แม่น้ำเจ้าพระยา นครากับมหานที

แม่น้ำเจ้าพระยา นครากับมหานที

18 นาฬิกา 52 นาทีของเสาร์หนึ่ง ฟ้าหรุบหรู่และมีเมฆมาก สาย แม่น้ำเจ้าพระยา เต้นเร่าตามระลอกคลื่น สีสันพรรณรายจากหลอดแอลอีดี แดง เขียว และน้ำเงิน สะท้อนผิวน้ำ

ขณะนั้นเรือยอดพิมานล่องมาถึงบริเวณศาลเจ้าเกียนอันเกง แสงไฟจากตัวศาลและชุมชนวัดกัลยาณมิตรแลมัวซัว เวลานี้ชาวบ้านในชุมชนริม แม่น้ำเจ้าพระยา คงกำลังดูข่าวหัวค่ำนอนเอกเขนก ไม่ก็ตั้งวงกินดื่ม แต่บนเรือยอดพิมาน เสียงเพลง “Pretty Boy” ของวง M2M กำลังแผดเสียงกระหึ่มกลางดาดฟ้าเรือ

“รอบแรก เราจะเปิดเพลงชิล ๆ สบาย ๆ ครับ แขก รอบนี้ส่วนมากอยากโรแมนติก” โจ้ อภิรักษ์ หมื่นสุวรรณ์ วัย 24 ปี บอกผม เขาเป็นดีเจประจำเรือยอดพิมาน เรือนำเที่ยว แม่นํ้าเจ้าพระยา แบบทริประยะสั้น คนขับเรือเร่งเครื่องแซงเรือโยง ซ้ายมือผมคือวัดกัลยาณมิตร พระปรางค์ผิวสีทองและอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อโต (พระพุทธไตรรัตนนายกหรือที่คนไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า “ซำปอกง”) ฝั่งตรงข้ามคือตลาดยอดพิมาน ช็อปปิ้งมอลล์ติดเครื่องปรับอากาศ ชั้นบนมีร้านชาบู อาหารทะเล บาร์บีคิว และลานเบียร์

“รอบสุดท้ายเลยครับพี่ ‘ตื๊ด’ มาก” ดีเจโจ้หันมาบอกผม เขาบอกว่าทริปเรือรอบราวสามทุ่มเป็นเที่ยวสุดท้ายของวันและสุดเหวี่ยงที่สุด “ถ้าฝนไม่ตกนะครับ ทั้งคนเต้น คนเมา ปาร์ตี้กันสุด ๆ ผมเห็นมาหมดแล้ว” ดีเจโจ้ยิ้ม

“แล้วถ้าฝนตก” ผมถาม

“ถ้าฝนตกก็ยังเต้นครับ แต่มาเต้นเบียดกันในร่มแทน” เขาบอก

ขณะควบคุมแสงไฟ ผู้โดยสารชาวอินเดียสองคนถือจานใส่ฝรั่งและสับปะรดเดินไปทั่วดาดฟ้าเรือ ฝรั่งสแกนดิเนเวียมากับแฟนสาวชาวไทยดวดเบียร์เข้าไปสามขวดแล้ว และกำลังเดินไปที่บาร์เพื่อสั่งเพิ่ม คนไทยแห่ตักเกี๊ยวทอด ส่วนนักท่องเที่ยวจีนน่ารักจิ้มลิ้มชูไม้เซลฟีถ่ายภาพกันเองอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับคู่รักเกาหลีที่ยังโพสท่าถ่ายรูปไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บนเรือลำนี้ให้บริการเครื่องดื่มและกับแกล้มไม่จำกัด สนนราคาต่อหัวอยู่ที่ 300 บาท รวมระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง

“คุ้มสิครับกับบรรยากาศโรแมนติกกลาง แม่นํ้าเจ้าพระยา อาหารเครื่องดื่มไม่จำกัด” คุณเอก เจ้าของเรือยอดพิมาน บอกเรา

แม่น้ำเจ้าพระยา
นุ นัด และเดฟ หรือที่พวกเขาเรียกแทนตัวเองว่า “แฝดนรก” เติบโตมากับชีวิตริมฝั่งเจ้าพระยา สามพี่น้องเกิดในครอบครัวคนเรือรับจ้างขนถ่ายสินค้า แม้ทุกวันนี้ครอบครัวของพวกเขาจะขายเรือที่ใช้ทำมาหากินไปนานแล้ว ทว่าสามพี่น้องยังคงหาเวลาว่างมาดำผุดดำว่ายในแม่นํ้าที่พวกเขาเติบโตขึ้น

พอเรือล่องมาถึงวัดอรุณราชวรารามซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของทริปล่องเรือในแม่นํ้าเจ้าพระยา ฟ้ามืดไร้ดาว แสงไฟ สปอตไลต์สาดส่ององค์พระปรางค์ที่ยังระเกะระกะไปด้วยนั่งร้านซ่อมบำรุง เหล่าเรือนำเที่ยวเปิดไฟสว่างไสวจอแจทั่วท้องนํ้า นักท่องเที่ยวกรูกันถ่ายรูปพระปรางค์ เป็นภาพฝันและจุดขายของทัศนียภาพริมฝั่งเจ้าพระยาอันลือลั่น

พระปรางค์นี้เดิมมีมาตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งวัดอรุณฯ ยังใช้ชื่อว่า “วัดแจ้ง” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สอง มีพระราชดำริให้ต่อเติมองค์พระปรางค์ให้สูงขึ้นตามพระราชประสงค์ที่ทรงต้องการให้เป็นพระปรางค์ประจำพระนคร ทว่าพระองค์ไม่มี โอกาสได้ทอดพระเนตรความงดงามเพราะเสด็จสวรรคตเสียก่อน กระทั่งพระปรางค์สร้างเสร็จและยกยอดนภศูล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม นับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทั้งใหญ่และสูงตระหง่านที่สุดริมฝั่งนํ้าในยุคนั้น

คู่รักจุมพิตกันเบื้องหน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ เรือภัตตาคารแล่นผ่านไป ผู้คนในคาเฟ่ริมฝั่งแม่นํ้าเดินกรีดกราย การจราจรทางนํ้าพลุกพล่าน ผมพยายามคิดจินตนาการถึงท้องนํ้าย่านนี้ในยุคก่อสร้างพระปรางค์จากพงศาวดาร ภาพวาด และบันทึกเก่าแก่ ตั้งแต่เรือนแพริมนํ้า เกาะที่เหลืออยู่หน้าวัด แสงไฟวูบไหว ท้องนํ้ามืดมิด เรือแจวช้าเชือน พ่อค้าแม่ค้าเรือเร่ ไปจนถึงวิถีชีวิตชาวบ้านปะปน ทั้งคนกรุงเก่า แขก จีน และลาว เป็นความสงบที่ไม่อาจเทียบได้กับยุคปัจจุบัน

ตลอดประวัติศาสตร์ สายนํ้าเจ้าพระยาไหลผ่านเมืองกรุง และเป็นหัวใจของการก่อร่างสร้างเมืองเมื่อครั้งรื้อฟื้นศูนย์กลางอาณาจักรในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ แม่นํ้าเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร ก่อนไหลคดเคี้ยวลงสู่ปากอ่าว ในแต่ละยุคสมัย

แม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นทั้งถนน ทางระบายนํ้า เส้นทางการค้า สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งอาหาร ไปจนถึงถังขยะของเมืองกรุง และอย่างที่นักปราชญ์ว่า แม่นํ้าไม่หยุดรอ ไม่ก้มหัวให้ใคร ยิ่งใหญ่ทระนง แต่ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

