ทุ่นระเบิดสังหาร: สงครามไม่รู้จบของผู้รอดชีวิต

ตลอดพื้นที่ 2,557 ตารางกิโลเมตรตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาปนเปื้อนวัตถุระเบิดจากหลายทศวรรษก่อนนับล้านลูก เทียบได้กับการพบวัตุระเบิดในทุก 2.5 ตารางเมตรทั่วพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการรวมกัน

ก้าวอันตรายในทุ่งสังหารที่ไม่อาจรู้ว่าสิ่งใต้ฝ่าเท้าที่เยียบลงไปนั้นจะเจอทุ่นระเบิดแบบไหนบ้าง คือสิ่งที่ต้องต่อสู้และกอบกู้ของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม

ผลไม้หนามแหลมคมกลิ่นฉุนรุนแรงกำลังเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นในตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ความฝันของเกษตรกรหลายคนฝังไว้ใต้พื้นที่หลายสิบไร่รอบเขตหมู่บ้านทับทิมสยาม 01 ก่อนที่ฝนแรกฤดูจะมาถึง แนวพื้นที่ใกล้ชายแดนกัมพูชานี้ก็เริ่มมีรถแบคโฮคันโตดาหน้าเดินเครื่องปรับไถหน้าดิน โดยหวังว่าในฤดูฝนครั้งหน้า ต้นกล้าที่ปลูกจะออกดอกผล

แต่ในความเป็นจริง วัตถุหนามแหลมสนิมเกรอะจากใต้ดินเป็นกองพะเนินที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมกองทัพเรือ หรือ นปท.ทร. หอบมารวมกันคือ “ขวากเหล็ก” หนึ่งในอาวุธสงครามที่ยังตกค้างอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

“เคยได้ยินว่าตรงนู้นตรงนี้เจอระเบิด แต่ยังไม่เคยเจอเอง นี่เป็นครั้งแรก จังหวะที่รถแบคโฮตักขึ้นมาก็มีระเบิดร่วงลงมาเลย 3-4 ลูก”  วิโรจน์ มุขเลิศ ย้อนเหตุการณ์ “เจอระเบิดครั้งแรก” เมื่อกำลังดูแลรถแบคโฮปรับหน้าดินในเตรียมปลูกทุเรียน  เขามีพื้นเพเป็นชาวจันทบุรีที่ทั้งครอบครัวย้ายเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดตราดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ล้มลุกคลุกคลานทำงานกับบุพการีตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี จึงเคยได้ยินและได้เห็นเรื่องราวของระเบิดมาก่อน แต่เนื่องจากทั้งครอบครัวอาศัยห่างจากแนวชายแดนที่ถูกระบุให้เป็น “พื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด” เขาจึงวางใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยได้ยินมา

เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) จากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมกองทัพเรือ กำลังเตรียมหลุมสำหรับระเบิดทำลายวัตถุระเบิดที่ค้นพบในพื้นที่ โดยปกติ หากพบวัตถุระเบิดและสามารถเก็บกู้ได้ เจ้าหน้าที่จะนำไปทำลายในพื้นที่ที่ปลอดภัยและห่างไกลจากผู้คน แต่เนื่องจากวัตถุระเบิดที่พบในครั้งนี้มีจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่จะเกิดระเบิดระหว่างการเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่จึงขออนุญาต วิโรจน์ มุขเลิศ เจ้าของสวนและแจ้งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อทำลายในบริเวณนั้นเลย

ด้วยพบประสบการณ์สวนยางที่ราคาผันผวนในวัยหนุ่ม ทำให้เขาหันไปลงทุนปลูกไม้ผลเศรษฐกิจส่งออกแทน และสร้างรายได้จนสามารถเลี้ยงดูลูกหลานให้อยู่สบาย จนเขาคิดขยับขยายพื้นที่เพื่อหวังจะมอบเป็นมรดกให้หลานทั้ง 5 คนต่อไปในอนาคต  เพราะทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้น 5 ปีหลังจากลงกล้าจึงจะเริ่มให้ผล และให้ผลต่อไปได้เรื่อยๆ ตลอดอายุไข โดยสวนทุเรียนของวิโรจน์กว่าร้อยละ 70 ออกผลจนเก็บเกี่ยวได้หมดแล้ว แต่พื้นที่สวนที่ตรวจพบวัตถุระเบิดนี้ต้องผ่านการเก็บกู้วัตถุระเบิดให้หมดสิ้นเสียก่อน

