เส้นพิพาทเหนือขุนเขา อินเดีย-ปากีสถาน บนสมรภูมิที่สูงที่สุดบนโลก

การเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดบนแผนที่ของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ชักนำ อินเดีย-ปากีสถาน สู่สงครามในสมรภูมิที่สูงที่สุดในโลก ใครเปลี่ยนและเปลี่ยนทำไม เป็นปริศนายาวนานที่เพิ่งคลี่คลาย

27 มิถุนายน 1968 จดหมายแอร์แกรมเลขที่ เอ-1245 ถูกส่งไปยังสำนักงานนักภูมิศาสตร์ (Office of the Geographer) หน่วยงานที่แทบไม่มีใครรู้จักซุกตัวอยู่ภายในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ท้ายที่สุด จดหมายฉบับนี้็ก็ไปอยู่บนโต๊ะของนักภูมิศาสตร์ผู้ช่วยวัย 45 ปี ชื่อโรเบิร์ต ดี. ฮอดจ์สัน

จดหมายซึ่งลงนามโดยวิลเลียม เวเทอร์สบี อุปทูตสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงนิวเดลี ขึ้นต้นว่า “ในหลายโอกาส… รัฐบาลอินเดียได้ท้วงติงทางสถานทูตอย่างเป็นทางการว่าด้วยเรื่องแผนที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในอินเดียซึ่งระบุสถานะแคว้นแคชเมียร์เป็น ‘พื้นที่พิพาท’ หรือดูจะแยกขาดจากดินแดนส่วนที่เหลือ ของอินเดีย” จดหมายปิดท้ายด้วยการขอทราบแนวทางว่าควรจะแสดงเส้นพรมแดนของอินเดียบนแผนที่ต่างๆของสหรัฐฯอย่างไร

สำหรับ อินเดีย-ปากีสถาน สองชาติที่ถือกำเนิดจากการนองเลือดที่มาพร้อมกับการแบ่งประเทศ (Partition) ศัพท์ทางการที่หมายถึงการยุบและแบ่งดินแดนบริติชอินเดีย แผนที่ถือเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ ประจำชาติ แต่สำหรับฮอดจ์สันและทีมงานคนอื่นๆ ที่สำนักงานนักภูมิศาสตร์ แผนที่เป็นทักษะอย่างหนึ่ง ของวิชาชีพ

ทหารเดินทางผ่านข้างหุบเขาด้านที่มีธารน้ำแข็งระหว่างทางไปคยารี ซึ่งทุ่งน้ำแข็งคล้ายกันนี้ก่อให้เกิดเหตุหิมะถล่มราว 800 เมตรเหนือกองพันแห่งหนึ่งของปากีสถานในปี 2012 น้ำแข็งถล่มกลบค่ายทหารดังกล่าวและคร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 140 คน

ในแต่ละปี รัฐบาลสหรัฐฯ ตีพิมพ์เผยแพร่แผนที่หลายพันฉบับ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้จัดพิมพ์แผนที่ รายใหญ่ที่สุดในโลกตามการประเมินของหลายสำนัก ความรับผิดชอบในการแสดงเส้นแบ่งเขตแดนในทางการเมืองระหว่างประเทศตกเป็นของสำนักงานนักภูมิศาสตร์

ภารกิจดังกล่าวทำให้สำนักงานแห่งนี้มีอิทธิพลพอสมควรและมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในการแสดงตำแหน่งพรมแดนของชาติต่างๆ ในโลก ตราบเท่าที่สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ ผลที่ตามคือสำนักงานนี้มีส่วนกำหนดมุมมองของชาติอื่นๆ ต่อพรมแดนเหล่านี้ นอกจากนี้ยังหมายความว่า ท่ามกลางเส้นพรมแดนระหว่างประเทศที่อยู่ติดกันราว 325 แห่งที่สหรัฐฯ รับรอง ปัญหายุ่งยากซับซ้อนที่สุดตกเป็นภาระของฮอดจ์สันและเหล่าสหายนักภูมิศาสตร์ของเขา

