ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 มีการศูนย์เลี้ยงเด็กและโรงเรียนทั่วประเทศ พ่อแม่จากหลายครอบครัวต้องตกงาน อีกหลายครอบครัวต้องทำงานและเก็บตัวอยู่ที่บ้าน เด็กๆ นับล้านคนต้องกลายเป็น “บังเกอร์ เบบี้” (Bunker Babies) หรือเด็กในหลุมหลบภัย พวกเขาต้องเติบโตในยุคที่ห่างไกลจากความปกติที่เคยเป็นมา
หนึ่งในคำแรกที่ “Winnie” หนูน้อยวัย 3 ขวบพูดได้คือคำว่า “มาสก์” คุณ Nick Ruggia พ่อของเธอกังวลว่า Winnie จะมีมุมมองไม่ดีต่อโลกและชีวิต เช่นเดียวกับคุณ Mike John คุณพ่ออีกรายในวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งก็เป็นห่วงพัฒนาการทางสังคมของหนู “Luna” ลูกสาววัยสี่ขวบที่ต้องใส่หน้ากาก KN-95 ไปเรียน “เธอไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นหรือแม้แต่คุยกับเด็กวัยเดียวกันกับเธอ” คุณ John กล่าว พ่อแม่อีกหลายคนสอนให้ลูกระมัดระวังตัวจากการติดเชื้อ ในขณะที่บางครอบครัวสร้าง “เครือข่าย” พบปะระหว่างครอบครัวที่รักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับเดียวกัน
ไม่ว่าแต่ละครอบครัวจะใช้วิธีหรือมาตรการใดๆ เหล่าผู้ปกครองก็ยังกังวลถึงพัฒนาการของเด็กๆ ในชีวิตท่ามกลางโรคระบาด สถานการณ์ในระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กๆ ต้องเติบโตโดยขาดโอกาสเรียนรู้วิธีการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบยังเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ และการติดเชื้อมาพร้อมกับความเสี่ยงของอาการโควิดระยะยาวหรือ “‘ลองโควิด” (Long COVID) ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ หลากหลายปัจจัยสร้างแรงกดดันให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อยู่ในช่วงพัฒนาการที่สำคัญ
“ฉันคิดว่าไม่มีพ่อแม่ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบคนไหนที่ไม่รู้สึกเครียดในตอนนี้” คุณ Amy Learmonth ผู้ศึกษาพัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development) ที่มหาวิทยาลัยวิลเลี่ยม แพ็ตเตอร์สันกล่าว
คุณ James Griffin หัวหน้าศูนย์พัฒนาการและสุขภาพเด็กยูนิซ เคนเนดี้ ไชรเวอร์ (NICHD) กล่าวว่าการใช้ชีวิตแบบเก็บตัวจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการระยะยาวของเด็กหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่เดิมของแต่ละครอบครัว “หากเด็กหรือครอบครัวมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว การใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดจะทำให้ปัญหามีผลกระทบต่อเด็กรุนแรงขึ้นอีก” เช่นหากเด็กมีความเครียดตอนอยู่บ้าน พ่อแม่ต้องทำงานและไม่ค่อยมีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก หรือเด็กต้องสูญเสียคนที่รักไป เรื่องเลวร้ายเหล่านี้จะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในตัวเด็ก
โรคระบาดอาจมีผลกระทบต่ำต่อพัฒนาการด้านสัมคมในเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบ
การทดลองวัคซีนโควิด-19 สามเข็มสำหรับเด็กเล็กของ Pfizer-BioNTech ถูกคาดหมายว่าจะมีผลสรุปในเดือนเมษายนนี้ เมื่อวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ผู้ปกครองจึงกังวลว่าลูกๆ ของพวกเขาจะสามารถทำกิจกรรมอะไรที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้บ้าง
