จากเวียดนามสู่สิงคโปร์: เมื่อผู้หญิงต้องแต่งงานย้ายถิ่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ด้วยมุ่งมั่นจะแสวงหาความมั่นคงทางการเงิน เธอเสี่ยงทิ้งบ้านเกิดในชนบทของเวียดนามเพื่อ แต่งงานเพื่อย้ายถิ่น กับชายคนหนึ่งในประเทศร่ำรวยกว่า ผ่านการจัดการของนายหน้า

ผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานข้ามชาติและภายในประเทศตัวเอง บางส่วน ถูกดึงดูดโดยคำมั่นสัญญาถึงอนาคตที่ดีกว่า แต่สำหรับคนที่เผชิญความอดอยากหรือเภทภัยในประเทศของตนเอง การโยกย้ายถิ่นฐานคือการเดิมพันเพื่อความอยู่รอดของพวกเธอและครอบครัว

ในวันแต่งงานของน็อก ทูเหยียน รอบตัวเธอมีแต่คนแปลกหน้า เธอนั่งบนม้านั่งไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ของสิงคโปร์ ในชุดสีแดงขลิบลูกไม้สีดำ พร้อมผ้าคาดศีรษะปักลูกปัดเป็นรูปดอกเดซี เธอพบกับเจ้าบ่าวเมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ และเพิ่งได้เจอครอบครัวเขาหลังเธอมาถึงเมื่อ 16 วันก่อน

นายหน้าจัดหาคู่สมรสข้ามชาติแปลพิธีแต่งงานเป็นภาษาเวียดนาม แล้วคู่บ่าวสาวก็ผนึกพันธสัญญาของตนด้วยการจูบปากกันอย่างประดักประเดิด หลังลงนามในเอกสาร ปึกใหญ่ การแต่งงานของทูเหยียนก็เสร็จสมบูรณ์เป็นทางการ “ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยค่ะ” ทูเหยียนบอก “ฉันอยากทำงานแล้วค่ะ”

น็อก ทูเหยียน และโทนี คอง ใช้เวลาด้วยกันในวันแต่งงานที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 นายหน้าจัดหาคู่สมรสจัดแจงให้ทั้งสองได้พบกันครั้งแรกที่เวียดนามเมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้

ทูเหยียนเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยการแต่งงาน หนึ่งในหลายหมื่นรายจากเวียดนามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การโยกย้ายถิ่นฐานวิธีนี้มักเริ่มจากนายหน้าจัดหาคู่สมรสข้ามชาติแจ้งผู้หญิงตามหมู่บ้าน และเมืองในชนบทให้ทราบว่า ฝ่ายชายเดินทางมาถึงแล้วจากเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ทูเหยียน วัย 34 ปี เจอกับโทนี คอง วัย 45 ปี ด้วยวิธีนี้

ภาพถ่ายของเขาโผล่ขึ้นมาในฟีดเฟซบุ๊กของนายหน้ารายหนึ่ง พร้อมกับที่อยู่ ในนครโฮจิมินห์ และวันนัดหมายที่เขาจะดูตัวและสัมภาษณ์ว่าที่ภรรยาเขาในอนาคต ขั้นตอนนี้มีเงื่อนไขข้อตกลงชัดเจนว่า ฝ่ายหญิงต้องมาด้วยความพร้อมที่จะเจรจราต่อรองเรื่องค่าจ้างสำหรับตนเองและครอบครัว ฝ่ายชายจะเป็น ผู้ระบุว่าจะให้เงินเดือนเท่าใด โดยใช้ความงาม ความเยาว์ และความเป็นคู่ชีวิตเข้าแลก ฝ่ายหญิงต้องการความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งในกรณีของทูเหยียนหมายถึงโอกาสที่จะได้ทำงานและส่งเงินกลับบ้านไปให้ครอบครัว

บริษัทจัดหาคู่สมรสเมย์ลีเป็นหนึ่งในไม่กี่รายที่ยังเหลืออยู่ในสิงคโปร์ หลังรัฐบาลปราบปรามบรรดานายหน้าในข้อหาละเมิดกฎหมายการค้ามนุษย์ กฎหมายคนเข้าเมือง และหลอกลวงให้เสียทรัพย์ นายหน้าจำนวนมากย้ายบริการไปออนไลน์