การจัดการกับปัญหายุ่งยากระดับนี้ต้องอาศัยทั้งความแม่นยำแบบนักสำรวจรังวัด และวิธีวิจัยแบบนักวิชาการ ประเด็นปัญหาทางพรมแดนและภูมิรัฐศาสตร์ที่มาตกอยู่บนโต๊ะของเขาในรูปของจดหมายแอร์แกรมเลขที่เอ-1245 เป็นปัญหาที่หาทางออกได้ยากที่สุดเรื่องหนึ่งไม่ว่าที่ไหนในโลกใบนี้ ซึ่งถือเป็น “ฝันร้ายของการทำแผนที่” ตามถ้อยคำของนักภูมิศาสตร์คนหนึ่ง นั่นคือกรณีพิพาทเหนือดินแดนแคชเมียร์

การเล่นคริกเก็ตช่วยเพิ่มความคึกคักและการออกกำลังให้เจ้าหน้าที่กรมทหารปัญจาบแห่งกองทัพปากีสถานที่โคระ 1 ค่ายธุรการแห่งหนึ่งใกล้ธารน้ำแข็งบัลโตโรที่ระดับความสูงเกือบ 4,200 เมตร ยอดเขามาเศอร์บรัมสูง 7,821 เมตรและเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาย่อยของเทือกเขาการาโกรัม เห็นระยิบระยับอยู่ไกลๆ ใต้ผืนหิมะและน้ำแข็ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออังกฤษยอมวางมือจากอนุทวีปอินเดีย พวกเขาตัดสินใจอย่างเร่งรีบที่จะแบ่งภูมิภาคดังกล่าวออกเป็นสองรัฐ โดยอิงกับศาสนาหลักสองศาสนา กล่าวคือ ตั้งประเทศอินเดียให้ชาวฮินดู และประเทศปากีสถานให้ชาวมุสลิม เที่ยงคืนตรงของวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947 อินเดียและปากีสถานได้รับ เอกราชของตน ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อประชาชนผู้หวาดกลัวนับล้านคนพยายามเดินทางข้ามพรมแดนใหม่ เพื่อไปอยู่ร่วมกับคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน

อาณาจักรบนภูเขาที่รู้จักในชื่อทางการว่า รัฐมหาราชาแห่งชัมมูและแคชเมียร์ ประสบภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเป็นพิเศษ แม้ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม แต่แคชเมียร์ปกครองโดยมหาราชาที่นับถือศาสนาฮินดู และได้รับสิทธิให้เลือกเข้าร่วมกับประเทศใดก็ได้ แต่หลายสัปดาห์ต่อมาหลังการประกาศเอกราช กองกำลังติดอาวุธชนเผ่าพัชตุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพปากีสถานที่เพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน เริ่มเคลื่อนกำลังไปทางพระราชวังของมหาราชาในเมืองศรีนครเพื่อจะยึดแคชเมียร์ให้เป็นของปากีสถาน

มหาราชาทรงตื่นตระหนกจึงลงนามในภาคยานุวัติสารหรือการส่งมอบสัตยาบัน (Instrument of Accession) เข้าร่วมกับอินเดีย ฝ่ายหลังตอบโต้ด้วยการเคลื่อนพลทางอากาศไปปราบกลุ่มกองกำลังติดอาวุธดังกล่าว ภายในไม่กี่สัปดาห์ สองประเทศเกิดใหม่ก็รบราฆ่าฟันกัน

พลทหารสี่นายเฝ้ารักษาด่านที่อูรดูคาส ซึ่งตั้งอยู่เหนือธารน้ำแข็งบัลโตโรที่ระดับความสูง 4,000 เมตร แม้ต้องต่อสู้กับความเบื่อหน่าย แต่กองทัพปากีสถานภาคภูมิใจกับความมีวินัยของตน “ถ้าเขาสั่งให้เราปีนเขา คำตอบคือ ‘ครับผม’” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอก ค่ายธุรการจะตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางส่งกำลังบำรุง ส่วนค่ายตรวจการณ์จะอยู่ในพื้นที่แนวหน้าหรือใกล้ตำแหน่งที่มองเห็นศัตรู

