ริมฝั่งทะเลจีนใต้ มหานคร ฮ่องกง ทอประกายสว่างไสวระยิบระยับ หมู่ตึกระฟ้าสัญลักษณ์ของฮ่องกงวูบไหวราวกับแท่งเหล็กหลอมละลายในภาพสะท้อนบนผิวน้ำของอ่าว ด้วยพื้นที่ราบเพียงน้อยนิดและมีตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก ฮ่องกง จึงคลาคล่ำไปด้วยตึกน้อยใหญ่ บ้างสูงถึงร้อยชั้นจนดูเหมือนพุ่งทะยานขึ้นมาจากเชิงเขา ประหนึ่งล่องลอยอยู่บนฟ้าก็ไม่ปาน ฮ่องกงคือนครกลางฟ้าที่เปรียบได้กับสะพานเชื่อมภูมิภาคต่างๆ ของโลก ล่องละลิ่วอยู่บนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ขึ้นลงไม่หยุดหย่อน ธุรกรรมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และเงินหยวนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไหลบ่าเข้ามาบนคลื่นแห่งความมั่งคั่งที่เพิ่งได้ลิ้มรส ฮ่องกงยังลอยล่องอยู่เหนือชั้นตะกอนแห่งอดีต ตั้งแต่ครั้งเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่ รัง โจรสลัด ไปจนถึงอาณานิคมของอังกฤษ และในฐานะเขตบริหารพิเศษ (Special Administrative Region) ของจีนในปัจจุบัน ทำให้ฮ่องกงต้องเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้งด้วยแรงกดดันมหาศาลจากพญามังกร ยิ่งไปกว่านั้น มหานครแห่งนี้ยังลอยล่องอยู่บนความวิตกกังวลที่นับวันมีแต่จะทบทวี เป็นความรู้สึกที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งวันชื่นคืนสุขที่ฮ่องกงเคยรุ่งเรืองในฐานะเสือเศรษฐกิจตัวหนึ่งของเอเชีย
ผู้ที่ทำให้ฮ่องกงซึ่งครั้งหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาสร้างแต่ความร่ำรวยให้จมปลักอยู่กับวิตกจริตได้ถึงเพียงนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจีนยุคใหม่ จีนที่ว่านี้เป็นทั้งเงา บทสรุปความฝันลมๆ แล้งๆ และเจ้านายผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ที่ปรากฏกายอยู่ในทุกบทสนทนาของผู้คนที่นี่ ชาวฮ่องกงมองจีนใหม่ด้วยสายตาดูหมิ่น แต่ก็ยกย่องชื่นชมอย่างแหยงๆ อยู่ในที คุณจะสัมผัสได้ถึงอวลไอแห่งความกระอักกระอ่วนใจนี้ในทุกซอกมุมเมืองดุจเดียวกับละอองหมอกที่พัดเข้ามา จากอ่าว หรือไอน้ำที่ลอยขึ้นจากถนนยามเช้าตรู่ เป็นส่วนผสมระหว่างความสับสน ความกลัว และความปริวิตกที่นับวันมีแต่จะเพิ่มพูนว่า ตัวตนและเอกลักษณ์ของฮ่องกงจะถูกกลืนจนหมดสิ้น
“ถ้าคุณอยากเห็นลัทธิทุนนิยมขนานแท้แล้วละก็ต้องไปฮ่องกง” กล่าวกันว่าเจ้าของคำพูดนี้คือนักเศรษฐศาสตร์ ชื่อ มิลตัน ฟรีดแมน กระนั้น การมองมหานครแห่งนี้ในปัจจุบันว่าเป็นสวรรค์ของตลาดเสรีที่ยังคงรุ่งเรือง แม้เวลาจะล่วงเข้าสู่ปีที่ 15 หลังอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน หากไม่เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ก็เป็นการประเมินพลังที่กำลังโยกคลอนรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจของที่นี่อย่างตื้นเขินยิ่ง มิหนำซ้ำยังมองข้ามความตึงเครียดและความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่คุกรุ่นอยู่ภายใต้ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันเป็นฉากหน้าแสนสวยหรูของฮ่องกง ครั้นมองลึกเข้าไปในหลังฉาก เราอาจพบทั้ง ผู้ลี้ภัยและหญิงขายบริการ กลุ่มอันธพาลหวีผมเรียบแปล้ แม่บ้านชาวอินโดนีเซียหลายพันคนที่มารวมตัวกันอยู่ใน สวนสาธารณะวิกตอเรียพาร์กในวันอาทิตย์ รวมทั้งพวกคนงานที่ค่าจ้างแทบไม่พอเลี้ยงปากท้อง ไปจนถึงพวกที่ต้องอยู่กันอย่างแออัดในห้องแบ่งเช่าขนาดเท่าตู้เย็นที่เรียกกันว่า “บ้านกรง” ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของฮ่องกงอยู่ลำดับที่สิบของโลก และสัมประสิทธิ์จินี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นดรรชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายความร่ำรวย หรือพูดง่ายๆ คือ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนของฮ่องกงติดอยู่ในกลุ่มสูงที่สุดของโลก
