นครย่างกุ้ง, เมียนมา – กลุ่มนายพลผู้บีบเค้นสภาวะการประชาธิปไตยได้ไม่นานนักของเมียนมาโดยการทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อาจไม่ได้คาดคิดถึงการตอบโต้จากประชาชนครั้งใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความพยายามของกองทัพในการทำให้ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ต้องสูญเปล่า
ดูเหมือนว่าในช่วง 2-3 วันแรก ประชากรราว 54 ล้านคนของประเทศต่างอยู่ในภาวะเงียบงัน ทว่า ในวันที่ 4 หลังจากเริ่มมีการใช้กำลังตำรวจปราบปรามและจับกุม ผู้คนต่างหลั่งไหลสู่การประท้วงบนท้องถนนโดยสงบซึ่งนำโดยคนหนุ่มสาว แม้กระทั่งผู้สูงอายุที่ต้องทุกข์ทนกับเผด็จการทหารอันโหดร้ายมานานกว่า 50 ปี และได้สัมผัสการทดลองการมีประชาธิปไตยในช่วง 10 ปีให้หลัง เป็นระบอบลูกผสมกับอำนาจกองทัพก็ได้เข้าร่วมการต่อต้านครั้งนี้ด้วยความโกรธแค้นอย่างยิ่ง
หลังจากนั้น การประท้วงก็กลายเป็นเรื่องของคนทุกคน ทุกช่วงวัย และสาขาอาชีพอันหลากหลาย
ในเวลาเพียงไม่กี่วัน กองทัพและตำรวจเริ่มยิงปืนไปที่กลุ่มผู้ประท้วงผู้ไร้ซึ่งอาวุธ ในวันที่ 18 มีนาคม มีรายงานยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 224 คน มีผู้ถูกจับกุมกว่า 2,258 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเมียนมา โดยสมาคมได้ติดตามการบุกโจมตีในเวลากลางคืนและการกักขังหมู่จำนวนมากเช่นกัน
ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนกำลังปะทะกับกองกำลังด้วยอาวุธป้องกันตัวที่ทำขึ้นเอง เราขอนำเสนอเสียงของพวกเขา โดยภาพถ่ายบุคคลแต่ละภาพถูกประกอบเข้ากับภาพเหตุการณ์ประท้วง และผู้ประท้วงได้อธิบายด้วยคำพูดของพวกเขาเองว่าเหตุใดพวกเขาจึงยอมเสี่ยงชีวิตในช่วงเวลาอันเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศนี้
เพื่อเป็นการปกป้องพวกเขา เราจึงระบุตัวตนของแต่ละคนได้เพียงแค่ข้อมูลอาชีพและอายุ เช่นเดียวกับชื่อของผู้สื่อข่าวผู้ส่งเรื่องราวนี้ที่เราขอสงวนไว้เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา
“ผมยังมีความหวังว่าเราจะชนะ” นักกิจกรรมคนหนึ่งกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก “หากไม่ชนะ ก็จบกัน อนาคตเราก็สูญสิ้น”
โปรดิวเซอร์วิดีโอ อายุ 30 ปี
ผมมีงานที่ดี มีลูกสาวสองคนที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่ พวกเขาคือสิ่งสำคัญในชีวิตของผม แต่ทุกอย่างพังทลายเพราะการรัฐประหาร ผมไม่อยากให้ลูกสาวเติบโตภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนี้
ภรรยาก็มาประท้วงบนถนนกับผมด้วย เรากำลังต่อสู้กับพวกผู้ก่อการร้าย นั่นคือสิ่งที่เราเรียกกองทัพ พวกเขาไม่ใช่ทหาร เพราะพวกเขาไม่ได้ปกป้องเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารควรทำ เขาฆ่าพวกเรา และทำลายทรัพย์สิน