หลังสงครามยุติลง กองทัพคู่อริปักหลักประจันหน้ากันตลอดแนวเส้นหยุดยิงตามเนินเขาที่ทอดคดเคี้ยว ผ่ากลางแคว้นแคชเมียร์ หลังสนธิสัญญาฉบับหนึ่งผ่านออกมาด้วยการไกล่เกลี่ยขององค์การสหประชาชาติ ในปี 1949 ทีมนักสำรวจฝ่ายทหารจากอินเดียและปากีสถาน ออกเดินทางเพื่อกำหนดแนวเส้นหยุดยิง จากนั้นในปี 1962 กองกำลังจีนบุกมายึดครองอักไสจิน ภูมิภาคทะเลทรายเขตที่สูงตรงมุมทางตะวันออกของแคว้นแคชเมียร์ ส่งผลให้ปมปัญหาเขตแดนยิ่งยุ่งเหยิงกว่าเดิม

ในปี 1968 ปัญหาซับซ้อนที่ฮอดจ์สันต้องแบกรับไว้มีดังนี้ สหรัฐอเมริกาควรแสดงสภาพการณ์ที่สับสนนี้อย่างไรบนแผนที่ของตน หากเขาอิงตามการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ทางการอินเดีย ทั้งแคว้นแคชเมียร์ย่อมตกเป็นของอินเดีย แต่ถ้ายึดตามข้อมติสหประชาชาติฉบับที่ 47 ดังที่ปากีสถานใช้โต้แย้ง แคชเมียร์จะมีสถานะเป็นรัฐอิสระที่ยังรอการทำประชามติเพื่อตัดสินว่าจะเข้าร่วมกับประเทศใด หรือหากเขียนให้ตรงกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ แคชเมียร์ ก็ถูกเฉือนเป็นสองส่วนใต้บังคับของกองทัพอินเดียและปากีสถาน โดยมีมุมเล็กๆ มุมหนึ่งอยู่ในการควบคุมของจีน

เส้นหยุดยิงที่ลากผ่านแคชเมียร์มีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือเส้นที่ว่าไม่ได้แบ่งแยกอินเดียและปากีสถานอย่างเบ็ดเสร็จ แนวเส้นหยุดยิงขาดลงที่พิกัด NJ9842 ซึ่งกำหนดขึ้นระหว่างกระบวนการ ปักปันเขตแดนในพื้นที่จริง หรือที่บริเวณเกือบ 60 กิโลเมตรก่อนถึงพรมแดนจีน เส้นที่หยุดลงดื้อๆ แบบไม่มีทางไปต่อเช่นนี้ถือเป็นเรื่องแปลกในแวดวงภูมิศาสตร์โลก

เชือกช่วยให้ทีมปลอดภัยขณะเดินทางข้ามภูมิประเทศบางประเภท ในภาพนี้ ทหารจากกองพัน 323 ของปากีสถานผูกเชือกยึดโยงกันไว้เพื่อลดโอกาสที่ใครสักคนจะพลัดหลงในหุบน้ำแข็ง ระหว่างข้ามธารน้ำแข็งคียงที่ระดับความสูง 5,300 เมตร รอยแยกน้ำแข็งจำนวนมากรู้จักกันในชื่อของทหารที่ตกลงไปเสียชีวิต

ฮอดจ์สันแจกแจงแนวทางของตนเองว่า ควรแสดงเส้นหยุดยิงตามข้อตกลงเมื่อปี 1948 ในแผนที่ทางการทั้งหมดของสหรัฐฯ เช่นไร แต่แล้วก็เสริมว่า “สุดท้ายเส้นหยุดยิงนี้ควรยื่นต่อออกไปจนจดช่องเขาการาโกรัม เพื่อให้ทั้งสองรัฐชาติ ‘แยกขาดจากกัน’”
แต่โรเบิร์ต ฮอดจ์สัน ไม่มีโอกาสอยู่เห็นสถานการณ์ตึงเครียดที่รุนแรงขึ้นเพราะเส้นของเขา ในเดือนธันวาคม ปี 1979 ฮอดจ์สันซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานนักภูมิศาสตร์แล้ว เสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขณะอายุ 56 ปี

วันที่ 13 เมษายน ปี 1984 กองทัพอินเดียเริ่มปฏิบัติการเมฆทูต (Operation Meghdoot) โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงทหารหมวดหนึ่งเข้าไปยึดบิลาฟอนด์ลา และอีกไม่นานต่อมาก็ยึดช่องเขาเพิ่มอีกสองแห่ง การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้อินเดียได้ควบคุมเทือกเขาซัลทอโร ซึ่งจะกลายเป็นแนวหน้าในการสู้รบแย่งชิงธารน้ำแข็งเซียชิน (Siachen Glacier)