ชาวฮ่องกงบอกว่า เมืองของพวกเขาเปลี่ยนโฉมหน้าไปทุกสองสามปี โดยยกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเส้นขอบฟ้าที่เปลี่ยนรูปทรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “เราสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอะไร” แพทริก ม็อก ผู้ประสานงานโครงการความทรงจำแห่งฮ่องกง (Hong Kong Memory Project) เปรยขึ้น โครงการมูลค่า 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาอัตลักษณ์ของฮ่องกง โดยสร้างเว็บไซต์ที่ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมและโต้ตอบด้วยการแสดงสิ่งของและภาพถ่ายเก่าๆ “เมืองนี้ก้าวไปเร็วเกินกว่าความทรงจำจะตามทันครับ” เขายอมรับ
บนถนนแคนตัน ห่างไปชั่วเดินไม่นานจากบรรดาร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดัง และโรงแรมเพนินซูลาหรูเลิศในเขตจิมซาโจ่ยของเกาลูน มีตึกโทรมๆ สูง 17 ชั้นแห่งหนึ่งชื่อ จุงกิงแมนชันส์ กินพื้นที่กว่าหนึ่งช่วงตึก ที่นี่เป็น “บ้าน” ของคน 4,000 คนจากหลากหลายเชื้อชาติที่มาค้าขาย เราจะพบเห็นคนเหล่านี้ได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงภายใต้แสงนีออนสว่างไสว พวกเขาหากินอยู่ในโลกของโรงแรมไร้ดาว ร้านอาหารที่ขายสตูแอฟริกันและแกงกะหรี่อินเดีย และร้านรวงที่ขายทุกอย่าง ตั้งแต่วิสกี้แบ่งขายเป็นแก้ว ไปจนถึงส่าหรีและพรมนั่งละหมาด
กอร์ดอน แมทิวส์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาและเขียนเกี่ยวกับจุงกิงแมนชันส์มาหกปีแล้ว บอกว่า แต่ละปีมีผู้คนจาก 130 เชื้อชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสที่นี่โดยหวังจะมาทำธุรกิจใหญ่โตในสถานที่ซึ่งแมทิวส์ให้ สมญานามว่า “ชุมชนแออัดใจกลางโลก” เขาประเมินว่า ร้อยละ 20 ของโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกาซื้อขายกันที่นี่ “นี่อาจเป็นตึกสำคัญที่สุดในโลกสำหรับโลกาภิวัตน์ระดับล่างก็ได้นะครับ” เขาบอก
ฮ่องกงเองก็ก่อร่างสร้างตัวมาจากการค้าระดับโลกลักษณะนี้เช่นกัน โดยเริ่มจากฝิ่น ซึ่งอาจช่วยอธิบายว่าเหตุใดเมืองนี้จึงมีเส้นกั้นแบ่งที่คลุมเครือระหว่างกิจกรรมถูกกฎหมายกับนอกกฎหมาย เมื่อพ่อค้าชาวอังกฤษเดินเรือเข้ามาในศตวรรษที่สิบเก้า เพื่อหาทางแลกเปลี่ยนฝิ่นจากอินเดียที่บรรจุในลังไม้จำนวนมากกับสินค้าอื่น พวกเขาเห็นเกาะหินแกรนิตที่ต่อมาคือฮ่องกงนี้ตามเส้นทางเดินเรือไป ยังปากแม่น้ำ เพิร์ลเข้าสู่เมืองกว่างโจว
แล้วสงครามฝิ่นครั้งแรกก็ปะทุขึ้นในปี 1839 เมื่อราชวงศ์แมนจูหรือชิงสั่งให้ “คนป่าเถื่อนจากนอกด่าน” หยุดค้า “โคลนต่างชาติ” และยึดฝิ่นกว่า 20,000 ลังไปเผาทำลายในที่สาธารณะ ฝ่ายอังกฤษตอบโต้ด้วยการนำกองทัพเรือเข้ามาในรัศมี 160 กิโลเมตรจากกรุงปักกิ่ง ก่อนที่ความขัดแย้งทางทหารจะยุติลงในเวลาต่อมา
