รีวิว ภาพยนตร์ เอหิปัสสิโก – ความ(ไม่)จริงแท้ในศรัทธาและความเชื่อของมนุษย์

รีวิว ภาพยนตร์ เอหิปัสสิโก – ความ(ไม่)จริงแท้ในศรัทธาและความเชื่อของมนุษย์

4 ปีหลังจากการเหตุการณ์จับกุมพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายซึ่งสร้างทั้งความขัดแย้งและคลางแคลงใจในสังคม ภาพยนตร์สารคดี เอหิปัสสิโก ได้นำเสนอเหตุการณ์นี้จากหลายแง่มุมเพื่อพาผู้ชมออกไปหาออกไปหาความจริงที่ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

(บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์)

ความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ถือเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติทั้ง ‘ความแข็งแกร่ง’ และ ‘ความอ่อนไหว’ ในสังคมไทย

เราอาจมองศาสนาพุทธในด้านของความแข็งแกร่ง เนื่องจากการมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยซึ่งมีผู้นับถือกว่าร้อยละ 93-94 ความเป็นศาสนาพุทธได้กระจายไปทุกพื้นที่ในสังคม มีบทบาทในการศึกษาของเยาวชน รวมไปถึงการให้ความสำคัญโดยรัฐไทย ถึงขั้นมีการเขียนสนับสนุนการศึกษาศาสนาพุทธไว้อย่างชัดแจ้งในกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ (ในประเทศที่ไม่ได้ประกาศตัวเองเป็นรัฐศาสนา)

ในอีกด้านหนึ่ง ความอ่อนไหว ของศาสนาพุทธคือเราไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์วิถีทางและครรลองของศาสนาพุทธในแง่ของ ‘ความเชื่อ’ แบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างง่ายดายนัก การวิพากษ์วิจารณ์ถึงศาสนามักถูกผลักให้ตกขอบในแง่ของความเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการที่รัฐไทยได้สร้างภาพให้สถาบันศาสนา (พุทธ) เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของประเทศ การวิพากษ์ให้เกิดความสั่นไหวจึงกลายเป็นภัยคุกคาม

จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เมื่อภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่หลายคนคาดว่าเป็นการวิจารณ์ศาสนาพุทธอย่าง Come and See – เอหิปัสสิโก โดยผู้กำกับ ณฐพล บุญประกอบ เตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ได้เกิดกระแสข่าวในเรื่องแนวโน้มการถูกห้ามฉายในขั้นตอนการตรวจพิจารณาจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เนื่องจากคณะกรรมการบางส่วนไม่ต้องการให้ฉายภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ผู้สร้างได้ออกมาชี้แจงต่อคณะกรรมการจนสามารถเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปได้โดยไม่มีการตัดทอนเนื้อหาในวันที่ 6 เมษายน เป็นวันแรกเอหิปัสสิโก

โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้นำเสนอเหตุการณ์ในช่วงปี 2560 ที่พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จึงเกิดปฏิบัติการปิดล้อมวัดเพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโยไปดำเนินคดีจนเกิดความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มคนที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกาย

Come and see

แต่ก่อนที่ภาพยนตร์จะนำเสนอเหตุการณ์การความขัดแย้งของคดีความระหว่าง DSI กับพระธัมมชโย ภาพยนตร์ได้พาผู้ชมไปสัมผัสถึงเรื่องราวของความเป็นวัดพระธรรมกาย ที่หลายคนมองว่าเป็นสถานที่แห่งทั้งความศักดิ์สิทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ลัทธิมอมเมาโดยใช้ภาพลักษณ์ของศาสนามาเป็นฉากหน้าในความเห็นของคนจำนวนไม่น้อย

สารคดีได้เล่าผ่านบุคคล 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ผู้ที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกาย อดีตผู้ที่ศรัทธาในที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ต่อต้าน เจ้าหน้าที่รัฐที่มอง ‘ธรรมกาย’ เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา รวมไปถึงนักวิชาการด้านพุทธศาสนาและสังคมที่มาอธิบายในฐานะมุมมองของคนนอกว่าความเป็นธรรมกายมีที่มาและส่งผลต่อสังคม และวงการศาสนาพุทธในประเทศไทยได้อย่างไร

ภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับชื่อเรื่อง คือพาผู้ชมได้สำรวจเข้าไปในโลกของวัดพระธรรมกายว่าเหตุใดวัดนี้จึงมีผู้ที่ศรัทธากว่า 4 ล้านคน ในทุกช่วงวัยและสาขาอาชีพ และความเชื่อ (ความจริง) ของพวกเขาเป็นอย่างไร โดยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ศรัทธาอย่างยิ่งยวดเข้ามาเล่าถึงเรื่องราวของแนวคิดคำสอนเขายึดถือ เช่นเรื่องราวการประกอบบุญเพื่อให้เข้าถึงการบรรลุธรรมในแบบของธรรมกาย หรือการมุ่งสะสมบุญเพื่อมีชีวิตในสรวงสวรรค์หลังความตาย ยิ่งทำมาก ยิ่งได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นสูงมากขึ้น

เอหิปัสสิโก, Come and see
ขอบคุณภาพถ่ายจากภาพยนตร์ตัวอย่าง COME AND SEEเอหิปัสสิโก

ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการใช้คำสัมภาษณ์ของบุคคล แต่ภาพเหตุการณ์ภายในวัดพระธรรมกายและวิถี ‘ปฏิบัติธรรม’ ที่ผู้กำกับเลือกเฟ้นมาประกอบเข้าบทสัมภาษณ์ได้ทำให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงการประกอบสร้างถึงความจริงที่เหล่าลูกศิษย์ธรรมกายต่างยึดถือเป็นหลักประจำชีวิต ในส่วนนี้อาจทำให้ผู้ชมที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสถึงความเป็นธรรมกาย หรือได้ตั้งอคติกับทางวัดมาก่อน มีโอกาสทำความเข้าใจกับฝั่งผู้ศรัทธาได้ไม่มากก็น้อย

แต่ก่อนที่เราจะหลงใหลไปกับความเชื่อเช่นเดียวกับฝั่งผู้ศรัทธา ภาพยนตร์ก็ได้มีการตัดสลับกับกับข้อโต้แย้งจากผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับทางวัดไม่ว่าจะเป็นอดีตพระที่เป็นเคยเป็นพระคณะกรรมการระดับสูงของวัดพระธรรมกาย, อดีตลูกศิษย์ของวัดผู้อุทิศตนมาหลายสิบปี รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘ทำบุญ’ ของคนใกล้ชิด คนเหล่านี้ล้วนมีจุดเปลี่ยนในศรัทธาเนื่องจากแนวทางการหาเงินบริจาคเข้าวัดจนเกินพอดี ก่อนที่เริ่มจะตั้งคำถามถึงแนวคิดและคำสอนของวัด (ที่มักเรียกกันว่าเป็น ‘วิชาธรรมกาย’) ในรูปแบบต่างๆ

วัดธรรมกาย
ขอบคุณภาพถ่ายจากภาพยนตร์ตัวอย่าง Come and Seeเอหิปัสสิโก

ซึ่งโดยการตีความส่วนตัวของผู้เขียน มองว่าผู้ที่มีความศรัทธาในวัดจะมีพฤติกรรมการยึดถือในพิธีกรรมและแนวคิดซึ่งเกิดขึ้นภายในวัดเองว่า ถ้าเราปฏิบัติความดีในแบบของธรรมกาย พวกเขาจะมีบุญบารมีที่ดีทั้งในภพชาตินี้และชาติหน้าโดยสนิทใจซึ่งจะตรงข้ามกับบุคคลที่เคยเป็นลูกศิษย์วัดและซึ่งได้มีจุดเปลี่ยนในการตั้งถาม จนเริ่มปฏิเสธความเป็นธรรมกายและออกมายืนในฝ่ายต่อต้าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นศาสนาพุทธ เพียงแค่ปฏิเสธแนวคิดธรรมกายที่เขาเคยเชื่อเท่านั้น