เนินเขาในพื้นที่ทำกินของนายวิโรจน์เปลี่ยนไป หลังทหารพรานนาวิกโยธินที่ 1 ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเข้ามาตรวจสอบเบื้องต้นก็พบเป็นวัตถุระเบิด จากการตรวจพิสูจน์โดยเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) จากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมกองทัพเรือ สามารถระบุวัตถุระเบิดและอาวุธสงครามได้มากถึง 4 ชนิด เป็นเครื่องกีดขวางแบบขวาก ลักษณะเป็นเหล็กแหลม โดยรอบมีหลักการทำงานคล้ายตะปูเรือใบในปัจจุบัน  อาวุธต่อสู้รถถังสองชนิดคือ ลูกระเบิดอาร์พีจี 2 (RPG 2) จำนวน 16 นัด ลูกกระสุนปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ขนาด 82 มิลลิเมตร จำนวน 43 นัด  ที่เหลือคือทุ่นระเบิด ประเภทสังหารบุคคลสะเก็ดระเบิดฝักข้าวโพด ชนิดพีโอเอ็ม-ซี (POM – Z) จำนวน 1 ลูก และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกระโดดระเบิด ชนิดพีพี-เอ็มไอ-เอสอาร์ (PP-MI-SR) จำนวน 1 ลูก สองสิ่งสุดท้ายนี้คืออาวุธสงครามอันโหดร้ายทารุณ หากมันทำงานเต็มกำลัง น้ำหนักไม่กี่กิโลกรัมจะทำปฏิกิริยากับแป้นรับน้ำหนัก ผู้เคราะห์ร้ายจะถูกแรงระเบิด PP-MI-SR เหวี่ยงร่างโดดเหนือพื้นดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร ฉีกทึ้งขาหรือรยางค์ตามตัว ก่อนจะตกลงมากระแทกพื้นและซ้ำด้วยคมสะเก็ดระเบิดเหล็กจาก POM – Z ที่พุ่งกระจายตัวปักชิ้นเนื้อที่เหลืออยู่ในรัศมีอันตรายหวังผล 20 เมตร นั่นหมายถึงการไม่มีอะไรเหลือ แม้กระทั่งชีวิต

เรือเอกรณฤทธิ์ ศรีสถิตย์ ตำแหน่งหัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด นปท.ทร.(นปท.2) เล่าว่า เมื่อกองป้องกันจันทบุรีและตราดแจ้งเรื่องเข้ามา ก็มาสำรวจและพบว่ามีจำนวนเกินกว่าที่คาดไว้

สภาพพื้นที่เนินดินเป็นหย่อมๆ ที่ผ่านการเตรียมหน้าดินสำหรับทำสวนทุเรียนของ วิโรจน์ มุขเลิศ อยู่ติดถนน เข้าถึงง่ายและอยู่ห่างไกลจากชายแดน ทำให้การพบวัตถุระเบิดและวัตถุสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก ทั้งหมดอยู่ภายในกองดินเนินสูงขนาดพอๆ กับรถแบคโฮขุดดิน ฐานถูกพันด้วยเชือกและคำเตือนห้ามเข้า รอเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) มาเก็บกู้

