กรุงเทพ 24 ชั่วโมง: เจาะลึกชีวิตผู้คนในเมืองหลวงที่ไม่หลับใหล

อะไรที่ทำให้ กรุงเทพ ได้รับฉายาว่า “มหานครที่ไม่เคยหลับใหล” คงไม่ใช่เพียงแสงสีที่ให้ความสว่างไสว แต่เป็นชีวิตและกิจกรรมของผู้คนที่ “เคลื่อนไหว” ในมหานครแห่งนี้ คุณอาจพบเห็นพวกเขาแทบทุกวันแต่อาจไม่เคยล่วงรู้ว่า ชีวิตและหน้าที่การงานของพวกเขามีส่วนสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้เมืองหลวงของสยามประเทศอย่างไร

06:00 น.

กรุงเทพ เกือบ 6 นาฬิกาแล้ว  แสงแรกแห่งวันเริ่มทอประกายเหนือขอบฟ้า พระพุฒิ พลวุฑโฒ เตรียมพร้อมสำหรับการออกปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นหน้าที่แห่งสงฆ์ผู้เปรียบได้กับเนื้อนาบุญ นั่นคือการออกรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชน

พระพุฒิออกจากวัดทางประตูด้านหลัง  ท่านอุ้มบาตรคู่กายเดินผ่านย่านชุมชนแออัด ก่อนจะข้ามถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าสู่ตลาดสดประตูน้ำ จากนั้นเดินย้อนกลับมาตามถนนประตูน้ำเพื่อกลับสู่วัด และฉันภัตตาหารเช้าเวลา 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นอาหารเพียงมื้อเดียวของวัน ในแต่ละวันกิจวัตรที่ท่านต้องปฏิบัติต่อจากนี้ได้แก่ การทำวัตรเช้า เรียนภาษาบาลี ศึกษาพระธรรม ทำความสะอาดบริเวณวัด และทำวัตรเย็น พระพุฒิอธิบายว่า “อาตมาออกบิณฑบาตเช้ากว่านี้ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ญาติโยมออกมาใส่บาตรค่อนข้างสาย”  ทำให้ท่านต้องออกบิณฑบาตเวลา 7 นาฬิกา แล้วอีกอย่างก็เพื่อหลีกเลี่ยงพระรูปอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางเดียวกัน

6.00 น. แสงอาทิตย์ยามเช้าอาบไล้หมู่ตึกระฟ้าและสายน้ำ เจ้าพระยา ราวกับจะปลุกทุกชีวิตให้ตื่นขึ้นมาโลดแล่นอีกครั้งในมหานครนามกรุงเทพฯ

แม้การออกบิณฑบาตของพระพุฒิจะสายกว่าพระรูปอื่นๆถึงหนึ่งชั่วโมง  และถ้าเป็นในต่างจังหวัดหรือแม้แต่ย่านชานเมือง พระมักออกบิณฑบาตตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง  กระนั้นพระสงฆ์เหล่านี้ก็เป็นคนกลุ่มแรกๆที่เริ่มปลุกชีวิตชีวาให้นครหลวง ของสยามประเทศแห่งนี้ ชีวิตตลอดสิบปีที่ผ่านมาของพระพุฒิวนเวียนอยู่ในโลกทางธรรมภายในพระอารามหลวงเนื้อที่ 16 ไร่ ของวัด ปทุมวนาราม  ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมืองอันเป็นศูนย์กลางของโลกฆราวาส วัดปทุมวนารามตั้งอยู่ในทำเลทอง  สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว  พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีราคาค่างวดสูงถึงตารางวาละหนึ่งล้านบาทเช่นนี้ สามารถเนรมิต เป็นโครงการห้างสรรพสินค้าหรืออาคารพักอาศัยมูลค่า หลายพันล้านบาท และสำหรับนักช็อปตั้งแต่รุ่นเล็ก ถึงรุ่นใหญ่  ห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ที่เรียงรายไปด้วยร้านรวงขายสินค้า แบรนด์เนมได้กลายเป็นแหล่งแสวงบุญในโลกฆราวาส แห่งยุคไปเสียแล้ว

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน  สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยที่อยู่รายรอบ ประตูทางเข้าวัดที่เรียบง่ายและชุมชนหลังวัดปทุมวนารามซึ่งอยู่ติดกันจึงมักเล็ดลอดสายตาของบรรดานักช็อปและผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา หากเปรียบเทียบกับตึกระฟ้าประดับประดาด้วยกระจกเงาแล้ว  วัดและชุมชนคงเป็นเสมือนสองพื้นที่แห่งความสุดโต่ง  ในด้านหนึ่ง วัดปทุมวนารามร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่อายุหลายสิบปี กุฏิ และอาคารที่พักเตี้ยๆ สำหรับพระลูกวัดและลูกศิษย์ ตลอดจนศาลาน้อยใหญ่ที่คอยต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญ

7.00 น. ภาพพระสงฆ์ออก บิณฑบาตยามเช้าผ่าน ย่านศูนย์การค้าชื่อดัง กลางกรุง บอกเล่าการ ดำ รงอยู่ร่วมกันของ วัฒนธรรมสองกระแส ที่บางครั้งก็ดูกลมกลืนจน กลายเป็นมนตร์เสน่ห์ของ กรุงเทพฯ แต่หลายครั้ง กลับปะทะกันจนไม่อาจ ประนีประนอม

อีกด้านหนึ่ง ชุมชนแออัดด้านหลังวัดคลาคล่ำไปด้วย บ้านเรือนขนาดหนึ่งถึงสองชั้นที่หลังคาแทบจะเกยกัน หลายหลังสร้างกันแบบตามมีตามเกิดด้วยวัสดุเหลือใช้ เท่าที่พอหาได้ อย่างแผ่นไม้อัดหาเสียงที่หนาและแข็งแรงพอจะทำเป็นผนังกั้นห้อง หากไม่มีกิจธุระจำเป็น พระพุฒิมักไม่ค่อยออกจากวัด เว้นแต่การออกบิณฑบาตในช่วงเช้าและยามที่มีกิจนิมนต์นอกวัด หลังคาตึกสูงระฟ้าที่ท่านเห็นลิบๆ

ตลอดเส้นทาง 3 กิโลเมตรที่ออกบิณฑบาต ทำให้ท่านเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วของโลกภายนอก  ป้ายโฆษณาขนาดมหึมาที่อวด สินค้าใหม่ๆ ในมือนางแบบหุ่นเพรียวลม เป็นการตอกย้ำความล้ำสมัยแห่งโลกแฟชั่นที่ท่านไม่เคยพบเห็น อย่างน้อยก็จากผู้คน “จริงๆ” ที่แวะเวียนผ่านเข้าออกประตูวัด พระพุฒิบอกว่า ”เราคงไปว่าอะไรเค้าไม่ได้หรอก  ถ้า เค้าจะแต่งตัวทันสมัยเดินไปมา บ่อยครั้งที่ท่านเห็นสาวน้อยแต่งกายด้วยเสื้อเกาะอกและกางเกงสั้นเต่อเดิน จูงมือกับแฟนหนุ่มผ่านหน้าวัดไป  แต่หากมีวัยรุ่นแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ล่อแหลมก้าวเข้าสู่เขตวัด  ท่านจะว่ากล่าวทันที “ที่นี่เป็นโลกของอาตมานะโยม” พระพุฒิทิ้งท้าย

9.00 น.

ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถ (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ระหว่างพระพุฒิปฏิบัติศาสนกิจยามเช้าอย่างสงบ ท่ามกลางย่านช็อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดของ กรุงเทพ ฯ  ชาวกรุงนับพันพากันเบียดเสียดเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีสยาม ให้ทันก่อนเสียงเตือนปิดประตูจะดังขึ้น  แม้ว่าสามนาทีในการรอรถขบวนถัดไปอาจไม่มากนัก  แต่ถ้าวันนี้ไปสาย เข้าประชุมไม่ทันอีกครั้ง เผลอๆ ใครบางคนอาจไม่ต้องไปทำงานอีกต่อไป

การเฝ้ามองผู้โดยสารนับพันๆ คนบนหน้าจอมอนิเตอร์ ที่รับภาพสดๆ จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งติดตั้งอยู่ตามสถานีต่างๆ  จากภายในห้องควบคุมการเดินรถของบริษัท ระบบรถขนส่งมวลชน กรุงเทพ ฯหรือบีทีเอส  ทำ ให้เกษม เหมาะเป็นดี  หัวหน้าศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถ ไม่ต่างอะไรจาก “พระเจ้า” แห่งการเดินทางในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เกษมเข้ามารับหน้าที่ในศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถตั้งแต่หกโมงเช้า จากหน้าจอมอนิเตอร์นับสิบ เขาหมุนเวียน ดึงภาพจากกล้องที่สถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง สอดส่อง ไปทุกซอกมุม จากชานชาลาไปห้องขายตั๋ว เพื่อให้มั่นใจ ได้ว่าการเดินรถเป็นไปด้วยความราบรื่น

เป้าหมายการปฏิบัติงานของศูนย์แห่งนี้คือการอำนวยการเดินทางให้ผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็วตามความประสงค์ โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนระหว่าง 7.00–9.30 น. และ 16.00–20.00 น.  ของทุกวันทำงาน

ระบบขนส่งมวลชนที่ประกาศอย่างภาคภูมิว่าปลอดภัยที่สุดด้วยอัตราการเกิดอุบัติเหตุเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์นี้  เพิ่งฉลองครบรอบ 10 ปีไปเมื่อเดือนที่แล้ว (ธันวาคม 2552) รถไฟแต่ละขบวนมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้อย่างมาก เพราะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่าเที่ยวละ 1,000 คนจากมุมหนึ่งของเมืองไปยังอีกมุมหนึ่งภายในเวลาเพียง 30 นาที  ซึ่งเป็นระยะเวลาที่คงไม่มีการเดินทางในเขตเมืองรูปแบบใดจะเอาชนะได้ง่ายๆ  ในแต่ละวัน มีผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเฉลี่ย 450,000 คน  และ เพิ่มขึ้นถึง 520,000 คนในวันศุกร์ที่ชาวเมืองมักนัดพบปะ สังสรรค์หลังเลิกงาน  ขณะที่จำนวนผู้โดยสารจะลดลงเหลือราว 300,000 คนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

9.00 น. เพื่อให้ผู้ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนได้รับความพึงพอใจ เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ เดินรถของบีทีเอสต้องจับตาดูความเป็นไปตามสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งผ่านระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

เพื่อให้ผู้ใช้บริการครึ่งล้านคนได้รับความพึงพอใจ เกษมต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เขาเตือนว่า “ห้ามทำให้ ผู้โดยสารกระวนกระวายแม้เพียงไม่กี่นาทีก็ตาม”  บางครั้ง เขาต้องสั่งให้นำรถเปล่ามาเคลียร์ผู้โดยสารในบางสถานี เพราะผู้โดยสารไม่ชอบรอรถในชานชาลาที่แออัดเกินไป  เกษมเล่าว่า  “ผมเคยได้รับการร้องเรียนทางสายด่วนว่า รถสายไปสองนาทีด้วยครับ”

แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องหยุมหยิม แต่ความตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก  ”คนที่เดินทางเป็นประจำจะรู้ตารางเวลา เดินรถว่าเจ็ดโมงเช้า  และคาดหวังว่าจะต้องได้ขึ้นรถเจ็ดโมง ตรงเท่านั้น„  เกษมที่กำ ลังขะมักเขม้นจัดการเดินรถ 23 ขบวนในเส้นทางสายสุขุมวิทและอีก 10 ขบวนในสายสีลม ในชั่วโมงเร่งด่วนรอบเช้า  เล่าให้ฟัง  ความล่าช้าหรือ ข้อขัดข้องใดๆที่อาจเกิดขึ้น  ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถ แห่งนี้ต้องรีบแจ้งให้ผู้โดยสารที่สถานีรับทราบอย่างทันท่วงที

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ความตรงต่อเวลาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อผู้โดยสารชาวกรุงที่ดูเหมือนจะมีความอดทนน้อยลงทุกวัน  ความล่าช้าไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด ล้วนน่าหงุดหงิดทั้งสิ้น สำหรับงานในหน้าที่ของเกษมแล้ว เฮดเวย์หรือระยะเวลาที่ห่างกันของรถแต่ละขบวนเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะบางครั้งเขาต้องชะลอความเร็วของรถขบวนแรก พร้อมกับเร่งความเร็วของรถขบวนถัดไป  เพื่อรักษาเฮดเวย์หรือระยะห่างระหว่างขบวนให้สม่ำเสมอ “เป็นเคล็ดลับไม่ให้ผู้โดยสารหงุดหงิดน่ะครับ”

อีกหลายชั่วโมงต่อมา  เกษมยังคงสลับภาพจากกล้องวงจรปิดควบคู่กับติดตามตารางการเดินรถ เพื่อรักษาความตรงต่อเวลาและไม่ให้เฮดเวย์ห่างเกินไป เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินรถยังดำเนินต่อไปด้วยดี

11.00 น.

