และไม่ควรเป็นการเดินทางของผมในวันที่ใจร้อน ทว่ารถไฟเที่ยวเดียวกันนั้นกลับเป็นโอกาสทำเงินของ ‘นักขาย’ มาดสุขุมอย่าง ประยูร บุญเผือก หญิงวัยกลางคนร่างท้วมชาวตลิ่งชันผู้ทำมาหากินบน รถไฟไทย มานานกว่า 30 ปี
ผมกำลังย้อนรอยเส้นทางตากอากาศของเหล่าเชื้อพระวงศ์ และคนมีสตางค์สมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยการจับรถไฟ (ฟรี) ขบวนที่ 255 (ธนบุรี—หลังสวน) จากบางกอกน้อยล่องใต้สู่อำเภอหัวหิน (หรือบ้านสมอเรียงในนามเก่า) ขบวนรถที่ว่าล่าช้าจากการหยุดเปลี่ยนหัวรถจักรซึ่งชำรุดเป็นครั้งที่สอง และสองข้างทางตอนนี้คือป่ารกเรื้อในเขตจังหวัดเพชรบุรี
เมื่อความหิวกำเริบ ท้องไส้ของผมและผู้โดยสารอีกนับร้อยจึงแปรสภาพเป็นกระติบบรรจุข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ประยูรใส่ตะกร้ามาเร่ขายบนตู้โดยสาร “เห็นเด็กกลุ่มนั้นไหมคะ เช้า ๆ ยังมีแรง ร้องเพลงเสียงดัง แต่พอตกบ่าย เป็นต้องหิวโซกันทุกคนละจ้ะ” หล่อนว่าพลางบุ้ยใบ้ไปทางก๊วนเด็ก ๆ ที่นั่งรถไฟมาเที่ยวชะอำ หลายคนกำลังก้มหน้าก้มตาเปิบข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือไม่ก็ผัดกะเพราราดข้าวบรรจุกล่อง “ตอนนี้คือเวลาทำเงินค่ะคุณขา”
ประยูรกระหยิ่มยิ้มย่องราวกับนักขายที่เพิ่งปิดงานสำเร็จ กระนั้น หล่อนคงไม่ทราบว่า นี่คือกลยุทธ์เดียวกับตู้เสบียงบนขบวนรถจักรไอนํ้าสมัยรัชกาลที่ 6 ยุคที่รถไฟใช้เวลาล่องจากกรุงเทพฯ ถึงหัวหินนานถึง 5 ชั่วโมง กลายเป็นต้นกำเนิดของข้าวผัดรถไฟ เมนูหรูสำหรับผู้นิยมไปอาบลมทะเลช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือไม่ก็หวดวงสะวิงที่สนามกอล์ฟแห่งแรกในสยาม กระทั่งปัจจุบันเมนูคลาสสิก (บางคนค่อนขอดว่า ‘สิ้นคิด’) นี้ยังคงเลื่องลืออยู่ในตู้เสบียงรถไฟหลายขบวน
หลังจัดการกับความหิว ผมกลับมาอยู่กับเสียงกึงกังและสายลมจากคันนาป่าตาล โดยเลี่ยงไม่เหลือบมองนาฬิกาข้อมือ แต่ละสถานีที่ผ่านไป ใครต่อใครหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามานั่งจ้องตาผมราวกับถามหาความจริง หากตรงตามกำหนดการ ผมควรจะกำลังแทะปูม้านึ่ง หรือไม่ก็นั่งแช่เท้าใต้ผืนทรายเค็มตั้งแต่ราวเที่ยงวัน ทว่าขณะนี้เวลาล่วงเลยเข้าบ่ายสอง สองข้างทางมีเพียงป่าหญ้าที่เลื่อนไหลผ่านขบวนรถไฟไปข้างหลัง และรางเหล็กที่ทอดยาวไปเบื้องหน้าราวกับไม่มีที่สิ้นสุด
“ช้าขนาดนี้ ไม่เบื่อบ้างหรือครับ” ผมเอ่ยถามประยูร
“ไม่หรอกจ้ะ เพราะอะไรรู้ไหม” หล่อนอมยิ้ม “เพราะยิ่งช้า คนก็ยิ่งหิว” ประยูรว่าพลางกรีดปึกธนบัตรสีแดง “นั่งรถไฟบ้านเราต้องใจเย็น ๆ นะจ๊ะ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้”