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะเจอในหมู่บ้านทับทิมสยาม 01 เยอะขนาดนี้ เพราะเป็นพื้นที่ไม่ทุรกันดาร มีถนนลาดยางเข้าถึงและไกลจากแนวชายแดน 3-4 กิโลเมตร การพบวัตุระเบิดในครั้งนี้เป็นการวางทุ่นที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ตอนแรกจึงคิดว่าเป็นเพียงลูกระเบิดที่ถูกยิงมาแล้วด้านเท่านั้น แต่นี่เปรียบเหมือนเป็นคลังระเบิดเลยก็ว่าได้ ระเบิดที่อันตรายที่สุดคือชนิดที่ยิงออกมาแล้วไม่ระเบิด เพราะกลไลยังพร้อมทำงาน จึงปรึกษากับทหารที่รับผิดชอบพื้นที่และผู้ใหญ่บ้านว่าตรงนี้มีระเบิดเยอะมาก และอันตรายในการขนย้าย จึงขอทำลาย ณ ตรงนั้นเลย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด จาก 3 วิธีที่เราปฏิบัติ นั่นคือ ทำให้เลื่อมสภาพด้วยน้ำยาเคมี เผา หรือระเบิดทิ้ง  เพื่อที่ไม่ให้แรงระเบิดรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งจำกัดสะเก็ดระเบิด สิ่งที่ต้องวางแผนคือต้องคำนวณระยะปลอดภัยของสะเก็ดระเบิด คำนวณการใช้ดินระเบิดในแต่ละหลุมระเบิดให้พอดี”

——-

ย้อนไปเกือบ 50 ปีที่แล้ว การสู้รบรุกคืบเข้ามาถึงประเทศไทยจากสงครามกัมพูชาประชาธิปไตยหรือสงครามกลางเมืองกัมพูชา (เขมรแดง) ในช่วงปี 2518-2524 เวลาเพียง 4 ปีเศษนี้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.67 ล้านคน  แม้สงครามนี้จะปิดฉากไปนานแล้ว แต่มรดกจากยุคสงครามสมัยใหม่แบบกองกำลังกึ่งทหารที่ใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร ก็ตกทอดทุ่นระเบิดฝากฝังไว้ตลอดแนวชายแดนซึ่งยังคงสังหารและทำร้ายประชาชนพลเรือนอยู่จนถึงวันนี้

ในอดีต มีผืนดินจำนวนหลายแสนไร่ที่เคยเป็นสมรภูมิรบ ทั้งบ้านชำรากในจังหวัดตราด, พื้นที่รวงผึ้งในจังหวัดอุบลราชธานี และจุดลี้ภัยอย่างศูนย์อพยพไซท์เค ศูนย์อพยพชมรมสุขสันต์ (ไซท์อี) ที่ตั้งขึ้นในตำบลด่านชุมพลเพื่อรองรับชาวกัมพูชาที่อพยพลี้ภัยสงครามก่อนปิดตัวลงในปี 2535 และกลายเป็นหมู่บ้านทับทิมสยาม 01 ในปัจจุบัน

นับตั้งแต่ปี 2516  การสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านผลัดกันมีชัยมาโดยตลอด แต่ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังเล็กๆ หรือกองทัพฝ่ายรัฐที่พ่ายแพ้ ต่างก็ถอยร่นเข้ามาในรั้วประเทศไทย พร้อมกับการวางทุ่นระเบิดเพื่อห้ำหั่นอีกฝ่ายกลับคืน เมื่อการสู้รบสงบลงราวชาวบ้านต่างกลับภูมิลำเนาตนเอง แต่กลับพบว่าบ้านของพวกเขากลายเป็นทุ่งสังหารไปเสียแล้ว

เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) กำลังเก็บกู้ คัดแยก และเช็คจำนวนวัตถุระเบิดและอาวุธสงครามทั้งหมดที่พบ โดยมี ลูกระเบิดอาร์พีจี 2 (RPG 2) จำนวน 16 นัด ลูกกระสุนปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ขนาด 82 มิลลิเมตร จำนวน 43 นัด ทุ่นระเบิด ประเภทสังหารบุคคลสะเก็ดระเบิดฝักข้าวโพด ชนิดพีโอเอ็ม-ซี (POM – Z) จำนวน 1 ลูก และทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกระโดดระเบิด ชนิดพีพี-เอ็มไอ-เอสอาร์ (PP-MI-SR) จำนวน 1 ลูก รวมไปถึงอาวุธสงครามชนิดต่างๆ เช่น ขวาก

ก่อนการสำรวจสนามทุ่นระเบิดในประเทศไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) ในปี 2543 ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่ามีพื้นที่อันตรายต้องสงสัยราว 800 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อสิ้นสุดการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2545 ตัวเลขพื้นที่ที่คาดว่าจะปนเปื้อนทุ่นระเบิดทวีคูณกว่าสามเท่า ครอบคลุมพื้นที่ 2,557 ตารางกิโลเมตร ใน 48 อำเภอ 18 จังหวัด พื้นที่ที่มีสนามทุ่นระเบิดและมีจำนวนทุ่นระเบิดหนาแน่นที่สุดเมื่อเปิดแผนที่ใช้นิ้วไล่เขตชายแดนด้านประเทศกัมพูชา ไล่มาตั้งแต่จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ มาถึงจังหวัดศรีสะเกษ ล้วนแต่ปูพรมทุ่นระเบิดที่อาจตกค้างอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านลูก มีประชาชนได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 5 แสนคน ทั้งจากผลกระทบจากอันตรายจากทุ่นระเบิด และผลจากการไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่อาศัย และทำมาหากินได้

เกษตรกรมักพบวัตถุระเบิดและอาวุธสงครามในพื้นที่จังหวัดตราดโดยบังเอิญ บริเวณชายเขาบรรทัดในแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตประชาชนบ่อยครั้ง  ประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นประเทศลำดับที่ 33  ในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Ordnance : UXO)  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อนุสัญญาออตตาวา” ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยปฏิบัติหลักในการทำลายทุ่นระเบิดของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2540 ได้ดำเนินการทำลายทุ่นระเบิดตามพันธสัญญา และปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทยก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ทุ่นระเบิดที่พบมากในประเทศไทย แบ่งตามประเทศผู้ผลิตได้ 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และเวียดนาม การจำแนกชนิดทุ่นระเบิดในแต่ละพื้นที่สามารถนำมาวิเคราะห์รูปแบบการวางระเบิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการค้นหา เช่น หากพบทุ่นระเบิดดักรถถังแสดงว่าในพื้นที่นี้อาจเคยเป็นจุดส่งกำลังในรูปแบบของยานพาหนะ หรือการพบทุ่นระเบิดแบบสะเก็ดระเบิดหรือแบบกระโดดระเบิดจะวางเป็นแนวในระยะใกล้กัน อย่างระเบิดสังหารบุคคลโดยเฉพาะเอ็ม 14  (M14) เอ็ม 16 เอ 2 (M16A2) ที่มักนิยมนำมาวางเป็นกลุ่มทุ่นระเบิดร่วมกับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกระโดดระเบิด M16A2 ที่มีรัศมีอันตราย 30 เมตร เป็นจุดเริ่มและในระยะไม่เกิน 3 เมตร จะวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่กับที่ M14 ไว้รอบอย่างน้อย 4 ทุ่น กลุ่มทุ่นระเบิดมักถูกวางสับกันเป็นฟันปลาต่อเนื่องกันไป ทำให้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรกลายเป็นทุ่นสังหารได้ในพริบตา

นอกจากเนินดินจุดที่พบวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) ยังใช้เครื่องตรวจโลหะตรวจพื้นที่รอบๆเนินเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีจุดไหนที่มีระเบิดหลงเหลืออยู่

นอกจากนี้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่กับที่ชนิดพีเอ็มเอ็น (PMN)  อานุภาพแม้ไม่ถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้พิการได้ การเก็บกู้จึงต้องทำอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะบริเวณแป้นรับน้ำหนักด้านบนทุ่นระเบิด หากมีแรงกดจะทำให้ทุ่นระเบิดทำงานได้ หรือประเภทกระโดดระเบิดไทป์ 69 (TYPE 69) รัศมีอันตรายมากถึง 183 เมตร เพียงมีแรงน้ำหนักกดทับเล็กน้อยไม่ถึงก้าวเต็มน้ำหนักระเบิดก็จะทำงานทันทีและทำลายสิ่งใดก็ตามที่อยู่ระยะรัศมีหวังผล 27 เมตรให้เป็นจุณ