ใกล้เที่ยงวันเช่นนี้ แสงแดดแผดจ้าสาดส่องไปทั่วกรุงเทพฯ จนปรอทในเครื่องวัดอุณหภูมิพุ่งพรวด ถ้าเลือกได้ชาวกรุง ส่วนใหญ่คงนึกอยากอยู่แต่ในตัวอาคารติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่สำหรับสังเวียน สนธิคุณ, นิวัฒน์ ชิณพันธ์ และวาทิน แสงบุญ แล้ว  พวกเขาต่างภาวนาให้แสงแดดสาดส่องไปจนย่ำค่ำ เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสไปเดอร์แมน แต่ “ไอ้แมงมุม” อย่างพวกเขาไม่ต้องทำหน้าที่พิทักษ์เพื่อนมนุษย์เหมือนฮีโร่ในภาพยนตร์ หากต้องปีนป่ายตึกสูงทั่ว กรุงเทพ ฯ เพื่อรักษาความสะอาดและบำรุงรักษาตึกเหล่านั้น  หน้าที่หลักๆ ของพวกเขาคือทำความสะอาดกระจกหน้าต่าง  ซ่อมท่อน้ำที่รั่วซึม  เปลี่ยนหลอดไฟในกระโจมไฟยอดตึก  และ ซ่อมแซมรอยแตกร้าวบนผนัง

งานของทั้งสามมาพร้อมกับวิวที่ใครๆต้องอิจฉา  เพราะ เป็นทัศนียภาพสุดลูกหูลูกตาของ กรุงเทพ ฯที่หลายคน ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้เชยชม  แต่สิ่งที่ตื่นเต้นที่สุดของ การทำงานไม่ได้อยู่ในท้องฟ้าเสมอไป
สังเวียนวัย 36 ปีที่ปีนตึกสูงในกรุงเทพฯมานักต่อนักแล้ว ตลอดกว่า 14 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า  “สามเดือนแรกผม ไม่กล้ามองลงไปข้างล่างเลยครับ”  สมัยยังเป็นเด็ก อย่างมาก เขาก็ปีนแค่ต้นมะพร้าว  พอโตขึ้นมาหน่อยก็เทือกเขาใน จังหวัดเชียงราย  ทุกครั้งที่ปีนตึก  สังเวียนต้องไหว้ขอเจ้าที่เพื่อความปลอดภัยเสมอ “ผมรู้สึกอุ่นใจกว่าเวลาขอเจ้าที่ก่อนปีนตึกครับ”

ยามโรยตัวอยู่เหนือยอดตึก CRC  หนึ่งในหมู่ตึกออล ซีซั่นเพลส  ย่านเพลินจิต  มนุษย์เดินดินธรรมดาได้พานพบกับสิ่งสุดวิเศษสำหรับชีวิต  เพราะหมู่ตึกดังกล่าวไม่เพียงตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ  แต่ยังเป็นย่านที่พักอาศัยลอยฟ้าสุดหรูที่มีรั้วรอบขอบชิดแน่นหนา  ยากที่คนทั่วไปจะมีโอกาสได้พบเห็น (จากมุมสูงเสียด้วย)

11.00 น. ขณะที่ชาวกรุงกระเป๋าหนักยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้ เชยชมทัศนียภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ แต่สำหรับ เหล่าสไปเดอร์แมนที่ ทำงานบนตึกสูงจนกลายเป็นเรื่องเสพติด หลายคนบอกว่าตึกสูงที่มีอยู่ใน ปัจจุบันเตี้ยเกินไปสำหรับ ปีนป่ายทุกๆวันเสียแล้ว

เส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่าท้าทายนักตกแต่งภูมิทัศน์และสถาปนิกมานักต่อนัก  เพราะขอบฟ้าอันจืดชืดของเมืองฟ้าอมรแห่งนี้มักประดับประดาไปด้วยตึกระฟ้ารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แตกต่างจากมหานครอื่นๆ ในภูมิภาค  เช่น ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้  และสิงคโปร์

ความตื่นตาตื่นใจกับความสูงทำให้สถาปนิกเมืองกรุง มุ่งเน้นความสูงของตึกมากกว่ารูปลักษณ์หรือดีไซน์  คน กรุงเทพฯมีโอกาสต้อนรับตึกสูงหลังแรกเมื่ออาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯเปิดใช้งานในปีพ.ศ. 2525 บน ถนนสีลม และอีกห้าปีต่อมาบนถนนสาทรเกิดตึกหุ่นยนต์รูปทรงร่วมสมัยที่เป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเชีย ซึ่งปัจจุบันถูกควบรวมกิจการและกลายเป็นยูโอบีไปแล้ว และอีกไม่นานเกินรอ ในปีพ.ศ. 2555  ชาวกรุงจะได้มีโอกาสสัมผัสอภิมหาโครงการในชื่อ “มหานคร”  (Maha Nakhon  Project)  ที่ไม่เพียงเป็นตึกสูงที่สุดด้วยความสูง 310 เมตร แต่ยังมีดีไซน์ล้ำสมัยด้วยรูปทรงเกลียวแปลกตา แม้จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่สังเวียนบอกว่า บนฟ้าไม่ค่อยมีเพื่อนมากนัก  นอกจากวิหคนกกา

ทว่าพวกเขายังสามารถโบกมือทักทายผู้คนที่เดินขวักไขว่ อยู่ท่ามกลางการจราจรอันแออัดต่ำลงไป 210 เมตรเบื้องล่าง หรือไม่ก็ ร.ต.อ.บุรินทร์  พงศ์สุวรรณ  ที่ขับเฮลิคอปเตอร์ห่างออกไปเพียง 300 เมตร  การบินใกล้หรือต่ำเกินไปอาจเป็นอันตรายได้  เพราะแรงสั่นสะเทือนจากใบพัดอาจทำให้กระจกแตก  ทำให้ผู้กองบุรินทร์ไม่มีเวลาชื่นชม ทัศนียภาพยามขับเครื่องพาแขกเดินทางแบบปลอดปัญหา จราจรไปยังจุดหมายต่างๆ ในเมืองหลวง  เขาบอกว่า  “ผมต้องมองมาตรวัดพวกนี้ตลอดเวลาครับ”

ขณะที่นักบินเฮลิคอปเตอร์อย่างบุรินทร์ไม่สามารถทักทายใครได้ยามอยู่บนท้องฟ้า มนุษย์แมงมุมกลับแทบไม่ได้รับคำทักทายหรือแม้แต่การพยักหน้าตอบจากผู้คน ที่พำนักหรือทำงานในตึกสูงเหล่านี้  นิวัตน์ เพื่อนร่วมทีมของสังเวียน  บอกว่า ”พวกเขามักไม่สนใจเราหรอกครับ ทำเหมือนเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นอย่างนั้นแหละ”  ด้วยเหตุนี้เขาจึงชินกับการทำตัวกลมกลืนกับหน้าต่างกระจกขณะ ทำความสะอาดและไม่สบตาใครโดยไม่จำเป็น

ถ้าเลือกได้พวกเขาคงอยากทำความสะอาดกระจกของห้องว่างมากกว่า  เพราะการตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าขัดเขินไม่ใช่เรื่องน่าสนุก  นิวัตน์เองเคยสบตากับสตรีต่างชาติที่เดินไปมาในห้องพักโรงแรมในสภาพเกือบเปลือยแต่คงไม่มีเหตุการณ์ไหนเทียบได้กับวาทินที่เคยสบตากับคู่รักบนเตียงในสภาพล่อนจ้อน

13.00 น.