เรือของเราเบนหัวกลับลำดีเจโจ้เปิดเพลง “You belong to me” ของ Taylor Swift ดังสนั่นลำโพง “คุณเป็นของฉัน คุณเป็นของฉัน คุณเป็นของฉัน” เนื้อร้องซํ้าไปซํ้ามา เรือเร่งเครื่องเต็มกำลังตามแรงนํ้าลง ผ่านย่านปากคลองตลาดและสะพานพุทธ ที่ซึ่งคนไร้บ้านหลับนอนบริเวณท่าเรือเก่า ผ่านโรงแรมหรูหราที่คู่รักมื้อดินเนอร์กำลังจรดปลายมีดลงบนเนื้อสเต๊ก ผ่านสุเหร่าเก่าแก่ที่ผู้สยบยอมต่อพระผู้เป็นเจ้ากำลังสวดอ้อนวอนถึงพระองค์ ผ่านโรงเรียนซึ่งมีคำขวัญว่า “เวลาและวารีไม่รอใคร” ประดับอยู่บนผนังตึก และผ่านนับร้อยนับพันเรื่องราวของชีวิตริมนํ้าที่หน้ากระดาษไม่พอบรรจุ การได้เห็นและคิดจินตนาการถึงชีวิตสองฟากฝั่งจากกลางสายนํ้าทำให้ผมรู้สึกอิสระ เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้สัมผัสบ่อย ๆ ยามเมื่ออยู่บนฝั่ง

“พี่อยากได้ EDM (Electronic Dance Music) ไหม ผมเปิดได้นะ” ดีเจโจ้กระซิบบอกผม

แม่น้ำเจ้าพระยา, ชุมชนริมแม่น้ำ, ชุมชนแออัด
แผ่นไม้กระดานและฝาสังกะสีประกอบกันขึ้นเป็นที่ซุกหัวนอนในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และอาศัยเช่าพื้นที่ของทางราชการ ที่ผ่านมามีแนวคิดเรียกคืนพื้นที่และจัดสรรให้ชาวชุมชนออกไปอาศัยในย่านชานเมือง ทว่ายังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

[ วิมานไม่มีวันจม ]

ย้อนหลังไป 60 ปีก่อน วันเพ็ญ เอี่ยมสะอาด ได้รับมรดกเรือเอี้ยมจุ๊นจากผู้เป็นพ่อ “อิฉันยังเด็กค่ะ วันนั้นจำได้ว่า พ่อนอนป่วย แกเรียกลูก ๆ มาแบ่งสมบัติกัน คนอื่นเขาจะเอาบ้าน เอาที่ดิน เกี่ยงกันไม่มีใครเอาเรือสักคน พอดีตอนนั้นมีงานวัดแถวบ้าน อิฉันอยากจะไปเที่ยวงานวัดเต็มแก่ ก็เลยรับมาเองให้จบๆ” วันเพ็ญวัย 73 ปีรำลึกถึงความหลัง แกเป็นชาวอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย “พอรุ่งขึ้นเขาใช้ให้ฉันไปปลุกพ่อ อ้าว แกนอนแข็งทื่อตายเสียแล้ว”

นับจากนั้น วันเพ็ญและสามีก็หันมายึดอาชีพคนเรือล่องเอาข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวโพด และสินค้าสารพัดขึ้นลงจากอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มาขายยังปลายนํ้าที่บางกอก ใช้ชีวิตบนเรือจนมีลูก ๆ สี่คน กระทั่ง พ.ศ. 2524 ก็เลิกล่องเรือแล้วหาตลิ่งจอดให้ลูกๆ ขึ้นฝั่งไป เรียนหนังสือ “ชีวิตคนเรือลำบากนะคะคุณ อิฉันไม่อยากให้ลูกๆ ลำบากเหมือนเรา”

“วิมานลอยนํ้า” ของวันเพ็ญมุงหลังคาด้วยเสื่อลำแพนและสังกะสีเก่า (เธออวดว่าเป็นวัสดุดั้งเดิมที่ทนทายาดและไม่เคยต้องเปลี่ยนเลย) ปูพื้นด้วยไม้กระดานและเสื่อนํ้ามันต่อเติมแบ่งเป็นห้องนอนสองห้อง ห้องนํ้า ห้องรับแขก มีโต๊ะอาหาร ตั่งเตียงให้เอกเขนก โทรทัศน์ติดจานดาวเทียม ภาพถ่ายลูกๆ รับปริญญา ชั้นวางเอกสาร เตาแก๊ส เตาถ่าน อ่างล้างจาน และเครื่องใช้ที่คุณพบตามบ้านทั่วไป คุณสามารถส่งจดหมายคุยกับวันเพ็ญได้ เพราะเรือลำนี้มีเลขที่บ้าน รวมทั้งมิเตอร์ไฟฟ้า – นํ้าประปา ไม่เว้นแม้กระทั่งหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว

วิมานลอยนํ้าหลังนี้ลอยโดดเดี่ยวอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาใกล้ ๆ สะพานกรุงธนบุรี ฝั่งเดียวกับวชิรพยาบาลเรือบ้านแบบเดียวกับของวันเพ็ญเคยมีอยู่ดาษดื่นตามริมฝั่ง แม่นํ้าเจ้าพระยา ใจกลางกรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นเรือขนสินค้าที่ล่องมาจากทางเหนือ พวกคนเรือต่างจังหวัดจะยึดตลิ่งสักแห่งเพื่อโยงวิมานลอยนํ้าเข้ากับฝั่ง และจะออกเรือเมื่อมีงานจ้างหรือใจปรารถนา เหตุผลสำคัญคือพวกเขาไม่มีปัญญาซื้อที่ดินในเมือง ไม่อยากเช่า และวิถีชีวิตบนเรือก็ไม่แพงและปราศจากกฎเกณฑ์

กระนั้น หลายทศวรรษมาแล้วที่วิถีชีวิตอิสระนี้ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเมื่อที่ดินริมนํ้าในกรุงเทพฯ มีมูลค่าสูงขึ้น และสงวนไว้ให้กับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ราชการ ไม่มีที่จอดเรืออีกต่อไป เรือไม้เริ่มแทนที่ด้วยเรือเหล็ก และอาชีพเรือโยงกลายเป็นธุรกิจของนายทุนเงินหนา

“แต่ก่อนเพื่อนบ้านเต็มไปหมดเลยค่ะ เรือแบบอิฉันนี่แหละ มาตอนหลังเค้าขายกันหมด ร้านอาหารมากว้านซื้อไปทำเรือท่องเที่ยว ส่วนเจ้าของก็กลับบ้านนอกกันหมด” วันเพ็ญเล่า “แต่อิฉันไม่ขายค่ะ เพราะลูก ๆ ไม่ให้ขาย นี่ก็เพิ่งไปขึ้นคานมา หมดไปแสนสี่นะคุณ อยู่เรือใครว่าสบาย มีต้นทุนนะคะ” วันเพ็ญให้เหตุผลว่า ลูก ๆ ขอร้องให้แกยังอาศัยที่เรือ เพราะส่วนใหญ่ทำงานในเมือง (มีสองคนทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใจกลางกรุง) และสามารถ

ไปมาหาสู่สะดวก วันเพ็ญเล่าว่า แม้ลูกคนหนึ่งของแกจะมีบ้านอยู่ที่บางบัวทอง แต่ทุกวันหยุดสมาชิกในครอบครัวยังคงมารวมตัวกันทำกับข้าว แล้วล้อมวงกินข้าวพูดคุยกันตามประสา ท่ามกลางคลื่นพะเยิบพะยาบและลมโบก “ฉันได้ข่าวเรื่องสร้างถนนริมฝั่งอะไรนั่นมาเหมือนกันค่ะ” วันเพ็ญโพล่งขึ้นมาเอง “ทำอย่างนั้นอิฉันก็เดือดร้อนสิคะ ฉันจะไปจอดเรือที่ไหน ใครเขาจะให้เราจอด กรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้น่ากลัวนะคะ อิฉันก็แก่แล้ว”