ชาร์ลส์ เอลเลียต ผู้แทนทางการค้าของอังกฤษเจรจาต่อรองขอเกาะฮ่องกงซึ่งดูเหมือนเป็นเกาะไร้ประโยชน์ โดยเชื่อว่าท่าเรือน้ำลึกของที่นี่อาจสร้างรายได้มหาศาล ต่อมา ภายใต้การปกครองของอังกฤษ กระท่อมโกโรโกโสก็กลายเป็นตึกรามที่สร้างด้วยหินแกรนิต โครงสร้างพื้นฐานแบบอาณานิคมแบ่งบาน เมืองเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามชายฝั่งของท่าเรือที่เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะจุดแวะพักสินค้าในการค้าขายกับจีน
แต่การเปลี่ยนโฉมหน้าฮ่องกงให้กลายเป็นศูนย์กลางทุนนิยมเชิงอุตสาหกรรมนั้นเป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบโต้การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1949 เมื่อเผชิญกับนโยบายโอนกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐ (nationalization) ของเหมาเจ๋อตง นักอุตสาหกรรมชาวจีนพากันย้ายฐานธุรกิจของตนไปยังฮ่องกง พร้อมๆ กับคลื่นผู้อพยพลี้ภัยหลั่งไหลเข้าไปหางานทำ ทุนนิยมอันแข็งแกร่งผงาดขึ้นและเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ และมีกฎเกณฑ์ไม่เข้มงวดจนทุกคนสามารถนำ เงินเข้าไปลงทุนได้อย่างสะดวกดาย
ตลอดระยะเวลาต่อมา ขณะที่ฮ่องกงสร้างตึกระฟ้าสว่างไสว เช่นเดียวกับอาคารที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งรวมของปัญหาสารพัด ความเสื่อมโทรมทางสังคม เช่น การค้าประเวณี แก๊งค้ายาเสพติด พวกค้าของเถื่อน และบ่อนการพนันก็ยังคงงอกงาม
ในร้านขายข้าวแกงแห่งหนึ่งของจุงกิงแมนชันส์ ผมพบชายคนหนึ่งที่บอกว่าเป็นชาวปากีสถาน และขอให้เรียกเขา ว่า “แจ็ก ดอว์สัน” ตามชื่อพระเอกในเรื่องไททานิก เขาเล่าว่า ถูกคุกคามที่ประเทศบ้านเกิดจึงมาฮ่องกงโดยไม่มีเอกสารเดินทางที่ถูกต้อง เมื่อหาเงินพอทำทุนได้เล็กน้อย เขาก็เริ่มขายโทรศัพท์มือถือ ตอนนี้เขาหันมาจับธุรกิจซื้อขายโทรศัพท์ชั่วคราวที่ใช้งานได้ 14 วัน ทำเงินได้ปีละ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ แจ็ก ดอว์สัน บุ้ยใบ้ไปที่ช่องทางเดินที่มีผู้คนเดินกันขวักไขว่พลางบอกว่า “ที่นี่แหละครับ ดินแดนแห่งความฝันของผม”
บนถนนล็อกฮาร์ตในย่านว้านไจ๋ บรรยากาศภายในห้องโถงแคบๆ ของตึกคร่ำคร่าหลังหนึ่งมีสภาพน่าอึดอัดถ้า จะพูดกันอย่างเบาะๆ เด็กหนุ่มวัยรุ่นง่วนกับการเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือ ส่วนบรรดาชายในชุดสูทยืนสลับเท้าลงน้ำหนักซ้ายทีขวาทีอย่างร้อนใจและไม่ยอมสบตาใคร ทุกคนคอยลิฟต์ขึ้นไปข้างบน พอประตูลิฟต์เปิดออก ชายกลุ่มหนึ่งก้าวออกมาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ชายกลุ่มแรกซอยเท้าเข้าไป แล้วลิฟต์ก็พาพวกเขาขึ้นไป แต่ละชั้นของ ตึกสูง 20 ชั้นหลังนี้มีหลายห้องที่เสนอขายบริการทางเพศ โดยเจ้าของห้องสตรีซึ่งอยู่ลำพัง ห้องเหล่านั้นมีผนังกั้นบางเสียจนแทบไม่อาจกันเสียงกิจกรรมภายในห้องไม่ให้ เล็ดลอดออกมาได้
ในช่วงทศวรรษ 1980 ขบวนการค้ามนุษย์ขับเคลื่อนโดยแก๊งอันธพาล ซึ่งเป็นกลุ่มอาชญากรที่มีภาษาถิ่น อาชีพ และความคิดเห็นทางการเมืองร่วมกัน คนเหล่านี้ลักลอบนำหญิงขายบริการเข้ามายังฮ่องกงโดยเรือเร็ว แก๊งอันธพาลเริ่มก่อตัวเป็นสังคมอาชญากรลับๆ ในช่วงที่กฎหมายบ้านเมืองยังย่อหย่อน แต่มาโด่งดังถึงขีดสุดในทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นยุคทองของการคอร์รัปชันในฮ่องกง ภาพยนตร์รุนแรงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแก๊งอันธพาล ของจอห์น วูชูประเด็นแนวคิดที่ยกย่องกลุ่มอาชญากรจนกลายเป็นวีรบุรุษ ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนสองจำพวกซึ่งยังดำรงอยู่ในเมืองนี้ กล่าวคือ ภายในตึกสูงสว่างไสวมีเงินทองไหลมาเทมาจากการเก็งกำไรและการทำธุรกรรมของเหล่าพนักงานบริษัท ขณะที่ตามท้องถนนอันร้อนระอุและคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แก๊งอันธพาลยังคงคุกคามข่มขู่และห้ำหั่นกันด้วยคมมีด ระเบิด และการตัดแขนตัดขา
