Digital Arts NFT : Red Cross x KX นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย

ครั้งแรกของการระดมทุน เงินฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย ในรูปแบบ NFT พร้อมนิทรรศการภาพฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ

ในช่วงวิกฤตการณ์หนักหนาทั้งหลายที่ประเทศไทยประสบผ่านมา สภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานอันดับแรกที่ผู้คนคิดถึง เพราะเป็นผู้เข้าบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันกับดำเนินการสนับสนุนต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะสิ้นสุดและความทุกข์จะคลี่คลายลง

‘เงินฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย’ เป็นหัวใจสำคัญเบื้องหลังที่ช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินงานของสภากาชาดไทยเดินหน้าได้เสมอมา เราเห็นรูปแบบการระดมทุนของสภากาชาด อย่างที่เคยชินก็จะเป็นงานกาชาด งานประจำปีครั้งใหญ่ที่คนไทยรอคอย จนสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักทำให้สภากาชาดปรับรูปแบบงานเป็นงานกาชาดออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีไม่แพ้กัน

ด้วยยุคดิจิทัลในปัจจุบัน วิสัยทัศน์ของการระดมทุนโดยสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย จึงปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มีแต่รุดหน้า และที่งาน Digital Arts NFT : Red Cross x KX นับเป็นครั้งแรกที่สภากาชาดได้นำผลงานภาพศิลปะฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดแสดงในรูปแบบ NFT บน Coral Platform ของกสิกร เอกซ์ (KX) และนิทรรศการ ณ ICON Art & Cultural Space ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM (ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565) โดยการสนับสนุนจาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  และไอคอนสยาม

ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้รับทราบถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นที่ภาพฝีพระหัตถ์​ จนนำมาสู่การจัดแสดงบนแพลตฟอร์มออนไลน์​ จาก 3 ภาคส่วนหลัก อันได้แก่ สภากาชาดไทย, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ KASIKORN X (KX)

 

ภารกิจด้านการบรรเทาทุกข์ของสภากาชาดไทย

โดย คุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย

สภากาชาดไทยเป็นองค์กรการกุศลระดับชาติ ปีนี้นับเป็นปีที่ 129 ของการก่อตั้ง ตลอดมาทางสภากาชาดไทยดำเนินภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปตามหลักกาชาดสากล โดยมีพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ งานให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข, งานบริการโลหิต, งานด้านบรรเทาสาธารณภัย และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วประเทศไทย ไม่เว้นพื้นที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึง

“เงินส่วนหนึ่งสำหรับการดำเนินงานตามพันธกิจถูกจัดสรรในรูปแบบเงินงบประมาณ และส่วนที่เหลือสภากาชาดไทยต้องระดมทุนเองในรูปแบบการเปิดรับบริจาค หรือการจัดกิจกรรมหารายได้ในรูปแบบต่างๆ” คุณจันทร์ประภาเล่าถึงความสำคัญของ เงินฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย

“ตามพันธกิจในเรื่องของการดูแลผู้ประสบภัยโดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ เป็นงานที่สภากาชาดไทยต้องดูแลในเรื่องความช่วยเหลือจากการเกิดสาธารณภัยตามฤดูกาลตลอดทั้งปี ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย หรือภัยหนาว และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก็เป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่งที่เรียกว่าโรคระบาด ความช่วยเหลือที่สภากาชาดไทยกระจายให้กับผู้ได้รับผลกระทบมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นความเสี่ยงแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือรายได้น้อย รวมทั้งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือแรงงานต่างด้าว”

“ในขณะเดียวกัน ถ้ายังจำกันได้ ระหว่างช่วงปีที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุอุทกภัยไปพร้อมกันด้วย นั่นจึงเป็นที่มาว่า หากในอนาคตเกิดเหตุเช่นนี้อีก สภากาชาดไทยจะระดมเงินช่วยเหลือจากประชาชนไม่ทันท่วงที จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งทุนเงินฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย”

งานระดมทุนนับเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม “เป็นงานที่ต้องทำแบบบูรณาการ” ไม่เฉพาะกับหน่วยงาน แต่กับแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ทางสภากาชาดเองก็มีช่องทางออนไลน์สำหรับการระดมทุนผ่านทางเวบไซต์ www.donationhub.or.th การจัดทำแอปพลิเคชั่น พ้นภัย (PhonPhai) กับงานแจ้งเตือนภัยพิบัติและอาสาสมัคร, งานกาชาดออนไลน์ หรืองานกาชาดคอนเสิร์ต

