เจาะอดีต ปัจจุบัน อนาคตวงการ หนังสือไทย

เมื่อพูดถึงคุณค่า หนังสือไทย บางเล่มอาจเป็นตำราหายากของนักวิชาการตัวเก็งรางวัลโนเบล อาจเป็นของสะสมของเศรษฐี ผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ทางปัญญา หรืออาจไม่ต่างจากกระดาษชำระสำหรับคนไม่เห็นค่า

เมื่อพูดถึงมูลค่า หนังสือไทย อาจเป็นที่มาของอุตสาหกรรมมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อปี อาจเป็นแหล่งรายได้สำหรับจ่ายค่าเช่าตึกของสำนักพิมพ์เปิดใหม่ หรือไม่ก็เป็นความหวังสุดท้ายของนักเขียนไส้แห้ง เมื่อพูดถึงชีวิต หนังสือบางเล่มอาจบอกเล่าเรื่องราวความรักประโลมโลก หรือสะท้อนภาพชีวิตจริงอันน่าเศร้าของมนุษย์ และหากพูดถึงมนุษยชาติ หนังสือเพียงเล่มเดียวอาจนำทางเด็กน้อยสักคนให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นได้ทั้งไอน์สไตน์, ดา วินชี, ดาร์วิน, เอดิสัน, คานธี และแม้แต่ฮิตเลอร์

แต่สำหรับผม ทุกอย่างเริ่มจากหนังสือเล่มหนึ่งที่พบในห้องสมุดโรงเรียน หนังสือที่หาใช่วรรณกรรมอมตะระดับโลก ไม่ใกล้เคียงหนังสืออันเป็นตัวแทนแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ หรือหนังสือเพื่อการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ หนังสือเล่มนั้นคือรวมเรื่องสั้นหัสนิยายชุด “ฒ ผู้เฒ่า” ของมนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นเมืองไทยผู้จากโลกนี้ไปแล้วกว่า 50 ปี

เรื่องสั้นชุดนั้นพาผมล่องลอยไปบนฉากชีวิตแห่งท้องทุ่งเมืองเพชรบุรี และชนบทไทยในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 24 แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันบริบูรณ์ หรือไม่ก็ความแห้งแล้งกันดาร การกดขี่ ธาตุแท้ของมนุษย์ ความเรียบง่าย ความทรหด อารมณ์ขันร้ายกาจ ไปจนถึงตัวละครเท่ ๆ อย่างนักเลงปืน เสือนักปล้น อนงค์สะคราญ และพระเอกโฉมงามแห่งบ้านทุ่ง ที่ขาดไม่ได้คือบรรดาเฒ่าหนู เฒ่าโพล้ง และตัวละครขี้เมาจอมเปิ่นมุทะลุระคนน่าขัน

นับจากนั้น โลกการอ่านของผมก็ดิ่งลึกและแตกแขนงออกไปมากมาย ตั้งแต่วรรณกรรมจากปลายปากกาของนักเขียนนามอุโฆษอย่างเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป, ยาขอบ, ศรีบูรพา, มาลัย ชูพินิจ, รงค์ วงษ์สวรรค์, อัลแบร์ กามู, คนุท แฮมซุน และดอสโตเยฟสกี เรื่อยไปจนถึงหนังสือเล่นหุ้น คู่มือทำอาหาร ตำราฝึกสุนัข การ์ตูนผี หนังสือต้องห้าม สารคดีต่างประเทศ และบทกวีไร้สัมผัส ไม่เว้นแม้กระทั่งตำราดูดวงและฮวงจุ้ย

บรรยากาศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี คลาคลํ่าไปด้วยหนอนหนังสือที่พากันมาเลือกซื้อหนังสือออกใหม่และหนังสือลดราคา ข้อมูลจากสมาคมผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยระบุว่า เมื่อปี 2554 มีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.7 ล้านคน และเม็ดเงินสะพัดหลายร้อยล้านบาท

แรงบันดาลใจจากสารพัดหนังสือผลักให้ผมออกเดินทางเพื่อค้นหาชีวิตพิโยกพิเกนเฉกเช่นผู้เฒ่าทั้งหลายในเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเป็นนํ้าตาลูกผู้ชายผู้อาดูร เสียงหัวร่อจากนักเลงพนันในบ่อนงานศพ ความระทมในคืนเปลี่ยวของสาวกำดัด หรือความทรงจำโบรํ่าโบราณตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวนำกลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการเขียน อาชีพที่ผมไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้ทำ

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประกาศในเฟซบุ๊กของเขาว่า “หนังสือเปลี่ยนแปลงโลกได้ เปลี่ยนแปลงผู้คนและประเทศชาติก็ได้ ให้ดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้” และแน่นอน อย่างน้อยหนังสือก็เปลี่ยนผมได้