สภาพความเป็นจริงในทุกวันนี้ยิ่งคลุมเครือ ทว่าลดความรุนแรงลง อาชญากรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาล เช่น การค้ายาเสพติด ย้ายฐานไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ก็มาก อเล็กซ์ โฉ่ย อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน กล่าวว่า ปัจจุบันแก๊งอันธพาลไม่เหลือร่องรอยของความจงรักภักดีและความรักชาติที่เคยเป็นชนวนของความขัดแย้ง แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างคือธุรกิจ เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามา พวกนี้ก็ยินดีร่วมมือกัน ใช้วิธีเจรจารอมชอมแทนการยกพวกตีกันตามท้องถนน คนพวกนี้เป็นเจ้าของธุรกิจรถประจำทาง หรือแม้แต่บริษัทรับตกแต่งภายใน แต่ก็ยังพึ่งพาและใช้วิธีการของอันธพาลอยู่ทุกวัน กระนั้น เส้นขีดคั่นระหว่างการกระทำที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายก็ชักพร่าเลือน ลูกหลานของพวกระดับหัวหน้าแก๊งได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นดีและมีความสุขอยู่กับไอแพ็ด มากกว่าการออกไปข่มขู่ตามท้องถนน ส่วนพวกหัวหน้าแก๊งก็สนใจการลงทุนและทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือซื้อม้าแข่งมากกว่าจะออกไปเสี่ยงชีวิตดวลปืน
การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายก็มีส่วนลดบทบาทการครอบงำเศรษฐกิจใต้ดินของแก๊งอันธพาลลง ปัจจุบัน การค้าประเวณีเป็นธุรกิจถูกกฎหมายในฮ่องกง มีเพียงข้อบังคับที่ออกมาเพื่อไม่ให้ประเจิดประเจ้อต่อสายตาสาธารณชน และมีกฎหมายปกป้องผู้ให้บริการทางเพศจากแก๊งอันธพาลหรือพวกแมงดาที่พยายามเข้ามาแสวงหาประโยชน์ แต่ใช่ว่าจะไม่มีการทำผิดกฎหมาย กระนั้น นี่กลับนำไปสู่การค้าประเวณียุคใหม่ที่ดึงดูดผู้ขายบริการให้ไหลบ่าเข้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่จนยากที่ตำรวจจะดูแลกวดขันได้ทั่วถึง
ปัจจุบัน ในอาคารที่พักอาศัยหลังหนึ่งๆ ซึ่งภายนอกไม่มีเครื่องหมายใดๆ บ่งบอก ภายในเรียงรายไปด้วยห้องเช่าขนาดเล็กชั้นแล้วชั้นเล่า ห้องเหล่านี้คือสถานประกอบการของผู้ให้บริการทางเพศรายย่อยที่โฆษณาบริการของตนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีช่องให้ลูกค้าติชมการบริการและจัดเรตติ้งได้ อาคารที่ผมแวะมาดู ลูกค้าที่มาใช้บริการในวันนี้ยินดีจ่ายเงิน 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อเวลา 40 นาที
กิจกรรมทางเพศเป็นเพียงธุรกรรมอย่างหนึ่งในนครแห่งธุรกิจนี้ การบริการที่กินเวลา 40 นาทีอาจเป็นทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตรา การลงทุน การหาเงินเพื่อนำมาต่อเงินและการส่งเงินกลับบ้านบนแผ่นดินใหญ่