หล่อนทิ้งท้ายก่อนขอลาลงไปที่สถานีหนองศาลา เพื่อเปลี่ยนไปจับขบวนรถไฟ (ฟรี) ที่ 254 (หลังสวน—ธนบุรี) ย้อนกลับกรุงเทพฯ และนั่นหมายถึงจบวันทำงานอีกวัน ส่วนผมยังเฝ้ารอปลายทางอย่างเดียวดาย
กระแสความสนใจใน รถไฟไทย ระยะหลัง ๆ ไม่ได้มีเพียงสถิติการตกรางมากกว่า 500 ครั้งในช่วง 5 ปี และคณะสัญจรกะทันหันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไฟแรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับระบบขนส่งทางรางอายุมากกว่า 100 ปี ด้วยงบเงินกู้ (รวมกับงบ ‘ซ่อม สร้าง’ ระบบขนส่งอื่น ๆ) หนาถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่า รถไฟเป็น‘โบราณวัตถุ’ มากกว่าขนส่งสาธารณะ ทว่าเบื้องหลังคำพูดค่อนขอดนั้น กลับมีตัวเลขยอดผู้โดยสารหมุนเวียนมากกว่า 40 ล้านคนตลอดทั้งปี เป็นเครื่องยืนยันว่า รถไฟยังคงเป็นการขนส่งสาธารณะยอดนิยม และนโยบายโดยสารรถไฟฟรีทั่วประเทศต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 6 ยิ่งตอกยํ้าว่า นี่คือระบบคมนาคมของมวลชนอย่างแท้จริง
ทางรถไฟเปรียบเสมือนสายโซ่แห่งอำนาจที่ยึดโยงหัวเมืองต่าง ๆ กับศูนย์กลางกรุงเทพฯ การลงทุนสร้างทางรถไฟสายแรกถึงโคราชสมัยรัชกาลที่ 5 พุ่งเป้าไปยังมณฑลอีสาน แฝงนัยว่าต้องการจัดการความวุ่นวายจากกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม และลำเลียงทรัพยากรธรรมชาติกลับมายังเมืองหลวง การตัดสินใจเชื่อมรถไฟสายเหนือและใต้เข้าด้วยกันในรัชกาลต่อมา ถือเป็นการเปิดเมืองให้กว้างไกลขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายการพัฒนาออกจากกรุงเทพฯ โดยใช้สถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจยุคใหม่
กุลีจีนสมัยรัชกาลที่ 5 — 6 เป็นแรงงานทรหดสำหรับสร้างทางรถไฟในแดนเถื่อน ครั้นหลังสร้างทางรถไฟเสร็จ คนเหล่านี้ก็ลงหลักปักฐานตามละแวกสถานีรถไฟ โดยผันตัวมาเป็นพ่อค้าตระเวนรวบรวมสินค้าจากป่า หรือพืชผลทางการเกษตรจากต่างอำเภอส่งขายทางรถไฟให้พ่อค้า (ชาวจีน) ในกรุงเทพฯ และแลกเปลี่ยนสินค้าจากเมืองหลวงกลับมา พวกเขาคือหัวรถจักรขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเมือง และให้กำเนิดย่านการค้าของชาวจีนที่มักอยู่คู่กับสถานีรถไฟตามหัวเมืองต่าง ๆ
จังหวัดสุรินทร์คือตัวอย่างของเมืองที่ขยายตัวจากพ่อค้าจีนและรถไฟ ทางรถไฟซึ่งขยายจากโคราชผ่านสุรินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2460 และไปถึงอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2473 ถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับความนิยมมากที่สุด ในยุคที่การสัญจรด้วยเกวียนเชื่องช้าและเสี่ยงภัย
