ใต้พิภพนครลอนดอน

เรื่อง รอฟฟ์ สมิท
ภาพถ่าย ไซมอน นอร์โฟล์ก

ในห้องปฏิบัติการที่เปิดไฟสว่างจ้าเหนือพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่ง ลอนดอน หรือโมลา (Museum of London Archaeology: MOLA) ลุยซา ดูอาร์เต กำลังทำความสะอาดภาพปูนเปียกขนาดใหญ่สมัยศตวรรษที่หนึ่งอย่างเบามือ ภาพนี้ส่งมาจากสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งบนถนนไลม์ ใจกลางย่านธุรกิจการเงินของ ลอนดอน  เมื่อไม่กี่วันก่อน คนงานซึ่งกำลังขุดดินเพื่อวางรากฐานอาคารสำนักงานสูง 38 ชั้นแห่งใหม่พบซากปรักสิ่งก่อสร้างยุคแรกๆของชาวโรมัน ผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์คาดว่า  ซากปรักดังกล่าวมีอายุอยู่ในราว ค.ศ. 60  ภาพนี้จึงเป็นภาพปูนเปียกของชาวโรมันอายุเก่าแก่ที่สุดภาพหนึ่งเท่าที่เคยพบในกรุงลอนดอน อีกทั้งขนาดที่ยาวเกือบสามเมตร สูงเกือบสองเมตร ยังทำให้เป็นภาพขนาดใหญ่ที่สุดและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดภาพหนึ่งด้วย

นักโบราณคดีเชื่อว่า ภาพปูนเปียกนี้เคยประดับสิ่งก่อสร้างที่ถูกรื้อทิ้งในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่สอง เพื่อสร้างบาซิลิกา (basilica) หรืออาคารศาลสถิตยุติธรรม และฟอรัม (forum) หรือลานประชาคมแห่งใหม่อันอลังการ นับเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดมโหฬารที่สุดเท่าที่ชาวโรมันเคยสร้างไว้ทางเหนือของเทือกเขาแอลป์ ใหญ่โตกว่ามหาวิหารเซนต์ปอลในปัจจุบันด้วยซ้ำ  บ้านเรือนทั้งหมดในบริเวณนั้นถูกรื้อถอน แล้วสร้างบ้านเมืองตามวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่  บนที่ดินเดิม นับเป็นครั้งแรกของการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองซึ่งเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วง 1,900 ปีต่อมา

หากลอกผิวทางเดินของมหานครเก่าแก่อย่าง ลอนดอน ออก คุณจะได้พบสารพัดสิ่ง ตั้งแต่ภาพปูนเปียกสมัยศตวรรษที่หนึ่งของชาวโรมันไปจนถึงรองเท้าสเก็ตน้ำแข็งยุคกลางหรือแม้แต่ฟันของช้าง ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ลอนดอนจึงเป็นนครที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดมาและมีการก่อสร้างซ้อนทับกันมายุคแล้วยุคเล่า ตั้งแต่ยุคของชาวโรมัน แซกซัน นอร์แมน ทิวดอร์ จอร์เจียน มาจนถึงยุควิกตอเรีย ด้วยเหตุนี้ กรุงลอนดอนปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนชั้นเค้กทางโบราณคดีที่สูงเกือบเก้าเมตรเลยทีเดียว

การก่อสร้างใกล้สถานีรถไฟใต้ดินแฟร์ริงดอนเผยให้เห็นกรุงลอนดอนในยุคกลาง การทดสอบโครงกระดูกของผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคซึ่งฝังอยู่ใกล้ๆแสดงให้เห็นว่า กรุงลอนดอนในสมัยนั้นดึงดูดผู้คนจากที่ห่างไกลเข้ามาเช่นเดียวกับในปัจจุบัน

ความท้าทายสำหรับนักโบราณคดีคือ ลอนดอนยังเป็นมหานครอันพลุกพล่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่กว่าแปดล้านคน แออัดด้วยถนนที่รถแล่นกันขวักไขว่ ตึกระฟ้า และสถาปัตยกรรมอันอลังการ โอกาสที่จะเปิดผ้าคลุมคอนกรีตออกแล้วสำรวจผืนดินที่อุดมด้วยศิลปวัตถุจึงเป็นไปได้ยากและทำได้เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น ทว่าโครงการวิศวกรรมสำคัญๆและอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เติบโตอย่างรวดเร็วในย่านใจกลางทางโบราณคดีของกรุงลอนดอนก็เปิดโอกาสให้ได้ยลสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผิวดินและเจาะลึกอดีตของมหานครแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นนั้นมีมากมายมหาศาล บางส่วนเป็นศิลปวัตถุหลายล้านชิ้นซึ่งครอบคลุมประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติตามแนวแม่น้ำเทมส์  ตั้งแต่ต้นยุคหินกลางเมื่อราว 11,000 ปีก่อน จนถึงยุควิกตอเรียตอนปลายในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า  สิ่งที่พบยังรวมถึงกระดูกของชาวลอนดอนผู้วายชนม์หลายพันคนและ ถูกฝังไว้ในสุสาน ก่อนจะมีการก่อสร้างทับและถูกลืมมานานหลายศตวรรษ