นอกจากนี้ แนวคิดของทั้งสองฝ่ายจะได้รับการอธิบายโดยนักวิชาการทางศาสนาที่ทำให้ผู้ชมได้ลองพิจารณาใคร่ครวญของแนวคิดความต่างที่เป็นเสมือนความขาว-ดำ ที่มีการตีความต่างกันออกไปตามฝ่ายความเชื่อที่ตนยึดถือ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจตามความเห็นของผู้เขียนคือเรื่อง ‘พุทธพาณิชย์’ ที่มีการให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่วัดพระธรรมกายทำก็ไม่ได้ต่างจากวัดอื่นๆ ที่ต้องหล่อเลี้ยงตนเองในสังคมทุนนิยมเท่าใดนัก เพียงแต่ธรรมกายแสดงให้เห็นถึง ‘ขั้นสุด’ ของพุทธพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นเกินไป ซึ่งรวมไปถึงความเป็น ‘พุทธศาสนาแบบไทยๆ’ ในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 ‘รัฐไทย’ คู่กรณีอันดับหนึ่งของธรรมกาย

นอกจากตัวแทนของสองความเชื่อ ภายในเรื่องยังมีคู่กรณีของวัดที่โดดเด่นที่สุด นั่นคือหน่วยงานรัฐที่มองว่า ‘ธรรมกาย’ เป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแหล่งบ่อนทำลายศาสนาพุทธตามมาตรฐานในแบบที่รัฐไทยเข้าใจ จนต้องมีการปราบปรามโดยการใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ อย่างมาตรา 44 โดยนายกรัฐมนตรี (ที่ในขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร) จนเกิดการตั้งคำถามถึง ‘ความชอบธรรม’ ของการใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐโดยลูกศิษย์วัดพระธรรมกายจนเกิดภาพแห่งความขัดแย้งและการประทะกันในส่วนที่เป็นครึ่งหลังของภาพยนตร์

ดีเอสไอ, วัดธรรมกาย
ขอบคุณภาพถ่ายจากภาพยนตร์ตัวอย่าง Come and Seeเอหิปัสสิโก

โดยในเรื่อง ผู้ชมอาจรู้สึกได้ถึงความสงสัยว่าถ้าหากพระธัมมชโยมีความผิดจริง เหตุใดจึงไม่ใช้กฎหมายธรรมดามาบังคับคดี แต่กลับเป็นกฎหมายพิเศษจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาด้วยวิธีการปกติมาบังคับใช้ สิ่งนี้ทำให้เกิดความคลางแคลงสงสัยว่าข้อกล่าวหาของธรรมกายคือการบิดเบือนคำสอนและสิ่งปฏิบัติอันถูกต้องของศาสนาพุทธ (ซึงอาจไม่แน่ชัดว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหนในแบบของไทย) หรือเป็นเพราะรัฐมองว่าธรรมกายเป็นภัยความมั่นคงของตน เพราะมีบทบาทในการชักจูง ควบคุมคนในแง่ของศาสนาที่รัฐบาลไม่อาจควบคุมได้ (หรือถึงขั้นยึดประเทศไทยได้) ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นักวิชาการที่ได้มาให้ความเห็นในต้นเรื่องกันแน่

ภาพเหตุการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกับเหล่าผู้ศรัทธาแห่งวัดพระธรรมกายซึ่งประกาศว่าพร้อมพลีชีพเพื่อบุญ ความดี และหลวงพ่อธัมมชโย อันเป็นฉากที่เปรียบเสมือนการขมวดปมความขัดแย้งที่ให้อารมณ์ไม่ต่างจากภาพยนตร์แอ็กชันหรือเขย่าขวัญ หากแต่ผู้ชม (เช่นผม) อาจรู้สึกสะเทือนในอกเมื่อได้เห็นภาพที่ไม่ใช่เรื่องแต่งแต่เป็นภาพชวนเวทนาของการปะทะกันทั้งทางกายและความคิด จากกลุ่มบุคคลที่ยึดถือในความเชื่อที่แตกต่างกันของตัวเอง