อรุณรุ่งของการพิมพ์หนังสือบนแผ่นดินสยามถือกำเนิดขึ้นพร้อมการเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาของบาทหลวงในสมัยอยุธยา มีบันทึกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสนพระทัยในการพิมพ์และทำหนังสือของสังฆราชหลุยส์ ลาโน มิชชันนารีฝรั่งเศส ถึงขนาดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่ลพบุรี ทว่าไม่หลงเหลือหลักฐานโรงพิมพ์ที่ว่าจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีบันทึกถึงเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสและได้เยี่ยมชมกิจการการพิมพ์อีกด้วย

ก่อนหน้าเทคโนโลยีการพิมพ์จะมาถึงสยาม สังคมลุ่มนํ้าเจ้าพระยาใช้ “สมุดไทยดำสมุดไทยขาว” เป็นสื่อกลางบันทึกเรื่องราว เช่น นิทาน พงศาวดาร หรือวรรณคดี สมุดไทยโบราณที่ว่านี้ใช้กระดาษเนื้อเหนียวหนา พับเป็นแผ่นยาว เนื้อกระดาษมีทั้งสีขาวและสีดำ เขียนโดยใช้ปากกาหรือปากไก่ชุบนํ้าหมึกสีต่าง ๆ จากวัสดุตามธรรมชาติ ส่วนบันทึกทางศาสนาจะนิยมใช้การจารเขียนบนใบลาน หรือที่เรียกว่า คัมภีร์ใบลาน

หมอสอนศาสนากลับมามีบทบาทอีกครั้งในยุคต้นรัตนโกสินทร์ พวกเขาใช้วิทยาการตะวันตกกรุยทาง ซึ่งรวมถึงการพิมพ์หนังสือเผยแผ่ศาสนา ว่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 การพิมพ์สร้างความหวาดระแวงแก่ชนชั้นปกครองเป็นอย่างมาก เนื่องจากคำสอนเผยแผ่ไปสู่พวกคนจีนซึ่งมีจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และเนื้อหาค่อนข้าง “ปะทะ” กับศาสนาเดิมอย่างรุนแรง จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองและหมอสอนศาสนาอยู่เนือง ๆ

คอหนังสือและผู้สนใจเข้าแถวเพื่อรอขึ้นชมเรือ Logos Hope ห้องสมุดและร้านหนังสือลอยนํ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่แวะเยือนประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ว่ากันว่างานนี้มีผู้เข้าชมไม่ตํ่ากว่าวันละ 10,000 คน

กระนั้น เมื่อภารกิจเผยแผ่คริสต์ศาสนาไม่ประสบผล การพิมพ์หนังสือจึงเบนสู่การค้าขายและเป็นสื่อกลางเสนอข่าวสารความคิดเห็น โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ซึ่งเปรียบเสมือนเวทีแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางความคิด ทั้งการสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกทั้งชนชั้นนำในยุคนี้ยังนิยม “ออก” หนังสือกันมากขึ้น

หนังสือพิมพ์มีบทบาทอย่างมากต่อการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีนักหนังสือพิมพ์หลายคนร่วมในขบวนการ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์หลายฉบับจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมระบอบใหม่ ระบอบเก่า และฝ่ายปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ยุคก้าวหน้าทางความคิด ยกระดับแวดวงหนังสือพิมพ์ให้กลายเป็นสื่อทางปัญญาอย่างแท้จริง จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเผด็จการครองเมืองหลัง พ.ศ. 2500

รัฐบาลเผด็จการตระหนักดีถึงพลังของหนังสือ นักหนังสือพิมพ์หลายคนจึงถูกจับใส่ตะราง บางคนลี้ภัยไปต่างประเทศ วงการหนังสือเบนเข็มสู่เรื่องพาฝันประโลมโลกเพื่อเลี่ยงอำนาจมืด สงครามเย็นอุบัติขึ้น ความเคลื่อนไหวทางสังคมหยุดนิ่ง รัฐบาลเผด็จการสั่งห้ามออกหัวหนังสือใหม่ จนเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2506 บทบาทของหนังสือจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ “หนังสือเล่มละบาท” ซึ่งพิมพ์โดยนักศึกษากันเอง (เนื่องจากไม่สามารถขอหัวหนังสือได้) ก็เป็นวัฒนธรรมหนังสือ “มือทำ” ที่ช่วยระบายความอัดอั้นในยุคบ้านเมืองไร้เสรีภาพ และไม่นานหลังจากนั้น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ปะทุขึ้น

โลกหนังสือหลังยุค 14 ตุลา เปี่ยมล้นด้วยเสรีภาพจนถูกค่อนขอดว่า “สำลักเสรีภาพ” กระนั้น ทุกอย่างก็ปิดฉากลงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การรัฐประหารและเหตุวิปโยคกลางเมืองผลักไสปัญญาชนเข้าป่าด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ หนังสือหลายเล่มถูกตราเป็นหนังสือต้องห้าม (ห้ามครอบครอง) เสรีภาพสื่อมวลชนถอยหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้น กระทั่งท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อคอมมิวนิสต์ผ่อนคลายลงเมื่อ พ.ศ. 2523 บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและหนังสือพิมพ์ก็กลับมามีเสรีภาพมากขึ้น พอๆ กับที่เริ่มเบนเข็มสู่การเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว

เจ้าหน้าที่เรือ Logos Hope กำลังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่มาเลือกซื้อหนังสือจากร้านหนังสือบนเรือ

กรุงเทพฯ เมษายน 2556 วงการหนังสือเครื่องร้อนสุดขีด เตรียมรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 สำนักพิมพ์น้อยใหญ่เร่งพิมพ์หนังสือหวังส่วนแบ่งจากโอกาส (โกย) ทองในรอบปี สมาคมผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ตั้งความหวังไว้กับงานนี้ค่อนข้างสูง หลังปีก่อนหน้ามีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.7 ล้านคน ยอดขายสะพัดกว่า 400 ล้านบาท

ทุกวันนี้ไทยมีสำนักพิมพ์กว่า 500 แห่ง ผลิตหนังสือมากที่สุดในอาเซียน คือปีละประมาณ 14,000 ปก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจวงการนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยหนังสือจำพวกบันเทิงคดีครองอันดับหนึ่งมาตลอด กระทั่งตลาดเริ่มชะลอตัวลงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทว่า วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กลับเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตได้อีก “เพราะอัตราการอ่านของเรายังไม่สูงถ้ามองในแง่ดีก็คือธุรกิจหนังสือยังมีโอกาสโตได้อีกครับ”

เราควรยินดีหรือเศร้า (แน่ละว่าเราข้ามผ่านวาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปี” มานานหลายปีแสง และควรเลิกกังขาที่มาของตัวเลขนั้นได้แล้ว) ในประเทศที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนซื้อหนังสือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 บาท และลงความเห็นว่าหนังสือควรมีราคาถูกลงกว่านี้อีกสักหน่อย ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันระหว่างคนกินข้าวมันไก่ริมถนนกับคนกินรังนกตุ๋นในภัตตาคารย่านเยาวราช ทำให้หนังสือถูกผลักเป็นสินค้าชิ้นท้าย ๆ ที่ผู้บริโภคยอม “ตัดใจ” ควักกระเป๋าจ่ายหลังเงินเดือนออก

แต่กลไกการตลาดอาจเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้ ตามทฤษฎีแล้ว การผลิตสินค้าเป็นอุตสาหกรรมในจำนวนมากๆ จะช่วยให้ต้นทุนถูกลง วรพันธ์มองว่า หัวใจของการดึงให้หนังสือราคาถูกลงคือการสร้างฐานผู้อ่านที่กว้างขึ้น แต่คำถามคือจะเป็นไปได้อย่างไร

แล้วไหนจะสงคราม “ช่วงชิงเวลา” อีกเล่า ตลอด 24 ชั่วโมง เรามีเวลาให้หนังสือสักเล่มเท่าไรกัน บางคน “นิ้วล็อก” เพราะโปรแกรมแชตบนโทรศัพท์มือถือ บางคน “ตาแห้ง” เพราะจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือติดซีรีส์เกาหลีทางโทรทัศน์ ขณะที่อีกหลายคนอดหลับอดนอนเพราะเชียร์บอล เรื่อยไปจนถึงต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปส่งลูกที่โรงเรียน วรพันธ์อธิบายว่า “ตลาดหนังสือไม่ได้แข่งกันเองแล้วครับ เพราะถ้าคุณใช้เวลากับเรื่องหนึ่งมากคุณก็จะเหลือเวลาให้กับอีกเรื่องหนึ่งน้อย”

การ “ชุบชีวิต” ให้ตัวละครจากหนังสือออกมาโลดแล่นในชีวิตจริง ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักการตลาดนิยมนำมาใช้กับธุรกิจหนังสือ เช่นนักแสดงร่างเล็กเหล่านี้ที่รับบทเป็นตัวละครจากนวนิยายแฟนตาซีเรื่อง ฮอบบิท เพื่อโปรโมตทั้งหนังสือและภาพยนตร์ที่เข้าฉายในรอบปฐมทัศน์

ผลการวิจัยยังชี้ด้วยว่า “คนส่วนหนึ่ง” อ่านหนังสือ “น้อย” และ “สั้น” ลง โลกดิจิทัลปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของนักอ่าน จนหลายคนไม่อดทนกับหนังสือหนาสามร้อยหน้าต่อไปได้อีก เรามีข้อความสั้นส่งมาทางหน้าจอ และเพียงแค่เหลือบมอง ก็ (เชื่อว่า) ซาบซึ้งไปกับถ้อยความเหล่านั้น ส่วน “อีบุ๊ก” ก็มีคนพูดถึงอยู่ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชาวกรุงชักชวนกันไปกว้านซื้อหนังสือราคาถูกจากงานมหกรรมหนังสือ กลับยังมีคนอีกมาก (คนส่วนใหญ่ของประเทศ) ไม่มีโอกาสแม้แต่สัมผัสหนังสือจริง ๆ ด้วยซํ้า มกุฏ อรฤดี คือคนหนึ่งที่ผลักดันให้ชาวบ้านในชนบทมีโอกาสเข้าถึงหนังสือได้ไม่ต่างจากคนเมือง หนังสือที่ว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ในหมวดวรรณกรรมอมตะหรืองานประพันธ์ระดับโลก แต่อาจเป็นคู่มือเลี้ยงแพะ ตำราผสมปุ๋ยอินทรีย์สำหรับเกษตรกร สารานุกรมสัตว์ทะเลของชาวประมง หรือไม่ก็หนังสือรวมงานประดิษฐ์สำหรับแม่บ้านที่อยากมีรายได้เสริม เหล่านี้คือหนังสือที่ตอบสนองความต้องการของชีวิตอย่างแท้จริง