“ถ้ามีคนขอซื้อเรือล่ะครับ” ผมถามวันเพ็ญ

“ไม่ขายค่ะ ถ้าอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ฉันก็ไม่ขาย แต่จะยกให้วัดฟรี ๆ คนอื่นอย่าหวัง” แกว่า

แม่น้ำเจ้าพระยา
พงษ์ศิริ แหวนทองคำกำลังสำรวจหาทรัพย์สินมีค่าของครอบครัว หลังบ้านของเขาทรุดตัวถล่มลงเมื่อคืนก่อนบ้านที่สร้างรุกลํ้าลงไปในแม่นํ้าอย่างเช่นบ้านหลังนี้พบเห็นได้ทั่วไปริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา เจ้าของบ้านมักอ้างว่าพวกเขาอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษเนิ่นนานก่อนที่จะมีกฎหมายห้ามรุกลํ้า

[ ประวัติศาสตร์สามัญประจำบ้าน ]

วันหนึ่งขณะที่เฮียป๋องนอนเค้เก้อย่างสบายอารมณ์อยู่บนท่านํ้าริมฝั่งเจ้าพระยาของชุมชนท่าวัง ย่านพระนคร บ้านไม้หลังหนึ่งที่ปลูกสร้างลงเสาในแม่นํ้าใกล้ๆ กันก็พังครืนลงต่อหน้าต่อตา เขาเอะอะโวยวาย ตะโกนเรียกหาความช่วยเหลือ แต่ก็ทำได้แค่นั้น

“ผมเห็นคนแรกเลยนะคุณ ตอนนั้นกำลังนอนสูบยาเคลิ้มๆ อยู่ ฮ่าๆๆๆ ตลกชะมัด” เขาเล่ากลั้วหัวเราะ บ้านหลังนั้นโดนคลื่นนํ้ากระแทกและพังภินท์ลงขณะที่มีคนอาศัยอยู่ เคราะห์ดีไม่มีใครเสียชีวิต “ผมก็อยากช่วยนะครับ แต่ว่ายนํ้าไม่เป็นน่ะครับ” เฮียป๋องว่า

เฮียป๋องเป็นคนอุทัยธานี รูปร่างผอมเกร็ง ผิว กระดำกระด่างจากแผลเป็นยุงกัด มีรอยสักแปลก ๆ รูปการ์ตูน ใบหน้าตัวแกเองที่ไหล่ จะเรียกแกเป็นคนไร้บ้านก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะแกมีครอบครัว แต่มาอาศัยท่านํ้าของชุมชนเป็นนิวาสสถาน ยึดอาชีพ “ย้อมแมว” พระเครื่องสมเด็จวัดระฆังขายอยู่แถวข้างถนนท่าเตียน

“ผมจะเอาแปรงปัดๆ ให้ดูเก่า ให้อากาศแทรกเข้าไปในเนื้อพระลงชาด แล้วก็ปัด ๆ คลุกฝุ่นนิดหน่อย ถ้าขายได้ก็เป็นร้อย บางทีก็หลักหมื่น” แกบอก  บ่ายนี้เฮียป๋องจะไปนั่งข้างถนนขายพระ ขายได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่พอแดดร่มลมตก แกจะกลับมาสำราญใจที่วิมานริมมหานทีแห่งนี้ “ผมทำอาชีพที่สบายที่สุดในโลกครับ”

ชุมชนริมฝั่ง แม่นํ้าเจ้าพระยา หลายแห่งล้วนแล้วแต่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนคนเล็กคนน้อย อย่างชุมชนท่าวังคือสิ่งที่ผมสนใจ เดิมทีชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของข้าราชบริพารในวังของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสืบทอดชีวิตราชการมารุ่นต่อรุ่น และอาศัยเช่าที่ดินเป็นบ้านอาศัยในราคาไม่แพง เศษซากเดียวที่ยังหลงเหลือจากยุควัง คือซากกำแพง

วังเก่าที่รากของต้นกร่างหรือต้นไทรชอนไชและบ่งชี้ว่าสมัยก่อนอาณาเขตวังกว้างใหญ่ไปถึงริมแม่นํ้า ชุมชนท่าวังในปัจจุบันก่อร่างจากส่วนผสมของสังคมรอบๆ ที่หลากหลาย ทั้งแฟลตทหารติดกัน วัยโจ๋นักศึกษาจากรั้วศิลปากร กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและท่าช้าง นักทำฟันปลอมข้างถนน เซียนตลาดพระ แม่ค้าร้านตลาด และคนไร้บ้านที่แวะเวียน

คนเก็บของเก่า
ฉลอง ทรงบัณฑิต (คนขวา) และสมมารถ แสงทอง สืบทอดอาชีพนักประดานํ้างมหาของเก่าในแม่นํ้าเจ้าพระยามาเป็นรุ่นที่สามแล้ว พวกเขาอาศัยอยู่รวมกันเป็นเครือญาติในชุมชนมิตรคาม ย่านสามเสนชุมชนที่มีแนวโน้มจะถูกไล่รื้อหากโครงการก่อสร้างทางสัญจรเลียบแม่นํ้าเจ้าพระยาเดินหน้า

ไปมาในละแวกสนามหลวงกับท่านํ้าทุกวันนี้ ชาวชุมชนท่าวังกำลังเห่อสับปะรด แต่ละบ้านจะปอกและบากสับปะรดลูกเล็กบรรจุถุง แล้วนำไปวางขายบริเวณท่าช้าง หรือบริเวณที่รถทัวร์จอดส่งนักท่องเที่ยว สินค้าของคนหาเช้ากินคํ่านี้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามกระแสในแต่ละปี บางปีก็ดอกไม้ บางปีก็ทุเรียนหรือมะม่วง แล้วแต่ว่าอะไรจะขายได้

“สองปีมานี้นักท่องเที่ยวจีนเยอะ บางบ้านเลยหันมาขายสับปะรดกัน ทุกคนที่อยู่ในนี้คือคนดิ้นรนหาเช้ากินคํ่ากันหมดครับ” สมจอง รองแก้ว ประธานชุมชน บอกเช่นเดียวกับหลายชุมชนริมฝั่ง แม่นํ้าเจ้าพระยา ชุมชนท่าวังเคยเผชิญข่าวลือ เรื่องการรื้อไล่ที่อยู่หลายต่อหลายครั้งอาณาเขตของชุมชนมีเจ้าของเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกรมเจ้าท่า ชาวชุมชนจึงคิดกันว่า พวกเขาได้แต่เพียงอยู่อาศัยไปวันๆ “บ้านก็พัง ทรุดโทรม ไม่ยอมปรับปรุงต่อเติมบ่นกันแต่ว่า ‘เดี๋ยวก็โดนรื้อแล้ว’ ผมก็ได้แต่บอกให้ทำบ้านของเราดี ๆ เขาจะได้ไม่มารื้อ” ประธานชุมชนกล่าว

สมจองบอกว่า การปรับปรุงบ้านและออกกฎระเบียบให้ชุมชนดูสะอาดสะอ้าน เช่น ห้ามจอดรถเข็น ห้ามนำมอเตอร์ไซค์เข้ามา การเก็บสายไฟ ติดกล้องวงจรปิดและซ่อมแซมบ้าน น่าจะเป็นเกราะกำบังจากการถูกไล่รื้อ “ผมไม่ตื่นตูมหรอก เพราะมันเป็นชุมชนไปแล้ว เขาคงไม่ไล่รื้อง่าย ๆ” เขาว่า

