อาสนวิหาร นอตเทรอดาม รอดพ้นจากอัคคีภัยเมื่อปี 1831 ก็จริง แต่ผู้ก่อการจลาจลปีนป่ายขึ้นไปบนหลังคา แล้วโค่นกางเขนเหล็กขนาดยักษ์ลงมา พวกเขาทุบกระจกสีจนป่นปี้ ใช้ขวานจามรูปปั้นพระเยซูและทำลายรูปปั้น พระแม่มารี แต่เป้าหมายที่แท้จริงคืออาร์ชบิชอปแห่งปารีสซึ่งไม่ได้อยู่ที่นั่นในตอนนั้น พวกเขาจึงกรูกันเข้าไปที่วังของอัครสังฆราชผู้นี้ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโบสถ์และหันหน้าเข้าหาแม่น้ำแซน จากนั้นจึงจุดไฟเผาวังจนวอดวายสิ้น
มีภาพวาดฉากเหตุการณ์ในคืนนั้น นั่นคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 1831 จากเกเดอมงต์เบลโล ท่าเรือที่อยู่ อีกฝั่งของแม่น้ำแซน จากฝีมือของเออแจน-เอมมานูแอล วีโอเล-เลอ-ดุก ผู้ซึ่งในอีก 13 ปีต่อมาจะรับหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์อาสนวิหารแห่งนี้โดยใช้เวลา 20 ปี ตอนที่เห็นการโจมตีของฝูงชน วีโอเล-เลอ-ดุกอายุเพียง 17 ปี
ตัดเวลามาในปี 1980 ฟีลิป วีลเนิฟ ซึ่งอายุ 17 ปีเช่นกัน เห็นผลงานของวีโอเล-เลอ-ดุก ที่พิพิธภัณฑ์ และหอนิทรรศการกรองปาเล เขารู้ว่าตัวเองอยากเป็นสถาปนิก และเคยสร้างนอตเทรอดามจำลองอย่างละเอียดซับซ้อนมาแล้ว แต่ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าจะร่ำเรียนเฉพาะทางด้านอาคารประวัติศาสตร์ได้ ปัจจุบัน เขาเป็นหนึ่งใน 35 “หัวหน้าสถาปนิกด้านอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์” ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวิชาชีพที่สำแดงฝีมืออย่างเลื่องลือในตัวของวีโอเล-เลอ-ดุก
วีลเนิฟรับหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการบูรณะนอตเทรอดามมาตั้งแต่ปี 2013 และต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2019 เป็นต้นมา เมื่อเพลิงเผาผลาญส่วนยอดของอาสนวิหาร ตอนนี้โครงสร้างอาคารได้รับการเสริมความแข็งแรงจนอยู่ในสภาพมั่นคงดีแล้ว และงานบูรณะกำลังจะเริ่มขึ้น วีลเนิฟต้องขอบคุณวีโอเล- เลอ-ดุก ผู้ปราดเปรื่องที่รับหน้าที่นี้ก่อนหน้าเขาในหลายๆเรื่อง สำหรับภารกิจปัจจุบันซึ่งถือเป็นศึกใหญ่ในชีวิต การงานของเขา
ในฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่สิบเก้า รัฐบาลตั้งสถาบันต่างๆ ขึ้นมาเป็นลำดับแรกเพื่อรับมืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับคำถามที่เราทุกคนสนใจ นั่นคือส่วนใดของอดีตที่สมควรเก็บรักษาไว้และส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง เรามีหน้าที่อย่างไร ต่อผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ของบรรพบุรุษ การดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้มอบความเข็มแข็งและเสถียรภาพใดแก่เรา และในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวถ่วงไม่ให้เราก้าวไปสู่อนาคต และสร้างสรรค์โลกของเราเองหรือไม่ คำถามนี้เป็นสิ่งที่พวกเราแต่ละคนต้องเผชิญในจักรวาลเล็กๆของตนเอง ทั้งในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต เราต้องคอยตัดสินใจว่า สิ่งใดควรยึดเหนี่ยวและสิ่งใดควรจะโยนทิ้ง ควรต่อต้านหรือโอบรับความเปลี่ยนแปลงใด