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความรักครับ” มาร์ก หลิน พ่อสื่อและเจ้าของทรูเลิฟเวียดนามไบรด์ (True Love Vietnam Bride) บริษัทจัดหาคู่สมรสข้ามชาติในสิงคโปร์ กล่าว เมื่อถามว่าลูกค้าฝ่ายชายของเขาหน้าตาดีไหม หลินเบะปาก ก่อนจะตอบแบบเลี่ยงๆ ว่า “ก็แล้วแต่น่ะครับ” หลินรู้ว่าธุรกิจของเขาเป็นการค้าขายบนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในสิงคโปร์ อัตรารายได้เฉลี่ยต่อปีคือ 92,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนในเวียดนามอยู่ที่ 7,750 เหรียญ

ทูเหยียนเรียกค่าตัวเป็นเงิน 370 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งโทนีต่อลงมาเหลือ 220 เหรียญสหรัฐ แม้จะพอๆ กับรายได้ที่เธอเคยได้จากการทำงานที่แผงขายอาหารแห่งหนึ่งที่บ้าน และคงไม่พอจะส่งเสียครอบครัวได้ แต่เธอหวังว่า หากใบอนุญาตทำงานได้รับการอนุม้ติ เธอจะสามารถหางานทำที่ร้านแต่งเล็บได้สักแห่ง และส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ กับลูกชายวัยห้าขวบได้

หากจะพำนักและทำงานในสิงคโปร์ ก่อนอื่น ภรรยาที่มีสถานะเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานจะต้องยื่นขอใบอนุญาตพักอาศัยระยะยาว ซึ่งจะได้รับการต่ออายุโดยผู้เป็นสามีทุกหนึ่งหรือสองปี หากเขาไม่ต่อให้ นอกจากฝ่ายหญิง จะต้องสูญเสียเอกสารถูกต้องตามกฎหมายทั้งหลายแล้ว ยังอาจต้องสูญเสียลูกที่เกิดจากการสมรสนั้นด้วย ทั้งนี้ ศาลมักตัดสินมอบสิทธิดูแลบุตรให้ผู้ปกครองชาวสิงคโปร์ เพราะเด็กจะได้รับประโยชน์จากการเป็นพลเมืองสิงคโปร์

หญิงชาวเวียดนามผู้นี้ ซึ่งแต่งงานกับชายชาวสิงคโปร์เมื่อ 11 ปีก่อน และมีลูกด้วยกันสองคน มีชีวิตแต่งงาน ที่ไม่มีความสุข เธอไม่กล้าหย่ากับเขา เพราะเช่นเดียวกับผู้อพยพย้ายถิ่นโดยการแต่งงานรายอื่นๆ เธอต้องพึ่งพาสามี เพื่อต่ออายุการพำนักอยู่ในประเทศ และเสี่ยงที่จะเสียสิทธิปกครองดูแลลูกๆ

แม่ของเด็กเหล่านี้ซึ่งต้องพึ่งพาฝ่ายสามีเพื่อจะพำนักอยู่ในสิงคโปร์ต่อไป อาจต้องทนต่อการล่วงละเมิด การละเลย และการนอกใจ ดังที่ปรากฏในรายงานข่าวและรายงานขององค์กรที่ให้บริการด้านความช่วยเหลือ

ทูเหยียน ซึ่งพูดจีนกลางกับโทนีอย่างกระท่อนกระแท่น บอกว่า เธอไม่รู้ว่าสามีใหม่ต้องการอะไรจากเธอ เธอจึงทำอาหารให้เขาและคอยอยู่เป็นเพื่อน เธอไม่รู้ว่าจะได้ใบอนุญาตพักอาศัยระยะยาวหรือไม่ หรือเมื่อใด เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเงินเดือนของฝ่ายสามี และโทนีก็ตกงานอยู่

แต่ในวันแต่งงาน ทูเหยียนยินยอมพร้อมใจที่จะแสดงบทเจ้าสาวเพิ่งแต่งงาน “ฉันมีความสุขมากค่ะ” เธอบอก แล้วก็ถามล่ามอีกครั้งว่า เธอจะได้รับอนุญาตให้ทำงานเมื่อไร

เรื่อง ออโรรา อัลเมนดรัล

ภาพ อมฤตา จันทราดาส

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม เมื่อรักไร้พรมแดน

ภัทรพรรณ์ สาวไทยเชื้อสายจีน และศรีจาล รานา ครูสอนโยคะจากเนปาล
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.