ผู้มาเยี่ยมชมวัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทางภาคใต้ของประเทศไทย บริจาครูปปั้นไก่จำนวนนับไม่ถ้วน เพื่อเป็นเกียรติแก่ “ไอ้ไข่” ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอลวิญญาณของเด็กชาย ที่เชื่อกันว่าจะนำพาความโชคดีมาให้
ภาพถ่ายโดย AMANDA MUSTARD, NATIONAL GEOGRAPHIC
เมื่อการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสส่งผลให้ต้องปิดพรมแดนระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของไทยต้องหยุดชะงัก คิดเป็นสัดส่วนมูลค่ามากกว่าร้อยละ 20 ของ GDP
ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน คำบอกเล่าแพร่กระจายออกไปว่าวิญญาณของรูปปั้นสมัยศตวรรษที่ 18 ในภาคใต้ของประเทศไทย ที่เรียกว่า “ไอ้ไข่” ได้ให้โชคแก่หญิงคนหนึ่งที่มาสักการะจนเธอถูกรางวัลลอตเตอรี หลังจากนั้นหญิงคนดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จัก เธอจึงเปิดเผยถึงความมั่งคั่งและความสำเร็จที่เธอได้รับมาจากการสักการะไอ้ไข่
ในไม่ช้าวัดเจดีย์ ที่มีรูปปั้นไอ้ไข่ ก็กลายเป็นสถานที่ในการแสวงหาสิ่งที่ปรารถนาและโชคลาภของคนไทย
สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย วิญญาณถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและยังถูกมองว่าเป็นประตูสู่ความมั่งคั่งหรือการปกปักรักษาอีกด้วย
“ถ้าคุณพิจารณาแนวความคิดทางศาสนาที่เป็นที่นิยมของไทย ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับคุณในชีวิตประจำวัน” ดร.ประกีรติ สัตสุต อาจารย์ประจำคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
“เมื่อคุณไปตลาดคุณจะเห็นศาลเจ้าที่ตั้งไว้ประจำอาณาเขต หรือในร้านค้าที่มีนางกวักไว้นำโชค คุณสามารถใช้วัตถุเหล่านี้เพื่อเก็บเกี่ยวโชคลาภ ความมั่งคั่ง หรือบรรลุเป้าหมายของคุณในโลกนี้ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการสื่อสารและความสัมพันธ์กันบางอย่าง”
เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้เกิดสภาวะกดดันทางสังคมและการเงินอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณนี้จึงกลายเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวสำหรับคนไทยจำนวนมาก จนทำให้ไอ้ไข่ ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักแค่กับคนในท้องถิ่น แต่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่ซึ่งยินดีต้อนรับผู้เลื่อมใสหลายพันคนต่อวัน
ประมาณ 250 ปีก่อน เด็กชายคนหนึ่งได้ร่วมเดินทางไปกับพระภิกษุสงฆ์ และทั้งคู่ค้างคืนที่วัดเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพระมองว่าในอนาคตวัดแห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่สำคัญ จึงสั่งเด็กชายให้อาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้และรับใช้คนในท้องถิ่น
เด็กชายจึงสาบานตนปฏิบัติตามคำพระกล่าว เด็กชายคนนั้นมีชื่อเรียกว่า “ไอ้ไข่”
นอกเหนือจากการช่วยเหลือพระและดูแลรักษาวัดแล้ว ไอ้ไข่ยังก่อวีรกรรมตามประสาเด็กผู้ชาย เขาได้สร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านด้วยการยิงหนังสติ๊ก จุดประทัดเจื้อยแจ้ว และเล่นเป็นทหาร ไม่กี่ปีต่อมาพระที่ไอ้ไข่ติดตามนั้น จะเดินทางกลับไปที่หมู่บ้านเดิมที่จากมา