สมจองพาผมเดินไปรอบๆ ชุมชน มีบ้านไม้สองชั้น อายุเกินกว่า 50 ปี ร้านค้า ร้านกับข้าวตามสั่ง ร้านทำฟันปลอม ศาลพระภูมิ สุนัข คนงีบกลางวัน บ้านหลังหนึ่งมีพื้นที่ราวสองถึงสามตารางเมตร แต่สร้างสูงชะลูดถึงสามชั้น เราเดินไปสุดริมฝั่งแม่นํ้า บ้านสามสี่หลังสร้างลํ้าลงไปในแม่นํ้า หลังหนึ่งมีเสื้อผ้าแขวนอยู่เต็ม พื้นเป็นไม้โงนเงนแต่มีชีวิต “หลังนี้รับจ้างซักผ้าครับ บ้านพวกนี้อยู่มาก่อนกฎหมาย ‘เจ้าท่า’ จะออก เขาเลยอนุโลมให้อยู่ได้ ไม่ต้องรื้อถอน” สมจองบอกและแอบกระซิบว่า “ส่วนจะมีนอกมีในกับราชการหรือเปล่า เรื่องนั้นผมไม่รู้นะ” เขายิ้มมุมปาก

ริมฝั่งแม่น้ำ
แสงระยิบระยับจากบรรดาตึกระฟ้า รวมทั้งชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์ของคอมมูนิตีมอลล์ชื่อดังริมแม่นํ้าเจ้าพระยา คือไฮไลต์หนึ่งของกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ มูลค่าที่ดินริมแม่นํ้าในเขตใจกลางเมืองจัดว่าสูงมาก และถูกยึดครองโดยธุรกิจท่องเที่ยวหรือโรงแรมขนาดใหญ่ที่มักมีเจ้าของเป็นชาวต่างประเทศ

[ ปริศนาการหายตัวไปของหิ่งห้อย ]

สุกิจ พลับจ่าง เฝ้าดูหิ่งห้อยมากว่าสิบปีแล้ว บ้านของเขาอยู่ในซอยเพชรหึงษ์ ย่านบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ท่ามกลางดงป่าลำพู ลำแพน จาก ขลู่ และสารพันพืชนํ้ากร่อย “ตอนผมมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ มีหิ่งห้อยเยอะครับ บรรยากาศดีสุด ๆ” สุกิจเป็นชายวัยกลางคน เขาเป็นทั้งนักแปลหนังสือ ตากล้องสมัครเล่น เจ้าของสุนัขสามตัว และผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์บางกระเจ้า – บางกระสอบ

“สองปีต่อมาพวกหิ่งห้อยก็หายไปครับ” เขาเท้าความหลัง นั่นคือจุดเริ่มต้นของปริศนาบางกระเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งท้ายๆ ของแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณ “กระเพาะหมู” แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ (เมื่อมองจากแผนที่ แม่น้ำเจ้าพระยา

จะโอบล้อมพื้นที่นี้จนดูคล้ายรูปทรงกระเพาะ) อยู่ใกล้กับปากอ่าวไทย มีคูคลองและลำประโดงลัดเลาะไปตามร่องสวนชุมชน ชาวบางกระเจ้าเดิมยึดอาชีพชาวสวน ผลพลอยได้จากสภาพนํ้ากร่อยรวมทั้งดินเค็ม ส่งผลให้บางกระเจ้าเป็นที่มาของผลไม้ลือชื่ออย่างมะม่วงนํ้าดอกไม้และมะพร้าวนํ้าหอม

“แม่นํ้าเจ้าพระยาคือหัวใจของบางกระเจ้าครับ คุณดูสิ บ้านคนสมัยก่อนเขาจะสร้างทางนํ้าไหล หรือลำประโดงไว้ด้วย แล้วก็ปล่อยมันไหลไปตามธรรมชาติ” เขาชี้ไปยังคูนํ้าในพื้นที่บ้านของเขา “ช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่ผมเลยชวนเพื่อนๆ มากำจัดวัชพืชในสวนและท้องร่องออก เปิดทางให้โล่ง” สุกิจเล่าพลางชี้ไปยังเบาะแสแรก “แต่พวกมันก็ยังไม่กลับมาครับ” เขาหมายถึงหิ่งห้อย

การพบหิ่งห้อยตามโคนต้นลำพูซึ่งเป็นไม้ยืนต้น อาศัยดินเลน และมีรากพิเศษแทงยอดพ้นนํ้าขึ้นมาเพื่อหายใจจำนวนของต้นลำพูจึงเป็นสมมุติฐานหรือเบาะแสต่อมา “หลังจากนั้น ผมจึงเริ่มไปหาต้นลำพูมาปลูกเพิ่ม ตายบ้าง รอดบ้าง” เขาชี้ไปยังสวนยกร่องข้างบ้าน ต้นลำพูเรียงเป็นแนว “แต่ก็ยังไม่มีหิ่งห้อย” เขาบอก

และแล้วเบาะแสสุดท้ายก็ชี้ไปยังแหล่งนํ้า ตัวแปรของความเปลี่ยนแปลงคือประตูนํ้าที่ตัดขาดคูคลอง หนองและลำประโดงในบางกระเจ้าจากแม่นํ้าเจ้าพระยา ประตูนํ้าของทางการป้องกันนํ้าเค็มและหวังดีให้ชาวสวนสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ทั้งปี ทว่าประตูนํ้าคือดาบสองคมที่ทำให้คุณภาพนํ้าในลำคลองสาขาเกิดปัญหา เมื่อไม่ได้ไหลระบายตามวัฏจักรธรรมชาติ นํ้าจึงเป็นทั้งแหล่งสะสมสารอินทรีย์และเคมีจากสวนหรือครัวเรือน

“ทั้งหมดเป็นเพราะนํ้าครับ” สุกิจเฉลยปริศนา เขาจึงก่อตั้งโครงการอนุรักษ์บางกระเจ้า – บางกระสอบ รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศธรรมชาติ และการเปิดประตูนํ้า “นอกจากนั้น ผมยังคิดว่าเกษตรกรในยุคนี้ต้องรู้จักปรับตัวครับ เช่น ปลูกพืชผลที่ทนนํ้าเค็มได้ หรือไม่ก็พืชที่เก็บเกี่ยวระยะสั้น เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนเดิมแล้วครับ” สุกิจบอก

เอเชียทีค
คอมมูนิตีมอลล์แห่งนี้ใช้โครงสร้าง แผนผัง และเรื่องราวเก่าแก่ของโกดังร้างริมแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นจุดขายนักท่องเที่ยว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าลักษณะ “นำของเก่ามาเล่าใหม่” ผุดขึ้นหลายแห่งริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ส่งผลให้ภูมิทัศน์สองฟากฝั่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หิ่งห้อยเป็นแมลงที่ต้องพึ่งพิงแหล่งนํ้าสะอาดในการขยายพันธุ์ พวกมันโปรดปรานตัวอ่อนหอย และหอยก็เติบโตได้ดีในแหล่งนํ้าที่สะอาด มีซอกหลืบให้หลบภัย หิ่งห้อยในบางกระเจ้ามีอยู่ด้วยกันสามชนิด ทั้งหิ่งห้อยนํ้าจืด หิ่งห้อยนํ้ากร่อย และหิ่งห้อยบก “เรียกที่นี่ว่าเป็นเกาะหิ่งห้อยได้เลยครับ” สุกิจสาธยาย

หลังกิจการสวนผลไม้เริ่มถดถอย ทั้งผลจากโรคศัตรูพืช นํ้าเค็มหนุน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางกระเจ้าก็พลิกโฉมสู่ตลาดการท่องเที่ยวด้วยทำเลที่ตั้งใกล้กรุงเทพฯ ภูมิทัศน์แบบบ้านนอก และแรงเชียร์จากโลกโซเชียล ชาวสวนหลายรายผลัดเสื้อผ้ามาหากินกับการท่องเที่ยว และเอาอกเอาใจชาวกรุงซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก หน่วยราชการท้องถิ่นสนับสนุน

