รายากับมังกรตัวสุดท้าย : ดิสนีย์นำเสนอความเป็นอาเซียนในแอนิเมชันอย่างไร

เป็นครั้งแรกที่ดิสนีย์ได้นำเสนอเรื่องราวของตัวละครเจ้าหญิงจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน รายา กับมังกรตัวสุดท้าย ทว่า ภาพยนตร์เรื่องสามารถแสดงออกถึงวัฒนธรรมจากภูมิภาคนี้ได้ดีเพียงใด

เรื่องราวในดินแดนจินตนาการ การต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคของตัวละครเอก เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนาในจิตใจ คือสูตรสำเร็จในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์จากดิสนีย์หลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน

บ่อยครั้งเช่นเดียวกันที่ดินแดนในจินตนาการเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากภูมิภาคหรือประเทศที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงอย่าง ผจญภัยตำนานหมู่เกาะทะเลใต้  (Moana) ที่เชื่อว่านำมาต้นแบบมาจากประเทศแถบหมู่เกาะในเขตโอเชียเนีย มหาสมุทรแปซิฟิก อะลาดิน จากภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือมู่หลาน ที่เชื่อว่าเป็นวีรสตรีต้นแบบจากประเทศจีนยุคโบราณ และหลังจากในรอบ 90 ปี การก่อตั้งสตูดิโอ ดิสนีย์ได้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่นำฉากหลังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง  รายากับมังกรตัวสุดท้าย (Raya and the Last Dragon)  ที่ทางทีมผู้สร้างกล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เดินทางไปในภูมิภาคดังกล่าว

รายากับมังกรตัวสุดท้าย เล่าเรื่องถึงนครสมมติที่ชื่อว่า คูมันตรา ที่ครั้งหนึ่งเป็นนครที่ทั้งมนุษย์และมังกรอยู่ร่วมกันเมื่อ 500 ปีก่อน โดยมังกรเป็นผู้ดูแลและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์บนโลก จนกระทั่งมีปีศาจที่ชื่อว่า ‘ดรูน’ ที่มีลักษณะคล้ายหมอกควันเข้ามาทำร้ายมนุษย์ ทำให้เผ่าพันธุ์มังกรต้องเสียสละตัวเองเพื่อปกป้องมนุษย์และโลกใบนี้ไว้ ทิ้งไว้เพียงอัญมณีมังกร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งพลังจากมังกรที่คอยปกปักโลกนี้เอาไว้เบื้องหลัง แต่ตามตำนาน ยังมีมังกรตัวสุดท้ายที่ชื่อว่า ซิซู ที่ยังคงหลับใหลและซ่อนตัวอยู่หลังจากเหตุการณ์เสียสละของเผ่าพันธุ์ครั้งนั้น

ทว่าหลังจากนั้น ผู้คนในนครคูมันตราเกิดความขัดแย้งจนต้องแตกตัวเองออกเป็น 5 เผ่าใหญ่ และมีการแย่งชิงอัญมณีดังกล่าวซึ่งถูกเก็บรักษาไว้โดยเจ้าเมืองเบญจา เจ้าเมืองผู้มีความฝันว่าต้องการรวมผู้คนจาก 5 เผ่าดังกล่าวให้กลับมาเป็นนครคูมันตราอีกครั้ง ซึ่งมีรายา ลูกสาวของเขาได้ถูกคาดหวังไว้ให้เป็นผู้รักษาอัญมณีนี้ต่อไป แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองทั้ง 5 บุกเข้าไปแย่งชิงอัญมณีจนแตกเป็นเสี่ยงๆ และเมืองแต่ละเมืองก็ได้ครอบครองเพียงชิ้นส่วนอัญมณีเท่านั้น และส่งผลให้ดรูนออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนอีกครั้ง เมื่อรายาเติบโตขึ้นจึงตัดสินใจออกผจญภัยตามหามังกรซิซูและรวบรวมอัญมณี เพื่อใช้พลังกอบกู้โลกจากปีศาจดรูนและผสานแผ่นดินที่แตกแยกกลับมารวมกันเป็นคูมันตาตามที่พ่อของเธอใฝ่ฝันได้อีกครั้ง

ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฎภายในเรื่อง

เมื่อพิจาณาจากองค์ประกอบต่างที่ปรากฏในเรื่อง ผู้ชมจะพบว่านครคูมันตราในเรื่องมีการใช้ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงออกในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวังของเผ่าหัวใจ ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าเมืองเบญจาและรายา การลักษณะการใช้สถาปัตยกรรมในรูปแบบไทยโบราณ (หรือประเทศในแถบเดียวกัน) รวมไปถึงเสื้อผ้าที่มีการสวมโสร่งและสไบ และอาหารที่ปรากฏในเรื่องซึ่งเป็นอาหารรูปแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชัดเจน

รายาในวัยเด็ก และเจ้าเมืองเบญจาจากเผ่าหัวใจ ในภาพยนตร์แอนิเมชัน รายากับมังกรตัวสุดท้าย ภาพประกอบจาก Disney

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่นวังของเผ่าเขี้ยว บ้านของนามารีซึ่งเป็นคู่ปรับของรายา ก็มีลักษณะที่ชวนให้ผู้ชมนึกถึง ‘นครวัด’ ของกัมพูชา ลักษณะบ้านเมืองของเผ่าเล็บ ที่มีลักษณะคล้ายกับ’ ตลาดน้ำ’ ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดที่ปรากฎในประเทศไทย ลาว หรืออินโดนีเซีย เมืองของเผ่าหาง ที่มีภูมิประเทศเป็นเส้นทางน้ำอันคดเคี้ยว ที่กลับมีความแห้งแล้งที่เด่นชัด ก็ชวนทำให้นึกถึง ‘แม่น้ำโขง’ ที่กำลังเจอปัญหากับภัยแล้งอยู่เป็นระยะเช่นเดียวกัน

เมืองของเผ่าหางเป็นเมืองที่รายาได้พบกับ ซิซู มังกรตัวสุดท้ายที่เธอตามหาเพื่อขอให้มาช่วยกอบกู้โลก โดยมังกรตัวนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘นาค’ สัตว์ในเทพนิยายอันเป็นความเชื่อร่วมของผู้คนแถบอุษาคเนย์ ซึ่งเปรียบเสมือนเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ สอดคล้องกับบทบาทของเผ่าพันธุ์มังกรในภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่ปกป้องและก่อให้เกิดความสมบูรณ์แก่ผู้คนในนครคูมันตรา และเรายังสามารถเห็นถึงภูมิประเทศเกาะในแบบบาหลี พื้นที่ป่าลึกในแบบเวียดนาม หรือลาว ในเรื่องได้เช่นเดียวกัน

วังของเผ่าเขี้ยว ซึ่งทำให้ผู้ชมเชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากนครวัด ในกัมพูชา ภาพประกอบจาก Disney
ลักษณะของตลาดน้ำ วัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฎในภาพยนตร์ ภาพประกอบจาก Disney

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังเสนอองค์ประกอบเล็กๆ ที่หยิบยืมเอาอัตลักษณ์จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์พาหานะคู่ใจรายาที่ชื่อว่า “ตุ๊กตุ๊ก” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับยานพาหนะยอดนิยมในภูมิภาคนี้ อาวุธคู่ใจรายาที่มีลักษณะคล้าย ‘กริช’ อาวุธพื้นบ้านโบราณของอินโดนีเซีย ศิลปะการแสดงที่คล้ายกับหนังตะลุง รวมไปถึงศิลปะการต่อสู้ที่ปรากฎในเรื่อง อันเป็นการผสมผสานกันของมวยไทย ปันจักสีลัต และกระบี่กระบอง ซึ่งถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์รวมแถบภูมิภาค หรือไม่กระทั่งชื่อของ รายา ที่มีความหมายในภาษามาเลย์ว่า ‘การเฉลิมฉลอง’

ตัวละคร ซิซู มังกรในเรื่อง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก นาค สัตว์ในเทพนิยายแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพประกอบจาก Disney