บนธารน้ำแข็งเซียชินและธารน้ำแข็งโดยรอบ ทั้งสองกองทัพประจำการอยู่ตามด่านรักษาการณ์ถาวรบนพื้นที่สูงมากกว่าร้อยแห่ง การดูแลด่านเหล่านี้ต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งยวดในแง่การส่งกำลังบำรุง หรือหลักๆ คือต้องวางแผนการเดินทางไต่เขาคราวละกว่าหนึ่งร้อยเที่ยวพร้อมกันและไม่ให้ขาดตอน

ทหารปากีสถานลำเลียงยุทโธปกรณ์ลงจากเฮลิคอปเตอร์เอ็มไอ-17 ที่ค่ายธุรการเพจู กำลังบำรุงจำเป็นมีตั้งแต่เชื้อเพลิงอากาศยาน ไปจนถึงเหล็กเส้น และไข่สด สำหรับกองทหารที่วางกำลังอยู่ตามแนวสันเขาซัลโตโรทั้งสองฟาก เฮลิคอปเตอร์คือเส้นชีวิต หรือ “นางฟ้าจากเบื้องบน” ดังที่นายทหารผู้หนึ่งเรียก

จนถึงปี 2003 กองทัพทั้งสองฝ่ายระดมยิงปืนใหญ่และใช้พลแม่นปืนซุ่มยิงตอบโต้กันเนืองๆ แต่การหยุดยิงที่ตกลงกันได้ในปีนั้นส่งผลให้เหล่าทหารหาญแทบไม่มีอะไรทำ นอกจากคอยระวังอีกฝ่าย และเอาชีวิตให้รอดจากลมฟ้าอากาศ

ฤดูใบไม้ร่วง ปี 1985 กว่าหนึ่งปีหลังอินเดียยึดเซียชิน หรือ 17 ปีหลังเส้นของฮอดจ์สันถูกตีพิมพ์ นักการทูตอินเดียส่งจดหมายฉบับหนึ่งมาสอบถามอย่างเป็นทางการ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปอยู่บนโต๊ะของจอร์จ เด็มโค นักภูมิศาสตร์ประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น

อีกกว่าหนึ่งปีถัดมา เด็มโคออกบันทึกปรับปรุงแนวทางการเขียนแผนที่ซึ่งกล่าวว่า สำนักงาน นักภูมิศาสตร์ได้ตรวจสอบการแสดงเส้นพรมแดนอินเดีย-ปากีสถานบนแผนที่สหรัฐฯ และพบว่า “มีความ ไม่สอดคล้องในการแสดงเส้นดังกล่าวและการจัดประเภทเขตแดนโดยหน่วยงานผู้ผลิตแผนที่หลายแห่ง” เพื่อแก้ไขการแสดงเส้นดังกล่าวให้ถูกต้อง เขาชี้แจงว่า “เส้นหยุดยิงจะไม่ถูกขยายออกไปจดช่องเขาการาโกรัมเช่นที่ปฏิบัติในการจัดทำแผนที่ครั้งก่อนๆ” เส้นของฮอดจ์สันถูกลบออกไปแล้ว แต่ถึงจะถูกเอาออกจากแผนที่ฉบับต่างๆ ของสหรัฐฯ สำนักงานนักภูมิศาสตร์ก็ไม่เคยอธิบายว่า เหตุใดเส้นดังกล่าวจึงปรากฏขึ้นมาแต่แรก

เส้นของฮอดจ์สัน “มีบทบาทในการชักนำไปสู่สงครามอย่างแน่นอน แม้จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดสงครามโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งอย่างแน่นอนครับ” เดฟ ลินทิคัม นักเขียนแผนที่ผู้ทำงานให้ซีไอเอและสำนักงาน นักภูมิศาสตร์มากว่า 30 ปี กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน
ภาพถ่าย คอรี ริชาร์ดส์

สามารถติดตามสารคดี หาใช่เพียงเส้นสมมติเหนือขุนเขา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2564
.
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ย้อนรอยความขัดแย้งบนดินแดน แคชเมียร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.