เสียงเครื่องเรือหางยาวในคลองแสนแสบด้านนอกบ้านกึ่งโรงงานไม่ได้รบกวนมนัสนันท์  เบญจรงค์จินดา ผู้กำลังคลี่ไจไหมย้อมสีอย่างเงียบๆ เพื่อผึ่งให้แห้งเหนือราวไม้บนหลังคา เขาได้แต่หวังว่าอากาศแจ่มใสจะเป็นเช่นนี้จนหมดวัน เพื่อให้เส้นไหมแห้งพอนำไปทอได้ในอีกสองสามวัน

ท่ามกลางวิถีชีวิตอันรีบเร่งและไม่เคยหยุดนิ่งของเมืองกรุง  “บ้านครัวไหมไทย”  ผู้ผลิตผ้าไหมหนึ่งในสองรายที่ยังคงเหลืออยู่ในชุมชนแห่งนี้  ดูราวกับนาฬิกาที่ถูกหยุดเวลาเอาไว้ หลายทศวรรษของการถักทอเส้นไหมเป็นผ้าไหมหลากสี ชายชราวัย 70 ชาวบ้านครัวผู้นี้ยังคงสืบทอดกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้เครื่องจักรใดๆ เหมือนเมื่อ 57 ปีก่อนที่เขาได้เรียนรู้จากกิจการของจิม  ทอมป์สัน มนัสนันท์ยังคงฟอก ต้ม และย้อมเส้นไหมในหม้อใบใหญ่ที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของบ้านซึ่งเป็นทั้งโชว์รูม ห้องทอผ้า และ ห้องนอน  ช่างทอทั้งสามคนของเขายังคงใช้หูกตัวเก่าทอผ้าลายดั้งเดิมที่ลูกค้าในโลกสมัยใหม่ยังคงชื่นชอบ

มนัสนันท์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามว่า  “แล้วลุงจะเปลี่ยนทำ ไมล่ะ”  ถ้าสิ่งที่เขาเคยทำมาตั้งแต่ยุคแอนะล็อก ยังคงขายได้ดีในยุคดิจิทัล  ลูกค้ารุ่นใหญ่ของบ้านครัวไหมไทยยังคงชื่นชอบผ้าลายทางเก้าสีที่เคยขายดิบขายดีใน ร้านจิม ทอมป์สันเมื่อหลายทศวรรษก่อน

เป็นเวลานับเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ชุมชนมุสลิมเล็กๆ แห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจิม  ทอมป์สันในการนำ แพรพรรณอันประณีตเข้าสู่ ตู้เสื้อผ้าของตัวละครในภาพยนตร์มหากาพย์ “เบนเฮอร์” ของฮอลลีวู้ด  ในยุคนั้นแต่ละครอบครัวต้องมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนทำงานเกี่ยวกับผ้าไหม

มนัสนันท์เท้าความหลังว่า “ลุงไม่อยากเป็นเหมือนพ่อ” ผู้มีรายได้อันน้อยนิดจากการขายถ่านในชุมชน  ไม่นานหลังจบประถม 4  ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ  เด็กชายวัย 13 ปีมุ่งมั่นจะทำงานในอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาเรียนรู้วิธีการย้อมเส้นไหมและทำ รายได้งามจากผลิตผลที่เกิดจาก น้ำพักน้ำแรงราว 10 กิโลกรัมต่อวัน  ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่กี่สตางค์ เส้นไหมที่ย้อมสีแล้วหนึ่งกิโลกรัมสร้างรายได้ให้ครอบครัวเบญจรงค์จินดาถึง 7 บาท

13.00 น. มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา เปรียบได้กับลมหายใจสุดท้ายของอุตสาหกรรม ผ้าไหมที่เคยเฟื่องฟูในชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ แม้วัยจะล่วงเลย มาถึง 70 ปีแล้ว แต่ “ลุงอู๊ด” ยังคงมีชีวิตชีวาขณะทำงาน กับสิ่งที่รัก อย่างการคลี่ไจไหมออกผึ่งแดด ก่อนนำไปถักทอ

หลังได้รับคำสั่งสินค้าจากจิม  ทอมป์สันในช่วงเช้า มนัสนันท์ในวัยหนุ่มทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อย้อมเส้นไหม ให้ได้มากที่สุดก่อนตะวันตกดิน เพราะยิ่งได้งานมากเท่าไร ค่าตอบแทนก็ยิ่งมากตามไปด้วย  เขาเล่าว่า  “ลุงหาเงินได้มากกว่าที่พ่อแม่หาได้รวมกันซะอีก”  ด้วยรายได้ร่วม 100 บาทต่อวันจากการย้อมเส้นไหมส่งบริษัทอุตสาหกรรม ผ้าไหมไทย  จำกัด  ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการไหมไทย  จิม ทอมป์สัน