มกุฏชี้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรความรู้ให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน “การที่รัฐบาลตัดความรู้ด้านหนังสือ เท่ากับไม่ใช่แค่ตัดแขนขาประชาชนแต่คือการตัดหัวใจประชาชนครับ” เขาบอก

ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เขาพยายามเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “สถาบันหนังสือ” เพื่อเป็นองค์กรจัดการด้านหนังสือและเพิ่มปัญญาให้ประชาชนด้วยการอ่าน ทว่าจนแล้วจนรอด แนวคิดนี้กลับถูก “ดัดแปลงพันธุกรรม” จนกลายเป็นห้องสมุดสุดหรูในห้างสรรพสินค้ากลางกรุงที่ตาสีตาสาหรือเด็กชายบุญมีจากบ้านนอกคงได้แต่อ้าปากค้าง บทเรียนนั้นทำให้เขาแทบหมดความหวังในรัฐบาล (นักการเมือง) และหันมาสื่อสารกับภาคประชาชนมากขึ้น “ไม่แน่ วันหนึ่งการปฏิวัติอาจเกิดขึ้นเพราะประชาชนกระหายหาความรู้ครับ” เขาบอก

อุปสรรคด้านการมองเห็นเคยเป็นปราการที่ไม่อาจก้าวข้ามของผู้พิการทางสายตา ซึ่งอยากเข้าถึงหนังสือไม่ต่างจากคนทั่วไป ระบบการเขียนด้วยอักษรเบรลล์ที่คิดค้นขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จึงช่วยให้ความฝันนี้เป็นจริง (ขอบคุณโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์)

ตอนนี้มกุฏกำลังทดลองโครงการหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด โดยจัดหาหนังสือไม่ซํ้ากันมาจำนวนหนึ่ง หารแบ่งตามจำนวนมัสยิดที่เข้าร่วมโครงการ แล้วหมุนเวียนหนังสือไปแต่ละมัสยิดเมื่อถึงกำหนดเวลา หลังจากนั้นอาจจัดกิจกรรมการอ่านขึ้นสักครั้งโดยมีรางวัลจูงใจ วิธีนี้อาจต้องใช้เวลาเพื่อสื่อสารและหาแนวร่วม แต่หากสำเร็จก็จะใช้เงินซื้อหนังสือน้อยลงถึงหนึ่งในสี่ และเขาก็หวังว่าน่าจะเป็นอีก “ทางเลือก” ของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เข้าถึงหนังสือยากกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล

เขาบอกว่า “ที่ผ่านมาเราประเมินโลกการอ่านในประเทศโดยใช้ความรู้สึกเป็นใหญ่ แต่ไม่ได้ประเมินจากการเดินเข้าไปเห็นจริง ๆ ผมขอท้าเลยครับ ถ้าบอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือก็ลองหอบหนังสือส่วนตัวของคุณไปให้พวกเขาดูสิครับ”

ร้านหนังสือ ในความหมายของบรรยากาศกรุ่นกลิ่นชาเคล้านวนิยายโรแมนติกของนิโคลัส สปาร์คส์ หนังสือการเมืองของชอง-ปอล ซาร์ต หรือไม่ก็วรรณกรรมช่วงวัยหนุ่มขบถของอัศวินลุ่มนํ้าเพชร นาม แดนอรัญ แสงทอง ความสงบบนความอึกทึกทางความคิดจากสารพัดหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้น ลูกค้าขาประจำและขาจรที่แวะเวียนมา และเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทั้งหมดคือชีวิตและลมหายใจของร้านหนังสือ

ผมแวะไปเยือน “ร้านเล่า” ร้านหนังสือขวัญใจของใครหลายคนบนถนนนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ ทุกครั้งผมได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยแนะนำตัวเองว่าเป็นนักเขียน (ไส้แห้ง) ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำหนังสืออย่างเป็นกันเอง เลือกซื้อหนังสือท้องถิ่น หนังสือทางเลือก หรือแม้แต่หนังสือ “ตกจากชั้นวาง” (หลายเล่มหาไม่ได้ที่กรุงเทพฯ เพราะไม่ใช่หนังสือแนวตลาด) หลายครั้งผมยืนอ่านอยู่นานโดยไม่ได้ซื้อ (กลับไปซื้อภายหลังครับ!) ก็ไม่เคยตกเป็นเป้าสายตาขุ่นเคืองแต่อย่างใด ผมพบว่านี่คือเสน่ห์น่ารักของร้านหนังสือเล็ก ๆ ในสังคมที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และประเทศที่ธุรกิจน้อยใหญ่ต่างกระหายความเติบโตและผลกำไร