ทำทางจักรยาน จัดทริปล่องเรือ และเปิดโฮมสเตย์หิ่งห้อยกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในฐานะพระเอกดึงดูดแขก บางกระเจ้ารับนักท่องเที่ยวซึ่งบางสัปดาห์ก็ล้นทะลัก “นักท่องเที่ยวจึงได้รู้ครับว่า พวกเขาไม่ต้องไปดูหิ่งห้อยไกลถึงอัมพวา” สุกิจว่า

“แล้วหิ่งห้อยกลับมาหรือยังครับ” ผมถาม

“ก็มีบ้างนะ แต่ปีสองปีมานี้ลดลงไปเยอะเลยครับ ไม่รู้

ว่าหายไปไหนกันอีก” สุกิจตอบ

[ “ทั้งชีวิตเราดูแล” ]

แปดโมงเช้าในแต่ละวัน เหล่าเรือเก็บขยะของ กทม. กว่า 50 ลำจะมาจอดออกันที่ประตูนํ้าบริเวณปากคลองดาวคะนอง เพื่อรอเวลายกบานประตูเปิดออกสู่ แม่นํ้าเจ้าพระยา นํ้าในคลองดาวคะนองมีสีเทา โชยกลิ่นก๊าซไข่เน่า และเป็นเรื่องสยองประจำวันหากกระเซ็นโดนผิวหนัง“นี่ไงครับระบบ ‘นํ้าเค็มไม่ให้เข้า นํ้าเน่าไม่ให้ออก’ สุดทันสมัยของบ้านเรา สำหรับให้ฝรั่งเขา ‘อันซีน’ “

สัมพันธ์ ขำสัจจา บ่นเสียดสี เขาเป็นพนักงานเก็บขยะทางเรือมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ตอนนี้ไต่ระดับขึ้นเป็นหัวหน้าตรวจงานภาคสนาม “ถ้าเป็นขยะในคลอง เป็นสำนักระบายนํ้ารับผิดชอบครับ ของผมเป็นสำนักสิ่งแวดล้อม ดูเฉพาะแม่นํ้า” เขาบอก

กลไกประตูนํ้าทำจากเหล็กแผ่นใหญ่สีแดง มีสองบานและสลับกันเปิด – ปิดเพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่เขตเมืองชั้นใน รวมถึงป้องกันนํ้าท่วม เรารอกลไกประตูทำงานอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง (ที่จริงมีช่องจราจรสองช่อง แต่ประตูอีกฝั่งหนึ่งชำรุด) จนพอประตูนํ้าบานที่สองยกขึ้น ช้าๆ เสียงหึ่งๆ กึงกังของมันทำให้ผมนึกไปถึงฉากในภาพยนตร์สงครามย้อนยุค

 

พอยกบานประตูเมืองขึ้น เหล่าอัศวินก็พร้อมติดเครื่องยนต์ ไม่ทันไรฝูงเรือลำเล็กสีเหลืองขนาดไม่ใหญ่ไปกว่ารถอีโคคาร์ก็พุ่งออกสู่มหานทีกว้างใหญ่ ผมรู้สึกฮึกเหิมราวกับลงสู่สนามรบ หน่วยกำจัดสิ่งปฏิกูลทางนํ้าของ กทม. มีเรือขนาดเล็กอยู่ทั้งหมด 53 ลำ (ตอนนี้ใช้การได้ 49 ลำ) เรือแต่ละลำประกอบด้วยกำลังพลสองนายคนหนึ่งเป็นพลขับมือฉมัง อีกคนกระชับอาวุธประจำกายเตรียมโรมรัน นั่นคือสวิงช้อนขยะ

ขยะมูลฝอยร้อยละ 85 ในแม่นํ้าเจ้าพระยาคือผักตบชวา แต่ที่จริงสิ่งของอีกสารพัดจะกลายเป็นขยะทันทีเมื่อถูกทิ้งลงน้ำ ทั้งเก้าอี้ หลอดไฟ รองเท้าผ้า ใบ หมอนหนุน ขวดนํ้ายาปรับผ้านุ่ม หนังยาง ขวดนม ริบบิ้น ปี๊บ กระป๋องสี กระเป๋านักเรียน ที่ตักผง นวมชกมวย เสื้อยืด ฯลฯ ช่วงนํ้าหลากหรือ “นํ้าเกิด” หลังฝนตกและช่วงนํ้าลงจะมีขยะลอยมาจากทางเหนือมากเป็นพิเศษ

พอนํ้าขึ้นนํ้าเค็มจากอ่าวไทยจะดันขยะมูลฝอยพวกนี้กลับขึ้นไป หมุนเวียนจนแม่นํ้าเป็นแหล่งสะสมขยะมูลฝอย “แม่นํ้าเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ จึงเป็นกระโถนท้องพระโรงครับ” สรรเสริญ เปียมาลัย หัวหน้าฝ่ายกำจัดมูลฝอยทางนํ้าที่ดาวคะนอง บอก

เรือเก็บขยะของ กทม. จะออกมาตักขยะกันทุกวัน (เฉพาะเวลาราชการ) จากนั้นจึงลำเลียงไปขนถ่ายใส่รถบรรทุกบริเวณคลองบางกอกน้อย ใต้สะพานพุทธ และสะพานพระรามเก้า ขนถ่ายกันเพียงวันละรอบ เพราะโควตานํ้ามันของรถบรรทุกมีให้เท่านั้น เช่นเดียวกับเรือที่พอตกบ่ายนํ้ามันที่เบิกมาก็ใกล้หมด และต้องรีบกลับฐานจอด

ขยะบางส่วนอาจขายรีไซเคิลทำรายได้เสริมให้คนเก็บ โดยเฉพาะพวกขวดพลาสติกและกระป๋องนํ้าอัดลม และข้าวของที่ยังสมบูรณ์บางชิ้นก็อาจได้เจ้าของใหม่ แต่ละวัน เรือเหล่านี้จะเก็บขยะจากแม่นํ้าเจ้าพระยารวมได้ประมาณ 17 ตัน แต่ไม่ได้ค่อนเสี้ยวของอีกมหาศาลที่หลุดรอดไป “เก็บเท่าไรก็ไม่มีวันหมดหรอกครับ ขยะมันมีวันหยุดที่ไหน” สัมพันธ์พูด

เราล่องเรือมาถึงท่าพระจันทร์ แดดกำลังดุ การจราจรคับคั่ง มีเสียงโหวกเหวก เรือเก็บขยะลำหนึ่งชื่อ กข. 230 แล่นห้อตะบึงสวนเรามา “คนโดดสะพานพระปิ่นเกล้าครับคุณ!” เรือลำนั้นเร่งเทียบท่าโรงพยาบาลศิริราช เจ้าหน้าที่ชุดสีกากีกุลีกุจอวิ่งมาหามร่างหญิงผิวขาวขึ้นจากเรือ หล่อนตัวเปียกม่อลอกม่อแลก แขนขาอ่อนปวกเปียก อ่อนระโหยโรยแรง เหตุการณ์ผ่านไปเร็ว และเราไม่ทราบชะตากรรมของหล่อน

“กำลังตักขยะค่ะ เห็นกลม ๆ ก็นึกว่าลูกมะพร้าว อ้าวที่ไหนได้ คนจมนํ้า” อนัน คำนึง พนักงานตักขยะ บอกผมในภายหลัง เธอเป็นคนดึงร่างหญิงคนนั้นขึ้นมาจากนํ้าและเล่าว่าคนจมนํ้ายังพอมีสติ “นี่ฉันเคยช่วยมาสองคนแล้วนะคะ” เธอพูดอย่างภูมิใจ ผมอดนึกถึงความย้อนแย้งไม่ได้ว่า คนเก็บขยะช่วยคนที่กำลังจะทิ้งชีวิตตัวเอง

“สงสัยจะอกหัก” เรือลำข้าง ๆ ออกความเห็น “คนจีนแน่ๆ” อีกคนเสนอ “นี่ถ้าหน้าอกกระแทกนํ้าคงไม่รอด” อีกคนเสนอทฤษฎี เรื่องระทึกวันนี้กลายเป็นของหวานสำหรับกิจกรรมเมาท์มอยยามบ่าย