ธุรกิจผ้าไหมในชุมชนบ้านครัวรุ่งเรืองอยู่หลายทศวรรษ จนกระทั่งจิม ทอมป์สันหายสาบสูญในป่าประเทศมาเลเซีย นับจากนั้น  บริษัทก็ได้ระงับการผลิต ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยกันละทิ้งหม้อต้มย้อม  หูกทอผ้า  และชุมชนของตนเอง  สุเหร่าเพียงแห่งเดียวในชุมชนที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกว่าร้อยละ 80 ในอดีต  มาวันนี้  ชุมชนบ้านครัวคงเหลือชาวมุสลิมเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น  นอกนั้น เป็นแรงงานที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทว่ามนัสนันท์ยังคงยืนหยัด  กระนั้นความพยายามในการหาเลี้ยงครอบครัวจากรายได้สองแหล่ง  คือ  โรงงาน ผ้าไหมในตอนกลางวันและขับแท็กซี่ตอนกลางคืนกลับไม่ได้ผล  เพราะโลกภายนอกทางเดินอันคดเคี้ยวของชุมชน นั้นช่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยสิ่งล่อใจ  เขาเล่ากลั้วหัวเราะว่า “แทบไม่ได้เงินจากขับแท็กซี่เลย”  ทั้งยังรับด้วยว่าเงิน ที่หามาได้มักหายไปกับไนต์คลับมากกว่าจะเข้ากระเป๋า ไม่นานนักมนัสนันท์ก็ได้รู้ซึ้งว่าวิถีชีวิตที่คุ้นชินมาหลายทศวรรษนั้นเหมาะกับตนเองที่สุด  จากเด็กชายรับจ้างย้อมไหม วันนี้เขาเป็นเจ้าของโรงงานที่ต้องคอยสั่งงานลูกน้องทุกเช้าเพื่อให้งานเดิน

เมื่อเสียงเครื่องยนต์จากเรือหางยาวในคลองแสนแสบ ดังแข่งกันและถี่กว่าเดิม มนัสนันท์นั่งเอนหลัง  ดูข่าว ภาคเย็นจากทีวี  พร้อมสดับสรรพเสียงของเส้นไหมที่ถูก ถักทอเป็นแพรพรรณ

16.00 น. ปัญหาการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤติของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆอย่างการรับส่งด้วยเฮลิคอปเตอร์ ที่มีไว้บริการนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ ทว่าข้อจำกัดเรื่องสถานที่จอดยังเป็นอุปสรรคไม่น้อย

18.00 น.

ใครบ้างจะนึกพิสมัยชีวิต “แบบเนื้อหุ้มเหล็ก” นอกรถเก๋งคันงามที่แอร์เย็นฉ่ำ มีเพียงหมวกกันน็อกเป็นอุปกรณ์ คุ้มภัย หรืออย่างมากก็มีถุงมืออีกคู่

ไม่เพียงกลิ่นควันและก๊าซพิษสารพัดชนิดจากท่อไอเสียของยวดยานอันคับคั่งยามเย็นจะทำลายสุขภาพกายเท่านั้น ความเห็นแก่ตัวของผู้ขับขี่ชาวเมืองยังบั่นทอนสุขภาพจิตรายวันอีกด้วย  ชีวิตบนเบาะรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกประกบด้วยรถประจำทางทั้งซ้ายขวาไม่ใช่เรื่องน่าสนุก แต่สำหรับ นรันด์  อุบล  คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้ว  นี่คือหนทาง ในการหาเลี้ยงชีพ  ในแต่ละวันเขาต้องขี่รถวันละหลายสิบกิโลเมตรเพียงเพื่อให้พอกิน

นรันด์บอกว่า ”เวลาอยู่บนท้องถนน สมาธิต้องดีจริงๆ ครับ”  เขาต้องคอยเตือนตัวเองไม่ให้ไปเกะกะขวางรถ ประจำทาง  ขณะซอกแซกหาทางลื่นไหลไปกับกระแสจราจร หากต้องการมีชีวิตรอดปลอดภัย  รวมทั้งไม่ทำตัวให้เป็นที่สนใจของตำรวจจราจรหรือกล้องวงจรปิดที่เพิ่งติดตั้งตาม สี่แยกในเมือง  เพราะการฝ่าฝืนกฎจราจรใดๆ  ย่อมหมายถึงเงินที่เหลือกลับบ้านน้อยลง

18.00 น. ชั่วโมงเร่งด่วนยามเย็นที่ชาวกรุงต่างมุ่งหน้ากลับบ้านหรือไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง คือ “เวลาทอง” สำ หรับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่สามารถซอกแซกฝ่าการจราจรที่ติดขัดเพื่อส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายได้ทันเวลา

ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2552  ยอดรถส่วนบุคคล  ซึ่งรวมทั้งรถเก๋ง  รถกระบะ  และรถตู้ที่ จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก  มีสูงถึง 5,999,808 คัน ทั้งนี้ยังไม่รวมรถประจำทาง  ตุ๊กๆ  และแท็กซี่

ปริมาณยวดยานนับล้านๆคันในเมือง  ทำให้นึกภาพการจราจรได้ไม่ยากนัก  คุณอาจเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว เพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนยามเย็น บนถนนเพชรบุรี  หรือไม่ขยับเขยื้อนแม้แต่น้อยหากมีฝน ตกลงมาจนน้ำท่วมขัง

ยามที่การจราจรเข้าใกล้ชั่วโมงเร่งด่วนยามเย็นทุกขณะ บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างยิ่งหายากขึ้น  ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็น “เวลาทอง” ของการทำมาหากิน  เพราะผู้คนต่างต้องการกลับบ้านหรือไม่ก็ไปเที่ยวต่อ  แม้รถแท็กซี่อาจให้ความสะดวกสบายมากกว่าก็จริง แต่ในยามที่การจราจรกลายเป็นการจลาจลเช่นนี้  คงไม่มียวดยานใดที่ช่วยให้ผู้คนถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาดีไปกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกแล้ว

18.30 น. ราคาที่ดินที่พุ่งสูงและโครงการพัฒนาใหม่ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ มักหมายถึงพื้นที่ชุมชน เมืองที่หดหายไป ความ ขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุน ราชการ และคนจนเมือง จะยังคงเป็นคลื่นใต้น้ำ ที่พร้อมจะผุดพลุ่งขึ้น ตราบใดที่เมืองหลวง แห่งนี้ยังคงเติบโต

นรันด์บอกเคล็ดลับว่า  “ต้องหาช่องว่างระหว่างรถครับ จะได้หลุดจากรถติด” นับเป็นเทคนิคพื้นฐาน แต่ก็ใช่ว่า มอเตอร์ไซค์ทุกคันจะพลิ้วตัวผ่านช่องว่างเหล่านั้นได้โดย ไม่สร้างรอยขูดขีดให้กระจกมองข้างหรือสีรถงามๆ  กระนั้น การติดแหง็กอยู่บนท้องถนนก็ช่างน่าหงุดหงิดจนหลายคน ไม่ลังเลที่จะเสี่ยง

ท่ามกลางวิกฤติการจราจรของเมืองกรุง หากมองจากอีกมุมหนึ่ง (จะมีใครสักกี่คนนึกถึง) ก็คงพอมองได้ว่าเป็น ความงามยามค่ำคืน  จากมุมสูงเบื้องบน  จำนวนรถนับไม่ถ้วนบนท้องถนน  ทางด่วนที่เคี้ยวคด และสะพานข้ามแยกอันขวักไขว่ ก่อเกิดเส้นสายราวงูไฟยักษ์ที่ลัดเลาะไปทั่วเมืองโอบล้อมตึกระฟ้าที่สว่างไสวไม่แพ้กัน

ยิ่งงูไฟยักษ์ทอดตัวยาวบนถนนกลางมหานครแห่งนี้นานเท่าใด  นรันด์ก็รู้ว่าเขาจะสามารถรับผู้โดยสารอีกสอง สามคน  ฝ่าการจราจรที่นิ่งสนิทเช่นนี้ได้อีก  และนั่นหมายถึงรายรับที่เพิ่มขึ้นอีกสองสามร้อยบาทเช่นกัน

19.00 น.