ปัจจุบัน การเปิดร้านหนังสือนอกจากต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างร้านหนังสือเครือข่าย (bookstore chain) ขนาดใหญ่แล้ว ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีกสารพัด กระนั้น การเปิดร้านหนังสือ (คู่กับร้านกาแฟ) ยังคงเป็นฝันของหนุ่มสาวหลายคน พวกเขาหวังว่าบทบาทของร้านหนังสือเล็ก ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จำหน่ายสินค้าและโกยกำไร อาจงอกงามกลายเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เช่นเดียวกับร้านหนังสือแม่แบบหลายร้านในต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ “ทางรอด” ของร้านหนังสือเล็ก ๆ สักแห่งอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงยอดขาย แต่ยังรวมถึงการปรับตัวตาม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่นักการตลาดแนะนำว่าอาจเป็นทางรอดของธุรกิจยุคต่อไป (ยกตัวอย่างเช่นในช่วงที่ผมไปเยือน “ร้านเล่า” อีกไม่กี่วันทางร้านจะจัดนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับแมว แน่นอนว่าบรรดาแฟนคลับน้องเหมียวคงไม่พลาด)

เช่นเดียวกับ Book Republic ร้านหนังสืออีกแห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่มีจุดกำเนิดจากความสนใจทางการเมืองและประชาธิปไตย ที่นี่จำหน่ายหนังสือหลากประเภท มีห้องสมุดย่อม ๆ สำหรับยืมอ่าน กาแฟกลิ่นละมุน และบ่อยครั้งจะแปรสภาพเป็นเวทีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนทางความคิดโดยปัญญาชนหลากหลาย

รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าว่า หลังความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นผลักดันให้เธอและเพื่อน ๆ แสวงหาพื้นที่สำหรับถกเถียงและพูดคุยกันอย่างเสรี จนมาลงตัวในรูปแบบคาเฟ่ และงอกเงยตามมาด้วยร้านจำหน่ายหนังสือ “ทางเลือก” หลายเล่มที่อาจหาไม่ได้จากร้านอื่น ๆ โดยเฉพาะหนังสือทางการเมืองและประวัติศาสตร์ “เราคิดว่ามีหนังสือหลายเล่มควรได้รับความสนใจค่ะ” เธอบอก

หากหนังสือเป็นสื่อกลางทางความคิด ร้านหนังสือแห่งนี้ก็คงเป็นเสมือนตลาดความคิดที่ไม่เพียงจำหน่ายสินค้าหายากบางชิ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรี และแม้ว่าตลาดแห่งนี้อาจตกเป็นเหยื่อของความเปราะบางทางการเมืองและความขัดแย้งแต่การใช้ร้านหนังสือเป็นเวทีถกเถียงอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คือบรรยากาศที่เธอและสมาชิกอีกไม่น้อยพยายามสร้างและรักษาไว้ “เราเข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้คนพร้อมจะแบ่งขั้วอยู่แล้ว และการไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติค่ะ” รจเรขบอก “แต่จะถึงขั้นต้องทำร้ายกันเลยหรือคะ”

ว่ากันว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 น่าจะมีราคารวมทั้งชุดมากกว่า 300,000 บาท หากแยกขายอาจอยู่ที่ราคาเล่มละ 2-3 หมื่นบาทขึ้นอยู่กับสภาพและความหายาก แต่ขึ้นชื่อว่า “ของเก่า” ก็เป็นไปได้ที่ตัวเลขอาจทะยานขึ้นไปกว่านั้นสัก 20 เท่า หรือไม่ก็อาจให้กันได้ฟรี ๆ ถ้าเจ้าของพอใจ

แม้หลายคนกำลังวิตกว่า วิทยาการในโลกยุคดิจิทัล เช่น อุปกรณ์อ่านหนังสือในระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆอาจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ล้าสมัย ทว่าตราบใดที่ความรู้สึกของการได้สัมผัสหน้าหนังสือยังไม่ล้มหายตายจากไปไหนมนตร์เสน่ห์ของสิ่งพิมพ์เก่าแก่เช่นนิตยสารก็น่าจะยังพอมีที่ยืนอยู่ในโลกหนังสือต่อไป

วงการสะสมหนังสือวนเวียนอยู่กับคำ 3 คำ หนึ่ง หนังสือมือสองคือหนังสือที่เคยมีเจ้าของมาก่อน สอง หนังสือเก่าคือหนังสือที่พิมพ์ออกมานานแล้ว และสาม หนังสือหายากซึ่งอาจเป็นหนังสือที่พิมพ์น้อย ผุพังไปตามกาลเวลา ถูกทำลาย มีลักษณะพิเศษ หรือมีข้อเขียนที่หาไม่ได้อีกแล้ว หนังสือทั้งสามประเภทอาจหมายถึงคุณค่าทางจิตใจของบรรดานักสะสม ซึ่งมีตั้งแต่เศรษฐีบริษัทเอกชน พ่อค้าเก็งกำไรของเก่า นักวิชาการสมัครเล่น ไปจนถึงนักศึกษาเลือดใหม่

