เช้าวันหนึ่ง เด็กนักเรียนรวมตัวเข้าแถวกันอย่างเป็นระเบียบที่สนามคอนกรีตของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี นักเรียนชายสองคนกำลังยุ่งกับการแก้เชือกและผืนธง ขณะลมร้อนเดือนสิงหาคมพัดผ่านไปมาระหว่างห้องเรียนกับห้องพัก มุ่งสู่โดมมัสยิด เหนือทะเลมาร์มาร่าอยู่รำไร ธงสีฟ้าพลิ้วปลิวไสว เผยสัญลักษณ์ดวงดาวกับเสี้ยวพระจันทร์สีขาว ตัวแทนของ ชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ หรือซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน
เฮบิบูลลาฮ์ คิวเซนิ ผู้อำนวยการโรงเรียน พูดออกลำโพงย้ำเตือนให้นักเรียนศึกษาภาษาอุยกูร์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา และวรรณกรรมอุยกูร์ นอกจากนี้ เขายังอธิบายความหมายบนธงชาติว่ารูปดาวและจันทร์เสี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม และธงสีฟ้า คือ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์อุยกูร์
“วันหนึ่งธงชาตินี้จะโบกสะบัดไสวในบ้านเกิดของพวกเรา”
“พร้อมแล้วหรือยัง”
“พร้อมแล้ว!” เด็กๆ ตอบกลับผอ. เป็นเสียงเดียวกัน พร้อมทาบมือขวาไว้บนอกขณะเพลง ‘March of Salvation’ เพลงชาติเตอร์กิสถานตะวันออกบรรเลงขึ้น
ในซินเจียง การเชิดชูอัตลักษณ์ความเป็น ชาวอุยกูร์ อย่างเปิดเผยเช่นนี้ ถือว่าผิดกฎหมายร้ายแรง
ในพิธีจบการศึกษาภาคฤดูร้อนของโรงเรียนนี้ เด็ก ๆ จะได้รับประกาศนียบัตร ท่องบทกวีถึงดินแดนที่ไม่สามารถกลับไปเยี่ยมได้ ร้องเพลงที่ถูกสั่งห้ามในจีน และเต้นรำตามแบบประเพณีเดิม ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองบางคนก็เข้าร่วมพิธี ใช้กล้องมือถือเก็บภาพความสุขแบบที่สังคมอื่นทั่วไปทำ เพราะการแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยวิธีอื่นใด คือ ‘การต่อต้าน’ สำหรับชาวอุยกูร์
หลังพิธีจบการศึกษา ทาคามาซา ชัยดา ผู้เป็นแม่ ยังถ่ายรูปเล่นกับลูกชายวัย 10 และ 13 ปี และลูกสาววัย 6 ขวบ เดิมทีเธอเป็นคนอุรุมชี เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทว่าในปี 2008 เธอย้ายมาอยู่กับสามีที่จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น และไม่สามารถกลับประเทศได้อีกเลย เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายผสานกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นปี 2017 กดขี่ชนเผ่าอุยกูร์และชนเผ่าอื่น ๆ เมื่อลูก ๆ ของเธอเริ่มกลืนไปกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เธอจึงตัดสินใจส่งลูก ๆ มาเรียนหนังสือในอิสตันบูลช่วงวันหยุดฤดูร้อน
ลูก ๆ ของชัยดา มีเพื่อนส่วนมากเป็นเด็ก ๆ ในชุมชนท้องถิ่น เด็กบางคนเป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ถูกกักขังโดยรัฐบาลจีนในซินเจียง และเด็กคนอื่น ๆ มาจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา ลูกชายของชัยดาสองคนเรียนพูดและเขียนภาษาอุยกูร์ คนหนึ่งท่องกลอนระหว่างพิธีด้วย “ฉันเกือบจะร้องไห้แล้ว” ชัยดากล่าว เธออธิบายว่าช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีความหมายต่อเธอมากเพียงใด “ฉันใช้เวลาหลายปีในต่างแดน ฉันและคนอุยกูร์ล้วนคิดถึงบ้านเกิดอย่างมาก”
กลุ่มชนเผ่าอุยกูร์ ในเชิงชาติพันธุ์และเชิงภาษาศาสตร์ ถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกับชาวเตอร์กิก ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก อาศัยอยู่ในประเทศจีนและเป็นชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดชาติพันธุ์หนึ่งของจีน และต้องเผชิญกับการกดขี่รูปแบบต่าง ๆ นาวนานหลายทศวรรษ
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้นโยบายผสานกลืนด้านวัฒนธรรม ประกาศห้ามชนกลุ่มน้อยแสดงออกทางวัฒนธรรมและศาสนาอื่นใด พร้อมกักขังผู้กระทำผิดมากกว่า 1 ล้านคนในคุก เกิดค่ายกักกันในนาม “ค่ายปรับทัศนคติซินเจียง” บังคับการทำหมันในเพศหญิง และหน่วงเหนี่ยวเด็กนักเรียนด้วยการส่งไปเรียนโรงเรียนประจำ