ขณะที่เมืองทั้งเมืองราวกับหยุดนิ่งในกระแสการจราจร ณพาภรณ์  โพธิรัตนังกูร  ยังคงกระปรี้กระเปร่า  แม้จะนั่ง หลังพวงมาลัย  แต่เธอไม่หงุดหงิดที่ต้องติดไฟแดงนานขึ้น สองสามนาที  เพราะเวลาสั้นๆเพียงเท่านี้ทำ ให้เธอมีเวลา บรรจงวาดแนวคิ้วให้โก่งงอน  แต่งแต้มริมฝีปาก  ตบท้าย ด้วยการปัดสีสันให้พวงแก้ม  ทั้งหมดนี้  เธอสามารถจัดการได้ก่อนที่สัญญาณไฟจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเสียอีก

เสื้อผ้า  หน้า  ผม  คือสูตรสำเร็จของผู้ออกงานสังคมฉันใด  ไฟ  กล้อง  โพส!  ก็เป็นพิธีกรรมอันขาดไม่ได้ ของงานปาร์ตี้ฉันนั้น  แขกเหรื่อทุกคนต้องโพสท่าหน้าฉากประจำงาน  ยิ่งชุดเข้างานโดดเด่นเท่าไร  ก็ยิ่งเรียกแสงแฟลชได้มากเป็นเงาตามตัว  โดยไม่รู้ตัว  คุณอาจกลายเป็นคนเด่นดังที่จะปรากฏโฉมในหน้าข่าวสังคมตามนิตยสารต่างๆ ทันทีที่การโพสท่านับไม่ถ้วนเสร็จสิ้นลง  แม้ว่าคุณจะไม่ใช่นางแบบอาชีพ  (คุณออกจะเป็นคน “ธรรมดา” เป็นที่สุด)  คุณก็ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมสังสรรค์กับกลุ่มคน ที่มือหนึ่งถือแก้วไวน์หรือแชมเปญตลอดเวลา

การเป็นคนดังหรือ “เซเลบ” ในกรุงเทพฯไม่ใช่เรื่องง่าย  ณพาภรณ์ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ปารีส ฮิลตัน” เมืองไทย  ด้วยสไตล์อันโฉบเฉี่ยวไม่เหมือนใคร  สาวน้อยซึ่งรั้งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ  ปาร์ค  สามารถให้คำตอบนี้ได้ดีที่สุด  เพราะก่อนที่คนดังแต่ละคนจะได้รับโอกาสเดินบนพรมแดงและโพสท่าสู้แสงแฟลช  เขาหรือเธอต้องฝ่าฟันการจราจรหฤโหด เพื่อไปให้ทันการโพสท่าในชุดราตรีงดงาม  เบื้องหน้าฉากก่อนเข้างานให้ได้ทุกครั้งไป

ทั้งหมดนี้เริ่มขึ้นราวสิบปีก่อน  เมื่อกิจกรรมการตลาด ผ่านสื่อหลักๆไม่สามารถดึงดูดผู้คนได้ดีพอ  กิจกรรมการ ตลาดที่ไม่ผ่านสื่อก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด  ทั้งการจัดงานเลี้ยงเปิดตัวสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  กิจกรรมการตลาดลักษณะดังกล่าวทำให้คนเด่นคนดังต้องลำบากลำบน แข่งกันเป็นแขกพิเศษ รวมทั้งสื่อที่ต้องแก่งแย่งกันเก็บภาพคนดัง

19.00 น. การออกงานสังคมคืนละหลายงานทำ ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ต้องใช้เวลาว่างเพียงน้อยนิดให้เป็นประโยชน์ เช่น การแต่งหน้าระหว่างรถติดไฟแดง หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าสำ หรับงานถัดไป

สำหรับณพาภรณ์ยิ่งยากกว่านั้น  เพราะแต่ละคืนเธอต้องร่วมงานเลี้ยงไม่ต่ำกว่าสองสามงาน  ทำ ให้เธอต้องแข่ง กับเวลาและฝ่าการจราจรเพื่อไปงานแรกให้ทันเวลา 19.00 น. งานที่สอง 20.00 น.  และงานที่สาม 21.00 น.  ความรักในแฟชั่นทำ ให้เธอไม่สามารถปล่อยให้ภาพที่ปรากฏตามหน้านิตยสารในสัปดาห์ต่อๆ มาเป็นเสื้อผ้าชุดเดียวกันทั้งสามงาน เพื่อความสะดวก เธอใช้เวลาเพียง 30 นาทีในคืนก่อนหน้าเพื่อเตรียมเสื้อผ้าสามชุดให้เข้ากับ “ธีม” ของแต่ละงาน ผสานเคล็ดลับ “มิกซ์แอนด์แมตช์” เพื่อจะได้เปลี่ยนเสื้อผ้า ในรถได้ขณะติดไฟแดงก่อนถึงงานถัดไป

ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อ 6 ปีก่อน หลังใช้ชีวิตศึกษาในต่างแดนนานนับสิบปีกล่าวว่า  “เป็นช่องทางโปรโมตแบรนด์ของเราและทำให้รู้จักผู้คนค่ะ” ก่อนจะได้รับการขนานนามว่าปารีส  ฮิลตัน  เมืองไทย ณพาภรณ์ใช้เวลา 6 เดือนแรกแนะนำตนเองกับสื่อมวลชน ด้วยการเขียนชื่อและตำแหน่งเพื่อที่นิตยสารจะได้ตีพิมพ์ ในหน้าข่าวสังคมได้อย่างถูกต้อง  และอีกหลายเดือนต่อมา กับการแนะนำเพื่อนฝูงของเธอให้กับสื่อมวลชนเช่นกัน

เธอเล่าแกมหัวเราะว่า  “ผู้คนมักซุบซิบกันเวลาเห็นรูปในนิตยสารว่า  ผู้หญิงคนนี้เป็นใครกันนะ  ไม่ค่อยใส่อะไรแยะนะเนี่ย”  ทุกครั้งที่ไปถึงงาน  เธอมักเลี่ยงการโพสท่าหน้างาน  แต่ตรงไปทักทายเจ้าภาพงานนั้นๆทันที