“สภากาชาดไทย โดยเฉพาะสำนักงานจัดหารายได้ปรับเปลี่ยนวิธีการค่อนข้างเยอะในเรื่องของการหารายได้ โดยเฉพาะเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา จะเป็นงานหารายได้ที่จะเป็น CSR กับภาคองค์กรก็ดี หรือจะเป็นกิจกรรมที่สำนักงานจัดหารายได้จัดเองก็ดี ถูกยกเลิกไปเยอะมากเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด เราจึงต้องเดินก้าวเข้าไปสู่โลกดิจิทัล แม้จะไม่ได้ร่วมสนุกด้วยตัวเองอย่างที่ผ่านมา แต่อย่างน้อยก็ให้ผู้ที่มีส่วนร่วมหรือคนที่เฝ้ารองานกาชาดได้เห็นว่าสภากาชาดไทยก็ปรับตัวในเรื่องของการหารายได้ ให้รู้ว่าเราอยากให้ทุกคนยังคิดถึงเรา และงานกาชาดก็ยังอยู่ในใจของคนทุกเพศทุกวัยทั้งครอบครัว”

และงานล่าสุดจากสภากาชาดในรูปแบบดิจิทัล กับงานแสดงศิลปะ NFT ผลงานฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ

“ในขณะเดียวกันเมื่อความทราบถึงฝ่าละอองพระบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ และที่สำคัญก็คือ ช่วงนี้โควิดยังไม่คลี่คลาย ก็อาจจะมีภัยพิบัติอื่นๆ เกิดขึ้น เมื่อความทราบถึง ก็ทรงพระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์มาให้สำนักงานจัดหารายได้ นำไปต่อยอดในเรื่องของกิจกรรมหารายได้”

ผลงานฝีพระหัตถ์ทั้งหมดจำนวน 32 ภาพบรรจุมุมมองและเรื่องราวส่วนพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังมีคุณค่าทางจิตใจต่อพสกนิกรทั้งหลาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของสำนักงานจัดหารายได้เพื่อร่วมระดมทุนจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน

“ครั้งนี้เหมือนกับสภากาชาดไทยได้ไปเปิดหน้าร้านในโลกดิจิทัล” คุณจันทร์ประภากล่าว “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเป็นปฐมศิลปินพระองค์แรกของร้านสภากาชาดไทยในแพลตฟอร์มใน Coral ให้ได้จัดแสดงและเผยแพร่ ไม่เฉพาะคนในบ้านเรา แต่กับผู้คนทั่วโลก และที่สำคัญก็คือเป็นงานศิลปะที่ช่วยสภากาชาดด้วย อันนี้คือสิ่งที่เป็นสิริมงคลและความภาคภูมิใจ”

 

เรื่องราวส่วนพระองค์ผ่านภาพฝีพระหัตถ์
โดย คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ภาพฝีพระหัตถ์ที่คัดเลือกมาทั้ง 32 ภาพจากทั้งหมด 60 ภาพ เป็นภาพที่อยู่ในช่วงเวลาระยะเริ่มต้นที่ทรงงานศิลปะตั้งแต่พระชนมายุ 8 พรรษา จนกระทั่งถึงปี 2538 สิริรวมเวลา 32 ปี “สาเหตุที่คัดเลือกภาพในช่วงเวลานี้ เพราะว่า ภาพส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพที่เป็นสมบัติส่วนพระองค์ สามารถที่จะติดตามเพื่อบันทึกภาพได้ โดยคณะกรรมการจะมาช่วยคัดเลือกด้วยหลักด้านความสวยงาม เอกลักษณ์ของพระองค์ท่าน และมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจ”

คุณนิติกรเริ่มต้นเล่า “หากว่าท่านใดที่ได้มาชมนิทรรศการนี้ หรือมีโอกาสหาข้อมูล ก็จะพบว่าพระองค์ท่านนอกจากที่จะเขียนภาพแต่ละภาพแล้ว ยังทรงเล่าเรื่องเบื้องหลังเกี่ยวกับภาพด้วยว่า แต่ละภาพมีความหมายอย่างไร” โดยภาพฝีพระหัตถ์ในช่วงเหล่านี้ถูกบันทึกลงในหนังสือ ‘ทอสีเทียบฝัน’ ที่คุณนิติกรใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล

ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ในกรมสมเด็จพระเทพฯ แบ่งออกเป็นยุคสมัย เริ่มต้นตั้งแต่ยุคแรกในช่วงต้น 2500 เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดการเขียนภาพฝีพระหัตถ์ด้วยสีน้ำมัน “และในขณะนั้นเอง กรมสมเด็จฯซึ่งยังทรงพระเยาว์คงจะได้ทอดพระเนตรเห็นงานของทูลกระหม่อมพ่อซึ่งทรงงานอยู่ในช่วงเวลานั้น ก็สนพระทัย พระองค์ทรงขอพระราชทานสีเหลือจากทูลกระหม่อมพ่อ เพื่อมาทรงเริ่มเขียนรูป”

“ตัวอย่างรูปที่สำคัญของกรณีนี้ก็คือ แจกันสีม่วง ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเดียวกับที่ ร.9 ยังทรงงานฝีพระหัตถ์ภาพเขียนสีน้ำมัน และผมก็เชื่อว่าคงจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องของศิลปะตั้งแต่นั้นมา เพราะว่าพระราชบิดาก็มีความสนพระทัยและทรงงานด้านนี้เป็นงานอดิเรกของพระองค์ท่านที่ค่อนข้างจะจริงจังและมีจำนวนมากมาย”

ช่วงถัดมาขณะยังทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา ทรงมีโอกาสได้ทรงงานศิลปะมากขึ้น โดยเฉพาะกับครูเทะรุโอะ โยะมุระ ครูวาดเขียนสีน้ำชาวญี่ปุ่น และครูประพาส ปานพิพัฒน์ ครูศิลปะผู้เชี่ยวชาญหัตถศึกษา “อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ผมอาจจะมีส่วนเกาะเกี่ยว เพราะผมก็เรียนที่โรงเรียนจิตรลดาเหมือนกัน หลังจากพระองค์ท่านประมาณ 7-8 รุ่น แต่ว่าครูทั้งสองท่านก็เป็นครูของผมด้วย เพราะฉะนั้นผมก็จะทราบถึงแนวทางในการสอนของครูทั้งสองท่านเป็นอย่างไร และพระองค์ท่านก็ยังทรงรำลึกถึงครูทั้งสองท่านอยู่เสมอ”

ช่วงถัดมาเป็นช่วงที่ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องของจิตรกรรม และได้มีการทูลขอให้อาจารย์พิเศษมาสอนเพิ่มเติม หนึ่งในนั้นมีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติร่วมถวายการสอนศิลปะด้วย “พระองค์ท่านเองได้รับสั่งถึงงานศิลปะของพระองค์เองว่า ไม่ได้ยึดถือเรื่องของทฤษฎีทางศิลปะใดๆ เพราะว่าทรงสนุกกับการทำงานวาดเขียนตามแต่พระราชหฤทัยจะโปรด ท่านทรงออกตัวว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ไม่มีทฤษฎีใดๆ คิดอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น”

“เอกลักษณ์โดดเด่นของงานศิลปะฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านคือ งานแต่ละชิ้นมักจะทรงโปรดให้เขียนรวดเดียวให้เสร็จ จะมีลักษณะที่รวดเร็ว ฉับไว เรียกว่าเด็ดเดี่ยว ไม่โปรดที่จะร่างเส้นไว้ก่อน แต่ดูเหมือนจะมีรูปเดียวที่ทรงใช้เวลานานเป็นพิเศษ ก็คือรูปที่ชื่อ วนาศรม ภาพนี้ทรงเขียนเอาไว้ และทรงตั้งพระทัยมาก ถ้าดูจะมีรายละเอียดมากต่างจากภาพอื่น และน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรงเขียนไม่เสร็จ ทิ้งไว้นานเป็นปี แล้วทรงค่อยกลับมาเขียนใหม่จนเสร็จ”

เรื่องราวของภาพวาดฝีพระหัตถ์ดำเนินต่อเนื่องตามช่วงเวลาและความสนพระราชหฤทัยร้อยเรียงตามพระราชประวัติ “เพราะว่าโครงการนี้จะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เราจะยังดำเนินต่อเนื่องในเฟสถัดไป เพราะยังมีภาพยุคหลังอีกจำนวนมาก ที่น่านำมาบอกเล่าและจัดแสดงให้ประชาชนได้ร่วมชม” คุณนิติกรกล่าวทิ้งท้าย

 