แม้จะอยากกลับบ้านเกิด แต่มันจะเป็นการผิดคำสาบานของเขาที่จะคอยอยู่รับใช้วัดแห่งนี้ ไอ้ไข่จึงไม่ได้ร่วมเดินทางในครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น เขากลับจมน้ำตายในสระน้ำ
เด็กชาย “ไอ้ไข่” จึงไม่เคยได้ออกจากวัดเจดีย์จริง ๆ ด้วยความทุกข์ระทมจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวและความระลึกถึงการปรนนิบัติรับใช้ของเด็กชาย ทางวัดได้สร้างรูปปั้นไอ้ไข่ขึ้นไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยววิญญาณของเขา ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ไอ้ไข่ถูกพบเห็นหลายครั้ง
ศุภชัย โจมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการวัดเจดีย์เล่าว่า ครั้งหนึ่งไอ้ไข่เคยก่อความเสียหายให้กับทหารที่มาตั้งแคมป์ในวัดช่วงยุคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังกล่าวถึงวิญญาณของไอ้ไข่ เพื่อขอให้เขาช่วยค้นหาสิ่งของที่สูญหายและขอให้พบกับความมั่งคั่ง
ในปี 2020 “Egg Boy Fever” ศัพท์คำนี้ใช้เวลาไม่นานก็แพร่กระแสไปทั่วประเทศ (แม้แต่คนไทยเองก็ใช้คำภาษาอังกฤษดังกล่าวในการอธิบายปรากฏการณ์นี้)
ศุภชัย กล่าวว่า “หลังการกักตัวถูกยกเลิกไป ในช่วงวันหยุดยาวปลายปีที่ผ่านมา มีผู้มาเยี่ยมชมวัดเจดีย์ประมาณ 70,000 ถึง 80,000 คน” ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง สำหรับสิ่งที่เมื่อก่อนเคยเป็นเพียงสถานที่สักการะบูชาซึ่งเป็นที่รู้จักแค่คนท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของไทย แม้ปัจจุบันวัดเจดีย์จะมีชื่อเสียงและมีผู้คนมาเยี่ยมชมจำนวนมาก แต่วัดยังคงมีพระสงฆ์เพียง 10 รูปเท่านั้น
พระสงฆ์นามว่า ปอ อายุ 21 พรรษา เขาเติบโตในหมู่บ้านที่อยู่ติดกับวัดได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ภูมิใจมากที่วัดของเรามีชื่อเสียงและมีคนมาที่นี่จากทุกสารทิศ และไม่รู้สึกรำคาญฝูงชนแต่อย่างใด”
แต่ก็ยากที่จะจินตนาการได้ว่าพระปอและเพื่อนพระรูปอื่น ๆ ต้องรับมือกับผู้มาเยี่ยมชมโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าประมาณ 8,000 คนต่อวัน ลานจอดรถของวัดสามารถรองรับรถได้มากถึง 6,000 คัน และการขยายพื้นที่ของวัดอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้บริเวณส่วนใหญ่รอบวัดเจดีย์ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่
แม้จะให้ความรู้สึกของเมืองใหญ่ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นที่สนใจทางจิตวิญญาณของประเทศไทย เชื่อกันว่าศาสนาฮินดูเข้ามาถึงบริเวณนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 5 และต่อมาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 จังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทไปยังส่วนที่เหลือของประเทศไทย
ในอดีตเมื่อปี 2550 วัดอีกแห่งในจังหวัดนี้เคยกลายเป็นศูนย์กลางของความนิยมในพระเครื่องที่เรียกว่า “จตุคามรามเทพ” เช่นเดียวกับความคลั่งไคล้ในพระเครื่องซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินในเอเชีย กระแสนิยมไอ้ไข่เองก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคงในประเทศไทย และตอนนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชกำลังได้รับประโยชน์จากกระแสนิยมไอ้ไข่
พิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ไอ้ไข่เป็นเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดผู้คนที่เครียดหรือทุกข์จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมาที่นี่”
อีกทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่สิ้นสุดการกักตัวในประเทศไทย เที่ยวบินต่อวันมายังนครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 2 เท่า อัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้น ยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ยี่สิบหกเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตัวเลขติดลบสีแดงที่เห็นได้ชัดในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ”
ก่อนที่ผู้คนจะเดินทางมาถึงวัดเจดีย์ พวกเขาจะได้เห็นความคึกคักตลอดเส้นทางบนถนนชนบทยาว 6 กิโลเมตร ที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าซึ่งขายรูปปั้นปูนซีเมนต์สีสันสดใส ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นทหารที่เหมือนตัวการ์ตูน ดอกไม้ที่น่าดึงดูด และหมุดปักที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Google Maps
ตามความเชื่อของไทยหากผู้ใดร้องขอบางสิ่งจากวิญญาณหรือวัด และได้รับผลสมตามความปรารถนานั้นจะต้องกลับไปที่วัดและถวายของกำนัล โดยที่วัดเจดีย์ เพื่อดึงดูดให้เข้ากับตำนานเด็กชายอย่างไอ้ไข่ ของขวัญเหล่านี้จึงอยู่ในรูปของประทัด ของเล่นและขนม โดยของขวัญที่ได้รับความนิยมที่สุดคือรูปปั้นไก่
ธารารัตน์ ทองใบ เจ้าของโรงงานปูนปั้นกล่าวว่า “สมัยก่อนผู้คนจะนำไก่จริงมาถวายที่วัด แต่ปัจจุบันนี้ไม่สะดวกสำหรับพระ ผู้คนจึงเริ่มนำรูปปั้นไก่มาถวายแทน”
ธารารัตน์ และครอบครัวของเธอปั้นรูปปั้นไก่สูงถึง 3 เมตร และปิดด้วยกระจกบานเล็ก ๆ ซึ่งมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 120,000 บาท และเนื่องมาจากการระบาดครั้งใหญ่ ธุรกิจของเธอจึงดำเนินการส่วนใหญ่ทางออนไลน์ โดยมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมและจะจัดส่งสิ่งของไปยังวัดเจดีย์ในนามของผู้ร่วมทำบุญ
“ที่วัดเจดีย์มีสุสานรูปปั้นไก่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไว้เป็นสถานที่ซึ่งวัดรับไก่ไว้หลังจากบริจาคแล้ว” เธอกล่าว
เดินจากวัดเจดีย์ไปไม่ไกลนัก ปรากฏฝูงรูปปั้นไก่โต้งนับแสนตัวที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ในพื้นที่ขนาดเท่าสนามฟุตบอล บนพื้นมีชิ้นส่วนรูปปั้นไก่ที่หักพังจำนวนมากกองเกลื่อน เมื่อฉันไปเยี่ยมชมรูปปั้นส่วนใหญ่ยังคงดูสดใสและใหม่อยู่ แต่ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าสุสานไก่แห่งนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ขณะที่สีลอกออกและรูปปั้นก็ผุพังลง
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย ซึ่งเป็นความเชื่อที่เชื่อมโยงองค์ประกอบของศาสนาฮินดู ศาสนาจีน และการบูชาวิญญาณ เมื่อคุณได้สัมผัสบรรยากาศในวัดเถรวาทนี้ แม้แต่วัดไทยเรียบง่ายก็ให้ความรู้สึกดูคล้ายกับงานเทศกาลบางอย่าง
ในมุมหนึ่งของวัด แขกผู้มาเยือนถูแป้งเด็กลงบนท่อนไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ โดยคาดหวังว่าเลขลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลจะปรากฏขึ้น และที่ประตูถัดไปคุณจะได้ยินเสียงเพลงลูกทุ่งของไทย มาจากวงดนตรีที่มีคนจ้างมาเพื่อแก้บน อีกทั้งในทุก ๆ สองชั่วโมงกล่องประทัดจะถูกขนย้ายออกไปโดยรถบรรทุก ซึ่งที่ท้ายรถบรรทุกจะเห็นเป็นเหมือนกองภูเขาที่เต็มไปด้วยเถ้าถ่านและกระดาษที่ไหม้เกรียม จากนั้นรถบรรทุกก็จะนำไปทิ้งและจุดไฟเผา ส่งผลให้เกิดควันและเสียงดังคล้ายภูเขาไฟพ่นออกมา