เราไม่มีอาวุธ พวกเขามีปืน แต่เรามีคนหนุ่มสาว ผมคิดว่าเราอาจจะสู้ด้วยสันติได้ประมาณหนึ่งปี หลังจากนั้นอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักธุรกิจเกษียณ อายุ 63 ปี
ผมมีชีวิตอยู่ในช่วงการปราบปรามของทหารเมียนมาในอดีตหลายครั้ง ผมเป็นนักกิจกรรมในช่วงการปฏิวัติเหล่านั้น ผมเคยต้องหลบซ่อนตัว และถูกจับเข้าคุกเป็นเวลา 4 ปี ครอบครัวทั้งหมดผมก็ถูกจำคุกด้วย จากนั้นผมเริ่มเบื่อหน่ายกับสิ่งเหล่านี้ และอยากมีชีวิตที่สงบสุข
แต่ในครั้งนี้ ผมรู้สึกได้ถึงการปฏิวัติครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไปแล้ว และไม่เกี่ยวกับผู้นำหรือพรรคการเมืองใด มันเป็นการต่อสู้กับภาวะอำนาจเบ็ดเสร็จ
นักสิทธิมนุษยชน อายุ 27 ปี
ฉันเข้าร่วมการประท้วงกับกลุ่มผู้หญิง LGBTQ คนอื่นๆ หน้าสถานทูตหลายแห่ง ที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ เราตะโกนว่า ช่วยเมียนมา! สนับสนุนพวกเรา! (Save Myanmar, Support Us)
เราประนามรัสเซียหน้าสถานทูตของพวกเขา ส่วนสถานทูตจีน ฉันถือโปสเตอร์ที่เขียนว่า ‘พ่อฉันเป็นคนจีน แต่ฉันต่อต้านรัฐบาลจีนที่สนับสนุนอาวุธให้กองทัพเมียนมา’ ทั้งทูตจีนและรัสเซียไม่มีใครออกมาพบพวกเราเลยค่ะ
ศิลปินและนักเขียน อายุ 41 ปี
ศิลปะขับเคลื่อนผู้คน เรามีวัฒนธรรมแบบนั้นในเมียนมา วัฒนธรรมการใช้ศิลปะเพื่อการประท้วง นั่นคือบทกวีจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองหลวงเก่าของจักรวรรดิพม่า เราได้เขียนบทกลอนต่อต้านทรราชย์เมื่อร้อยปีมาแล้ว
ศิลปะมีผลอย่างยิ่งต่อจิตใจของผู้คน มันเป็นวิธีต่อสู้กับความหวาดกลัว นั่นเป็นสิ่งที่ศิลปินควรทำในตอนนี้ แม้ในยามที่แก๊สน้ำกำลังแผดเผาดวงตาของเรา
ล่าม อายุ 37 ปี
ที่นี่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอย่างมาก หลังจากตกงานอยู่ราว 6-7 ปี ผมก็ได้ทำงานที่ชอบ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร บริษัทก็ปิดตัว ผมเลยออกมาประท้วงร่วมกับกลุ่มผู้พิการคนอื่นๆ
ที่ย่าน Tamwe ตำรวจและทหารออกมาในตอนเช้าและเริ่มยิงปืนไปที่นักเรียนนักศึกษา นักศึกษาที่ยืนข้างผมถูกยิงเข้าที่แขน ผมลากเขาออกมาจากจุดนั้น ผมทำแบบนั้นได้เพราะผมตัวใหญ่ (หัวเราะ) ผมไม่กลัวตำรวจ คนเราเกิดมาก็ต้องตาย ผมทำสิ่งนี้เพื่อประชาธิปไตย
นักธุรกิจหญิง อายุ 32 ปี
แม่ของฉันมักพูดถึงความลำบากที่เธอประสบในช่วงการลุกฮือต่อต้านทหารพม่าครั้งสุดท้ายในปี 1988 อยู่เสมอ ตอนนั้นแม่ตั้งท้องฉันได้สี่เดือน เธออยู่ในภาวะอดยาก แม่กับพี่ชายต้องแอบนั่งรถไฟหนีความอดอยากจากบ้านเกิดที่เมืองมิตจีนาโดยไม่มีตั๋ว เพราะไม่มีเงิน