ไม่มีเดือนไหนที่เงาทะมึนของจีนจะปกคลุมเหนือฮ่องกงมากเท่ากับเดือนมิถุนายน การรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปราม ประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปี 1989 เป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ของชาวฮ่องกง ไม่ต่างจากเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของชาวอเมริกัน การสังหารผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่เกิดขึ้นไม่กี่ปีก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกง ไม่เพียงส่งสัญญาณอันหนาวเหน็บสั่นสะท้านไปทั่วเกาะแห่งนี้ แต่ยังสร้างภาพรัฐบาลจีนให้เป็นเหมือนรัฐตำรวจและเผด็จการเลือดเย็นที่พร้อมจะใช้มาตรการรุนแรงขั้นเด็ดขาดเข้าบดขยี้การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ ก็ตาม
บนลานคอนกรีตหน้าศูนย์การค้าไทมส์สแควร์ในคอสเวย์เบย์ ย่านช็อปปิ้งหรูหราของฮ่องกง แซม หว่อง วัย 22 ปี ยืนอยู่ใต้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่เป็นภาพจอร์จ คลูนีย์กำลังอวดนาฬิกาโอเมก้าที่สวมอยู่ และนางแบบยอดนิยมในท่วงท่าเย้ายวนใจ หว่องสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีน ข้อความภาษาอังกฤษว่า “Freedom Now!” (เสรีภาพ เดี๋ยวนี้!) และมีผ้าคาดศีรษะเขียนข้อความภาษาจีนว่า “อดอาหารประท้วง!”
หว่องซึ่งเป็นคนผอมมากอยู่แล้ว อดอาหารประท้วงมาแล้ว 24 ชั่วโมงจากที่กำหนดไว้ 64 ชั่วโมง เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบปีเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เขายังมีผู้ร่วมประท้วงเป็นคนหนุ่มสาวอีก 18 คน ทั้งหมดกระจายอยู่ในเต็นท์หลายหลังที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ มีแผ่นพับสำหรับแจก และช่วยกันร้องเพลงที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้จีนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมทั้งปล่อยตัวผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองให้เป็นอิสระ
ฝูงชนที่มาจับจ่ายซื้อของเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว แทบไม่มีใครสังเกตเห็นการประท้วงนี้ แต่เย็นวันก่อนมีนักท่องเที่ยวกลุ่มโตจากจีนแผ่นดินใหญ่มาหยุดยืนดูสารคดีเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอยู่ใต้จอยักษ์ ที่ฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง หลังจากนั้น คนกลุ่มนี้หยุดพูดคุยกับผู้ประท้วงด้วย บ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาทราบว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ บ้างค้านหรือโต้แย้งอย่างสุภาพกับภาพเหตุการณ์จากมุมมองต่อต้านรัฐบาลของผู้ประท้วง “เราไม่กลัวคนที่เห็นต่างจากเราหรอกครับ” หว่องว่า “แต่ที่ห่วงก็คือ ตำรวจจะใช้อำนาจเกินขอบเขตและจับกุมพวกเรา นั่นเท่ากับเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการพูดครับ”
ความคิดที่มีการพูดถึงกันอยู่เสมอในฮ่องกงทุกวันนี้คือท่าทีที่ไม่อาจคาดเดาของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดที่เล่นตามบทซึ่งกำหนดโดยเจตนาอันซ่อนเร้น และการชี้นำของนายใหญ่ในปักกิ่ง แม้จีนสัญญาว่าจะเคารพนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยรับประกันสิทธิของฮ่องกงในการปกครองตนเองทางเศรษฐกิจและการเมืองจนถึงปี 2047 แต่ชาวฮ่องกงยังทำใจไม่ได้เมื่อคิดว่าสักวันต้องอยู่ใต้เงื้อมเงาการควบคุมของจีน พวกเขาเกรงว่า เสรีภาพและความรู้สึกปลอดโปร่งจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของวันวานจะถูกจำกัด จีนอาจออกกฎข้อบังคับตามอำเภอใจ กลืนกินอัตลักษณ์อันแตกต่างของฮ่องกงไปจนหมดสิ้น และหล่อหลอมให้กลายเป็นเมืองในแบบของจีน