ความหลากหลาย’ คือภาพสะท้อนของอาเซียนในความคิดของผู้สร้าง  

ทีมงานภาพยนตร์ในเรื่องนี้มีหลายคนที่เป็นชาวเอเชีย หรือมีเชื้อสายจากภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝน – ประสานสุข วีระสุนทร ที่ทำหน้าเป็นหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์เรื่องราว (Head of story) หรือคนเขียนบทภาพยนตร์อย่าง  Adele Lim ชาวเอเชียเชื้อสายมาเลย์และ Qui Nguyen ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ซึ่ง Nguyen ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า (สิ่งที่ปรากฎในเรื่อง) จะมีสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่มากมายในภาพยนตร์เรื่องนี้

ด้าน ฝน – ประสานสุข ก็เป็นหนึ่งในทีมงานของ Southeast Asian Story Trust ซึ่งเป็นทีมทำงานที่ดิสนีย์สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมศิลปินด้านต่างๆ ที่เป็นชาวเอเชีย และทีมนี้ได้ทำหน้าที่ปรึกษาในการสร้างภาพยนตร์ และในช่วงเตรียมการสร้าง ทีมงานจาก Southeast Asian Story Trust ได้เดินทางเพื่อทำการค้นคว้าในประเทศเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ซึ่งส่งผลสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่แสดงออกในเรื่องมีความสมจริง สอดคล้องกับบริบทความเป็นอาเซียนในนครคูมันตราได้อย่างแนบเนียน

ภาพของรายาที่กำลังเผชิญหน้ากับนามารี เพื่อนในวัยเด็กที่กลายมาเป็นคู่ปรับคนสำคัญ ภาพประกอบจาก Disney
รายาและ ตุ๊กตุ๊ก สัตว์พาหนะคู่ใจของเธอ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายอมาดิลโล และมีชื่อคล้ายกับยานพาหนะยอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพประกอบจาก Disney

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทางผู้สร้างมีความตั้งใจแต่แรกว่าไม่ได้ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ผู้ชมจึงอาจจะสังเกตเห็นได้ถึงความต่างทางวัฒนธรรมหลายอย่างซึ่งสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนที่ผู้สร้างพยายามจับเอามาผสมรวมกัน สิ่งนี้น่าจะสะท้อนถึงความเป็นภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสายตาของผู้สร้างว่าเป็นดินแดนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม (และมีความแตกแยกในบางช่วงเวลา) ซึ่งบางครั้งในโลกความเป็นจริง ประเทศในอาเซียนเองก็ไม่อาจให้คำนิยามถึงอัตลักษณ์ของประเทศของตนเองว่าเป็นอย่างไรหรือมีความแตกต่างอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของตน ซึ่งความต่างในความเหมือนนี้เองคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอาเซียนมีเสน่ห์ในสายตาชาวโลก

องค์ประกอบความทางวัฒนธรรม เมื่อรวมกับการสร้างสรรค์เรื่องราวการผจญภัยของวีรสตรีในแบบดิสนีย์ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน ดิสนีย์สามารถทำได้ตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ชมเกิดความบันเทิงในเรื่องราวการผจญภัยได้ เมื่อรวมกับการสร้างสรรค์ตัวละครที่มีเสน่ห์  แก่นเรื่องที่สามารถพูดถึงการเชื่อใจและไว้ใจผู้อื่น ก็สามารถทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นที่น่าประทับใจของผู้ชมอีกหลายคน และทำให้ตัวละคร รายา สามารถเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์คนใหม่จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสง่างามในความคิดผู้ชมทั่วโลก

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

แหล่งอ้างอิง
รีวิว Raya and the Last Dragon การผจญภัย มังกรน้ำตัวสุดท้าย และก้าวแรกของความเชื่อใจ
[รีวิว] Raya and the last dragon รายากับมังกรตัวสุดท้าย – ผนึกกำลังอาเซียนฉบับดิสนีย์
รายากับมังกรตัวสุดท้าย : ถอดรหัสวีรสตรีคนใหม่ของค่ายดีสนีย์ เป็นตัวแทน 670 ล้านคนของอุษาคเนย์ได้จริง ?
The Flawed Fantasy World of Raya and the Last Dragon
With Disney’s Raya and the Last Dragon, I feel seen
Raya and the Last Dragon’s Many Cultural Influences Make for a Distinct World
Raya and the Last Dragon: The 5 Regions Of Kumandra Explained

อ่านเพิ่มเติม 10 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ อะลาดิน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.