ในยุคสมัยนั้น นอตเทรอดามถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ระดับปฏิวัติวงการ สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสองต่อศตวรรษที่สิบสาม ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังสร้างประเทศ และเมืองหลวงอย่างปารีสก็เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุโรป นอตเทรอดามเป็นผลงานชิ้นเอกอันยิ่งใหญ่อลังการของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส โดยมีจุดเด่นตรงที่ซุ้มโค้งยอดแหลม (pointed arch) และค้ำยันลอยหรือครีบยันลอย (flying buttress) ช่วยทำให้กำแพงสูงตระหง่านและบางได้ ส่วนหน้าต่างก็ใหญ่โตมโหฬาร เปิดรับแสงอย่างเต็มที ชาวอิตาลีที่นึกริษยาเรียกขานลักษณะเหล่านี้ว่า “กอทิก” (Gothic) ที่พวกเขาหมายความว่า “ป่าเถื่อน” แต่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสนี้กลับแพร่หลายไปทั่วยุโรป ผู้คนจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าได้ ก็ในลำแสงอันสูงส่งที่ทอดลงมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงต้นศตวรรษที่สิบเก้า นอตเทรอดามก็ประสบปัญหา การถูกโจมตีและการปล่อยปละละเลยนานหลายทศวรรษตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติใหญ่เมื่อปี 1789 ด้วยซ้ำ ทำให้อาสนวิหารทรุดโทรมเข้าขั้นอันตราย วีโอเล-เลอ-ดุก จึงเข้าร่วมด้วย เขาช่วยกอบกู้นอตเทรอดาม บูรณะค้ำยันและกระจกสี สร้างรูปปั้นแทนของเก่าที่ถูกนักปฏิวัติทุบทำลายและเพิ่มของใหม่ๆ ขึ้นมา ตอนสร้างยอดแหลม (spire) ที่ทำจากไม้ขึ้นมาใหม่ สูงกว่าของดั้งเดิมในยุคกลาง 15 เมตรนั้น เขาเพิ่มรูปหล่อทองแดงของอัครสาวกทั้งสิบสองขนาดใหญ่กว่าจริงมาก สิบเอ็ดองค์หันหน้าออกสู่เมืองปารีส ส่วนรูปที่สิบสองคือนักบุญทอมัสซึ่งเป็นคนช่างสงสัยนั้น วีโอเล-เลอ-ดุกจำลองใบหน้าของตนเองเอาไว้และจัดท่าให้นักบุญผู้นี้จ้องมองยอดแหลม ขณะนี้ โบสถ์อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชามิสซาอายุกว่า 800 ปี แห่งนั้นกำลังได้รับการกอบกู้อีกครั้ง
เย็นวันที่ 15 เมษายน ปี 2019 ก่อนเวลาหนึ่งทุ่มเล็กน้อย ขณะที่วีลเนิฟกำลังรีบร้อนออกจากบ้านของเขา แถบชายฝั่งแอตแลนติกเพื่อขึ้นรถไฟความเร็วสูงเที่ยวสุดท้ายไปปารีสอยู่นั้น ผมกำลังนั่งแท็กซี่ข้ามแม่น้ำแซน การจราจรติดขัดเคลื่อนตัวช้า ภรรยาผมมองออกไปนอกหน้าต่าง “นั่นนอตเทรอดามกำลังไหม้ไฟรึ” เธอถาม ผมพึมพำว่า อีกเดี๋ยวเขาคงดับไฟได้ ครู่ต่อมา เราเห็นเปลวเพลิงทะยานขึ้นไปบนยอดแหลมที่ทำด้วยไม้ ก่อนจะปกคลุมยอดนั้นไว้จนหมด
ทุกคนในฝรั่งเศสต่างจดจำได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนตอนนอตเทรอดามไฟไหม้ในคืนเดือนเมษายนนั้น ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง อยู่ที่พระราชวังเอลีเซ ทำเนียบประธานาธิบดี จึงรีบรุดไปยังอาสนวิหาร นอตเทรอดามคือ “ประวัติศาสตร์ของเรา วรรณคดีของเรา จินตนาการของเรา เป็นศูนย์กลางชีวิตของเรา” เขากล่าว ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ “เราจะร่วมแรงร่วมใจบูรณะมหาวิหารแห่งนี้ด้วยกัน”