ที่ห้องภาพเมืองสุรินทร์เก็บรวบรวมภาพถ่ายขาวดำเก่าแก่ของจังหวัด แสดงภาพชุมชนรอบสถานีรถไฟ อาทิ ถนน ติ๊กโก่ย และ ห่วยโหล่ว ซึ่งเป็นย่านห้องแถวของผู้เช่าชาวจีน และโกดังเก็บสินค้าป่า เช่น หนังสัตว์ ครั่งนํ้าผึ้ง และไม้หอม มีสินค้าจากเมืองหลวงวางขาย อาทิ นํ้ามันก๊าด เกือกยาง ปลาทูหอม ตะเกียง เกลือ
โรงสีข้าวขนาดใหญ่รวบรวมข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้ตั้งขนาบรางรถไฟ โรงแรมผุดใหม่เหมือนกระถินตื่นฝน ร้านอาหารคลาคลํ่าไปด้วยลูกค้าสำเนียงเขมรปนจีน เสียงพ่นไอนํ้าและหวูดเมื่อขบวนรถจักรไอนํ้าเข้าเทียบสถานี และรถบรรทุกขนสินค้าป่าแล่นมาตามถนนสู่สถานี ปรีชา วรเศรษฐสิน คหบดีชาวสุรินทร์เชื้อสายจีน วัย 59 ปี ผู้เคยเป็นเด็กวิ่งไล่กวดรถบรรทุกเพื่อจับจองสินค้าจากพงไพร บอกว่า “ยุคนั้นสถานีรถไฟคือศูนย์กลางความเจริญของเมืองครับ”
ทว่าทุกวันนี้ สถานีรถไฟหาใช่ศูนย์กลางความเจริญอีกต่อไป ผมไปเยือนถนนห่วยโหล่วตอนยํ่าคํ่าวันหนึ่งต้นเดือนกันยายน ห้องแถวปิดประตูเหล็กเงียบเหงา ไร้วี่แววของอาคารไม้หรือโกดังเก่าแก่ ปล่องไฟโรงสีร้างแห่งสุดท้ายรกเรื้อด้วยวัชพืช ปัจจุบัน ย่านธุรกิจของเมืองกระจุกตัวอยู่แถวตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า
ปรีชาเล่าว่า เหตุที่ย่านการค้ารอบสถานีรถไฟเสื่อมลงทั้ง ๆ ที่ความต้องการใช้รถไฟเพิ่มสูงขึ้น เพราะบริการถดถอย เริ่มจากตู้บรรทุกสินค้าไม่เพียงพอ และรถไฟล่าช้าจน ไม่สามารถวางแผนเวลาได้อย่างเคย “ระหว่างที่รถไฟกำลังแย่ ถนนสายโชคชัย — เดชอุดม (สาย 24) ก็เริ่มตัดมีรถยนต์วิ่งมากขึ้น ผมยังทันเห็นรถยนต์คันแรกของสุรินทร์เลยครับ”
แผนพัฒนาประเทศเมื่อราว 50 ปีก่อน มุ่งเน้นการขยายถนนซึ่งย่อมเยากว่าการสร้างระบบรางถึง 3 เท่ารถยนต์ราคาถูกลง และการพัฒนาเมืองบนสองฟากถนนเอื้อกว่ารถไฟที่มักกระจุกอยู่บริเวณรอบสถานี ขณะที่แรงสนับสนุนจากพันธมิตรช่วงสงครามเย็นอย่างสหรัฐฯ เร่งรัดให้ไทยมีโครงข่ายถนนคุณภาพสูงโดยเฉพาะในภาคอีสาน ถนนซอกซอนไปตามชนบท พารถบรรทุกไปรับซื้อผลผลิตถึงที่ และแล่นถึงประตูโรงงานโดยไม่ต้องผ่านสถานีรถไฟ หลายเมืองเติบโตสอดรับการตัดถนน ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรถบรรทุกแข่งขันกันในตลาดราวหนึ่งแสนราย