เหลิ่งกว็อกโห่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยระดับหัวแถว และสมาชิกในคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้มีสมญานามว่าลองแฮร์ หรือ “พ่อผมยาว” เพราะไว้ผมทรงฮิปปี้ยาวลงมาเกือบถึงกลางหลัง เขาออกมาต่อต้านสิ่งที่เห็นว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการพูดที่ดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ “พวกตำรวจต้องยอมซูฮกให้ปักกิ่งครับ เพราะถ้าคุณปฏิเสธความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์ เท่ากับว่าคุณกำลังปฏิเสธอาชีพของตัวเอง” เขาว่า “แต่นี่ยังลามไปถึงพวกข้าราชการ รวมทั้งบรรดามหาเศรษฐีและเจ้าพ่อที่เป็นเจ้าของสื่อหรือต้องการทำธุรกิจในจีนด้วย นับวันเราจะยิ่งหงอกันไปหมด ดูสิ สื่อตั้งครึ่งหนึ่งไม่รายงาน ข่าวการประท้วงของพวกเราด้วยซ้ำ”
“ลองแฮร์” เล่าว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาถูกจับมาแล้วเกือบ 20 ครั้ง ถูกตัดสินว่ามีความผิดมากกว่า 10 ครั้ง และถูกจำคุก 4 ครั้ง เขาพยายามปกป้องสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดของอัตลักษณ์ความเป็นฮ่องกง นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อเสรี อันเป็นสิ่งที่ชาวฮ่องกงเคยคุ้นสมัยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ทว่านี่คือสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกรงกลัวไม่มากก็น้อยในปัจจุบัน
เหตุการณ์ประท้วงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการประท้วงเพียงครั้งเดียวที่ทางการจีนอนุญาตให้จัดขึ้น หลายแห่งทั่วประเทศ ดูจะมีความสำคัญมากเป็นพิเศษหลังการจับกุมอ้ายเว่ย์เว่ย์ ศิลปินชาวจีน เจ้าของผลงานที่ปลุกเร้าความรู้สึก และจุดประกายการต่อต้านทางสังคม ทำให้เขาขัดแย้งกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (อ้ายเว่ย์เว่ย์ถูกจับในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีขณะกำลังโดยสารเครื่องบินไปฮ่องกง)
ผู้คนหลายหมื่นคนมาชุมนุมกันที่วิกตอเรียพาร์กเพื่อจุดเทียนรำลึก ผู้จัดอ้างว่ามีคนมาร่วม 150,000 คน ขณะที่ตำรวจประเมินว่าน่าจะมีเพียงครึ่งเดียว ความจริงจังของการประท้วงเห็นได้ชัดจากเสื้อยืด ป้ายผ้า และเข็มกลัดติดเสื้อที่มีข้อความว่า “ใครกลัวอ้ายเว่ย์เว่ย์” พวกเขาพากันร้องเพลง (“เราเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จะต้องกลัวสิ่งใดเล่า”) และปราศรัย ส่วนบนจอภาพก็เปิดเทปสัมภาษณ์บรรดาแม่ของเหยื่อที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่เรียกร้องให้จดจำเหตุการณ์และยืนหยัดต่อสู้ต่อไป การประท้วงเต็มไปด้วยสีสันของอารมณ์ความรู้สึก ทั้งลึกซึ้งกินใจ หวือหวาเกินจริง โน้มน้าวจิตใจชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู และจุดประกายความหวังได้อย่างน่าประหลาด แต่สิ่งที่ทำให้การประท้วงครั้งนี้แทงใจดำมากที่สุดก็คือความรู้สึกลึกๆว่า เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอาจเกิดขึ้นที่วิกตอเรีย พาร์กได้สักวันหนึ่ง และพวกเขาอาจเป็นเหยื่อรายต่อไป