นับแต่นั้นมา ณพาภรณ์ไม่เคยหยุดใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งหรือสองชั่วโมงในงานเลี้ยงเปิดตัวสินค้า  นับตั้งแต่ โครงการคอนโดมิเนียมหรูกลางกรุง  ไปจนถึงสินค้าแบรนด์ดังอย่างแอร์เมส  โมโตโรลา  และเอสเต  ลอเดอร์  หรือแม้กระทั่งแมคโดนัลด์

เธอบอกว่าการซื้อสินค้าในงานนิดหน่อยก่อนกลับเป็นมารยาทที่พึงกระทำ   เธออาจซื้อนาฬิกาสักเรือนหากอยู่ในงบหกหลักที่ได้รับ  “ยังไม่เคยซื้อแอร์เมสเองนะคะ  เพราะเกินงบมากเลยค่ะ”  ณพาภรณ์บอกว่าสินค้าชั้นเลิศควรมากับอายุ  คงไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นคาดหวังสำหรับเด็กสาวอายุ 18 ที่ถือกระเป๋าแอร์เมส  “พอโตกว่านี้จะเหลืออะไรให้ชื่นชมอีกล่ะคะ”  นี่เป็นเหตุผลที่เธอมักกลับบ้านพร้อมเครื่องสำอางรุ่นลิมิเต็ดเอดิชันไม่กี่ถุงแทน

ก่อนจะดึกดื่นเกินไป  ณพาภรณ์ขอตัวอย่างสุภาพเพื่อ ออกจากงานเลี้ยงสุดท้าย  อย่างน้อยจะได้ไม่เหนื่อยเกิน ไปสำหรับอาหารมื้อดึก

23.00 น.

ขณะที่ณพาภรณ์ในชุดราตรีก้าวลงจากรถในย่านเยาวราช เพื่อหาของกินรอบดึกกับเพื่อนๆ  ชาญณรงค์  คำมุก ก็ก้าว ขึ้นสู่เวทีขนาด 1 x 3 เมตร  สำหรับการแสดงเดี่ยวชุดแรกในคลับชื่อดังอย่าง Expresso ย่านสีลมซอย 2  ซึ่งว่ากันว่าเป็น “สวรรค์ของชาวสีม่วง” ที่ใหญ่ที่สุดในแถบเอเชีย

ชาญณรงค์ยอมรับว่า  “เราสบายใจกว่า  เวลาอยู่กับพวกเดียวกัน”  แม้สังคมไทยจะเปิดกว้างมากขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ แต่คงไม่มีที่แห่งใดที่ทำ ให้นักแสดงวัย 37 รวมทั้งสหายร่วม รสนิยมหลายร้อยคนรู้สึกเป็นตัวของตัวเองได้เท่าสีลมซอย 2 อีกแล้ว ในชีวิตจริงนอกซอยแห่งนี้  เกย์จำนวนมากยังต้องอำพรางตัว แต่ทันทีที่ย่างเท้าเข้าซอยนี้ ก็เหมือนได้ปลดปล่อยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงโดยไม่ต้องเกรงสายตา หรือความรู้สึกของคนรอบข้าง แม้จะเป็นเพียงคืนเดียวก็ตาม  “คุณไม่รู้สึกปลอดภัยเท่านี้เวลาอยู่ที่อื่นค่ะ”

ซอยเล็กๆ ขนาดเท่าสนามฟุตบอลแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยนักเที่ยวหลายร้อยชีวิตและอาจถึงหลายพันคนในช่วงเทศกาล ร้อยละ 99 ของผู้มาเที่ยวเป็นเกย์  ส่วนที่เหลือเป็นผู้หญิงที่ต้องการความปลอดภัยยามออกเที่ยวกลางคืน และหนุ่มแท้ “แมนเต็มร้อย” ที่ต้องการความแปลกใหม่ คืนสุดสัปดาห์ผู้คนจะหนาตามาก  ทำให้หาที่ยืนโดยไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่นๆ แทบไม่ได้

ชาญณรงค์บอกว่า “จะบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งแสวงบุญ ของชาวเกย์ก็คงไม่ผิดหรอกค่ะ” ไกด์บุ๊คทั่วโลกต่างยกย่อง ให้สีลมซอย 2 เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องมาเยือนในกรุงเทพฯ สำหรับชาวสีม่วง ไนต์คลับอันหลากหลายมีธีมแตกต่างกันออกไป  อย่างสองสามร้านแรกออกแนวร้านอาหาร  ขณะที่สองร้านด้านท้ายซอยอย่าง DJ Station และ Expresso เป็นร้านโชว์

23.00 น. เหล่าโคโยตี้อวดเรือนร่างที่สวยงามตามจังหวะเพลงอันเร่งเร้า คือภาพคุ้นตาของชีวิตคนกลางคืน ที่ต้องทำ งานเพื่อปากท้อง ขณะที่ชาวกรุงจำนวนหนึ่ง พึงใจกับการพักผ่อน หย่อนใจด้วยการกินดื่ม อาบแสงสี และกิจกรรม บันเทิงยามราตรี

สามสิบนาทีหลังการแสดงชุดแรกที่เล่นเป็นตัวประกอบ ในร้าน DJ Station  ชาญณรงค์กลับมาในชุด “ทูพีซ” หรูหราประดับประดาด้วยคริสทัลและสวมมงกุฎเพชรสำหรับการแสดงเดี่ยว

เธอบอกว่า “ต้องคอยจับอารมณ์คนดูด้วยค่ะ”  ระหว่างที่แสดงเพลงที่สอง ชาญณรงค์ก้าวลงจากเวทีและเดิน ท่ามกลางแขกที่ส่งเสียงเชียร์ สร้างสีสันและความสนุกสนานเพิ่มขึ้นยามหลังเที่ยงคืน

ชาญณรงค์ที่ผ่านการทำศัลยกรรมแปลงเพศเมื่อ 12 ปีก่อน  ไม่เคยนึกเสียใจกับการตัดสินใจในครั้งนั้น  เพราะเธอรักเรือนร่างผู้หญิงและการสร้างความบันเทิงให้กับแฟนๆ ทุกคืน ยามอยู่นอกซอย เธออาจเป็นแค่นักเต้นกะเทยคนหนึ่ง  แต่ที่สีลมซอย 2  “ฉันคือราชินี”  จวบจนตีสอง ยามที่บาร์ปิดตัวลง

2.00 น.