ขณะที่ผู้ให้บริการขนส่งทางรางมีการรถไฟเพียงรายเดียว ธงชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และพ่อค้าข้าวรายใหญ่ของจังหวัดนั้น บอกว่า กิจการรถบรรทุกของเขาสามารถแล่นรวดเดียวถึงกรุงเทพฯ และหากไม่เกิดอุบัติเหตุแทบจะตรงเวลากว่า รถไฟด้วยซํ้า “แต่ถ้าบริการรถไฟกลับมาดีเหมือนเมื่อก่อนอีกผมบอกเลยว่าจะกลับมาใช้บริการอย่างแน่นอน และถ้าเปิดให้แข่งขันเสรี ผมคนหนึ่งละที่จะลงทุนวิ่งรถไฟกับเขาบ้าง”
ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จุดอ่อนของรถไฟคือระบบทางเดี่ยว การจอดขบวนรอตามสถานีเพื่อสับหลีกรางให้รถขบวนอื่นสวน ทำให้เวลากระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่แนวทางแก้ไขเบื้องต้นคือระบบทางคู่ที่เปิดโอกาสให้ขบวนรถแล่นสวนกันได้ ทว่างบคมนาคมประจำปีส่วนใหญ่กลับไปเทลงถนน ทำให้รถไฟไม่เคยมีงบพอซ่อมบำรุง
การยกเครื่องระบบรางถือเป็นความหวังที่จะกู้วิกฤติศรัทธาที่ตกตํ่ามานาน รายงานของกระทรวงคมนาคมเผยว่า วงเงินกู้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งยังถกเถียงและคัดค้านกันไม่จบ จะนำไปใช้ในระบบรางถึงร้อยละ 82.92 โดยก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ 3,215 กิโลเมตร จากเดิมที่มีเพียง 358 กิโลเมตร ข้อมูลทางเทคนิคชี้ว่า รางเหล่านั้นจะมีอายุใช้งานยาวนานถึง 50 ปี ขณะที่ถนนมีอายุเพียง 7 ปี
“สรุปง่าย ๆ คือ ระบบรางแพงกว่าถนน 3 เท่า แต่ใช้ได้นานกว่าถนน 7 เท่าครับ” ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนและนโยบายจราจร ให้ทรรศนะก่อนเสริมว่า ต้นทุนการขนส่งด้วยระบบรางจะคุ้มค่ากว่าถนนถึงเกือบเท่าตัวก็ต่อเมื่อใช้ระยะทางเกินกว่า 300 กิโลเมตรขึ้นไป “ถ้าเทียบกันผมคิดว่ารางคุ้มกว่ามาก เพียงแต่ต้องอึดหน่อยครับเพราะลงทุนหนักทีเดียว”
กระนั้น ระบบรางก็เสียเปรียบถนนตรงที่มีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น ลองคิดง่าย ๆ ว่า เมื่อสินค้ามาถึงสถานีรถไฟ ต้องขนถ่ายใส่รถบรรทุก แล่นไปส่งที่หมายขนลงและลำเลียงอีกกี่ขั้นตอน ต่างจากรถบรรทุกที่ไปบีบแตรถึงประตูโรงงานรวดเดียวจบ ไหนจะโครงข่ายถนนที่ซอกซอนได้ถี่ยิบ นี่จึงเป็นข้อกังขาของผู้ใช้บริการ ”ระบบรางแพ้รถอย่างเดียวตรงที่ทุกอย่างต้องจบที่สถานีรถไฟนี่แหละครับ” ดร.จุฬากล่าวยอมรับ
การยืดอกรับเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี อาจกระตุ้นให้นักนโยบายมองกว้างขึ้น ขณะที่ระบบรางของไทยยังอยู่อันดับที่ 65 ของโลก ระบบรางในมาเลเซียที่รุดหน้ากว่ากำลังรอเชื่อมต่อกับไทยที่ปาดังเบซาร์ กัมพูชารื้อฟื้นแผนเชื่อมรางรถไฟที่ตลาดปอยเปต อำเภออรัญประเทศแล้ว และถ้าโชคดีทางรถไฟในพม่าซึ่งเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมอาจได้รับการปัดฝุ่น หากการเมืองเป็นใจและมีงบลงทุนรถไฟความเร็วสูงเป็นประเด็นถกเถียงที่เปลืองนํ้าลายมากกว่า