คุณ Amanda Jolly และครอบครัวอาศัยอยู่ในพอลส์ วอลเล่ย์ รัฐโอคลาโฮมา เธอเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนให้สมาชิกครอบครัวใกล้ชิดของเธอ และพยายามให้ Sage ลูกชายที่กำลังเรียนชั้นอนุบาลของเธอได้ใช้ชีวิตโดยปกติที่สุด ในขณะที่ครอบครัวของเด็กชาย Brody ใช้ชีวิตแบบระมัดระวัง ซึ่งหลังจากเกิดโรคระบาด คุณ Lindsey Dobin แม่ของ Brody ต้องตกงาน ในขณะที่คุณพ่อ Brett Dobin ซึ่งเป็นครูในเมืองนิวยอร์กต้องทำงานที่บ้านเมื่อโรงเรียนปิดและพวกเขาก็ใช้ชีวิตแบบ “หลีกเลี่ยงโลกภายนอก” ตั้งแต่นั้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา คุณ Lindsey ต้องกลับไปทำงานและเธอจำเป็นต้องพา Brody ไปฝากไว้กับศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แม้ว่าเธอจะดีใจที่ลูกชายอายุ 2 ขวบของเธอจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าสังคม แต่เธอก็ยังกลัวว่าสักวันหนึ่งลูกชายของเธอจะป่วย “ทุกคืนฉันต้องนอนกังวลว่าเขาจะป่วยรึเปล่า มันน่ากลัวมาก”
อย่างไรก็ดี การอยู่บ้านของเด็กวัยเยาว์อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร คุณ Seth Pollak นักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน กล่าวว่า “ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าพัฒนาการด้านสังคมของเด็กจะได้รับผลกระทบ” และ “เด็กเล็กยังไม่ค่อยอยากเล่นกับคนอื่นเท่าไหร่จนกว่าพวกเขาจะอายุราว 2 ขวบ” ซึ่งเด็กเล็กมักมีพฤติกรรมการเล่นแบบคู่ขนาน (parallel play) ที่มักเป็นการเล่นของเล่นคนเดียวโดยไม่ค่อยสนใจคนอื่น เมื่อเด็กอายุราว 3 ขวบ จินตนาการในการเล่นที่สูงขึ้นจะทำให้พวกเขาอยากมีเพื่อน
คุณ Amy Learmonth กล่าวว่าการที่เด็กเล่นกับเด็กคนอื่นเป็นการเล่นเชิงโต้ตอบ (interactive play) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและช่วยฝึกทักษะด้านสังคม การเล่นเชิงโต้ตอบช่วยให้เด็กเรียนรู้การเจรจา การแบ่งปัน การไม่แย่งของหรือทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเข้าใจว่าจะให้ทุกอย่างเป็นไปดั่งใจตัวเองคนเดียวไม่ได้
“การเล่นมักถูกเรียกว่าเป็นการพักผ่อนจากการเรียน แต่สำหรับเด็กๆ แล้วการเล่นนั้นคือการเรียนรู้ของพวกเขา” คุณ Fred Rogers พิธีกรรายการเด็กชาวอเมริกันผู้โด่งดังเคยกล่าว
สัญญาณที่ดี
งานวิจัยของทีมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ “AANP” ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมพัฒนาการตามวัย (developmental milestones) เช่นทักษะการใช้กล้ามเนื้อ (motor skills) การปฏิบัติตัวต่อคนแปลกหน้า การยิ้มตอบ การพูด การใช้คำศัพท์ ทักษะการแก้ปัญหาและพฤติกรรมอื่นๆ ในเด็กอายุ 6 ถึง 36 เดือน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมพัฒนาการตามวัยของเด็กที่เติบโตในช่วงโรคระบาดนั้นแทบไม่แตกต่างจากเด็กที่เติบโตก่อนช่วงโรคระบาดเลย ซึ่งผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างพัฒนาการด้านสัมคมระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่ม แต่พบความแตกต่างเล็กน้อยในทักษะการสื่อสารของเด็กอายุ 6-12 เดือนระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่ม
“การศึกษาของเรามีผลลัพธ์เป็นสัญญาณที่ดี” คุณ Bernadette Sobczak หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว
อย่างไรก็ดี การใช้ชีวิตช่วงโรคระบาดอาจเริ่มมีผลกระทบต่อเด็กที่ในปัจจุบันอายุ 3-6 ปี คุณ Anna Johnson สังเกตว่าเธอเห็นเริ่มเห็นความล่าช้าของพัฒนาการทางสังคมในเด็กบางคน และเธออธิบายว่าในช่วงก่อนโรคระบาด เด็กๆ มักได้รับการวินิจฉัยเรื่องพัฒนาการที่ล่าช้าอยู่เสมอ แต่ความกังวลของผู้ปกครองหลังเกิดโรคระบาดทำให้เด็กหลายคนไม่ได้มาหาหมอและรับการวินิจฉัย ซึ่งคุณ Johnson เป็นห่วงว่าเด็กบางคนอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที “เด็กส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจสอบพัฒนาการตอนช่วงอายุ 18 เดือนถึง 4 ขวบ เด็กอาจมีความล่าช้าด้านภาษาซึ่งแก้ได้โดยการช่วยเหลือตั้งแต่ระยะแรก แต่ถ้าเด็กพวกนั้นไม่ได้รับการวินิจฉัยล่ะ อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา?” คุณ Johnson กล่าว