“เฮ้ย! ใครถ่ายรูปตอนช่วยคนไว้บ้าง” สัมพันธ์โพล่งขึ้นมา “ไลน์ส่งให้หัวหน้าที่ออฟฟิศดูหน่อย เอาไว้เป็นผลงานพวกเรา” เขาประกาศ

แม่น้ำเจ้าพระยา, ชุใชนแออัด
วันเพ็ญ เอี่ยมสะอาด และครอบครัว ยังคงอาศัยในเรือเอี้ยมจุ๊นอายุกว่า 60 ปี เธอและสามียึดอาชีพขนสินค้าเกษตรจากนครสวรรค์ล่องลงมาขายที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเปลี่ยนอาชีพ ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเรือเหล่านี้พบเห็นไม่ได้ง่ายๆ ในกรุงเทพฯ เนื่องจากตลิ่งถูกยึดครองโดยเอกชน และค่าซ่อมบำรุงเรือที่สูงขึ้น

[ “เรามีเวลาสี่นาที” ]

ถ้ากระโดดลงมาจากสะพานพระปิ่นเกล้า “ขึ้นอยู่กับว่าลงท่าไหนครับ” สุวิทย์ ยากลิ่น เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล ตอบ “ถ้าหน้าอกหรือด้านหน้ากระแทกนํ้ามักจะจุกครับ และอาจกระดูกหัก” เขาเสริม “ถึงตอนนั้นเราจะตกใจ หรือถ้าสลบร่างกายจะสั่งให้เราหายใจ” เขาทำท่าพองตัวให้ดู “แต่ตอนหายใจเข้านี่สิครับ มันมีแต่นํ้า สมองเราสั่งให้หายใจอัตโนมัติก็จะหายใจเอานํ้าเข้าไป” เรากำลังคุยถึงการร่วงลงแม่นํ้าจากที่สูงเช่นสะพาน

“ถ้าจมหายไปนานสักสี่นาทีก็รอดยากแล้วละครับ” สิริวัฒน์ เจริญราษฎร เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีวิตอีกคนบอก เขาชี้ว่ากระแสนํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาเชี่ยวกรากลึก มืด และเต็มไปด้วยสวะ “แถมนํ้ายังขุ่นมาก ระยะมองเห็นไม่ถึงมือเอื้อมหรอกครับ ต้องประมาณนี้” เขาทาบฝ่ามือกับระยะสายตา คะเนระยะมองเห็นไม่เกินหนึ่งไม้บรรทัด “เชื่อไหมคุณ ใต้นํ้ามีโป๊ะเก่าจมเยอะมาก บางคนว่ายเข้าไปติดใต้โป๊ะก็มีเยอะ” เขาบอก

วชิรพยาบาลเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่อยู่ติดแม่นํ้าเจ้าพระยาและมีเรือกู้ชีพสามลำ โครงการหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินทางนํ้าเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2537 หลังโศกนาฏกรรมโป๊ะล่มที่ท่าเรือพรานนกเมื่อปีก่อนหน้า ให้บริการครอบคลุมพื้นที่จากสะพานพระรามเจ็ดถึงสะพานพระปิ่นเกล้าแนวคิดเรือกู้ชีพ (ต่างจากกู้ภัยที่เน้นในด้านค้นหาและช่วยเหลือ) ตอบสนองต่อการเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุที่รถเข้าไปยาก หรือช่วงการจราจรติดขัด การกู้ชีพบนเรือโดยสารขนาดใหญ่ และสถานการณ์ปิดถนนอย่างชุมนุมทางการเมือง เรือกู้ชีพจะมีอุปกรณ์การแพทย์และปฐมพยาบาลถอดแบบมาจากรถกู้ชีพฉุกเฉิน (เว้นแต่เครื่องมือบางชนิดจะลอยนํ้าได้) พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ขับเรือและดำนํ้าเป็น

“ผมสมัครงานมาจากตำแหน่งคนขับเรือครับ จากนั้นจึงมาฝึกกู้ชีพในภายหลัง” สุวิทย์บอก เขาเคยมีเรือหางยาวเป็นของตัวเอง และใช้ชีวิตเป็นชาวนํ้าตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่บางบัวทอง สิริวัฒน์เองก็เคยขับเรือมาก่อนเช่นกันทั้งคู่พาผมไปยังอาคารจอดเรือ เรือเร็วสามลำแขวนบนคานเหนือนํ้า สุวิทย์กระโดดขึ้นไปบนเรือ ตามซอกมุมซุกซ่อนอุปกรณ์กู้ชีพที่จำเป็น “เว้นแต่ข้าวของราคาแพงมาก ๆ บางอย่างเราจะไม่เอาไปครับ” เขาบอก

“ที่ผมจำไม่ลืม” สุวิทย์เท้าความหลัง “ช่วงนั้นตรุษจีนครับ เรือด่วนแหลมทองแล่นมาชนกับเรือโยงทรายตรงสะพานซังฮี้ คนเต็มลำเลยครับ แล้วเรือก็ค่อย ๆ จมยุ่งสุด ๆ ครับ” สุวิทย์บอกว่านั่นเป็นครั้งแรกกับงานใหญ่บนสายนํ้า ปัจจุบันเรือด่วนแหลมทองเลิกกิจการไปแล้ว “ส่วนผมคงเป็นเหตุไฟไหม้เรือที่เจริญกรุง เรือไฟไหม้ นี่หนักนะครับ พุทโธ่! ใครจะเชื่อ เห็นใกล้ ๆ นํ้า ไฟแรงกว่าบนบกอีกครับ ลมมันตี” สิริวัฒน์บอก

สำหรับแม่นํ้าเจ้าพระยา เหตุฉุกเฉิน “ยอดนิยม” คือการกระโดดลงมาจากสะพาน ทั้งอุบัติเหตุ เจตนาฆ่าตัวตาย และเมา ซึ่งมักเกิดช่วงเวลากลางคืน “ถ้าตกลงจากสะพาน คนเราจะมีโอกาสทะลึ่งขึ้นมาจากนํ้าได้ประมาณสามครั้งครับ” นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน รักษาการหัวหน้าภาควิชาหน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล บอก “มีเรื่อย ๆ ครับ ไม่ถึงขนาดทุกเดือน แต่แปลกตรงที่เลยจากสะพานพระรามเจ็ดขึ้นไปทางเหนือ จากประสบการณ์ผมไม่ค่อยมีคนกระโดดสะพานนะครับ”

แม่น้ำเจ้าพระยา, ขยะมูลฝอย
เจ้าหน้าที่เก็บขยะมูลฝอยทางนํ้าของกรุงเทพฯ กำลังลำเลียงขยะมูลฝอยที่เก็บได้จากแม่นํ้าเจ้าพระยาขึ้นท้ายรถบรรทุกบริเวณปากคลองบางกอกน้อยก่อนนำเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายแม่นํ้าเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯนับเป็นจุดที่สะสมขยะมากที่สุด

“งานของเราขึ้นกับเวลาครับ ถ้ารู้เหตุเร็ว ก็ไปถึงเร็วโอกาสก็ยังพอมี” สุวิทย์บอก

แล้วเราจะช่วยคนตกนํ้าอย่างไร ผมถาม

“ถ้าเฉพาะหน้าก็หาอะไรโยนให้เค้าเกาะก่อน อย่าโดดลงไปช่วย” สุวิทย์ชี้ว่า คนที่ตะเกียกตะกายขณะจมนํ้า มักมีแรงดึงผู้ช่วยเหลือให้จมตามลงไปด้วยเสมอ “แต่เอาจริง ๆ ผมแนะนำคนทั่วไปให้โทรแจ้งเหตุให้เร็วที่สุดครับ”