อภิมหาโครงการแห่งอนาคตที่คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1.4 ล้านล้านบาท และควรจะได้นั่งไม่เกิน พ.ศ. 2563 นี้ ถูกค่อนขอดจากฝ่ายคัดค้านว่า เสี่ยงต่อการผลาญงบในระบบการเมืองที่เต็มไปด้วยนักเลือกตั้งผู้หิวโหย ทว่าหากมองข้ามสงครามการเมือง เจตนาของรถไฟความเร็วสูงสุดประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนี้คือต้องการกระจายความแออัดใน ‘ประเทศกรุงเทพฯ’ ออกสู่หัวเมืองใหญ่รายภูมิภาค โดยยกสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางพัฒนาเมืองและสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและใช้จังหวัดเหล่านั้นเป็นฐานพัฒนาประเทศในอนาคตซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกับการเปิดเมืองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 — 6 “ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือ ทุกอย่างโตที่กรุงเทพฯ ที่เดียวครับ” ดร.จุฬาบอก
การตัดทางรถไฟใหม่อาจกลายเป็นวิวาทะหากรางเหล็กสายนั้นพาดผ่านชุมชนเก่า หรือที่นาผืนเล็กของเกษตรกรทางรถไฟอาจแยกที่ดิน ขวางทางนํ้าไหล หรือผ่าครึ่งชุมชนเป็นสองฝั่งฟาก เสียงม้าเหล็กดังน่ารำคาญคือความกังวลแรก ๆ ตามมาด้วยประเด็นเรื่องที่ตั้งสถานีบนสมมุติฐานว่าจะเอื้อต่อการพัฒนาชุมชน หรือแปรพื้นที่สงบให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมวุ่นวายกันแน่
ทางรถไฟสายเหนืออนุมัติแผนก่อสร้างแยกจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ ไปจนถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายแล้ว พร้อม ๆ กับที่ฝ่ายการเมืองประโคมโฆษณาว่า คนเชียงรายจะได้นั่งรถไฟในอีก 5 ปี โครงการที่ได้รับการปัดฝุ่นหลังสำรวจกันมานานไม่ตํ่ากว่า 20 ปีนี้จุดประกายความหวังว่า สินค้าเกษตรจะวิ่งบนรางจนถึงชายแดนอำเภอเชียงของ ถ่ายขึ้นรถบรรทุกข้ามสะพานนํ้าโขงเข้าแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว แล้ววิ่งลัดเขานำไปส่งถึงมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก่อนจะนำสินค้านานาจากแดนมังกรใต้กลับมาด้วย งบประมาณสร้างทางรถไฟทางคู่สายนี้อยู่ที่ราว 70,000 ล้านบาท ฝ่ายสนับสนุนอ้างว่าเป็นการมองการณ์ไกลสอดรับยุทธศาสตร์ของจีนที่หวังใช้มณฑลยูนนานเป็นประตูค้าขายกับอาเซียน
อำเภอเชียงของช่วงปลายตุลาคมสงบใต้ม่านฝนเหนือนํ้าโขงแดงเชี่ยว ชาวบ้านบางส่วนยังสับสนว่า รางเหล็กและสถานีแห่งใหม่จะพาดไปทางใด ทว่านักธุรกิจเมืองนี้กลับค่อนข้างเป็นกังวลกับรถไฟ และเรียกร้องความรอบคอบก่อนสร้าง “ผมไม่ค่อยเชื่อการบริหารงานของรถไฟครับ คุณลองดูเมืองนี้สิ เราจะหาความสงบแบบนี้ได้ที่ไหน” สงวน ซ้อนกลิ่นสกุล บอก
รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายฝ่ายพัฒนาระบบโลจิสติกส์คนนี้ ตั้งสมมุติฐานว่า แม้ระบบรางจะเป็น ‘ทางเลือก’ ใหม่ของการขนส่งสินค้า ทว่ารถไฟอาจเป็นฝันร้ายของความสงบอันเป็นเสน่ห์ของเมืองริมโขงแห่งนี้ทั้งการสูญเสียพื้นที่เกษตร และสุดท้ายรถไฟอาจทำให้เชียงของเป็นเพียง ‘ทางผ่าน’ ของการขนส่ง มากกว่าเมืองที่ได้รับการพัฒนาโดยตรง เขาเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงน่าจะเหมาะกับเมืองนี้มากกว่า “ในฐานะนักธุรกิจ แน่นอนว่าเราต้องมองไกลกว่าคนอื่นครับ” เขาว่า
อีกด้านหนึ่ง ปฏิกิริยาต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกจากกรุงเทพฯ สู่หัวหินไม่สู้ดีนัก การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สองซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีเต็มไปด้วยมือของชาวเมืองเพชรฯ ข้างที่ยกว่าไม่เห็นด้วยเกือบล้นห้อง อำพร อิ่มใจ ชาวนาบ้านนาป่า จังหวัดเพชรบุรี พาผมไปดูที่นากว่า 6 ไร่ของเขา ซึ่งปีนี้ถูกนํ้าท่วมเงินจมไปแล้วครึ่งหนึ่ง นาผืนนี้อยู่ในตำแหน่งตัดรางรถไฟความเร็วสูงผ่านถึง 3 แปลง “ถ้าถามผม ผมก็ไม่อยากให้ทำมันไม่คุ้มหรอกครับ” อำพรตัดพ้อระหว่างเดินเนิบเลียบคันนา “ถามหน่อยเถอะ ชาวนาอย่างผมจะมีปัญญานั่งรถไฟแบบนั้นหรือครับ”
เสน่ห์ของรถไฟอยู่ภายใต้โลหะที่สัมผัสได้ เด็กหลายคนคลั่งไคล้ม้าเหล็กและรวมกลุ่มตั้งเป็น ‘เยาวชนรักษ์รถไฟ’ พวกเขาอวดภาพถ่ายรถไฟต่างมุมในอินเทอร์เน็ต และนัดหมายเหมาตู้รถไฟไปเที่ยวด้วยกันแบบน่ารัก พวกเขาหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้จะใช้เวลาเดินทางนานกว่าการขนส่งระบบอื่น แต่ชีวิตบนรถไฟคือความสุขแบบเดียวกับที่เราย่อมไม่มีวันเข้าใจนักตกปลาผู้เฝ้ารอเหยื่อหลายชั่วโมง หรือแฟนคลับศิลปินเกาหลีชนิดคลั่งเข้าเส้น
ตลาดร่มหุบ เมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม คือตลาดสดบนรางรถไฟที่ขึ้นชื่อว่าตื่นเต้นและถ่ายภาพสนุก เมื่อเสียงแตรดังลั่นมาจากโค้งหัวทางรถไฟ นั่นหมายถึงขบวนรถจากบ้านแหลมเตรียมเข้าเทียบสถานีแม่กลอง แม่ค้าผู้ชำนาญจะเลื่อนผ้าใบและแผงผักของพวกหล่อนหลบเข้าซอกหลืบอย่างแคล่วคล่องเพียงเสี้ยววินาที ขณะที่คณะนักท่องเที่ยวจะรัวม่านกล้องจนไฟวาบเพื่อบันทึกความอัศจรรย์ของวิถีเสี่ยงตาย
หนังสือนำเที่ยวของฝรั่งมังค่าหลายเล่มบอกตรงกันว่าการเดินทางด้วยรถไฟในไทยคือประสบการณ์น่าลิ้มลองระหว่างรอรถไฟขบวนที่ 255 ที่สถานีธนบุรี ผมพบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติแบกเป้หลายคนจับรถไฟไปเที่ยวกาญจนบุรีโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สถานีนํ้าตก บ้างแนะว่าให้ลองใช้บริการตู้เสบียงดูสักครั้ง
อาหารริมทางรถไฟคือสีสันบนชิวหาที่หาไม่ได้แถวสุขุมวิทหรือซอยอารีย์ ก๋วยเตี๋ยวป้ายิ้นขึ้นชื่อว่าราคาย่อมเยาเพียง 10 บาท เส้นเล็กแห้งปรุงสำเร็จกับลูกชิ้นปลาระเบิดชามนั้นมีรสชาติเฉพาะตัว และขายเฉพาะที่สถานีรถไฟปากท่อ จังหวัดราชบุรี ทีมงานผู้แสวงกินพาเราไปลิ้มรสถึงถิ่นใต้ต้นโพธิ์ข้างสถานีรถไฟ ผู้สืบทอดกิจการตัดพ้อให้ฟังว่า ระยะหลังมานี้โดนลอกเลียนสูตรก๋วยเตี๋ยวและตัดหน้าขายบนขบวนรถตั้งแต่ก่อนถึงปากท่อ เรารับฟังเขาขณะสั่งเพิ่มชามที่สอง และนึกไปถึงสารพันเมนูอาหารบนรายทางรถไฟ
นี่คือศักยภาพแฝงของรถไฟ นอกเหนือจากการเป็นการขนส่งระบบราง นักสร้างสรรค์มองว่า การแปรเสน่ห์เล็ก ๆ เหล่านี้เป็นมูลค่าจะช่วยให้รถไฟทำรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว การจับคุณค่าเหล่านี้มาแปรเป็นมูลค่าประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น และจะเป็นต้นแบบให้รถไฟไทยในอนาคต
“รายได้ของรถไฟไม่ควรมาจากการเดินทางโดยการขายตั๋วเท่านั้น แต่ควรเป็นแหล่งกำเนิดรายได้” เจ้าหน้าที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เล่าให้เราฟังถึงความพยายามพัฒนารถไฟจากต้นทุนอัตลักษณ์ดั้งเดิมของไทยและออกแบบบริการเพื่อตอบสนองผู้โดยสารหลายระดับ ตั้งแต่คนติดห้างถึงชาวรากแก้ว ตัวอย่างหนึ่งคือชุดอาหารขายบนรถไฟในนาม “ไทยปิ่นโต” ต่อยอดจากแนวคิดข้าวกล่อง “เบนโตะ” ของญี่ปุ่นซึ่งจะวางขายบนรถไฟเร็วๆ นี้ และหวังว่าจะไปได้ดีหากเสน่ห์รถไฟไทยยังมีอยู่
นิทรรศการสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีซุ้มจำลองตู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงให้ทดลองนั่ง ในตู้นั้นมีเก้าอี้เรียงเป็นแถวและจอฉายวิดีโอนำเสนอโครงการแห่งอนาคต เมื่อเริ่มฉาย ภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกหมู่ต้นไม้จะไหลจากหน้าจอและผ่านด้านข้างของเราไป จนพออนุมานว่ารถไฟกำลังพุ่งไปข้างหน้า เนื้อหาในวิดีโอทิ้งท้ายว่า “It’s not just a train, It’s future!” (นี่ไม่ใช่แค่รถไฟ หากเป็นอนาคตต่างหาก!)
แน่นอนว่ามีความคาดหวังต่ออนาคตของรถไฟอยู่มาก ดังนั้นตอนจบของเรื่องนี้ ผมจึงจะไม่เขียนว่า ผมใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงหัวหินเที่ยวนั้นรวม 6 ชั่วโมงมากกว่ารถไฟไอนํ้าสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่เล็กน้อย หรือเย็นวันเดียวกันนั้นผมจับรถตู้กลับกรุงเทพฯ แทนรถไฟเพราะใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง แต่ผมจะเขียนว่า ขณะนี้ ชาวชุมชนโค้งรถไฟยมราชที่เคยหวาดผวาการปล่อยอุจจาระลงมาจากขบวนรถไฟใส่ชุมชนของพวกเขาเริ่มอุ่นใจบ้างแล้ว หลังรัฐมนตรีคมนาคมกำชับห้ามเด็ดขาด
เว้นแต่ “อารีซะห์” หญิงร้านขายของชำที่ยังกังวลว่า บ้านของเธอจะถูกเวนคืนไปขยายทางรถไฟหรือไม่ อีกเรื่องที่ผมควรเขียน คือ ขบวนรถดีเซลรางสายสั้น ๆ จากตลาดพลูถึงมหาชัยสะอาดเรี่ยมทันที หลังจากรัฐมนตรีผู้ขันแข็ง (และแข็งแกร่ง) คนนั้น สั่งให้ทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน
แม้รางรถไฟอาจวิ่งตรง แต่ความคิดเห็นตามรายรางกลับหลากหลาย วิวัฒน์ โรจนวรรณ อดีตคนข่าวอาวุโสแห่งบุรีรัมย์ เสนอความเห็น หลังพาผมตระเวนชมย่านรถไฟเก่าที่แปรสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ปูนว่า แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับรถไฟความเร็วสูงเท่าไร แต่ในฐานะผู้ใช้หนี้ในอนาคต เราต้องร่วมกันช่วยตรวจสอบการใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทอย่างละเอียดยิบ เพื่อไม่ให้ซํ้ารอยแผลทุจริตที่ระบมมาตลอดประวัติศาสตร์
กระนั้นสิ่งที่หาได้จากรถไฟเสมอคือมิตรภาพ การไปเยือนสถานีขุนตานและได้ร่วมวงกับวิเชียร อินถัดนายสถานีผู้หลงใหลอากาศเย็นและ ‘นํ้าแร่’ ถือเป็นเกียรติว่า คนรถไฟผู้เปี่ยมนํ้าใจนี้เสนอให้ที่พักแก่เรา และห่วงใยเมื่อเราหายไปถ่ายภาพจนดึกดื่น เช้าวันรุ่งขึ้น เขาแสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์คนรถไฟรุ่นเก๋านั้นยังสำคัญเสมอ เมื่อวิเชียรบัญชาการให้ขบวนรถบรรทุกหินโรยทางแล่นเข้าไปยังอุโมงค์ด้วยการถอยหลังเข้าและเดินหน้ากลับออกมาได้อย่างฉลุยและปลอดภัยหายห่วง
สุดท้าย รถไฟยังอยู่ในดวงใจมวลชนเสมอ คํ่าหนึ่งที่สถานีรถไฟสุรินทร์ ผมพบกับ ”บักช่วย” และ “มหาแสวง” สองเกลอผู้ตกลงกันว่าจะนอนที่สถานีเพื่อเฝ้ารอรถไฟฟรีขบวนถัดไปในเวลาตีห้าเช้าวันพรุ่ง คนหนึ่งมาจากอุดรธานี อีกคนมาจากโคราช เราทั้งสามตั้งวงเสวนาหน้าขวด “นํ้าแร่” พันธุ์รวงข้าว “ถ้าไม่มีรถไฟฟรีผมคงลำบาก ไม่มีปัญญานั่งรถบัสครับ มันแพง” มหาแสวงอดีตพระบวชนานเปรย ก่อนกระดกน้ำแร่ล้างฟัน
“คนจน ๆ อย่างพวกเรา คงมีแต่รถไฟฟรีที่พึ่งได้”
“ก็แล้วเมื่อไหร่จะเลิกจนเสียทีล่ะพ่อมหา” บักช่วยถาม
“เพราะหลวงท่านเล่นกู้ไปเป็นล้านล้าน เราก็ต้องจนเพราะประเทศมันเป็นหนี้เป็นสินน่ะสิ” มหาแสวงตอบ
“บ๊ะ นั่นเค้าจะเอาไปสร้างรถไฟให้เรานั่งฟรีอีกไม่ใช่เรอะ” บักช่วยแย้ง “คิดใหม่ ๆ ไอ้เรื่องเลิกจน มันต้องเริ่มจากเลิกกินเหล้าเสียก่อนสิ” เขาโพล่งเสนอ
“นั่นแน่ พูดมีหลักการ งั้นยกหมดแก้วเลยลูกพี่”
เราสามคนเวียนถ้วยพลาสติกให้แก่กัน ขณะที่ชานชาลาคลาคลํ่าไปด้วยผู้คน และขบวนรถไฟยังมาไม่ถึง
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2557