เพราะคมมัจจุราชใต้ฝ่าเท้าไม่เลือกผู้เคราะห์ร้าย จึงต้องมีขั้นตอนในการทำงานที่เคร่งครัด ก่อนเข้าสำรวจพื้นที่เจ้าหน้าที่จะสืบค้นข้อมูลเก่า เช่น ข้อมูลจากสถิติที่ผ่านมาว่าในพื้นที่มีการสู้รบกับอย่างไร ฝั่งไหนเป็นผู้วางระเบิด ผู้ประสบภัยเคยเหยียบกับระเบิดตรงไหนบ้าง ต่อมาคือตรวจเช็กข้อมูลใหม่จากการเข้าไปสอบถามในชุมชนยืนยันว่าข้อมูลนี้ตรงกับข้อมูลเก่ามากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากนั้นสำรวจพื้นที่จริงเพื่อจำแนกพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่อันตรายออกจากกันจะเริ่มขึ้นและวางขอบเขตการดำเนินการตามขั้นตอน ยกเลิกหรือการปรับลดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อไป หากพื้นที่นั้นไม่มีข้อสงสัยหรือหลักฐานยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดในพื้นที่ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการยกเลิกพื้นที่อันตราย แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ต้องย้อนกลับมาที่เส้นทางการเก็บกู้

การกำหนดพื้นที่เซฟเลน (safe lane) ก่อนเข้าไปเก็บกู้อย่างปลอดภัย เริ่มจากกำหนดเขตในแนวระนาบ 100 เซนติเมตร และเมื่อใช้เครื่องตรวจจับโลหะไม่ส่งสัญญาณเตือน จึงค่อยขยายขอบเขตไปด้านหน้า  ถ้าเสียงเตือนดังขึ้นหลังจากส่งการสัญญาณเจอโลหะจากส่วนใดส่วนหนึ่งของอาวุธสงคราม ไม่ว่าจะเป็นกระสุน เครื่องกีดขวาง หรือทุ่นระเบิด เจ้าหน้าที่ค้นหาจะวางสัญลักษณ์ระบุตำแหน่งก่อนจะถอยออกมาเพื่อแจ้งให้พลพิสูจน์ทราบเข้าไปทำงานต่อ เมื่อเช็กว่าไม่มีลวดสะดุดที่เป็นตัวดึงสลักทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกระโดดระเบิดก็ถือว่าหายใจโล่งได้อีกหนึ่งเฮือก

“ขวากเหล็ก” หนึ่งในอาวุธสงครามที่ยังตกค้างอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

อุปกรณ์คล้ายเกรียงนำมาปรับใช้การเก็บกู้วัตถุระเบิด  ผิวดินถูกแซะออกอย่างเบามือในมุมเฉียง 45 องศาเท่านั้น เพราะตัวจุดฉนวนมักอยู่แนวระนาบดิน การทะเล่อทะล่าสุ่มเสียบอะไรก็ตามลงในพื้นที่เสี่ยงทุ่นระเบิดก็ไม่ต่างอะไรกับการดึงสลักระเบิดใส่ตนเอง เจ้าหน้าที่ทุกรายที่ปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิด หน่วยเก็บกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรมจึงต้องผ่านการฝึกฝนอย่างชำนาญก่อนลงสนามจริง ทั้งสำรวจทางเทคนิค นิรภัย เก็บกู้ และทำลาย

เครื่องมือที่พกไปจึงไม่ใช่แค่สำหรับการตรวจจับหรือนิรภัยทุ่นระเบิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสียมเล็กใหญ่ กรรไกรตัดหญ้าและมีดพร้าเพื่อเบิกทางขวากหนาม แต่ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่น เพราะพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดส่วนใหญ่หลบรี้เร้นหายเมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นป่ารกชัฏ ริมถนนที่ประชาชนใช้สัญจรในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในน้ำที่เรามองไม่เห็น การพบหัวระเบิด RPG โผล่พ้นระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วงแร้ง ที่อำเภอบ่อไร่ วัตถุระเบิด กระสุนปืนอาก้า และปลอกกระสุนกว่าร้อยนัดในอ่างเก็บน้ำหน้าแล้งยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้

—-

“การทำงานมีความเสี่ยงและยากด้วยจากการเดินทาง ไปพื้นที่สูง พื้นที่ภูเขา มีสัตว์อันตราย มีพิษ ต้องไปเช้าเย็นกลับ คนที่จะทำงานเก็บกู้ระเบิดจะต้องผ่านการอบรมการใช้เครื่องตรวจ การเก็บกู้วัตุระเบิดมาก่อน และต้องผ่านเกณฑ์จึงจะเข้าพื้นที่ทำงานได้ ต้องรอบครอบ ใจเย็น รีบร้อนไม่ได้”  เรือเอกรณฤทธิ์อธิบายต่อว่า จนกว่าจะรู้ว่าคือระเบิดต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์อย่างยิ่งยวด

“หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมทั้ง 4 หน่วย ทำงานภายใต้ภารกิจดำเนินการกวาดล้าง เก็บกู้ทุ่นระเบิด และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ด้านนปท.ทร. มีส่วนรับผิดชอบใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรีและตราด ผมเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ  ในการทำงานมีทีมงานทั้งหมด 2 คนหน้าที่ทำลายและเก็บกู้วัตถุระเบิดก็คือผม และเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด พันจ่าเอกศักดิ์ชัย สังฆะกาโร และอีกสามทีมที่จบหลักสูตรศูนย์บัญชาการทุ่นระเบิด สามารถใช้เครื่องตรวจและเก็บกู้เมื่อพบเจอวัตถุระเบิดสามารถนิรภัยก่อนเคลื่อนย้ายมาเก็บไว้ แต่หากเกินขีดความสามารถของทั้งสามชุดที่นิรภัยได้ ก็จะเรียกทีมผมให้เข้าไปรับช่วงต่อแทน”

วิโรจน์ มุขเลิศ เจ้าของสวนและเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) เดินสำรวจจุดพื้นที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่จะใช้เป็นจุดระเบิดทำลายวัตถุระเบิดทั้งหมดที่เก็บกู้ได้

ความยากง่ายของการรื้อถอนจะขึ้นอยู่ที่พื้นที่ด้วย เพราะทุ่นระเบิดไม่ได้ถูกแค่ฝังเพียงวันสองวันแต่ฝังมากว่าสี่สิบปีแล้ว บ่อยครั้งที่รากไม้กิ่งไผ่พันกับตัวทุ่น หรือการใช้เหล็กแทงศอกจนขัดกับแป้นรับน้ำหนักทำให้ระเบิดทำงานก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว  “แต่ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ” หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด นปท.ทร.ย้ำ

การทำงานตามภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี หลังจากแจ้งเตือนให้ความรู้แก่ชาวบ้าน หน่วยแพทย์ อสม. อส.ทร. ว่าระเบิดเป็นวัตถุอันตราย “ถ้าเจอ อย่าจับ ให้จดจำ และรีบแจ้ง”  เรือเอกรณฤทธิ์ให้ข้อสังเกตว่าจำนวนผู้ประสบภัยก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ  และในปีนี้ยังไม่มีผู้ประสบภัยร้ายแรงที่เป็นประชาชนในพื้นที่เลยสักรายเดียว จะมีก็เพียงแต่ทหารอาสาหรือทหารพรานที่ในปีก่อนพลาดเหยียบกับระเบิดเท่านั้น

ต้นเดือนมีนาคมเจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดฐานทับทิมสยาม นำตัว อส.ทพ.เรืองเดช ทองนาบัว ลงจากเชิงเขาบรรทัด บริเวณจุดผ่านแดนช่องธรรมชาติที่รู้จักกันในนาม ช่องกระดูกช้าง ระหว่างการออกลาดตะเวนพลาดท่าเดินเหยียบกับระเบิดชนิด M14 /M14A1หรือแบบตลับครีมทำให้ระเบิดทำงานทันที สร้างบาดแผลฉกรรจ์บริเวณเท้าข้างขวา กระดูกฝ่าเท้าแตกหัก ซากรองเท้าคอมแบตที่ฉีกขาดบ่งบอกอนุภาคทำลายล้างได้เป็นอย่างดี

ดินส่งขับจรวด (Propellant) หนึ่งในวัตถุระเบิดที่พบในกองเนินดิน ลักษณะเป็นเส้นๆ สีขาว เป็นวัตถุระเบิดแรงต่ำ ติดไฟง่าย ลุกไหม้รวดเร็ว ใช้สำหรับจุดไฟโดยรักษาระยะจากเป้าหมาย