หลังจากนั้น ผู้ประท้วงหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งช่วยกันทำความสะอาดสวนสาธารณะแห่งนี้ พวกเขาขัดถูทางเดินเท้าจนสะอาด ใช้เกรียงขูดน้ำตาเทียนออก นี่เป็นการประท้วงที่ปราศจากความก้าวร้าว ไม่มีการเรียกร้องให้ลุกขึ้นเดินขบวนยึดสถานที่ต่างๆ หรือขว้างระเบิดขวด เป็นการประท้วงในแบบฉบับของฮ่องกงที่สุภาพ ไม่ยืดเยื้อ ปลุกเร้า ความรู้สึกจนกระทั่งเลิกรากันไป จากนั้นก็อิ่มเอมใจอย่างน่าประหลาด และไม่มีการปลุกเร้าเรียกร้องจนถึงขั้นแตกหัก
ในสวนสาธารณะที่ว่างเปล่าหลังการประท้วงในเย็นวันนั้น ผมพบชายคนหนึ่งถือพัดสีแดง สวมกางเกงขาสั้นสีฟ้าน้ำ ทะเล เขาหิ้วถุงบรรจุใบปลิวและแผ่นพับ บ้างมีข้อความสดุดีการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หรือไม่ก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังเพราะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลจีน ซึ่งรวมถึงหลิวเสี่ยวปัว เจ้าของรางวัลโนเบล และบรรดาสมาชิกของลัทธิฝ่าหลุนกง เขาพูดเสียงดังฟังชัดว่า “พรรคคอมมิวนิสต์เกลียดผมเข้าไส้ครับ”
ชายผู้นี้เป็นสมาชิกของครอบครัวเจ้าของที่ดินในประเทศจีน แต่หนีการปกครองของเหมาเจ๋อตงมายังฮ่องกงเมื่อ ปี 1951 ขณะอายุเพียง 17 ปี ลุงของเขาบางคนถูกจำคุก ขณะที่อีกคนกลายเป็นเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ “ครอบครัวผมมีอยู่ทุกฝักทุกฝ่ายเลยครับ” เขาเล่า ตัวเขาเองเกษียณจากธุรกิจค้าเพชรพลอยในวัยห้าสิบเศษ และตั้งแต่นั้นมาก็กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในมณฑลกวางตุ้งเดือน ละครั้ง “ผมก่นด่าพวกคอมมิวนิสต์ และเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยแบบฮ่องกงครับ” เขาว่า แล้วแผ่นพับในถุงพวกนี้เล่า เขาจะเอาไปทำอะไร ผมถาม “เอากลับไปจีน สิครับคุณ” คือคำตอบ
หากชาวฮ่องกงกำลังส่งผ่านความคิดทางการเมืองไปยังจีนอย่างเงียบๆ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นผู้ทำให้เมืองแห่งนี้เฟื่องฟูขึ้นด้วยกำลังซื้อ โดยเฉพาะหลังจากฮ่องกงสะบักสะบอมจากไข้หวัดนกระบาดเมื่อปี 1997 และซ้ำเติมด้วยวิกฤติโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 “ร้านโรเล็กซ์ที่ไทมส์สแควร์ขายนาฬิกาได้วันละ 200 เรือน ลูกค้าส่วนใหญ่หรือครับ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งนั้น” ฟรานซิส แจ่ง ให้ตัวเลข เขาเป็นนักจัดงานอีเวนต์ชื่อดังให้สินค้าแบรนด์เนมหลายแบรนด์ของฮ่องกง และเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของแพนซี ห่อ สาวสังคมและเศรษฐินีพันล้าน เจ้าของอาณาจักรบ่อนการพนันเอ็มจีเอ็ม (MGM) ในจีน ครั้งหนึ่ง ฮ่องกงเคยส่งข้าวส่งน้ำให้ปักกิ่งในช่วงที่ตกระกำลำบาก และส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนโดยการเข้าไป ลงทุน แต่ปัจจุบัน ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด จีนเป็นฝ่ายที่ช่วยให้ฮ่องกงเชิดหน้าชูตาอยู่ได้ในทุกวันนี้ ชาวจีน แผ่นดินใหญ่แห่มาฮ่องกงเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินค้า