เสียงอึกทึกที่วัดเจดีย์ให้ความรู้สึกเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน บริเวณวัดประกอบด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายลอตเตอรี่ ตู้เอทีเอ็ม และศูนย์อาหารที่กว้างขวาง บริเวณทางเข้าวัดเจดีย์มีที่ตั้งบูธที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเช่าพระเครื่องอย่างเป็นทางการ (แม้ว่าพวกเขาจะซื้อจริง แต่คนไทยใช้คำนี้เพื่อปกปิดความหมาย ที่จะเป็นปัญหาในการครอบครองวัตถุมงคล)
ศุภชัย อธิบายว่า “คนที่มาที่นี่มีความปรารถนาที่แตกต่างกัน ผมเคยสัมภาษณ์ผู้เยี่ยมชมร้อยคน ในจำนวนนี้ หกสิบคนต้องการถูกรางวัลลอตเตอรี่ ยี่สิบคนต้องการความช่วยเหลือในหน้าที่การงาน และอีกยี่สิบคนต้องการอย่างอื่นผสมกันไป”
ฉันเดินไปรอบ ๆ บริเวณวัด เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ผู้คนขอจากไอ้ไข่
ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ นัน ขับรถจากในเมืองมา 3 ชั่วโมง พร้อมสามีและลูกของเธอกล่าวว่า “เรามาที่นี่เมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้วและถูกรางวัลลอตเตอรี่ คราวนี้เรามาที่นี่เพื่อขอให้ได้รถใหม่”
ผู้หญิงอีกคนที่เดินผ่านมาชื่อ ดิว กล่าวว่า “ญาติของฉันมาที่นี่ก่อนหน้านี้และถูกรางวัลลอตเตอรี่ ถึงแม้จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ แต่ฉันคิดว่าจะลองดู”
ชายหนุ่มชื่อ บูม บินมาจากกรุงเทพฯ ในวันนี้ โดยนี่เป็นการเดินทางมาที่วัดเจดีย์ครั้งที่ 2 เขาและเพื่อน ๆ แสดงพระเครื่องและสร้อยข้อมือให้ฉันดู
นอกจากนี้ บูมยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ผมเป็นส่วนหนึ่งของ Generation Y เราสนใจพระเครื่อง แต่สำหรับเราไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อเท่านั้น แต่มีองค์ประกอบของแฟชั่นและสถานะ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนอีกด้วย”
หลังจากนั้นฉันจึงไปดูไอ้ไข่ด้วยตัวเอง ฉันเดินตามขั้นบันไดหินอ่อนไปยังห้องโถง เมื่อเทียบกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกแล้ว ในโถงแห่งนี้เงียบสงบและว่างเปล่า จำนวนผู้คนไม่ถึงโหลกำลังคุกเข่าต่อหน้ารูปปั้นที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของวิญญาณไอ้ไข่ มีควันลอยไปทั่ว
รูปปั้นไอ้ไข่ปกคลุมไปด้วยแผ่นทองคำเปลว เหมือนเด็กชายตัวเท่าคนจริง แต่งตัวแบบยุค 80 สวมเสื้อยืดสีขาวที่มีชื่อวัดเจดีย์ติดอยู่ กางเกงยีนส์สีน้ำเงินขลิบสีสดใส หมวกเบสบอล Ferrari สีแดง และแว่นกันแดด
จากทั้งหมดที่ได้พบเจอทั้งสุสานรูปปั้นไก่ ภูเขาประทัด การแสดงของเหล่าวงดนตรี ศูนย์อาหาร ฝูงชนจำนวนมาก และเสียงประกาศอึกทึกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดูเหมือนการเชื่อมต่อทางจิตวิญญาณของรูปปั้นไอ้ไข่ขนาดเล็กนี้ ถูกกลืนไปในบรรยากาศแห่งความวุ่นวาย
เนื้อเรื่องโดย AUSTIN BUSH
ภาพถ่ายโดย AMANDA MUSTARD
แปลและเรียบเรียงโดย ปาณิสรา สันติมิตร
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : รีวิว ภาพยนตร์ เอหิปัสสิโก – ความ(ไม่)จริงแท้ในศรัทธาและความเชื่อของมนุษย์