“การขุดค้นเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่อันน่าทึ่งของชาวลอนดอนในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมาครับ” ดอน วอล์กเกอร์ นักวิทยากระดูกมนุษย์จากโมลา กล่าว “ทำให้เราตระหนักว่า เราทุกคนเป็นเพียงตัวละคร ตัวเล็กๆที่ผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของลอนดอนเท่านั้นเอง”

สิ่งที่มีคุณูปการใหญ่หลวงที่สุดต่องานด้านโบราณคดีของกรุงลอนดอนคือโครงการครอสส์เรล (Crossrail Project) โครงการทางรถไฟใต้ดินในแนวตะวันออก-ตะวันตกสายใหม่นี้เป็นทั้งโครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่สุด และการขุดค้นทางโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งแต่เริ่มงานมาเมื่อปี 2009 อุโมงค์ยาว 42 กิโลเมตรและสถานที่ก่อสร้างกว่า 40 แห่งของโครงการนี้ทำให้พบศิลปวัตถุและฟอสซิลแล้วหลายพันชิ้น ครอบคลุมช่วงเวลาถึง 70,000 ปี

ประชากรลอนดอนครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในช่วงกาฬโรคระบาดระหว่างปี 1348 ถึง 1350 ผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งคือเจ้าของโครงกระดูกที่ขุดพบใกล้จัตุรัสชาร์เตอร์เฮาส์เหล่านี้

การขุดค้นที่ใหญ่ที่สุดและน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเริ่มขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ตรงหน้าสถานีรถไฟถนนลิเวอร์พูลอันจอแจ แผนการสร้างห้องโถงขายตั๋วโดยสารใต้ดินทำให้ต้องขุดผ่านสุสานเบดแลมเก่าแก่ ซึ่งเป็นสุสานประจำเมืองแห่งแรกในกรุงลอนดอน งานนี้ทำให้ต้องขุดโครงกระดูกของชาวลอนดอนกว่า 3,300 คนขึ้นมา คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงศตวรรษที่สิบหกและสิบเจ็ด อันเป็นช่วงเวลาที่ท้องถนนของนครลอนดอนคลาคล่ำไปด้วยผู้ป่วยกาฬโรค

ผมกับเจย์ คาร์เวอร์ หัวหน้านักโบราณคดีของโครงการครอสส์เรล กำลังยืนอยู่บนแท่นสังเกตการณ์เหนือแหล่ง  ขุดค้น ภายในหลุมเบื้องล่าง ทีมนักโบราณคดี 30 คนในชุดหมีสีส้ม พร้อมหมวกนิรภัยสีน้ำเงิน กำลังปัดเศษดินออกจากหน้าผากของกะโหลกศีรษะ เชื่อกันว่าโครงกระดูกจำนวนมากที่ขุดขึ้นมานี้เป็นของเหยื่อผู้เสียชีวิตในช่วงกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 1665 ซึ่งคร่าชีวิตชาวลอนดอนไประหว่าง 75,000 ถึง 100,000 คน จากประชากรทั้งหมด 450,000 คน

นักวิทยาศาสตร์มีแผนจะทดสอบโครงกระดูกบางโครง โดยหวังว่าจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของแบคทีเรียก่อกาฬโรค “ความลี้ลับยิ่งใหญ่ประการหนึ่งก็คือ เหตุใดกาฬโรคจึงไม่เคยกลับมาระบาดในลอนดอนอีกเลยหลังจากปี 1665” คาร์เวอร์พูด “ก่อนหน้านั้น มันเป็นแขกที่มาเยือนลอนดอนค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ไม่เคยมาอีกเลยหลังจากนั้น เพราะเหตุใด มีอะไรเปลี่ยนไปหรืออย่างไร เราหวังว่าการทดสอบนี้จะให้คำตอบได้บ้าง”


อ่านเพิ่มเติม ลอนดอนผงาด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.