“เราเติบโตขึ้นมากับมายาคติที่ว่า เราเหนือกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่” แจ่งว่า ในฮ่องกง ผู้คนสนุกปากกับการเล่าเรื่องล้อเลียนเศรษฐีใหม่ชาวจีนที่มากินอาหารในภัตตาคารหรูของฮ่องกง พวกเขาสั่งบริกรให้รินไวน์เต็มถึงปากแก้ว หรือจะเป็นเรื่องที่ชาวจีนคนหนึ่งหอบเงินสดเป็นฟ่อนเข้าไปในร้านสินค้าแบรนด์เนมและพูดเสียงดังลั่นว่า “อะไรแพงที่สุดในร้าน จัดมา” เรื่องราวทำนองนี้ตอกย้ำภาพลักษณ์ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในสายตาชาวฮ่องกงว่าเป็นพวกบ้านนอกเข้ากรุง หรือ อาชาน แต่อย่างที่แจ่งเล่า ทุกวันนี้ หน้าร้านกุชชีทั้งเก้าสาขาในฮ่องกงมีลูกค้าต่อแถวยาวเหยียด สะท้อนความต้องการที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด “ไม่ต้องห่วงหรอกครับ มีชาวนารวยๆ จากแผ่นดินใหญ่ หอบเงินมาใช้ที่นี่ไม่เคยขาดครับ” แจ่งทิ้งท้าย
อำนาจทางเศรษฐกิจที่พลิกผันซ้ำเติมวิกฤติเรื่อง อัตลักษณ์ของฮ่องกงให้ย่ำแย่ลง ถึงขนาดที่ว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นฝ่ายเรียกชาวฮ่องกงว่า ก๋องชาน หรือพวกบ้านนอกเข้ากรุงเสียเอง โครงการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้รายงานว่า ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่มองตัวเองว่าเป็นชาวฮ่องกงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ชาวจีน เท่ากับเป็นการเน้นย้ำ ความไม่พอใจที่ชาวฮ่องกงมีต่อเพื่อนร่วมชาติจากผืนแผ่นดิน ใหญ่ที่นับวันมีแต่จะทบทวี โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฮ่องกงฉบับหนึ่งถึงกับเรียกคนพวกนี้ว่า “ตั๊กแตน” ที่ยกโขยงเข้ามากลุ้มรุมฮ่องกง ปีที่แล้วทารกเกือบครึ่งหนึ่งที่คลอดในโรงพยาบาลชื่อดังหลายแห่งของฮ่องกงเป็นลูกหลานชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้บรรดาคุณแม่ชาวฮ่องกงออกมาประท้วงเพราะเกรงว่า ในปีนี้ซึ่งถือเป็นปีมังกรทอง อัตราการเกิดต้องพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน ระบบโรงพยาบาลของฮ่องกง ซึ่งมีงานล้นมืออยู่แล้ว อาจไม่สามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นและให้บริการอย่างทั่วถึงได้
ความตึงเครียดพอกพูนขึ้นในนครลอยฟ้าแห่งนี้ “คนที่มาเยือนมองฮ่องกงว่าเป็นเหมือนนครมรกตบนภูเขา แต่จริงๆ แล้วเราเป็นเมืองที่กำลังป่วยไข้ครับ หัวทำงานผิดเพี้ยน แขนขาไม่ทำงาน เท้าก็หมดแรง” อเล็กซ์ โฉ่ย อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการคอร์รัปชันคนเดิม กล่าว
ย้อนกลับไปที่ไทมส์สแควร์ แซม หว่อง กำลังเข้าสู่โค้ง สุดท้ายของการอดอาหารประท้วง เขาหมดแรงและเหนื่อยอ่อนจนต้องเข้าไปพักในเต็นท์ ขณะที่ผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของเดินผ่านไปมาโดยไม่มีใครแยแส หว่องรู้สึกว่าต้องมีใครสักคนลุกขึ้นสู้กับจีน แม้ว่าเขาจะรู้สึกยินดีเมื่อการประท้วงครั้งนี้จบลง
ราตรีมาเยือนอีกครั้ง ตึกระฟ้าเปิดไฟสว่างไสวราวกับแสงเทียน เรือเฟอร์รีแล่นฉิวอยู่ในอ่าว เครื่องบินร่อนอยู่บนท้องฟ้า ถนนหนทางคลาคล่ำไปด้วยผู้บริโภค ฮ่องกง นครแห่งผู้คนร้อยเชื้อชาติที่ดูวุ่นวายอย่างที่เคยเป็นเสมอมากำลังเปลี่ยนสภาพไปอีกครั้งแล้ว
แพทริก ม็อก จากโครงการความทรงจำแห่งฮ่องกงบอกผมว่า “ผู้คนตกใจเมื่อผมเอาภาพถ่ายทุ่งนาที่เคยอยู่ที่นี่ในช่วงทศวรรษ 1970 ให้ดู ตอนนั้นเราอยู่กันตามท้องถนน ในตลาดและแผงลอยกลางแจ้ง ต่อมาทุกอย่างย้ายเข้าไปอยู่ในร่ม เข้าไปอยู่ตามศูนย์การค้า เบื้องหลังประตูที่ปิด และห้องแอร์ เราไม่แน่ใจครับว่าตอนนี้เรากำลังกลายเป็นอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ ตัวตนของเรากำลังหายไป
เรื่อง ไมเคิล พาเทอร์นิตี
ภาพถ่าย มาร์ก เหลียง
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2555