สองเมือง  วางโต  ออกปากท้าทายว่า  “ลองมาวิ่งให้ทันผมไหมล่ะ  ไม่ต้องคิดจะเอาชนะหรอก”

คนส่งของพร้อมรถเข็นที่บรรทุกแน่นขนาดนั้นจะวิ่ง ชนะคนตัวเปล่าได้อย่างไรกัน

สองเมืองเริ่มวิ่งเข็นรถที่บรรทุกเข่งดอกไม้สูงเกือบจะท่วมหัวจากปากคลองตลาด  ซอกแซกผ่านการจราจรบนถนนจักรเพชร  “ตัวต้องพลิ้วให้ทันกับที่ตามองเห็นนะครับ” เขาอธิบายก่อนฉากหลบไปอีกฝั่งถนนเพื่อเลี่ยงรถแท็กซี่ ที่สวนมา  พอถึงจุดที่การจราจรบางตา  เขาโดดขึ้นยืนบนรถเข็นและบังคับรถลงมาตามทางลาด  ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที  เข่งดอกไม้ก็ส่งถึงรถที่จอดรออยู่หนึ่งกิโลเมตรถัดไป  ได้ค่าจ้าง 40 บาทสำหรับการส่งรอบแรก  ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขึ้นกับระยะทางและน้ำหนักของที่ต้องส่ง

มหานครแห่งแสงสีเริ่มเงียบเหงา  ยามที่คนทำงานรอบสุดท้ายอย่างชาญณรงค์และผองเพื่อนแห่งสีลมซอย 2 เตรียมเข้านอน  แต่สองเมืองยังคงวิ่งแข่งกับคนเข็นของคนอื่นๆ ที่ปากคลองตลาด

ในแต่ละคืนยิ่งส่งสินค้าได้มากเท่าไร  พวกเขาก็มีรายได้มากขึ้นเท่านั้น  สำหรับชีวิตที่ไม่มีประกันสังคมหรือรายได้ขั้นต่ำของคนเข็นของเหล่านี้  หากต้องหยุดงานหรือเจ็บป่วยก็เท่ากับรายได้ที่ขาดหายไป

ทันทีที่รถบรรทุกซึ่งอัดแน่นไปด้วยดอกไม้และผักผลไม้แล่นเข้ามาจอด  คนเข็นของรายหนึ่งจะกระโดดขึ้นหลังรถ เพื่อแก้มัด  ก่อนจะแยกเข่ง  ลัง  และหีบห่อด้วยความชำนาญให้กับคนเข็นของรายอื่นๆ  ซึ่งต่างรู้หน้าที่ว่าต้องนำไปส่งให้ร้านใดบ้าง  สินค้าล็อตแรกจะถูกส่งถึงที่หมายภายในเวลาไม่กี่นาที ก่อนที่คนเข็นของจะเร่งรุดกลับมารับของเพิ่ม ด้วยระบบการทำงานเป็นทีม รถบรรทุกสิบล้อหนึ่งคันจะได้รับการขนถ่ายและวิ่งออกจากตลาดได้ ภายในเวลาเพียง 30 นาที รถบรรทุกเหล่านี้มาจากจังหวัดใกล้เคียง โดยนำสินค้าและดอกไม้สดใหม่มาส่งเพื่อกระจายไปสู่ผู้ค้าปลีกอื่นๆ ในเมืองต่อไป

2.00 น. ขณะที่ครรลองชีวิตของชาวกรุงส่วนใหญ่ปิดฉากลงเพื่อเตรียมรับวันใหม่ แต่สำหรับเหล่านักเข็นผักย่านปากคลองตลาด วันทำงานเพิ่งเริ่มต้น อาชีพที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ นี้ทำรายได้ให้พวกเขาวันละหลายร้อยบาท

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นระบบการทำ งานแบบ “แก๊ง”  แต่สองเมืองเลือกทำงานคนเดียว  เขามีลูกค้าประจำที่รู้ว่าจะตามตัวเขาเจอได้ที่ไหน  สองเมืองบอกว่าลูกค้าสามารถโทรศัพท์หาเขาได้ตลอดเวลา  เพราะเขามาถึงตลาดตั้งแต่ สี่โมงเย็นเพื่อเลือกรถเข็นที่ดีที่สุด  ในราคาค่าเช่า 20 บาทตลอดคืน  เขาอธิบายเคล็ดลับในการเลือกว่า  “ต้องดูปากเข่งที่แน่นแข็งแรงกับล้อรถเข็นให้ดีครับ”  เพราะรถเข็นสภาพดีจะทำให้วิ่งได้เร็วและสนุกกว่า

ลูกค้าประจำรายหนึ่งส่งหีบห่อและกล่องโฟมอย่างละสองสามชิ้นให้สองเมือง พร้อมบอกจุดที่รถปิกอัพจอดรออยู่ เขาจัดแจงแยกประเภทดอกไม้ด้วยความชำนาญ  โดยจัดเรียงตามน้ำหนักและความบอบบางของดอกไม้แต่ละชนิด ดอกจำปีต้องอยู่ด้านบนเสมอเพราะบอบบางที่สุด  สองเมืองย้ำก่อนจะขอตัวออกไปส่งของ  และรุดกลับมาที่จุดประจำรับเงิน 40 บาทเป็นค่าแรงและรอลูกค้ารายต่อไป

ด้วยบริการที่รวดเร็วฉับไวและไว้วางใจได้  สองเมือง ทำเงินได้คืนละหลายร้อยบาท  หรือมากกว่าพันบาทหากเป็นช่วงเวลาพิเศษ  เช่นคืนก่อนวันพระที่พ่อค้าแม่ขายหรือผู้เฒ่าผู้แก่มักมาหาซื้อดอกไม้เพื่อนำไปถวายพระ  หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คนงานจะกลับบ้าน  เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายรายวันแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าสองเมืองมีรายได้เดือน ละ 17,000–18,000 บาทจากการเข็นรถส่งของ  “ผมไม่ต้องเสียค่าน้ำมันนี่ครับ ใช้แต่แรงตัวเองทั้งคืน”

แต่สองเมืองไม่ปลื้มเทศกาลหวานๆ อย่างวาเลนไทน์ เท่าไรนัก เพราะมีแต่เด็กวัยรุ่นในรถคันโตแวะมาซื้อดอกไม้ คนละช่อสองช่อ  “เด็กพวกนั้นไม่ใช้บริการผมหรอก  แถมรถยังจอดขวางทางอีกด้วย”

เรื่อง อารินยา วัฒน์

ภาพถ่าย อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคา 2553


อ่านเพิ่มเติม แม่น้ำเจ้าพระยา นครากับมหานที

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.