เอหิปัสสิโก, Come and see, วัดธรรมกาย
ขอบคุณภาพถ่ายจากตัวอย่างภาพยนตร์ Come and Seeเอหิปัสสิโก

ไม่มีคำตอบอันแน่ชัด

หากมีคนที่หวังเข้ามาชมภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อที่จะเข้ามาหาคำตอบว่า ธรรมกายแท้จริงแล้วสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุถึงเนื้อนาบุญหรือไม่ หรือธรรมกายเป็นเพียงสถานที่บิดเบือนคำสอนของพุทธแท้เพื่อหาเงินเพื่อความมั่งคั่งของตน หรือแม้กระทั่งหลวงพ่อธัมมชโยมีความผิดจริงในคดียักยอกทรัพย์หรือไม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ให้บทสรุปที่ชัดเจนมากถึงขั้นนั้น

แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถให้กับผู้ชมได้อย่างแน่นอนคือการให้ผู้ชมได้เข้าไปสำรวจสายธารแนวคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นของความเชื่อในจักรวาลแห่งธรรมกาย ซึ่งเป็นบ่อกำเนิดแห่งศรัทธาที่ถูกล้อมกรอบไปด้วยความขัดแย้งจากผู้คนภายนอกที่ไม่ได้เชื่อถือและตั้งอคติถึงความหลอกหลวงหรือความไม่จริงที่เกิดขึ้นในธรรมกายตามความคิดของพวกเขา ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ให้น้ำหนักความคิดของทั้งสองฝ่ายและให้พื้นที่การอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ จนไม่รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (อย่างชัดเจน)

เอหิปัสสิโก, Come and See
ขอบคุณภาพถ่ายจากตัวอย่างภาพยนตร์ Come and Seeเอหิปัสสิโก

นอกจากนี้ งานด้านภาพ การลำดับภาพ/เรื่อง การใส่เสียงประกอบ องค์ประกอบทางภาพยนตร์อื่นๆ ไม่ได้ทำให้ภาพยนตร์สารคดีมีความ ‘น่าเบื่อ’ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่กลับมีลักษณะเช่นเดียวกับภาพยนตร์จากเรื่องแต่งชั้นดีที่สามารถชักจูงผู้ชมรู้สึกสะเทือนอารมณ์กับความจริงที่ผู้กำกับพยายามเผยออกมาให้เห็นตรงหน้าผู้ชมได้ โดยความดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้ทำหน้าที่ของความเป็นสารคดีคือการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ชมได้เปิดมุมมองต่อโลก ได้เรียนรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่ผู้กำกับตั้งประเด็นชวนให้คิดโดยไม่จำเป็นต้องชี้ถูกชี้ผิด

เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริง บางทีก็อาจจะเป็นเพียงแค่ความเชื่อ ดังที่ภาพยนตร์ได้ชูประเด็นในเรื่องนี้ขึ้นมานั่นเอง

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

(ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Come and seeเอหิปัสสิโก ได้ที่นี่)

แหล่งอ้างอิง
เอหิปัสสิโก: อำนาจ ความศรัทธา ความเชื่อ และการตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของสถาบัน
‘เอหิปัสสิโก’ สารคดีสะท้อนปมพระธัมมชโย ส่อแววห้ามฉาย ทีมงานเตรียมแจง ‘กรรมการเซ็นเซอร์’ 10 มี.ค.นี้
รีวิวหนัง “เอหิปัสสิโก” : เมื่อ “ความเชื่อ = ความจริง”
เอหิปัสสิโก: เราจะดู เอหิปัสสิโก ในฐานะภาพยนตร์เรียงความ (ESSAY FILM) อย่างไร?
Facebook Prawit TaengAksorn

อ่านเพิ่มเติม ภิกษุณี : หนึ่งในสี่พุทธบริษัทที่ขาดหาย

ภิกษุณี

Recommend