นอกจากนี้ คุณ Seth Pollak กล่าวว่าภาวะโรคระบาดกำลังสร้างแรงกดดันให้หลายครอบครัว เด็กๆ ที่กำลังเข้าเรียนชั้นอนุบาลหลายคนมาจากครอบครัวที่มีปัญหาและขาดความอบอุ่น ซึ่งเด็กมักใช้เวลาที่บ้านอยู่กับหน้าจอดิจิทัลมากกว่าการพูดคุยกับคนอื่นหรือการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย ส่วนคุณ Cathi Propper นักวิจัยผู้ศึกษาพัฒนาการเด็กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนากล่าวว่าผู้ปกครองที่มีความเครียดและสภาพจิตใจย่ำแย่อาจมีปัญหาในการดูแลลูก ครอบครัวที่มีปัญหามักเป็นปัจจัยทำให้เด็กมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (adverse childhood experiences) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งด้านปัญญาและด้านสังคมในระยะยาวได้
แม้สถานการณ์อาจดูย่ำแย่ แต่ความรักและความอบอุ่นยังเป็นที่พึ่งให้เด็กๆ ได้เสมอ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการมีพ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งคอยมอบความเอาใจใส่และเป็นพื้นฐานมั่นคงสำหรับพัฒนาการทางสังคมแก่เด็ก จะช่วยเสริมสร้าง “ทักษะการฝึกใจให้แข็งแกร่ง” (resilience) ในตัวเด็กซึ่งช่วยให้พวกเขาฝ่าฝันเหตุการณ์ความยากลำบากในชีวิตได้ นอกจากนี้ การเอาใจใส่ให้เด็กได้ดูสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนให้กับเด็กได้
อย่างไรก็ดี การเข้าใจภาพรวมของเด็กรุ่นที่ต้องเติบโตในช่วงโรคระบาดยังคงต้องใช้เวลาอีกมากเนื่องจากการเก็บข้อมูลในช่วงโรคระบาดเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการวิจัยในเด็กเล็กแบบต่อหน้า อาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากการใส่หน้ากากบดบังสีหน้าและใบหน้า ส่วนการวิจัยโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์มักเป็นการเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองซึ่งไม่ได้มาจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งคุณ Griffin หัวหน้าศูนย์ NICHD กล่าวสรุปง่ายๆ ว่า “เรายังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ดีพอในตอนนี้”
ปัญหาในเด็กวัย 3-5 ขวบ
ในตอนนี้ คุณครูและโรงเรียนยังคงเป็นที่พึ่งสำคัญสำหรับหลายครอบครัว คุณ Amanda Jolly ซึ่งเป็นครูในย่านชนบทพอลส์ วอลเล่ย์ รัฐโอคลาโฮมาเล่าว่ามาตรการล็อกดาวน์ลดการแพร่เชื้อในปี พ.ศ. 2563 ถึง 2564 ทำให้เด็กๆ ต้องหยุดเรียนไปถึงหนึ่งปี คุณ Jolly แจกแจงและเล่าสิ่งที่เธอกำลังพบในตัวลูกชายและเด็กในชั้นอนุบาลคนอื่นๆ ของเธอ ซึ่งเด็กเหล่านั้นมีอายุราว 3-5 ปีในระยะแรกของโรคระบาด
“เด็กๆ คุ้นชินกับโรงเรียนยากขึ้น พวกเขาทำตัวไม่ถูกเมื่อมีเด็กๆ คนอื่นอยู่ด้วย การจะให้เด็กตั้งใจฟังหรือเรียนก็ยากขึ้น เด็กหลายคนแก้ปัญหาหรือทำอะไรด้วยตัวเองไม่ค่อยเป็น” ซึ่งคุณ Jolly กล่าวว่า แม้พฤติกรรมเหล่านี้จะพบได้ทั่วไปในเด็กอนุบาล แต่มันดูเหมือนว่าตอนนี้จะพบได้มากกว่าปกติ
เด็กๆ “ชอบกอด” มากขึ้น “พวกเขาต้องการความเอาใจใส่และกลัวการทำผิดพลาด” คุณ Jolly กล่าว และเธออธิบายว่าสถานการณ์กว่าสองปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบทางใจต่อเด็กๆ อย่างเห็นได้ชัด “เด็กบางคนต้องเสียคนที่รักไป พวกเขาจึงดูเศร้าและหม่นหมองอยู่เสมอ “ฉันรู้สึกว่ามีเด็กอารมณ์ร้อนมากขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ”
ความเหลื่อมล้ำก็กำลังขยายวงกว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน “เด็กๆ หลายคนบอกว่าเขาหิว และเด็กหลายคนเนื้อตัวไม่ค่อยสะอาดเหมือนก่อนด้วย” คุณ Jolly กล่าว