จากนิทรรศการ สู่นวัตกรรมของ NFT บน Coral Platform
โดย คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X (KX)

Coral เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้งานศิลปะฝีพระหัตถ์ถูกถ่ายทอดสู่สายตาของผู้คนทั่วสากลโลก มาจากฝีมือของทีมงานของ KASIKORN X หรือ KX สตาร์ทอัพด้าน DeFi (Decentralized Finance) โดยเครือ KBTG ที่พึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564

“ทุกครั้งที่ Coral สื่อสาร เราจะพูดเสมอว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถส่งพลังให้กับผู้คนจำนวนมหาศาลได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินมืออาชีพ หรือคนธรรมดาที่มีความเป็นศิลปินในตัว” คุณธนะเมศฐ์เริ่มต้นเล่า “Coral เกิดขึ้นมาในช่วงระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เราจึงตั้งธงว่า ในทุกข้อความที่เราสื่อสาร เราจะทำให้ศิลปินเชื่อมั่นว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยศิลปะ”

นวัตกรรม คือสิ่งที่ทำให้ Coral แตกต่างจากแพลตฟอร์มด้าน NFT อื่นๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของทีมนวัตกรที่ต้องการแก้ไขปัญหาหรือจับจุดอ่อนจากการใช้งาน NFT มาสร้างโซลูชั่นเพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด “ถ้าเราจะแก้อะไร เราต้องแก้ที่กระดุมเม็ดแรก”

“วิธีการทำงานของ Coral ให้มองว่าเราเป็นฝ่ายซัพพอร์ต สภากาชาดไทยคือแม่งาน แล้วสภากาชาดจะประกอบร่างแบบไหน ทุกคนจะมาช่วยกัน วิธีการจัดการของเราคือ ทางฝั่งไทยเบฟโดยคุณนิติกรจะดูและเรื่องงานศิลปะทั้งหมด ส่วน Coral เป็นแพลตฟอร์มที่โจทย์ของเราคือการคิดนวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังที่เป็นแบบ Hybrid หรือผสมผสานระหว่างการชำระเงินในแบบปัจจุบันกับโลกของ NFT โดยที่เราจะต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งาน พัฒนาทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบและเต็มที่ ตั้งแต่การจัดแสดงงานทางดิจิทัล ไปจนถึงการชำระเงิน เรียกว่า Coral เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่เราโฟกัสว่า เราคือ DeFi platform แต่คุณได้ NFT ของจริง”

Coral จึงเป็นเหมือนกับตลาดของดิจิทัลอาร์ตซึ่งสามารถซื้อได้ด้วยเงินทั่วไป และเหรียญคริปโต โดยความท้าทายในการพัฒนาระบบในครั้งนี้คือ แคมเปญและธุรกรรมขนาดใหญ่ ต่อยอดไปสู่การลงทุนที่ได้ทำดี พร้อมกับส่งต่อเงินบริจาคไปสู่ปลายทางที่ได้ช่วยเหลือผู้คนได้จริง “ความยากคือเราเป็นคนแรกที่ทำ และเราต้องคิดว่าจะใช้วิธีการหรือนวัตกรรมไหนเพื่อให้ทุกอย่างราบรื่นให้ได้ดีที่สุด”

“แคมเปญนี้นับว่าเป็นเกียรติสูงที่สุดที่ได้มีโอกาสทำงานนี้ครับ” คุณธนะเมศฐ์ทิ้งท้าย “ผมแชร์กับทางทีมว่า NFT ที่จะเป็นงานระดับเปลี่ยนชีวิตขนาดนี้ในชีวิตมันคงจะมีไม่เยอะ นอกจากนั้น งานนี้ยังทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นไปได้ของ NFT อนาคตผมคิดว่างานนี้เป็นเหมือนกับงานจุดพลุเริ่มต้น สำหรับคนที่อยากบริจาค งานครั้งนี้ก็จะเป็นมิติใหม่ให้ได้ทดลองเข้ามาในโลกศิลปะในแบบดิจิทัล”

 

Digital Arts NFT : Red Cross x KX งานจัดแสดงภาพศิลปะฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565 ที่ ICON Art & Cultural Space ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM และในรูปแบบ NFT บน Coral Platform ของกสิกร เอกซ์ (KX)

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ นันทิยา บุษบงค์


อ่านเพิ่มเติม Escape Routes ทางไปต่อที่ยั่งยืนของศิลปะร่วมสมัยในไทย ต้องเกิดจากใครบ้าง?

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.