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ สะสมหนังสือเก่ามานานกว่า 25 ปีแล้ว ทาวน์เฮาส์สองคูหาย่านงามวงศ์วานเป็นทั้งคลังหนังสือ ห้องสมุด และสำนักงาน หนังสือกว่า 30,000 เล่มของเขามีที่มาตั้งแต่ตลาดจตุจักร ตลาดนัดของเก่า เว็บไซต์ ไปจนถึงบุกบ้านนักเลงหนังสือเก่าที่ชราภาพหรืออาจเสียชีวิตลง และลูกหลานไม่มีกำลังดูแลคลังหนังสือต่อ

เขาเล่าว่า สมัยก่อนเมื่อขุนนางสักคนตาย ลูกหลานจะแบ่งมรดกกันอย่างยุติธรรม เว้นก็แต่หนังสือที่ส่วนมากมัก “ขายเจ๊ก” จนเป็นที่มาของธุรกิจค้าหนังสือเก่าที่กำเนิดโดยพ่อค้าขายของเก่าชาวจีน (แต่ก่อนย่านเวิ้งนาครเขษมคือแหล่งจำหน่ายหนังสือเก่าอันโด่งดัง) “หนังสือเป็นสิ่งที่ไร้ค่าสำหรับคนไม่รู้ครับ” เขาบอก

ท่ามกลางเสียงค่อนขอดว่า นักสะสมหนังสืออาจเป็นเพียงนักเก็งกำไรมูลค่ากาลเวลา หรือไม่ก็อิ่มเอมเสพติดกลิ่นหนังสือเก่า แต่ธงชัยยักไหล่ก่อนบอกว่า เมื่อเทียบกับของเก่าประเภทอื่นแล้ว หนังสือคงเป็นของเก่าที่มูลค่าเพิ่มน้อยที่สุด ซํ้ายังทรุดโทรมง่าย ดูแลรักษายาก (แต่ข้อดีคือไม่มีของปลอม) ความที่เขาศึกษาหนังสือแทบทุกเล่มอย่างลุ่มหลง จนเรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นคนหนึ่ง ธงชัยจึงพูดได้เต็มปากว่า “แต่มูลค่าที่เพิ่มมากกว่าของเก่าอื่น ๆ คือสติปัญญาที่งอกงามครับ” ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเปิดสำนักพิมพ์ “ต้นฉบับ” เพื่อพิมพ์ซํ้าหนังสือเก่าและต้นฉบับหายากที่คนทั่วไปคงไม่มีปัญญาซื้อหา เพื่อจำหน่ายในราคายุติธรรม

เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติกำลังนำเอกสารจดหมายเหตุเข้าตู้อบก๊าซไนโตรเจนเพื่อทำลายไข่ และตัวอ่อนของแมลงทุกชนิด ก่อนนำไปเก็บรักษาในห้องระบบปิด

ศัตรูตัวฉกาจของหนังสือเก่าคือหนอนหนังสือ แมลงตัวเล็ก ๆ ซึ่งพบมากในประเทศเขตร้อน พวกมันพิสมัยกาวแบบโบราณและปกหนังสือเป็นอันดับแรก เมื่อกินจนหมดก็มักเจาะเข้าไปทำรังในเนื้อหนังสือจนพรุนราวกับฟองนํ้า นักสะสมถึงกับกุมขมับและทำได้เพียงฉีกปกทิ้ง ก่อนจะลุกลามไปทั้งเล่มจนสายเกินแก้

หอจดหมายเหตุแห่งชาติให้ความสำคัญกับหนอนหนังสือและแมลงเหล่านี้เป็นพิเศษ แต่เดิมพวกเขาขจัดแมลงในเอกสารเก่าด้วยการพ่นดีดีที แต่ความหวาดหวั่นในพิษตกค้างจึงเป็นที่มาของเครื่องรมก๊าซไนโตรเจนสนนราคากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งติดตั้งอยู่ในโกดังหลังสำนักงาน ก๊าซไนโตรเจนจะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในระดับที่พอจะฆ่าแมลงและไข่ จากนั้นทิ้งไว้อีกหนึ่งวันเต็ม ๆ ก่อนนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องคลังเอกสารระบบปิดแม้จะจัดการไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็นับว่าดีที่สุดในขณะนี้

ส่วนวิธีการของธงชัยนั้นน่ารักกว่า เขาเชื่อว่าหนอนหนังสือจะไม่แพร่พันธุ์ หากหนังสือถูกหยิบจับใช้งานบ่อย ๆ เขาจึงประกาศให้คลังสะสมของเขาเป็นห้องสมุดที่คนทั่วไปสามารถขออนุญาตเข้ามาค้นคว้าได้ “ผมไม่หวงหรอกครับ ถ้าขาดก็ยังพอซ่อมแซมได้ แต่ขออย่างเดียว อย่าขโมยก็แล้วกัน”

สำหรับผม หนังสือคือลมหายใจ ผมเริ่มต้นอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ผมเติบโตมากับมัน และไม่เกี่ยงว่าจะเป็นรสนิยมแบบไหน แต่หนังสือก็มีอำนาจในระดับที่ผมติดใจ เหมือนติดยานะ แต่ของผมคงเรียกว่าติดหนังสือ” สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าว

ที่บ้านหลักหก “สิงห์สนามหลวง” เปิดบ้านต้อนรับพวกเรา พร้อมด้วยวรรณา (ศรีดาวเรือง) ภรรยา และโมน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ซากหนังสือหลังนํ้าท่วมยังคงแอบใต้กอหญ้าและเนินดิน บรรณาธิการคนนี้มีอิทธิพลต่อวงการหนังสือในยุคเปลี่ยนผ่านหลัง 14 ตุลา สู่ 6 ตุลา เรื่อยมาจนถึงยุควรรณกรรมเพื่อชีวิตเฟื่องฟูนับตั้งแต่ “สังคมศาสตร์ปริทรรศน์” วารสาร (กึ่งการเมือง) ที่เขารับไม้ต่อจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในวัยเพียง 24 ปี “โลกหนังสือ” นิตยสารวรรณกรรมที่สุข สูงสว่าง นักหนังสือมากฝัน เจ้าของตำนานร้านหนังสือดวงกมลผู้ดึงให้เขารอดพ้นจากความเดือดร้อนหลัง 6 ตุลา และ “ช่อการะเกด” นิตยสารวรรณกรรมและเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดงานเขียนทรงอานุภาพต่อชีวิต ที่ว่ากันว่าหากใครส่งเรื่องสั้นไปให้เขาพิจารณาแล้ว “ผ่านเกิด” หรือได้ตีพิมพ์ละก็ ถือว่ารับประกันคุณภาพผลงานได้

ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มงานอนุรักษ์กำลังซ่อมแซมเอกสารโบราณ โดยเน้นที่การเสริมความแข็งแรงและคงทนให้เอกสารต้นฉบับมากที่สุด

ผมขอให้เขาเปรียบเทียบบทบาทสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ (social media) กับหนังสือเล่มละบาทในยุคของเขา สุชาติตอบว่า ทั้งสองสื่อคล้ายกันตรงที่เป็นพื้นที่แสดงทางความคิด แต่ความต่างคือข้อมูลที่ล้นทะลักจนแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก “มันใกล้แต่เหมือนไกล มันเร็วแต่เหมือนช้าครับ” เขาบอก “มันเป็นโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปครับ”

หากงานเขียนคือเลือดเนื้อของหนังสือ บรรณาธิการก็คงเป็นหัวใจของหนังสือ หัวใจที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย คัดกรองทั้งเลือดดีและเลือดเสีย รวดเร็วเมื่อร่างกายตื่นเต้นกระฉับกระเฉง ช้าเชือนเมื่อร่างกายสงบพักผ่อน ทำงานสมํ่าเสมอ แม้ยามนอนหลับ แต่ซุกซ่อนภายในร่างกายไม่โผล่ให้เห็น และหากหนังสือสักเล่มมีอิทธิพลกับโลกและสังคมจริง บรรณาธิการก็คือบุคคลแรก ๆ ที่มีอิทธิพลต่อหนังสือเล่มนั้น

ทว่าระบบบรรณาธิการกำลังถูกท้าทายจากโลกยุคใหม่ เรามีอินเทอร์เน็ตที่ใครต่อใครสามารถเป็นนักเขียนได้ เราเขียนบันทึกประจำวันเพื่อให้คนอื่นตามเข้ามาอ่านประกาศถ้อยคำหวานเสนาะบนหน้าเฟซบุ๊ก ข่าวสารล้นทะลักและรวดเร็วเพียงชั่วลัดนิ้วมือ แล้วอย่างนี้ระบบบรรณาธิการจะยังจำเป็นอยู่อีกหรือ “จำเป็นครับ แต่ในความหมายที่ว่าคุณต้องการมันหรือเปล่า เพราะเป็นระบบที่ต้องผ่านการกลั่นกรอง อย่างน้อยคนรุ่นผมก็ยังเชื่อมั่น” สุชาติกล่าว

ความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดสั่นสะเทือนแวดวงบรรณาธิการไม่น้อย สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ถูกพิพากษาจำคุกรวม 11 ปี ทั้งในคดีหมิ่นสถาบันและหมิ่นประมาท ผู้ทำหน้าที่“ประตูความคิด” กลุ่มหนึ่งร่วมลงนามแสดงจุดยืนถึงเสรีภาพทางวิชาชีพ และสุชาติคือหนึ่งในคนกลุ่มนั้น “ผมมองพ้นไปกว่าหนังสือหรือบุคคล ผมมองแต่เรื่องเสรีภาพ มันเป็นลมหายใจของระบอบประชาธิปไตย”

“และของคนทำหนังสือด้วยหรือครับ” ผมถามต่อ

“แน่นอน” เขาทิ้งท้าย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการเจ้าของสมญา “สิงห์สนามหลวง” และวรรณา ภรรยานักเขียน ซึ่งรู้จักกันในนามปากกา “ศรีดาวเรือง” คือบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในแวดวงวรรณกรรมไทยยุค 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 และยุควรรณกรรม “เพื่อชีวิต” ทุกวันนี้ สุชาติยังคงเขียนหนังสือควบคู่กับสร้างงานศิลปะ

กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มต้องผ่านกระบวนการนับไม่ถ้วน ไหนจะเลือกต้นฉบับงานเขียน ประชุม ถกเถียง ออกแบบรูปเล่ม พิสูจน์อักษร วาดภาพประกอบ พิมพ์ ตรวจทานซํ้า วางจำหน่าย ทำบัญชีเก็บสถิติ รับฟังความคิดเห็น ไปจนถึงทำการตลาดทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับคนมากหน้าหลายความคิด ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ แห่งสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม และหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมผู้พิมพ์นานาชาติหรือไอพีเอ (International Publishers Association: IPA) เปรียบเปรยการทำหนังสือว่า “เหมือนปลูกข้าวค่ะ กว่าจะมาเป็นข้าวสวยให้คุณกินได้ ผ่านมาไม่รู้ตั้งกี่มือ”

ทว่าข้าวเหล่านั้น แม้จะปลูกอย่างพิถีพิถันเพียงใดจะไร้ค่าทันทีหากไม่มีคนกิน เช่นเดียวกับหนังสือดีที่ไร้คนอ่าน ก็อาจมีค่าน้อยกว่ากระดาษชำระ

ตัวเลขจากบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ระบุว่า คนไทยบริโภคกระดาษพิมพ์และเขียนที่ 13.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สิงคโปร์ (64.20 กก./คน/ปี) ญี่ปุ่น (54.36 กก./คน/ปี) สหรัฐฯ (39.43 กก./คน/ปี) หรือยุโรปตะวันตก (35.25 กก./คน/ปี) นั่นอาจหมายความว่า เรายังอ่านและเขียนหนังสือน้อยอยู่ ทว่าท่ามกลางความสงสัย ยูเนสโกก็เลือกกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพเมืองหนังสือโลก ปี 2556 “ก็เพราะว่าเราไม่อ่านนี่แหละค่ะ เราถึงได้” ตรัสวินสรุปสั้น ๆ

เราจะสร้างสังคมการอ่านอย่างไร มกุฏเชื่อว่า วัฒนธรรมการอ่านต้องเกิดขึ้นเอง ไม่สามารถสร้างได้ ทว่าเราเพียงหาช่องทางให้ประชาชนเห็นประโยชน์ที่จับต้องได้จากการอ่านเท่านั้น “แล้ววันหนึ่ง เขาจะรู้สึกว่า การอ่านคือลมหายใจของเขาครับ” มกุฏบอก

เด็กๆ นอนนั่งเอกเขนกอ่านหนังสือในมุมส่วนตัวภายในห้องสมุดของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กลางกรุง ที่นี่ผสมผสานการอ่านเข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ อย่างบูรณาการ

”สมมุติบ้านคุณเป็นคฤหาสน์ รายล้อมด้วยสลัมวันหนึ่งคนในชุมชนท้องหิว เมื่อไม่มีทางออก พวกเขาจะทำอย่างไร” มกุฏเปรียบเปรยถามผม” ก็คงปล้น จี้ขโมยจากคุณใช่ไหม” เขาตอบเบ็ดเสร็จ “เอาใหม่ ถ้าเราเอาหนังสือไปให้เขา ให้เขาได้อ่าน ได้ศึกษาทางออก ทำมาหากิน แล้วถ้าเขาหิว เขาก็จะเรียนรู้ว่า ควรหาทางออกอย่างไร ใช่ไหม” และนั่นคือสังคมที่สร้างจากการอ่าน

สายวันอาทิตย์วันหนึ่ง ผมเผอิญมีโอกาสไปหมกตัวที่มุมห้องหนังสือภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตคลองสาน ผมพบว่าที่นั่นมีเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยมาใช้บริการ และมีมุมหนังสือเด็กซึ่งมีหนังสือนิทานเล่มโตรวมอยู่ด้วย

เด็กหญิงตัวจ้อยสองคนกำลังอ่านนิทานเรื่อง “ข้าวไข่เจียว เดี๋ยวเดียวอร่อยจัง” อย่างพร้อมเพรียงกันแววตาของทั้งคู่ล่องลอยประหนึ่งกำลังคิดจินตนาการว่าตัวเองคือเชฟไข่เจียวกระทะเหล็ก ผมไม่รู้จักเด็กน้อยทั้งสองคน และไม่รู้ว่าหลังจากอ่านเรื่องนี้จบ ใครคนหนึ่งจะมีความฝันบางอย่างเกี่ยวกับไข่เจียวหรือไม่

แต่หลังฟังพวกเธออ่านจบ ผมอยากกินไข่เจียว

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย คัมภีร์ ผาติเสนะ

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2556


อ่านเพิ่มเติม 10 สุดยอด ร้านหนังสือ ระดับโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.