แต่ชาวบ้านธรรมดาอย่างนายอำพล หอยสังข์ ไม่ได้มีรองเท้าที่สามารถเป็นฉนวนป้องกันได้ขนาดนั้น บ้านชั้นเดียวโบกปูนเปลือยที่ชายชราวัย 81 อาศัยอยู่กับนางสุดารัตน์ ภรรยาคู่ยากวัย 69 ปี ในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด  แต่เดิมมีอาชีพทำสวนทำไร่ รับจ้างทั่วไป แม้จะคุ้นตากับทหารเขมรที่เคยแวะมาหลบผูกเปลนอนพักแถวหลังบ้าน แต่ไม่วายต้องหลบภัยสงครามนี้เช่นกัน

“กินข้าวอยู่ก็ต้องทิ้งชามข้าวเลย ได้ยินเสียงดัง ‘ปุ้ก’ ไม่เกิน 5นาทีเท่านั้นละก็ต้องวางข้าว แล้วรวมลูกเมียมาหลบใต้โต๊ะกินข้าวเพื่อกันสะเก็ดที่จะมาถึง” นายอำพลเล่าที่มาของ คำว่า “กินข้าวทิ้งชาม” ด้วยเสียงดังฟังชัดเป็นเอกลักษณ์

ปี 2534 ไม่มีเปลทหารและเสียงปุ้กเหลืออยู่แล้ว ทว่าการเดินขึ้นไปบนเขาแนวหลังบ้านตามปกติกลับเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น  แรงระเบิดทำลายข้อเท้าขวาและต้องตัดอวัยวะส่วนที่เสียหายทิ้งไป เสาหลักไม่มั่นคงในเวลาลูกที่เพิ่งอายุเพียง 8 ขวบผลักให้ นายอำพลต้องสวมขาเทียมออกไปรับจ้างทำสวนหาเลี้ยงชีพดังเดิม

“ทุกวันนี้อายุมากขึ้นยิ่งเดินยิ่งเจ็บหนักกว่าเก่า  เพราะเนื้อมันหายไปมีแต่หนังหุ้มกระดูกแข้ง แต่เราก็ต้องแข็งใจ ไม่งั้นเราก็จะไปไม่รอด ถ้าถอดขา (เทียม) ออกก็ไม่เหลือ ไปไหนก็ต้องคลาน”

—-

ในเดือนสิงหาคม 2562 เสียงระเบิดดังกึงก้องต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาสิบวันที่เนินตรวจการณ์ 152 บ้านภักดีแผ่นดิน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เพื่อทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล 3,313 ทุ่น มีผลทำให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐภาคีฯ ที่ไม่มีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในการครอบครองอีกต่อไป ซึ่งเป็นการทำลายทุ่นระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด ตามความร่วมมือปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาออตโตวา

ควันฟุ้งกระจายจากการระเบิดทำลายวัตถุระเบิด โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) จะกดระเบิด จะมีการสำรวจพื้นที่รอบๆเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านทราบและออกจากพื้นที่รัศมีระเบิดเพื่อความปลอดภัย

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงการสูญเสียที่เลวร้ายจากภัยทุ่นระเบิดสังหารบุคคล วันที่ 4 เมษายนของทุกปีจึงกำหนดเป็น “วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล”  ในประเทศ ผู้แทนจากหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดตราดและภาคประชาชนร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิดเชิงสัญลักษณ์  พลโทกนิษฐ ชมะนันทน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติในขณะนั้น กล่าวในวันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล 2565 ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนพื้นที่ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง  “ประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดรวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดอยู่เพียง 45 ตารางกิโลเมตร คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2566 ”

ในทุกวันการทำงานของเจ้าหน้าทุกรายยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยไร้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างสิ้นซาก และสิ้นเสียงนับเลขถอยหลังให้สัญญาณ “fire in the hole” เป็นครั้งสุดท้าย “…สาม สอง หนึ่ง จุดระเบิด!”

ขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์ปฎิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ TMAC

หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมกองทัพเรือ

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ICRC

เรื่อง ภุมรินทร์ วณิชย์เจริญนำ

ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา


อ่านเพิ่มเติม มรดกบาปแห่งสงคราม

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.