ในสาธารณรัฐเช็ก เชื่อว่าความสามารถในการคาดเดาได้ของกระบวนการพิธีกรรมให้พวกเขารู้สึกสบายใจตามธรรมชาติ โดยทีมของเขาพบว่า ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบนเกาะมอริเชียส (Mauritius Island) รู้สึกคลายความกังวลเมื่อต้องทำการพูดในที่สาธารณะหลังจากได้สวดมนต์ซ้ำๆ ในวัดฮินดูมาก่อน

ปานามา ในเมืองเชโพมักจัดงานฉลองในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ศาสนจักรคาทอลิกในทวีปอเมริกาใช้ประเพณีวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าเพื่อเปลี่ยนศาสนาคนพื้นเมือง และลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากชาวแอฟริกัน ให้ถือคริสต์ผ่านทางละครข้างถนน เครื่องแต่งกายของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ มีทั้งหน้ากากเปเปอร์มาเชและกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในวัฒนธรรมแอฟริกันตะวันตกเช่นกัน

ด้าน Carel van Schaik นักวานรวิทยา (หรือไพรเมตวิทยา) ประจำมหาวิทยาลัยซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เชื่อว่า หลายพิธีกรรมในสังคมเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเกษตรทำให้มีขนาดของประชากรที่ใหญ่ขึ้นซึ่งได้อยู่รวมในสถานที่เดียวกัน “ความเชื่อเรื่องของชะตาฟ้าลิขิต (fateful decision) มีผลต่อมนุษย์ทั้งในแง่ของความรุนแรง ภัยธรรมชาติ และโรคภัย” เขากล่าวและเสริมว่า “ทั้งจากความขัดแย้งภายในกลุ่ม ไปจนถึงสงครามระหว่างกลุ่ม รวมไปถึงโรคติดต่อ สามารถแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งหมู่บ้าน”

เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภัยพิบัติเช่นนั้น เขากล่าวว่าต้องใช้ความคิดในจิตใจที่ทั้งแตกต่างและเฉียบแหลมในการรับมือ “เพราะเราต่างมีความเกี่ยวข้องในสังคมเป็นพื้นฐาน ผมจึงคิดว่ามนุษย์เราต่างมีแนวโน้มที่จะตีความโชคร้ายเป็นบางสิ่งหรือเป็นบางบุคคล เช่น เป็นวิญญาณ ปีศาจ หรือพระเจ้า ที่มากระทำต่อเรา ซึ่งอาจเป็นเพราะบางพฤติกรรมของเราที่ทำให้พวกเขาโกรธแค้น เราจึงพยายามค้นหาวิธีที่จะป้องกันหายนะเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง”

ในหลายพิธีกรรมทางศาสนา ได้ใช้แนวคิดเช่น สุขอนามัย เรื่องทางเพศ หรือแม้แต่การใช้อาหารในแบบที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อโรคภัยเป็นส่วนประกอบ ในขณะที่คนอื่นๆ อาจมองและใช้สิ่งเหล่านี้ในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความยากจนหรือครอบครัว ซึ่งมักกลายเป็นรากฐานของความขัดแย้งในสังคม อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกพิธีกรรมจะได้ผล เพราะเรามักไม่เข้าใจว่าอะไรคือที่มาของความเสี่ยงที่เราพยายามจะควบคุม “แต่บางพิธีกรรมก็ได้ผลนะครับ” เขากล่าว

ในระหว่างพิธีกรรม Quadrante ตามความเชื่อของชาวแอซเท็ก ผู้ศรัทธาส่วนหนึ่งรับพลังงาน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งสวดภาวนา

พัฒนาการของพิธีกรรม

ในช่วงเวลาแห่งโรคระบาด คำแนะนำในแนวปฏิบัติทางการแพทย์ เช่นการล้างมือ เริ่มกลายมาเป็นพิธีกรรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะอย่างชัดเจนว่าเราควรล้างมือเป็นเวลานานเท่าใด จนสังคมเริ่มเกิดเป็นรู้สึกที่สบายใจว่าหลังจากเราล้างมือเป็นเวลา 20 นาที เราก็จะสบายใจได้แล้ว

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติทางสังคมอื่นๆ เช่นการทักทายด้วยการชนข้อศอกหรือกอดลม (air hugs) และการสวมหน้ากาก เริ่มกลายเป็นวิถีแห่งการแสดงความเคารพต่อสังคมไปพร้อมกับการเป็นวิถีที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้จะเกิดการทำซ้ำไปจนถึงจุดที่เราลืมเหตุผลที่เป็นจุดเริ่มต้นและการเป็นกระบวนการทางพิธีกรรมได้หรือไม่ แต่ความพยายามของเราที่จะทำความเข้าใจว่าเหตุใดโรคระบาดจึงเกิดขึ้นนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว จากทั้งคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงการเน้นให้เห็นว่ามนุษย์ได้เผชิญกับโรคภัยเนื่องจากการทำลายธรรมชาติได้อย่างไร และนี่เป็นความพยายามที่สะท้อนมาจากบรรพบุรุษของเราที่พยายามค้นหาว่าเราจะรับมือกับภาวะโรคระบาดหรือภัยพิบัติอย่างเหมาะสมในยุคของพวกเขาได้อย่างไร

เรื่อง TIM VERNIMMEN


อ่านเพิ่มเติม อินเดียจะรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือสู้ภัยไวรัสโคโรนา ท่ามกลางการขาดแคลนน้ำได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.