คุณ Anna Johnson กล่าวว่าคุณครูอนุบาลต้องพร้อมรับมือกับเด็กที่มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น “เด็กบางคนยังไม่เคยนั่งเก้าอี้ข้างเด็กคนอื่นและไม่เคยมีใครสั่งให้เขาเขียนอะไรมาก่อน เด็กบางคนอาจไม่ชอบเสียงดัง ไม่เคยมีตารางเวลาหรือต้องแบ่งของกับเด็กคนอื่น” ส่วนคุณ Griffin เปรียบชั้นอนุบาลว่าเป็นค่ายฝึกเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กที่จะเลื่อนชั้นขึ้น ป. 1 ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งถ้า “เด็กคนไหนที่ยังไม่พัฒนาทักษะการนั่งอยู่กับที่ การรอคิวตัวเองพูด การเข้าแถว การทำตามคำสั่งหรือทักษะอื่นๆ เมื่อขึ้น ป. 1 พวกเขาเสี่ยงต่อความล้มเหลวในระบบของโรงเรียน”
คุณ Johnson กล่าวว่าสำหรับเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา โรงเรียนมักเป็นตัว “ปรับสมดุล” โดยมีทั้งการให้อาหารและการดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอแก่เด็ก การปิดโรงเรียนช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เด็กบางคนขาดสิ่งเหล่านี้ไป ในตอนนี้โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจเด็กเพื่อช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติได้ อย่างไรก็ตาม คุณ Learmonth ไม่มั่นใจว่าเด็กๆ ทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ลำบาก และเด็กมีความต้องการพิเศษจะได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ
ภาพรวมยังคงอยู่ในแง่บวก
หากมองโดยภาพรวมแล้วทุกอย่างยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เด็กๆ หลายคนจะยังสามารถเติบโตได้เป็นปกติเนื่องจากมนุษย์วัยเยาว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความยืดหยุ่นสูงและปรับตัวเก่ง ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองสถานการณ์ในแง่บวก “โรคระบาดนี้คงไม่ได้ทำให้เด็กเกลียดการเข้าสังคมมากกว่าปกตินะ” คุณ Johnson กล่าว ซึ่งคุณ Pollak เห็นด้วยและสนับสนุนว่า “ผมคิดว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่จะยังเติบโตได้ปกติดีนะ ถ้าเราให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม”
สถานการณ์ของโรคระบาดกำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และโรคระบาดอาจกลายเป็นโรคท้องถิ่นในไม่ช้า แต่ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น เด็กๆ ก็มักไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง คุณ Pollak กล่าวว่า “เด็กๆ ชอบความมั่นคง” แค่การปรับเปลี่ยนกิจวัตรอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการนอนหลับหรือมีอารมณ์หงุดหงิดได้เป็นสัปดาห์จนกว่าจะชิน
คุณ Lindsey Dobin เล่าถึงตอนต้นปีที่เธอพาลูกชาย Brody ไปฝากศูนย์เลี้ยงเด็กว่า “เขาร้องไห้จะเป็นจะตายอยู่เป็นสามอาทิตย์ ฉันปวดใจมากที่เห็นเขาคร่ำครวญแบบนั้น” แต่ผ่านไปหกสัปดาห์ Brody ก็ไม่ร้องไห้อีก
คุณพ่อของหนู Winnie กำลังรอให้เธอได้ฉีดวัคซีนก่อนจะส่งเธอไปโรงเรียน ในระหว่างนั้น พวกเขาจะเล่นเกม อ่านหนังสือ วาดภาพและอาจใส่หน้ากากออกไปข้างนอกหากมีที่ที่พวกเขารู้สึกปลอดภัย เช่นสวนสัตว์หรือพิพิธภัณฑ์
คุณ Mike John หวังว่า Luna ลูกสาววัยสี่ขวบของเขาจะได้เรียนรู้ความรักและความสำคัญของการอยู่กับคนที่รักผ่านช่วงเวลาห่างไกลจากความปกตินี้ แต่เขาก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าลูกสาวจะเติบโตขึ้นด้วยความคิดที่ว่า “โลกมีอันตรายอยู่ทุกที่ ขาดความมั่นคงและอาจถูกล็อกดาวน์อีกเมื่อไหร่ก็ได้”
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเห็นตรงกันว่า “บังเกอร์ เบบี้” หรือเด็กในหลุมอาจขาดทักษะด้านสังคมไปบ้างแต่เด็กๆ คงไม่เป็นแบบนั้นไปตลอด แม้กระนั้น หากโรคระบาดกำลังชะลอการเติบโตของเด็กทุกคน ก็อาจกล่าวได้ว่าเด็กทุกคนก็กำลังเติบโตไปพร้อมกัน
เรื่อง SHARON GUYNUP
ภาพ JENNIFER MCCLURE
แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง