ย้อนรอยความขัดแย้งบนดินแดน แคชเมียร์

ย้อนรอยความขัดแย้งบนดินแดน แคชเมียร์

ความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดีย บนดินแดน แคชเมียร์ มีมาอย่างอย่างนาน

แคว้นชัมมูและ แคชเมียร์ นั้น เดิมเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวซิกข์ในช่วงต้นคริสศตวรรษที่สิบเก้า หลังจากที่อังกฤษรุกรานซิกข์และได้รับชัยชนะในปี 1846 แทนที่อังกฤษจะปกครองดินแดนด้วยตนเอง กลับให้อำนาจการปกครองกับชาวฮินดูในฐานะ “มหาราชา”

ในยุคจักรวรรดิอังกฤษ แคว้นชัมมูและแคชเมียร์เป็นหนึ่งใน 560 รัฐที่ได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเองภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ ในการประกาศเอกราช ผู้ปกครองแคว้นต่างๆ เหล่านี้ ได้รับสิทธิเลือกที่จะอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ระหว่าง อินเดียและปากีสถาน โดยต้องคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศและศาสนาของประชากรที่อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น

มหาราชา ฮาริ สิงห์ โดกรา (Hari Singh Dogra) ผู้ครองแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ขณะนั้นไม่สามารถตัดสินใจได้ เนื่องจากตัวพระองค์นับถือศาสนาฮินดู ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นมหาราชาจึงไม่ตัดสินใจที่จะรวมเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่กลับลงนามในข้อตกลงสงบศึกชั่วครา กับปากีสถาน เพื่อที่ประชาชนในแคว้นยังสามารถทำการค้า การเดินทางท่องเที่ยวและการติดต่อสื่อสารกับประชาชนของปากีสถานได้ ขณะที่แคว้นชัมมูและแคชเมียร์ไม่ได้มีการลงนามข้อตกลงใดๆ กับประเทศอินเดีย

ในเดือนตุลาคม ปี 1947 ชนเผ่าปัชตุน (Pashtun) จากชายแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานเข้ารุกรานแคว้นแคชเมียร์ นอกจากนั้น ยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในแคว้น เพื่อต่อต้านกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปากีสถานในความพยายามจะรวมเข้ากับปากีสถาน จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้มหาราชา ฮาริ สิงห์ ตัดสินใจนำแคว้นชัมมูและแคชเมียร์เข้าร่วมกับอินเดีย โดยแลกกับความช่วยเหลือด้านกำลังพลและอาวุธจากอินเดีย

ภายหลังจากที่มหาราชา ฮาริ สิงห์ ลงนามในการส่งมอบสัตยาบันหรือภาคยานุวัติสาร (Instrument of Accession) กับ วี พี เมนอน ผู้แทนนายกรัฐมนตรี ชวาฮาร์ลัล เนหรุ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1947 ในเช้าวันต่อมา (27 ตุลาคม) กองกำลังอินเดียเคลื่อนพลทางอากาศเข้าสู่กรุง Srinagar หรือศรีนคร เมืองใหญ่ที่สุดในแคชเมียร์ นับตั้งแต่นั้นมาความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นและต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 50 ปี

แคว้นชัมมูและแคชเมียร์ เป็นต้นตอขอข้อพิพาทในภูมิภาคเอเชียใต้ตลอดมานับตั้งแต่อังกฤษคืนเอกราชให้ดินแดนจักรวรรดิอินเดียของอังกฤษ และเป็นชนวนเหตุสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถานถึง 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1947-1949 หรือที่เรียกว่า “The First Kashmir War” เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปี 1947 ปากีสถานให้การสนับสนุนวาร์ซิรี (Warxiri) และมาอูซุด (Mausud) นำทหารชาวเขาจากชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ โดยอ้างว่ามาทำการปลดปล่อยชาวแคชเมียร์จากมหาราชา ฮาริ สิงห์ และสามารถยึดครองดินแดนได้ถึง 1 ใน 3 ของแคว้น ทำให้มหาราชาตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินเดีย

เยาหะราล เนห์รู นายยกรัฐมนตรีขณะนั้น ตัดสินใจส่งทหารบกลำเลียงทางอากาศลงที่ศรีนคร (เมืองหลวงแคชเมียร์) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1947 เวลา 09.00 ได้ทันก่อนที่ปากีสถานจะเข้ายึดสนามบิน เกิดการปะทะกันหลายครั้ง หลังจากนั้น รัฐบาลอินเดียยื่นประท้วงต่อคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งองค์การสหประชาชาติมีมติให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1949 โดยกำหนดแนวหยุดยิง (Line of Control) แบ่งแคชเมียร์ตะวันออก ชัมมู และลาดัคห์ เป็นเขตยึดครองของอินเดีย ส่วนแคชเมียร์ตะวันตก (ปากีสถาน เรียกว่า “อาซัค” หมายถึงแคชเมียร์) เป็นเขตยึดครองของปากีสถาน

ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1965-1966 หรือที่เรียกว่า “The Second Kashmir War” สงครามแคชเมียร์ครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 เมื่อปากีสถานส่งกำลังทหารเข้าโจมตี Runn of Kachehh โดยอ้างว่าเป็น “วันปลดปล่อยแคชเมียร์” (Kashmir Revolt Day) ซึ่งตรงกับการฉลองครบรอบ 12 ปีที่เชค อับดุลลาห์ ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพชาวแคชเมียร์ถูกจับกุม

ปากีสถานส่งหน่วยคอมมานโดพร้อมอาวุธทันสมัยรุกเข้ายึดศรีนคร ทำลายสถามบินปาธาน-กฏอดัมขปูร์ และฮัลวารา พร้อมทั้งส่งกำลังพลร่มเข้าสู่ปัญจาบ รัฐบาลอินเดียได้ยื่นประท้วงสหรัฐอเมริกา กล่าวหาปากีสถานใช้อาวุธทันสมัยละเมิดแนวหยุดยิง รุกรานแคชเมียร์ในเขตยึดครองอินเดีย

สหรัฐฯ จึงได้ระงับการขายอาวุธให้ปากีสถาน ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1965 และประกาศวางตัวเป็นกลาง อินเดียส่งกำลังทหารตอบโต้ สามารถยึดดินแดนกลับคืนมาได้ และรุกคืบหน้าใกล้ถึงเมืองละฮอร์ (Lahore) ของปากีสถาน จนทำให้ปากีสถานต้องยอมหยุดยิงและเจรจาสงบศึก (The Tashkent Declaration) เมื่อ ค.ศ. 1966 ที่เมือง Tashkent

ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1971 เป็นสงครามที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับแคชเมียร์ แต่เกี่ยวพันกับสงครามการแยกตัวของปากีสถานตะวันออก หรือ บังคลาเทศในปัจจุบัน (Bangladesh Liberation War) ดินแดนทางทิศตะวันออกของปากีสถานซึ่งประชากรส่วนใหญ่เชื้อสาย Bengali ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถาน ด้วยเหตุความรุนแรงในวงกว้างที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้อพยพชาว Bengali หลายล้านคนหนีตายมายังประเทศอินเดีย ในครั้งนั้น อินเดียร่วมกับกองกำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบังคลาเทศ (Mukti Bahini หรือที่รู้จักกันในนามของ “Freedom Fighter”) สามารถเอาชนะกองกำลังปากีสถาน ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้เกิดประเทศบังคลาเทศ

ครั้งที่ 4 สงครามคาร์กิล ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 หรือที่เรียกว่า “Kargil War” ปากีสถานเปลี่ยนยุทธวิธีการรบจากการใช้กำลังเผชิญหน้ามาเป็นการใช้ยุทธวิธีในการทำให้อินเดีย Bleed through a thousand cuts เหมือนกับที่ปากีสถานได้ทำกับอดีตสหภาพโซเวียตในช่วงที่เข้ายึดครองอัฟกานิสถาน และในที่สุดโซเวียตก็พ่ายแพ้

ปากีสถานใช้นักรบศักดิ์สิทธ์ของพระผู้เป็นเจ้า หรือ “Jihad” ต่อสู้กับพวกนอกศาสนา คือ อินเดีย โดยเปิดค่ายผู้ก่อการร้ายในเขตแคชเมียร์ของปากีสถาน ในสงครามครั้งนี้ แม้อินเดียจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แต่อินเดียพบกับความสูญเสียมหาศาล ทหารอินเดียหลายกองพันต้องสังเวยชีวิต ส่วนปากีสถานสามารถเรียกร้องให้นานาชาติหันมาสนใจปัญหาแคชเมียร์ได้ในระดับหนึ่ง

ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้มีสัญญาณแสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมีวี่แววว่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งสองประเทศต่างเปิดการเจรจาสันติภาพหลายครั้ง และได้มีการเปิดเส้นทางรถโดยสารระหว่าง 2 ฝากฝั่งแคชเมียร์ในปี 2005 ขณะที่ในปี 2006 ได้มีการเปิดเส้นทางรถไฟและเส้นทางการค้าหลังจากปิดมา 60 ปีตรงบริเวณรอยต่อแบ่งเขตการปกครองแคชเมียร์ของอินเดียและปากีสถาน

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายที่กรุงมุมไบในเดือนพฤศจิกายนปี 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มย่ำแย่ลงอีกครั้ง อินเดียได้ส่งหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับไปยังปากีสถาน เพื่อประท้วงที่ปากีสถานไม่อาจหยุดผู้ก่อการร้ายที่อาศัยอยู่ในประเทศตนได้

เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2019 จากเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเขตพูลวามา ซึ่งเป็นดินแดนแคชเมียร์ในส่วนที่อยู่ในการควบคุมของอินเดีย ทำให้เจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจกึ่งทหารเสียชีวิต 46 นาย นับเป็นเหตุรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

Recommend