ฤดูร้อนปีที่แล้ว ผมมายืนอยู่อยู่บนนั่งร้าน มองลงไปยังโพรงขนาดยักษ์ซึ่งเกิดจากยอดแหลมที่ตกลงมาใส่โครงสร้างทรงโค้ง (vault) ทำจากหิน ปลายยอดแหลมเจาะลงบนทางเดินโบสถ์จนเป็นหลุม ส่วนอีกหลุมหนึ่งอยู่ตรงปลายปีกตามขวางด้านเหนือ ระหว่างที่ไฟลุกโชนเผาผลาญ “ป่า” อยู่นั้น โครงยึดรูปสามเหลี่ยม (triangular truss) ทำจากไม้โอ๊กที่สูงประมาณสิบเมตรก็ร่วงเป็นทอดๆ ลงมาบนโครงสร้างทรงโค้ง เศษซากที่แตกหักร่วงผ่านหลุมเหล่านั้น ที่จุดศูนย์กลางโบสถ์ ไม้ที่ถูกเผาเป็นเถ้าถ่านและก้อนหินกองทับถมกันสูงกว่าหนึ่งเมตรอยู่บนพื้นอาสนวิหาร
เนื่องจากโครงสร้างทรงโค้งที่ได้รับความเสียหายยังอาจพังทลายลงมาได้ นักวิทยาศาสตร์จึงใช้หุ่นยนต์ ที่ควบคุมจากระยะไกลในการเก็บซากปรักหักพัง ส่วนพวกเขาต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษเพื่อกันฝุ่น สารตะกั่วและคัดกรองเศษวัสดุอยู่บริเวณทางเดินข้างโบสถ์ เก็บข้าวของทุกชิ้นที่อาจใช้เป็นข้อมูลสำหรับการบูรณะ หรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ระหว่างที่การเก็บกวาดพื้นของนอตเทรอดามดำเนินไปนั้น ต้องมีการเสริมความแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ผนังและโครงสร้างทรงโค้งพังลงมา
การบูรณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือสภาพสุดท้ายเท่าที่ทราบเป็นวิสัยปกติสำหรับนักบูรณะในฝรั่งเศส ตามกฎบัตรเวนิสที่ตราขึ้นเมื่อปี 1964 ในที่ประชุมนานาชาติของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้ใช้ระบบนี้ โดยระบุว่าเป้าหมายของการบูรณะทางประวัติศาสตร์ มิได้เป็นไปเพื่อให้ได้อาคารสวยงามที่สุด แต่ให้คงความ “ดั้งเดิม” ไว้มากที่สุดเพื่อเก็บรักษารายละเอียดต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ไว้
ค่ำเดือนเมษายนวันนั้น ผมกับภรรยาอยู่กับเพื่อนเก่ากลุ่มหนึ่งซึ่งมาเที่ยวปารีสครั้งแรก หลังอาหารค่ำที่ฝั่งขวาของแม่น้ำแซน เราตัดสินใจเดินกลับที่พักบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ในตอนนั้น สองฝั่งแม่น้ำแซนมีผู้คนยืนเรียงราย มองดูนอตเทรอดามในกองเพลิง
ระหว่างข้ามเกาะอีลแซง-หลุยส์ เราเดินเหยียบสายท่อน้ำซึ่งพนักงานดับเพลิงเดินสายเพื่อสูบน้ำขึ้นมา จากแม่น้ำ บนสะพานปงเดอลาตูร์แนล เราหยุดอยู่ใกล้ๆ กลุ่มนักร้องประสานเสียงที่มารวมตัวกันขับร้องเพลงแบบสดๆ พวกเขาร้องเพลงสดุดีแม่พระด้วยเสียงอันอ่อนโยน ผมชื่นชมทิวทัศน์บริเวณนี้มาแล้วหลายสิบครั้ง และนึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร หากอาสนวิหารแห่งนี้จะหายไปตลอดกาล
เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย โทมาส แวน ฮูทรีฟ
ศิลปกรรม เฟร์นันโด จี. บัปติสตา
ติดตามสารคดี นอตเทรอดามหลังเพลิงผลาญ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/540164