“ถ้าแถวสะพานพระปิ่นเกล้า อย่างช้าก็ไม่เกินสามนาทีครับ” สิริวัฒน์เสริม เขาหมายถึงระยะเวลาที่เรือเร็วกู้ชีพของหน่วยเขาจะห้อไปถึง

“แต่ปีนี้แล้งมาก เวลานํ้าลงคานจอดเรือเลยอยู่สูงไปหน่อย อาจจะลงช้านิดนึงครับ”

[ พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ]

“ถ้ารัฐสภาแห่งใหม่สร้างเสร็จ เราอาจได้รับแขกมุสลิมจากต่างประเทศครับ” อดุลย์ โยธาสมุทร บอก เขาเป็นอดีตประธานสภาเขตบางพลัด ผู้บริหารโรงเรียนบางอ้อศึกษา ลูกชายของอิหม่ามประจำมัสยิดบางอ้อคนที่สองและเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดบางอ้อ เขาชี้ไปยังที่ดินริมแม่นํ้าฝั่งตรงข้าม ปั้นจั่นสูงหลายตัวกำลังทำงาน เร่งก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ริมนํ้า “ส่วนท่านํ้าของมัสยิดก็จะสร้างเป็นทรงโดมครับ ยื่นลงไปในนํ้า” เขาอวดแปลนมัสยิดใหม่ที่ติดบนผนังในอาคารไม้หลังเก่าแปลนภาพสามมิติดูโอ่อ่าและตัวมัสยิดโดดเด่น

“เพียงแต่ยังขาดเงินอีกเยอะทีเดียว” เขาทิ้งท้าย

มัสยิดบางอ้อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่หก สถาปัตยกรรมเป็นแบบสมัยเรอเนสซองซ์ผสมอิสลามและอินเดีย ทาผนังสีเหลือง มีไม้สักประกอบ และโดมสูงที่สามารถไต่บันไดวนขึ้นไปได้ อาคารนี้เพิ่ง “ดีด” ให้สูงขึ้นประมาณ 1.2 เมตรเพื่อหนีนํ้าท่วม ตัวอาคารมัสยิดหันไปทางทิศตะวันตกสู่เมืองเมกกะ ภายในปูพรมเว้นระยะสำหรับจัดแถวละหมาดติดตั้งโทรทัศน์จอแบน ข้าง ๆ มัสยิดเป็นที่ตั้งของอาคารไม้ทรงขนมปังขิง เก่าแก่จนสีลอกเห็นผิวไม้จาง ๆ ที่นี่ใช้เป็นห้องประชุมและเรียนศาสนา

ต้นกำเนิดของมัสยิดบางอ้อคือชาว “แขกแพ” หรือชาวมุสลิมที่เดินทางมาตั้งรกรากบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พวกเขาอาศัยอยู่ในเรือนแพ และใช้เป็นศาสนสถานในตัว ในยุคต่อมา ชาวบางอ้อส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับไม้ซุง มีโรงแปรรูปและช่างไม้ฝีมือดี เมื่อได้กำไรจากการค้าไม้ จึงขยับขยายศาสนสถานขึ้นมาบนฝั่ง

“ด้วยความที่มีความรู้เกี่ยวกับไม้ เลยมีโอกาสเลือกไม้ดี ๆมาก่อสร้างมัสยิดครับ” อดุลย์บอก การก่อสร้างมัสยิดบางอ้อริมฝั่งลุล่วงไล่เลี่ยกับบ้านทรงโบราณรอบ ๆ มัสยิดและชุมชนแห่งนี้ก็เป็นต้นกำเนิดของคหบดีมุสลิมหลายตระกูลในปัจจุบันตัดเวลามาไม่กี่สิบปีก่อน ในสมัยที่การพัฒนาเมืองก้าวกระโดด ชุมชนเริ่มเผชิญกับระลอกคลื่นจากเรือยนต์และการคมนาคมแม่นํ้า

หลังนํ้าท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตริมนํ้าสูงประมาณหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันนํ้าท่วม พอนํ้าท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 ระดับนํ้าไล่ให้ชาวบางอ้อต้องไปอาศัยหลับนอนบนเนินดินที่กุโบร์ (สุสาน) โครงสร้างเขื่อนริมแม่นํ้าก็ต่อ

โอเรียนเต็ล, ห้องพัก, โรงแรม
พนักงานโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลกำลังดูแลความเรียบร้อยของห้อง“Barbara Cartland Suite” ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่บาร์บารา คาร์ตแลนด์นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวอังกฤษที่เคยมาพักห้องนี้ ห้องพักหรูหราของโรงแรมริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาห้องนี้ตกแต่งด้วยสีชมพูซึ่งเป็นสีโปรดของบาร์บารา

ความสูงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร สูงจนมองจากฝั่งไม่เห็นแม่นํ้าอีกต่อไป ชาวชุมชนคิดว่านั่นเป็นโครงสร้างที่ตัดขาดพวกเขาจากแม่นํ้าหลังจากเงียบหายไปนับสิบปี จู่ ๆ ล่าสุดโครงการสร้าง “ถนน” เลียบสองฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาก็ได้รับการปัดฝุ่นและกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งโดยรัฐบาลทหาร มีการโยนหินถามทางอย่างแนบเนียน และใช้มหาวิทยาลัยของรัฐจัดสำรวจความคิดเห็นชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้กำลังพยายามจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับแม่นํ้าใหม่ โดยชี้ว่าแม่นํ้าควรเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงถนนเลียบแม่นํ้าจากสะพานพระรามเจ็ดถึงสะพานพระปิ่นเกล้าเป็นโครงการนำร่องใช้งบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท เปิดทางให้มีทางจักรยานและการสัญจรสาธารณะแบบแปลนนี้ “หลุด ” ออกมาตามสื่อออนไลน์จนกระแสต่อต้านและสงครามช่วงชิงข่าวสาร

“ขอแจ้งว่าแบบถนนนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังแก้ผ้าเปลือยเปล่า เพื่อมาขอรับฟังว่าจะเราแต่งตัวอย่างไร” ข้อเสนอจากฝ่ายสำรวจและออกแบบประกาศในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งนำโดยนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังปฏิเสธรูปแบบโครงสร้าง “ถนน” ที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ตก่อนหน้า โดยขอรับฟังรูปแบบการก่อสร้างที่แต่ละชุมชนต้องการ และยินดีปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ

“ทางโครงการยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร มันมีโครงการที่ไหนครับที่จะเดินหน้าโดยยังไม่มีแผน ไม่มีแบบ” ข้อโต้แย้งจากฝ่ายคัดค้านนำโดยกลุ่ม “เพื่อนแม่นํ้า” และพันธมิตร ชี้ถึงผลกระทบในแง่ต่างๆ เช่น ระบบนิเวศชายฝั่งล่มสลาย นํ้าขังเน่าเสีย เป็นแหล่งเข้าถึงอาชญากรรม

นํ้าท่วม ชุมชนล้มหาย สถาปัตยกรรมถูกบดบัง ไปจนถึงการทุจริตในโครงการ (ปัจจุบันยกระดับการเคลื่อนไหวเป็น

เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการนี้ทั้งหมด) อดุลย์ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนั้นด้วย เขาพ้อว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ให้เวลาประชาชนแสดงความคิดเห็นน้อยกว่าฝ่ายจัดงาน และยืนยันความเห็นอย่างสุภาพแต่ร้อนแรง “ยังมีอีกหลายวิธีในการเข้าถึงแม่นํ้าครับ แต่รัฐมักใช้วิธีของคนมวลมากไปกำหนดโครงการ แต่ไม่ได้ฟังจากชุมชน มาบอกว่าจะทำแต่ยังไม่รู้อะไรเลย เราเลยรู้สึกว่าเค้าไม่บอกความจริง”

เขาบอกว่าด้วยงบประมาณหลักหมื่นล้านบาท มากขนาดนั้นอะไรจะเกิดขึ้น “เราไม่อยากเห็นโฮปเวลล์สองครับ” เขาสรุป

ชาวมุสลิม, ละหมาด, ชุมชนบางอ้อ, มัสยิดบางอ้อ
ชาวมุสลิมมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดบางอ้อซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากชุมชนชาว “แขกแพ” ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคหนึ่งชาวชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าไม้สัก จึงมักนำไม้เนื้อดีมาใช้ก่อสร้างมัสยิด วิถีชีวิตของชุมชนบางอ้อสะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา

[ เมื่อสายนํ้าบรรจบ ]

เย็นยํ่าวันศุกร์ต้นเดือน จากมุมมองบนชั้นสูงสุดของอาคารห้าชั้น สะพานพระรามแปดดูเล็กจ้อยเหมือนโมเดลจำลอง รถราคันน้อยบนสะพานติดเป็นแถวยาวคล้ายกับไฟโยง แสงอาทิตย์สุดท้ายลับไปหลังตึก เรือภัตตาคารลำโตคืบคลานมาตามสายนํ้า เรือด่วนเจ้าพระยารอบสุดท้ายเทียบท่าส่งผู้โดยสาร เด็กท้ายเรือเป่านกหวีดเสียงกังวาน

อัมรินทร์ พูลสวัสดิ์ เพิ่งกลับมาถึง “บ้าน” หลังใช้เวลาทั้งอาทิตย์ไปทำงานที่จังหวัดตราด บ้านของเขาเป็นห้องขนาดพอ ๆ กับคอนโดมิเนียมมีระดับ สร้างบนอาคารปูนห้าชั้นริมแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณท่าพระอาทิตย์ ชั้นล่างเป็นบาร์สุดฮิปชื่อดัง อาคารจอดรถเก็บค่าบริการ และโรงแรม อาคารหลังนี้เพิ่งต่อเติมชั้นห้าขึ้นมาใหม่สำหรับครอบครัวของเขา ปูพื้นกระเบื้องยาง มีเคาน์เตอร์ครัวหรูมองออกไปเห็นสะพานพระปิ่นเกล้าจากมุมบน โทรทัศน์จอยักษ์ (ทั้งที่ไม่ค่อยมีเวลาดู) จักรยานเสือหมอบคันเอี่ยมห้องเก็บของเป็นสัดส่วน และของเล่นกระจุกกระจิกที่บอกว่าเจ้าของสถานที่มีลูกเล็ก “เวลาเพื่อนฝูงแวะมา คนชอบ ผมก็ภูมิใจนะ เพราะวิวมันสวย แต่สูงไปก็ใช่ว่าจะสวยนะครับ” เขาพูดถึงทัศนียภาพริมแม่นํ้าเจ้าพระยา “สำหรับผมเฉย ๆ นะ คงเห็นมาตั้งแต่เด็กครับ”

ครอบครัวพูลสวัสดิ์ค่อนข้างมีอันจะกิน เป็นครอบครัวใหญ่ และอาศัยรวมกันในอาคารหลังนี้ (แยกกันแต่ละชั้น) มีลิฟต์เก่า ๆ ตัวหนึ่งเชื่อมถึงกัน ที่ดินริมนํ้าเก่าแก่ผืนนี้ซื้อต่อมาจาก มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนักการเมืองชื่อดัง โดยเตี่ยของอมรินทร์ – อมฤต พูลสวัสดิ์ สร้างฐานะบนที่ดินแปลงนี้จากอู่ซ่อมบำรุงเรือ จนรุ่งเรืองและกระทั่งธุรกิจร่วงโรยไปตามกาลเวลา ปัจจุบันพวกเขาแบ่งพื้นที่บางส่วนของอาคารและที่ดินให้บาร์และโรงแรมเช่าเป็นมูลค่าหลายแสนบาทต่อเดือน

แม่น้ำเจ้าพระยา, ให้อาหารปลา
แม้ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่นํ้าเจ้าพระยากับวิถีชีวิตชาวเมืองจะไม่แนบแน่นเท่ากับในอดีต ทว่ากิจกรรมยอดนิยมอย่างการปล่อยและการให้อาหารปลาเพื่อทำบุญหรือสะเดาะเคราะห์ ยังคงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความผูกพันระหว่างผู้คนและสายนํ้าที่ไม่อาจตัดขาดจากกัน

พอเกือบสองทุ่ม อมฤต พูลสวัสดิ์ ก็เปิดประตูห้องเข้ามา “ปู่แอ๊ด” ของลูกหลาน ชายผู้สร้างธุรกิจรุ่นก่อร่างของตระกูล (เขาบอกว่า คนรุ่นแรกคือผู้บุกเบิก รุ่นสองคือผู้ก่อร่าง รุ่นสามคือผู้ทำพัง) ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ในวัย 73 ปี เขาเป็นชายชราที่สุขุม มีนํ้าเสียงทรงอำนาจ ทุกวันนี้ เขากับลูกชายกำลังปั้นธุรกิจโรงนํ้าแข็งที่จังหวัดตราด “ขอเป็นหนึ่งเมืองรองดีกว่าเป็นสองเมืองเอก” เขาว่า

ด้วยความที่ “คุณปู่” ไม่ค่อยอยู่ติดกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาบ้านริมแม่นํ้าหลังนี้ เขาจึงชอบใช้เวลาอยู่กับหลานๆ เสียงดนตรีจากบรรดาเรือร้านอาหารแว่วมาถึงห้อง เรือล่องแม่นํ้าส่วนใหญ่มักมากลับหัวเรือบริเวณสะพานพระรามแปด ภรรยาของอมรินทร์กำลังอ่านนิทานก่อนนอนให้ “น้องอิ๊ง” ลูกสาวคนเล็กฟัง

ผมได้ยินเสนาะเสียงลื่นไหลกล่อมลูกน้อยด้วยอาทรของผู้เป็นแม่ โดยมีจังหวะเบสหนักหน่วงจากปาร์ตี้สุดเหวี่ยงบนเรือกลางแม่นํ้าคลอไปด้วย ขณะที่ “น้องโอ๊ค” ลูกชายคนโตกำลังนั่งอ่านหนังสือนิทานอยู่ข้าง ๆ ผมอย่างมีสมาธิ “กับเด็กนี่เราไปออกคำสั่งเขาไม่ได้นะ” อมฤตกระซิบบอกผม หลานชายคนนี้ไม่ค่อยพูด และมีโลกส่วนตัวสูง “เพราะถ้าออกคำสั่ง เค้าก็จะเกลียดเรา” อมฤตพูดยิ้มๆ

ไม่กี่นาทีหลังปิดหนังสือนิทาน “น้องโอ๊ค” หนุ่มน้อยก็โผเข้ากอด “ปู่แอ๊ด” เพื่อรํ่าลาก่อนเข้านอน ชั่วขณะนั้น ผมรู้สึกได้ว่ากาลเวลาได้บรรจบเข้าหากัน ระหว่างอดีตที่ผ่านพ้นของชายชรา กับอนาคตที่เด็กน้อยต้องเผชิญในวันข้างหน้า คนหนึ่งแก่ชราลง อีกคนเฝ้ารอเติบโต และจะแก่ชราลงด้วยเช่นกัน

“คนเรานี่นะ กว่าจะเรียนรู้ กว่าจะทำงาน เติบโต มีเงิน เข้าใจชีวิต พอมีพร้อมทุกอย่างก็แก่ตัวเสียแล้ว ไม่มีเรี่ยวแรง” ปู่แอ๊ดบอกผมในภายหลัง

ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “เวลาและวารีไม่รอใคร”

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2559


อ่านเพิ่มเติม ทะเล อันดามัน ของไทยกำลังป่วย

 

Recommend