เธอบอกว่าฉันอาจจะต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้อีกครั้ง และเธอบอกว่า ‘เธอรอดในท้องแม่เมื่อตอนการปฏิวัติครั้งสุดท้าย แต่ตอนนี้เธอต้องดูแลตัวเองแล้วนะ’
นักธุรกิจและนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ อายุ 30 ปี
ผมออกไปประท้วงในตอนที่ตำรวจปาระเบิดแก๊สน้ำตามาที่เรา ครอบครัวละแวกนั้นเปิดบ้านให้เราเข้าไปหลบ ตำรวจเข้ามาใกล้และปาระเบิดแก๊สน้ำตาและระเบิดเสียงเพิ่มขึ้น เจ้าของบ้านบอกให้เราเงียบเสียงไว้ จากนั้นตำรวจกลับมาเพื่อเก็บกระป๋องแก๊สน้ำตาและกระป๋องระเบิดเสียงกลับไป และเอาปลอกกระสุนที่ยิงไปแล้วกลับไปด้วย
“แทนที่จะรู้สึกกลัว ผมกลับรู้สึกโกรธ กลับกลายเป็นผมกลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้และเข้าไปทำร้ายตำรวจ แม้ผมจะมีความคิดเรื่องของการใช้ความรุนแรงกับพวกเขา ผมก็ต้องบอกตัวเองให้สงบใจไว้ หากเพียงแต่ทุกคนในประเทศสามารถรวมตัวและร่วมมือกันเพื่อสร้างความพยายามในการถอนรากถอนโคนเผด็จการทหารได้ ผมก็จะไม่ทำตัวให้เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายนี้”
ผู้ช่วยวิจัย อายุ 28 ปี
ผมเป็นชนกลุ่มน้อยจากรัฐยะไข่ ผมพบเจอการถูกเลือกปฏิบัติมาตลอดชีวิต ผมเคยถูกครูตบหน้าในขณะที่เด็กคนอื่นๆ ไม่โดนแบบนั้น ผมรู้สึกสูญเสียตัวตนในสังคมคนพม่าส่วนใหญ่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเดิมพันกับการปฏิวัติ เราไม่สามารถย้อนกลับไปในสถานะทางสังคมเดิม เราต้องการระบบสังคมใหม่ที่ให้สิทธิกับคนกลุ่มน้อย นี่คือเป้าหมายการประท้วงของผม นี่เป็นโอกาสที่ดี
นักกิจกรรมด้านแรงงาน อายุ 35 ปี
ตอนนี้ฉันกำลังตั้งท้อง ฉันรู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องเดินบนท้องถนน แต่ฉันก็ไม่อยากอยู่บ้าน เมื่อฉันเห็นโพสต์การประท้วงในเฟสบุ๊ก ฉันก็รู้สึกผิดที่จะอยู่บ้านเฉยๆ
เป็นความจริงที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจีโดยทันที แต่ทว่าแค่เธอถูกปล่อยตัวก็เพียงพอแล้วหรือ? เราอาจมีเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน แต่ปัญหาที่แท้จริงใหญ่กว่านั้น นั่นคือระบอบอำนาจนิยม อันเป็นระบอบเก่าของประเทศเรา เราต้องพิจารณาถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อย ลัทธิคลั่งเชื้อชาติตนเองของชนชาติพม่า และปัญหาอื่นๆ เช่นเดียวกัน
ก่อนรัฐประหาร ฉันรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ตั้งท้องและกำลังจะมีลูก แต่ตอนนี้ฉันไม่แน่ใจแล้ว ฉันเริ่มกังวลถึงการมีลูกเนื่องจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่นอนไปแล้วค่ะ
เรื่อง กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐอเมริกา