สงครามยาเสพติด กับความจริงที่มอง(ไม่)เห็น

ท่ามกลางวังวนและวาทกรรมขาวดำของการรณรงค์ สงครามยาเสพติด จะยังคงเป็นปัญหาที่เราไม่อาจเอาชนะ หากปราศจากความเข้าใจในความซับซ้อนของปัญหา

กลางดึกที่ร้อนอบอ้าวคืนหนึ่งของเดือนเมษายน เป็นเวลาที่ผู้คนต่างหลับใหล ร้านรวงและผับบาร์ปิดบริการไปนานแล้ว แต่ผมยังกระสับกระส่ายไม่อาจข่มตาหลับ ผมนอนเงี่ยหูฟังเสียงเพลงแผ่ว ๆ ที่ดังแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง เป็นบทเพลง Desperado ของวงดิอีเกิลส์ (The Eagles) เพลงหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตวัยรุ่นของผม

“…เจ้าคนกล้าบ้าบิ่นเอย เจ้าไม่มีทางย้อนเวลากลับไปอย่างเดิมได้หรอก ความเจ็บปวดที่เจ้าได้รับ ความหิวโหยที่เจ้าประสบ น่าจะทำให้เจ้ายอมรับสภาพได้เสียที…”

ผมนอนคุดคู้ซุกกายอยู่ในหลืบของตัวเอง พลางเหลือบสายตาไปยังผู้คนรอบตัว ที่นี่มีทั้งคนมีอันจะกิน นักธุรกิจ มนุษย์เงินเดือน วัยรุ่นคึกคะนอง และชาวบ้านร้านตลาดพวกเขานอนก่ายเกยกันในห้องสี่เหลี่ยมที่ร้อนอบอ้าว เสมอภาคและเท่าเทียม แน่นขนัดจนแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างให้เดินหรือแม้แต่ขยับตัว เสียงไอและกรนดังเป็นระยะ ๆ คลอเสียงเพลงที่ยังแว่วมาตามลม เสียงเพลงดังผ่านผนังและลูกกรงเหล็ก ไม่มีอะไรสามารถพันธนาการเสียงนั่นได้

สาวประเภทสองคนนี้กำลังสูดไอระเหยจากการเผายาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทย แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคสมัยจะประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ “สงครามยาเสพติด”ยังคงยืดเยื้อและไม่ทีท่าจะปิดฉากลงง่ายๆ

”…อิสรภาพ โอ้ อิสรภาพ มันก็แค่คำที่ใคร ๆ เขาพูดกัน แต่พันธนาการของเจ้ากำลังเดินผ่านโลกนี้ไปเพียงลำพัง เท้าของเจ้าไม่หนาวเหน็บบ้างหรือในฤดูหนาว ฟ้าก็ไม่โปรยหิมะลงมา ดวงอาทิตย์ก็ไม่ส่องแสง บอกไม่ถูกเลยว่ากลางคืนหรือกลางวัน เจ้ากำลังสูญเสียช่วงเวลาในชีวิตทั้งที่ดีและเลวร้ายไปจนหมดสิ้น มันน่าขันไหมเล่าว่าความรู้สึกเช่นนั้นจากไปอย่างไร…”

ด้วยเหตุบังเอิญบางอย่าง ทำให้ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมได้เข้าไปสังเกตการณ์ในเรือนจำกลางคลองเปรมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผู้ต้องขังที่นั่นส่วนใหญ่ถ้าไม่ต้องคดียาเสพติด ก็มักมีส่วนเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ผมได้เห็นภาพอันน่าสลดหดหู่ ความรุนแรง ไปจนถึงความเวทนาต่อเพื่อนมนุษย์จนรู้สึกว่าชีวิตในวังวนขบวนการค้ายาเสพติดของพวกเขาเหมือนถูกล่ามด้วยพันธนาการที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าห้องขังใดๆในโลก เสียงเพลงในคํ่าคืนนั้นและผู้คนในเรือนนอนหลังนั้นคอยติดตามและยํ้าเตือน ในอีกหลายปีต่อมา ผมจึงเริ่มบันทึกวังวนและเรื่องราวชีวิตของพวกเขาผ่านภาพถ่าย

ทหารเรือจากหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำนํ้าโขงหรือ นรข. จังหวัดนครพนมกำลังลาดตระเวนไปตามลำนํ้าโขง พรมแดนกั้นแบ่งระหว่างประเทศไทยและลาวซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้ลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย

ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ระหว่างที่ผมตามติดชีวิตของเด็กเร่ร่อนและคนไร้บ้าน เพื่อบันทึกภาพให้สื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ผมได้เห็นชีวิตริมถนนหรือในชุมชนแออัดที่มียาเสพติดเป็นของคู่กันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ยุคนั้นเป็นยุคเดียวกับที่อิทธิพลดนตรีตะวันตกกำลังครอบงำประเทศไทย ศิลปินผู้เสพยาเป็นอาจิณเป็นเสมือนฮีโร่ของวัยรุ่น สารระเหยหรือทินเนอร์เป็นที่นิยมในหมู่เด็กเร่ร่อนไร้บ้าน พอ ๆ กับยาม้าที่สิงห์รถบรรทุกหรือผู้ใช้แรงงานอาศัยเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความลำบากตรากตรำของชีวิตรายวัน และยังมีผู้คนอีกมากที่ติด ‘เข็ม’ หรือเฮโรอีนที่ระบาดรุนแรงในเวลานั้น

ชะตากรรมของผู้คนที่ผมรู้จักจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่จบลงด้วย “เกมส์” คือเข้าคุกเข้าตะราง ก็มักจบชีวิตเพราะพิษร้ายของยาเสพติดเอชไอวี คมกระสุน หรืออะไรก็ตามที่พรากชีวิตของเขาและเธอไปก่อนวัยอันควร

กระทั่งทุกวันนี้ สถานการณ์ยาเสพติดและผู้ใช้ยายังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ แต่พัฒนายกระดับไปสู่ผู้คนหลากหลายกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชน และตัวสารเสพติดก็มีความหลากหลายมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งเสพและจำหน่ายประมาณสองล้านคน สถิตินี้แทบไม่ลดลงเลยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อายุระหว่าง 15-30 ปี ซึ่งเป็นทั้งอนาคตและแรงงานสำคัญของประเทศ

เจ้าหน้าที่รัฐสุ่มตรวจปัสสาวะของนักเที่ยวกลางคืนย่านรัชดาภิเษกเพื่อหาสารเสพติด นักเที่ยวกลางคืนเป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มเสี่ยง เพราะหลายคนเชื่อว่ายาเสพติดช่วยให้พวกเขาสนุกสนานรื่นเริงกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีรายงานเกี่ยวกับการลักลอบจำหน่ายในสถานบันเทิงบางแห่งอีกด้วย

ภาครัฐประกาศ สงครามยาเสพติด ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สถานการณ์ยาเสพติดกลับดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นกลยุทธ์ของขบวนการค้ายาเสพติดมีทั้งระบบที่ทันสมัยและการตลาดที่เข้มแข็ง จนเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินสังคมไทยมาตลอดหลายทศวรรษ และมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ก็เป็นได้แค่เพียงยาบรรเทาอาการป่วยไข้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ลองนึกภาพใครสักคนที่ติดยาเสพติด เขาหรือเธอคนนั้นมักมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับ “นํ้าพุ” ในวรรณกรรม “เรื่องของนํ้าพุ” ของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนหญิงชั้นครูผู้ล่วงลับ เด็กน้อยที่บ้านมีปัญหา พ่อแม่แยกทางกันต้องแบกรับแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง หลงเชื่อตามคำชักชวนหรืออยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง วรรณกรรม “เรื่องของนํ้าพุ” เป็นแรงบันดาลใจชิ้นสำคัญของผม และทำให้ผมตั้งคำถามว่า ”ทำไมมนุษย์จึงต้องใช้ยาเสพติด” เพราะเหตุใดมนุษย์จึงต้องแสวงหา “ภาวะเหนือปกติ” แล้วไฉนเราถึงเจ็บปวดจนไม่อาจทนอยู่กับปัจจุบันได้

ที่วัดถํ้ากระบอก สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดชื่อดังในจังหวัดสระบุรี ผมนัดพบกับ “เอ” เด็กหนุ่มวัยมัธยมศึกษาผู้มีผิวพรรณและรูปร่างที่ไม่มีเค้าหรือวี่แววภายนอกเลยว่าเป็นผู้ใช้ยา เขามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง และในวันที่เราพบกัน มีกลุ่มเพื่อน ๆ ในห้องเรียนทั้งชายหญิงมาเยี่ยม “เอ” ด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจจูงสุนัขดมกลิ่นเดินผ่านพระสงฆ์ที่กำลังบิณฑบาตยามเช้าในปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นยาเสพติดในชุมชนแห่งหนึ่งย่านโชคชัยสี่

พวกเขาทักทายกันเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ ไม่มีการโอบกอดให้กำลังใจกันอย่างที่เราเห็นตามสื่อ มีแต่ความไว้วางใจและยอมรับซึ่งกันและกันในหมู่สหาย น่าสนใจที่ภาพลักษณ์ของ “เอ” ในกลุ่มเพื่อนไม่เหมือนผู้ที่หลงเดินผิด แต่คล้ายกับว่าเขาเป็นผู้โชกโชนประสบการณ์ชีวิตมากกว่า สร้างความมีหน้ามีตาในกลุ่มเพื่อนได้ ดูประหนึ่งเขาได้ผ่านพิธี “ติดยศ” ของชีวิตวัยรุ่นแล้ว

ผมไม่รู้ว่า “เอ” จะกลับไปข้องแวะกับยาเสพติดอีกหรือไม่หลังได้รับการบำบัด แต่ที่แน่ ๆ สถิติชี้ว่า ผู้เสพยาร้อยละ 80 เป็นเยาวชนวัยเดียวกับเขาซึ่งเป็นผู้เสพกลุ่มใหญ่ที่สุด และผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่จะประสบกับภาวะ “สมองติดยา” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจะหลุดพ้นจากวังวนของยาเสพติด และหากพ่ายแพ้ ก็มีโอกาสกลับไปเป็นผู้เสพซํ้าอีก

ภาวะหรือโรคสมองติดยาเกี่ยวข้องกับสมองสองส่วน ได้แก่ สมองส่วนนอก (cerebral cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนความคิด มีหน้าที่ควบคุมสติปัญญาแบบมีเหตุมีผล และสมองส่วนใน (limbic system) หรือสมองส่วนอยากซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมองส่วนอยากให้หลั่งหรือสร้างสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข เช่น โดพามีน เซโรโทนินเอนดอร์ฟิน กลูตาเมต และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเสพติด ผู้เสพจึงมีความสุขชั่วคราว แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ สมองจะลดการหลั่งสารเคมีเหล่านี้ลง ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า ทรมาน ทุรนทุราย จนต้องขวนขวายหายามาใช้อีก

เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ขบวนการค้ายาเสพติดลำเลียงยาเสพติดผ่านภาคใต้เข้าสู่ประเทศมาเลเซีย

ทว่าธรรมชาติของสมองจะปรับสภาพให้ตอบสนองต่อฤทธิ์ยาน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้เสพจึงต้องเพิ่มปริมาณและความถี่มากขึ้น ซํ้าแล้วซํ้าเล่า จนกลายเป็นภาวะเสพติดหรือภาวะที่เรียกว่า “อยากก็เอา เมาก็เลิก” ผู้เสพหลายรายที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยสารภาพว่า พวกเขาเคยเสพยาหนักที่สุด “จนเบลอ” ถึงขนาด “จำหน้าพ่อแม่ไม่ได้” บางคนบอกว่า “เห็นภาพหลอนเต็มไปหมด” หรือไม่ก็ “หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย”

การแสวงหายาเสพติดเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด ขอเพียงคุณรู้ว่าจะต้อง “รับ” มันจากใคร วัยรุ่นมักเริ่มจากกัญชายาเสพติดที่เรามักคิดว่าไม่มีอันตรายใด ๆ แต่หลายคนใช้กัญชาเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับพัฒนาไปสู่อะไรที่เชื่อว่า “แรงกว่า” อย่างยาบ้าและยาไอซ์ เป็นต้น
ขณะที่การแสวงหาเงินมาซื้อกลับเป็นเรื่องยากกว่าการแสวงหาตัวยา ด้วยเหตุนี้ ผู้เสพส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินถ้าไม่ลักเล็กขโมยน้อย หรือก่ออาชญากรรมเพื่อนำเงินมาซื้อยาแล้ว ก็มักจะเบนเข็มเข้าสู่วังวนอีกระดับ นั่นคือการเป็นผู้จำหน่ายรายย่อยเสียเอง

ยาเสพติดสารพัดชนิดที่กองพะเนินอยู่นี้เป็นของกลางที่ยึดได้จากการจับกุม และกำลังจะถูกเผาทำลายด้วยเตาความร้อนสูงที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเผาทำลายเป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ยาเสพติดส่วนใหญ่ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์

กลวิธีของขบวนการค้ายาเสพติดลักษณะนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียกยาบ้าว่า “ยาม้า” ผู้เสพที่ต้องการยาแต่ไม่มีเงิน จะรับ “ของ” มาจากตัวแทนจำหน่าย แล้วนำมา “ปล่อย” เอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า “ม้าสามขา” คือจะได้รับส่วนแบ่งยาสำหรับเสพร้อยละ 25 จากที่จำหน่ายได้ (ยาหนึ่งเม็ดมี 4 ขา) วิธีนี้คล้าย ๆ กับนักธุรกิจขายตรงในปัจจุบัน และเมื่อจำหน่ายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินเสพแล้ว พวกเขาก็สามารถทำเงินจากยาเสพติดได้มหาศาล ที่น่าสนใจคือความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่า คนขายยาเสพติดเป็นคนยากจนที่ต้องการรายได้กลับไม่จริงเสมอไปอีกแล้ว เพราะผู้จำหน่ายหลายรายที่ผมพบและพูดคุยด้วยหลายคนเป็นคนมีฐานะดี หรือไม่ก็เป็นพนักงานบริษัทด้วยซํ้า

ยาเสพติดที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งมายาวนานคือยาบ้า เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ที่เปลี่ยนวิธีการเสพเรื่อยมาตั้งแต่กินเป็นเม็ด ๆ ไปจนถึงการเผาบนกระดาษฟอยล์แล้วสูดไอระเหย ยาบ้าเป็นยา “ตัวเล็ก” ของคนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะตลาดล่าง ส่วนยา “ตัวใหญ่” หรือยาไอซ์ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นยาเสพติดของคนเมืองหรือพวกมีระดับกว่า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นยาที่บริสุทธิ์กว่า และซุกซ่อนง่ายกว่าแบบเม็ด

ผู้ต้องหาทั้งคดีเสพยาเสพติดและจำหน่ายยาเสพติดถูกคล้องกุญแจมือรวมกัน ระหว่างเดินกลับจากการแถลงข่าวครั้งหนึ่ง ปัจจุบันความแตกต่างในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างผู้จำหน่ายและผู้เสพ ยังเป็นข้อถกเถียงทั้งในเชิงจริยศาสตร์และนิติศาสตร์

ในแต่ละปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสามารถจับกุมยาบ้าได้มากกว่า 20 ล้านเม็ด และยาไอซ์กว่า 1,500 กิโลกรัม นั่นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับที่เล็ดลอดไปได้ ปัจจุบัน แหล่งผลิตยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเมียนมา โรงงานผลิตยาเสพติดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วตามแนวตะเข็บชายแดนและประเทศลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตกัญชา ยาเสพติดส่วนหนึ่งข้ามพรมแดนโดยตรงเข้าสู่แถบจังหวัดทางภาคเหนือของไทย อีกส่วนหนึ่งทะลักเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกวิธีหนึ่งคือข้ามจากเมียนมาเข้าไปยังประเทศลาว แล้วลัดเลาะลงมาตามถนนเลียบแม่นํ้าโขงซึ่งเพิ่งก่อสร้างใหม่เมื่อสบจังหวะจึงใช้เรือข้ามฝั่งมายังไทย

ระหว่างการถ่ายภาพสารคดีเรื่องนี้ ผมมีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อถ่ายภาพการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำนํ้าโขง (นรข.) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกองทัพเรือ แม้ว่าการฝึกซ้อม แผนปฏิบัติการ รวมถึงการข่าวด้านยาเสพติดของหน่วยงานดังกล่าวจะมีความเข้มข้นเป็นพิเศษ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังพล งบประมาณ และความกว้างใหญ่ไพศาลของแม่นํ้าโขง ก็ทำให้พอประเมินได้ว่า กองกำลังเล็กๆ ริมชายแดนคงไม่อาจสกัดขบวนการค้ายาเสพติดที่มีกำลังมากกว่าได้ตลอดเวลา ผมจึงอนุมานเอาว่า เมื่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาถึงในเร็ววันนี้ ผู้คนย้ายถิ่นฐานและเดินทางมากขึ้น ประกอบกับถนนหนทางดีขึ้น การเคลื่อนย้ายยาเสพติดคงมากขึ้นเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเข้าตรวจค้นห้องพักของชาวแอฟริกันซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวต่างชาติที่มักตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติมากที่สุด

รายงานยาเสพติดประจำปี พ.ศ. 2555 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime : UNODC) เผยว่า ข้อมูลการจับกุมยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์สูงมาก สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าในประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเมียนมา อิหร่าน และประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก โดยประเทศเหล่านี้จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า ทั้งสารตั้งต้นและยาเสพติดไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

ขบวนการค้ายาเสพติดยังมีเครือข่ายซับซ้อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายกรณีอาจโยงใยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหายาเสพติดยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ขณะที่เรือนจำหลายแห่งพยายามลบล้างภาพลักษณ์ของการเป็น “ศูนย์บัญชาการ” ยาเสพติดสำหรับผู้ต้องขัง “ขาใหญ่” ที่ครอบครองโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้ติดต่อสั่งงานจากข้างในได้ คำถามคือโทรศัพท์มือถือเหล่านี้มีราคา แต่พวกเขาสามารถหาทางนำเข้าไปได้ รวมทั้งซื้อขายกันด้วยสนนราคาเรือนแสนในนั้นได้อย่างไร หากปราศจากความช่วยเหลือของคนที่ออกมาข้างนอกได้ นี่อาจเป็นการแสดงศักยภาพของเครือข่ายยาเสพติดว่า แม้ “ขาใหญ่” จะต้องโทษ แต่ขบวนการก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

ผู้ต้องหาชาวแอฟริกันรายนี้พยายามหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่แต่พลัดตกลงมาจากหลังคาพร้อมห่อกัญชาจำนวนมาก

แล้วยังมีปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในเรือนจำ ผู้ต้องขังรายหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า ในเรือนจำจะมีคนที่ “มีของ” มาแสดงตัวบ่อย ๆ ส่วนมากมักเป็นผู้ต้องขังที่เพิ่งแรกรับ หรือบางคนที่ได้โอกาสออกไปทำงานข้างนอก เขาสามารถลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในเรือนจำได้ด้วยสารพัดวิธี ยกตัวอย่างเช่น กลืนห่อลงไปในท้อง แล้วพอมาถึงในเรือนนอน ก็จะกลิ้งตัวไปเรื่อย ๆ ปั่นจิ้งหรีด หรือล้วงคอให้อาเจียนออกมา หรือบางรายถึงกับมีเครือข่ายภายนอกใช้โดรนเพื่อส่งของกันทางอากาศก็มี

ความลํ้าลึกของโลกยาเสพติดในปัจจุบัน คือความพยายามแสวงหาสารเสพติดที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงวัยหนึ่ง ผมมีโอกาสทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตยาสามัญประจำบ้าน และได้เห็นแท่นผลิตเม็ดยาที่มีราคาแพง แต่ปัจจุบันแท่นผลิตยาเหล่านั้นย่อขนาดเล็กลงมากและสามารถซื้อหาได้ง่าย อย่างน้อยก็อาจประยุกต์หรือดัดแปลงได้หากคนทำมีความรู้ทางช่างกับทางเคมีนิดหน่อย การผลิตยาเสพติดทำได้ทั้งในครัวเรือน ในป่าดง

ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางคลองเปรม กำลังฝึกซ้อมวิ่งบริเวณระเบียงทางเดินในเรือนนอน เพื่อเตรียมฟิตร่างกายสำหรับการแข่งขันชกมวยกับนักมวยอาชีพนอกเรือนจำซึ่งเป็นแนวคิดฟื้นฟูสุขภาพจิตและร่างกายให้ผู้ต้องขังในโครงการต่อต้านยาเสพติดของกรมราชทัณฑ์

และแม้แต่กลางทะเล ยาเสพติดจากธรรมชาติอย่างใบกระท่อมถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุโดยกินกับนํ้าอัดลมหรือต้มกับยาแก้ไอเป็น “สี่คูณร้อย” หรือหลายปีก่อนทางการพยายามไล่เก็บยาแก้หวัดในท้องตลาดที่มีสารซูโดรอีเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด เนื่องจากพบว่ามีการกว้านซื้อจำนวนมากเพื่อผลิตยาเสพติด แม้ผมจะไม่อาจวิเคราะห์เจาะลึก แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์เหล่านี้น่าจะสะท้อนให้เห็นสังคมที่ป่วยไข้เรื้อรัง

แหล่งข่าวหญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักมานาน เธอเป็นคนหนึ่งที่จากโลกนี้ไปด้วยพิษยาเสพติด แน่นอนว่าเดิมทีเธอเป็นคนสะสวย ผิวพรรณสะอาดสะอ้าน และใบหน้าอิ่มเอิบ แต่ชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี ยาบ้าก็ชักนำเธอเข้าสู่วงจรค้ากาม เธอซูบผอมลงจนผมจำแทบไม่ได้ ท้ายที่สุดมันก็ปลิดชีวิตเธอเหมือนปลิดใบไม้จากกิ่ง ชีวิตหญิงค้าบริการทางเพศคนหนึ่งอาจไม่มีค่า นั่นอาจเป็นเพราะเธอไม่ใช่คนในครอบครัวของเรา แต่อันที่จริง เธอคือสมาชิกของครอบครัวเราทุกคน ครอบครัวใหญ่ที่เราเรียกว่าสังคมและประเทศชาติ หลายทศวรรษ

วัดถํ้ากระบอก จังหวัดสระบุรี เป็นสถานบำบัดยาเสพติดเก่าแก่ เปิดรับผู้บำบัดที่สมัครใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีขั้นตอนการบำบัดรักษาเฉพาะของทางวัด

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการแก้ปัญหาเอชไอวี และการลดพื้นที่ปลูกฝิ่นจนได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ทุกวันนี้รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยดำเนินรอยตามความสำเร็จที่ผ่านมา อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นผ่านความพยายามบรรลุข้อตกลงคำประกาศปฏิญญาร่วมว่าด้วยการปลอดยาเสพติดในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 (Drug Free ASEAN by 2015) อีกทั้งกฎหมายของเราก็อยู่ภายใต้แนวคิดว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ตามปณิธาณหรือเจตนารมณ์คือการแยกแยะระหว่างการใช้ยา ภาวะพึ่งพิงยา และการกลับไปเสพซํ้า ซึ่งเป็นความพยายามทางกฎหมายที่จะดึงผู้เสพออกจากวังวนก่อนพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ค้า

กระนั้นก็ยังมีผู้เสพจำนวนไม่น้อยกลับตกเป็นผู้ต้องโทษในเรือนจำ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขามีโอกาสกลับไปสู่วังวนของยาเสพติดได้ง่ายๆ ในเรือนจำที่เราต่างรู้กันดีว่าไม่ขาวสะอาด เพราะเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุและความฟุ้งซ่านผู้ต้องขังที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อย ๆ โดยไร้กิจกรรมไปวัน ๆ มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเครือข่ายของขบวนการค้ายาเสพติด หรือถ้ารอดกรงเล็บในเรือนจำมาได้ โลกใบใหญ่ ข้างนอกก็ต้อนรับพวกเขาในฐานะ “ขี้คุก” บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานราชการยังออกระเบียบว่าไม่รับพวกเขาเข้าทำงานเด็ดขาด นั่นคือแรงกดดันที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญ ผู้เข้ารับการบำบัดก็ตกอยู่ในสถานะแทบไม่ต่างกัน อย่างน้อยก็ในแง่ของความไว้วางใจ แน่นอน ตราบาปของการเป็นคนเคยติดยาถือเป็นเรื่องน่าอับอายในสังคมไทย

ผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติดส่วนหนึ่งในทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรมตั้งครรภ์ในระหว่างดำเนินคดี และให้กำเนิดลูกน้อยในทัณฑสถาน

ที่วัดถํ้ากระบอก ผมพบชายชาวยุโรปคนหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดเลิกยาเสพติด เขาเป็นคนเปิดเผยมาก และเล่าให้ผมฟังถึงชีวิตโลดโผนของตนเองอย่างไม่ปิดบัง ซํ้ายังยินดีให้นำมาเผยแพร่ด้วย เขาติดกัญชาและพยายามเลิก (ยาเสพติดที่หลายคนโดยเฉพาะในสังคมตะวันตกมองว่ามีประโยชน์และไร้พิษสง) แต่ประเด็นของผมคือเพราะเหตุใดในสังคมตะวันตกที่เขาจากมา ถึงบ่มเพาะให้ผู้ติดยาเสพติดอย่างเขากล้ายกมือขึ้นแล้วตะโกนยอมรับว่า “ผมติดยาเสพติดครับ และกำลังพยายามเลิกมันอยู่”

แต่ในสังคมของเรากลับไม่เป็นอย่างนั้น เป็นความจริงที่ว่า ในสังคมที่ดารา นักร้อง นักแสดง หรือคนมีชื่อเสียง หากเลิกยาเสพติดได้ พวกเขาจะได้รับการยกย่องเชิดชู และอาจถึงขั้นได้รับการอุปโลกน์เป็นทูตให้องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ส่วนคนมีฐานะดี ก็มักอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเอาตัวรอดได้ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไป พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าเป็น “อดีตขี้ยา” และไม่ได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ เลย แม้แต่การขอวีซ่าไปต่างประเทศก็ยังลำบาก การเลิกยาเสพติดสำหรับคนทั่วไปย่อมหมายความว่า พวกเขาต้องพยายามมากกว่าหลายเท่าเพื่อกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยยืนอยู่ก่อนติดยาเสพติด

The Cabin จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดของเอกชน ผู้เข้ารับการบำบัดต้องปฏิบัติตามโปรแกรมและระยะเวลาที่กำหนด โดยมีแพทย์ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ที่นี่มีนโยบายเก็บความลับของลูกค้าอย่างดีที่สุด

ในเบื้องลึก ผู้ติดยาเสพติดทุกคนล้วนแล้วแต่อยากหลุดพ้นจากวังวนนรก บทความหนึ่งซึ่งเขียนโดยผู้ติดยาเสพติดตัดพ้อว่า ”…พวกเราเป็นแค่เพียง ‘หญิงแพศยา’ หรือ ‘ชายสารเลว’ ที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาสนองความรื่นรมย์กับยาเสพติด บันดาลความสุขแค่เพียงชั่วยาม พอสร่างฤทธิ์ยาก็พบความจริงอันโหดร้ายของชีวิตที่จมปลักในโคลนตม พวกเราต่างเหนื่อยล้า และในใจลึกๆ ปรารถนาจะหลุดพ้นจากมัน แต่สุดท้ายพวกเราต่างพ่ายแพ้ทุกครา…”

ในคํ่าคืนอันระอุอ้าวนั้น บทเพลงจากวัยเยาว์ของผมยังคงแว่วอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคับแคบห้องนั้น ”…เจ้าคนกล้าบ้าบิ่นเอย ไยเจ้าจึงยังไม่ฟื้นคืนสติเสียที ตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเถิด จงกล้าเผชิญและเปิดประตูออกไป ฝนอาจกำลังตกอยู่ แต่โน่นแน่ะ มีสายรุ้งพาดผ่านอยู่เหนือเจ้า…”

ตลอดการทำสารคดีชิ้นนี้ ผมไม่เชื่อว่ายาเสพติดจะหายไปหรือลดจำนวนลงได้ในเร็ววัน อย่างน้อยที่สุด ก็คงจะไม่ได้ทันเห็นในยุคสมัยของเรา เพราะความรุนแรงของมันเหนือกว่าสงครามครั้งไหน ๆ และ สงครามยาเสพติด ก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเรา

แต่ขึ้นชื่อว่าสงคราม ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เพียงแต่เราจะจารึกว่า มันชนะเรา หรือเราชนะมันเท่านั้น

เรื่องและภาพถ่าย วินัย ดิษฐจร
เรียบเรียง ราชศักดิ์ นิลศิริ

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2558


อ่านเพิ่มเติม มรดกบาปแห่งสงคราม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.