สัดส่วนชาวอุยกูร์ที่อาศัยในต่างแดนหรือหลบหนีออกจากประเทศก่อนนโยบายข้างต้นจะดำเนินการ กลายเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ในทวีปเอเชียกลาง คนอุยกูร์กว่า 50,000 ราย อาศัยอยู่ในประเทศตุรกี ส่วนชาวอุยกูร์กลุ่มย่อยอื่น อาศัยในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชี้ว่านโยบายของทางการจีนเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ คนอุยกูร์ถูกบังคับให้ออกจากดินแดนบ้านเกิด หากยังอยากรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ก่อร่างสร้างตัวมาจากความคิด ความเชื่อของคนในสังคมที่มองว่าเป็นสิ่งดีงาม และพร้อมใจกันปฏิบัติร่วมกันในสังคม เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ความเป็นอุยกูร์ทุกวันนี้ ที่กำลังแปรเปลี่ยนเป็นอื่น เพราะแม้แต่วิธีการพูดของชาวอุยกูร์บางกลุ่มในตุรกีอาจไม่ได้เห็นในซินเจียง
คนอุยกูร์ในอิสตันบูลส่วนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ในแซทินบูรนา ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ร้านขายเนื้อ ร้านขายของชำ และร้านบูติกขายผ้าไหมและเครื่องประดับต่าง ๆ จากซินเจียง
บนถนนอับดุลเจลิลอันเงียบสงบ มีร้านหนังสือของทูรัน ชายวัย 64 ปี ผู้เติบโตมาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 ทำให้เขาเห็นตำรวจเผาหนังสือที่ถูกยึดต่อหน้าต่อตา และตอนนี้เขาก็กังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีก “ร้านนี้จะช่วยเก็บรักษาหนังสือไว้” ทูรันกล่าว “เพราะถ้านโยบายดูดกลืนวัฒนธรรมในจีนยังเป็นเช่นนี้ต่อไป หนังสือในร้านเราจะเป็นตัวแทนหนังสือที่ถูกทำลายในเตอร์กิสถานตะวันออก”
ทูรันยังเสริมว่า วรรณกรรมและบทกวีมีความสำคัญต่อชาวอุยกูร์เป็นอย่างมาก บางทีอาจเป็นเพราะว่า ตัวหนังสืออนุญาตให้พวกเขาแสดงความเห็นและความรู้สึกออกมาได้ แม้ว่าทางรัฐบาลจะไม่เห็นชอบก็ตาม นักเขียนอุยกูร์จะนำเหตุการณ์จริงมาแต่งเป็นนวนิยาย และก็เป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกทางการไล่ต้อนหลังการปราบปรามชาวอุยกูร์ปี 2017 ทูรันสุ่มเปิดหนังสือสารานุกรมเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อุยกูร์ และชี้ใบหน้าของนักวิชาการคนหนึ่งว่าเขาเสียชีวิตในค่ายกักกันตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว เขาจึงทำงานอุทิศตัวตน รวบรวม และเก็บรักษาหนังสือในร้านแห่งนี้ เพื่อไม่ให้ใบหน้าและรายชื่อของเหล่านักเขียนสูญหายตามเจตนาของรัฐบาลจีน
เมเมท โทฮทิ อาทาวูลลา นักวิชาการ ครูสอนวรรณกรรม และนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์วัย 32 ปี ผู้อาศัยในอิสตันบูลเล่าว่า เขามีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารและสนทนากับนักเขียนชาวอุยกูร์ชื่อดังคนหนึ่ง “พวกเราเขียนทุกอย่างที่ควรจะเขียนแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ ใช้ชื่ออื่นเล่าเรื่อง” นักเขียนไม่ประสงค์ออกนามคนนี้กล่าวอีกว่า “เพียงแค่คนรุ่นใหม่อย่างนาย แทนชื่อปลอมต่าง ๆ ด้วยชื่อจริง นี่ก็คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาวอุยกูร์”
ดนตรีอุยกูร์เกี่ยวพันโดยตรงกับการเมืองและการต่อต้านเช่นเดียวกับวรรณกรรม
มือกีตาร์ อา. คีลิฌ ใช้ชีวิตพเนจรในตุรกี หลังการปราบปรามชาวอุยกูร์ในซินเจียง เขาเริ่มประพันธ์ดนตรีแบบอุยกูร์ให้เข้ากับบทเพลง เพื่อเน้นย้ำความทุกข์ทรมานของชาวอุยกูร์ รวมถึงยังเป็นคนอัดเพลงให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนร้องประสาน แต่เขาเลือกที่จะไม่เปิดเผยใบหน้าและชื่อจริงหลังจากปล่อยเพลง บางส่วนอาจเป็นเพราะว่า คนอุยกูร์ไม่เป็นอิสระจากระบบความมั่นคงของทางการจีนในแผ่นดินประเทศตุรกีอย่างแท้จริง มีคนอุยกูร์จำนวนมากถูกตำรวจตุรกีจับกักขัง ด้วยสาเหตุว่าดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเร่งย้ายถิ่นฐานไปยุโรป
“ขอชีวิตของฉันคืน ไม่ต้องการสิ่งใดอื่น”
“ไร้ซึ่งความคิด ช่างทรมานรวดร้าว สิ้นแล้วซึ่งความหวัง”
บทเพลงตัดตอนบางส่วนประพันธ์โดย อับดุลกาดีร์ ญะลาลิดิน ระหว่างที่เขาอยู่ในค่ายกักกัน ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
แม้ว่าวัฒนธรรมอุยกูร์บนดินแดนสองทวีปกำลังกลืนหายไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นี่ ทว่าชีวิตในตุรกีก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอุยกูร์ในซินเจียงอยู่ดี โดยเฉพาะคนอุยกูร์รุ่นก่อนที่เคร่งศาสนามากกว่าสมัยอยู่ในซินเจียง ผู้หญิงให้ความสำคัญกับการสวมนิกอบ ปิดบังทั่วทั้งใบหน้าเว้นรอบดวงตาไว้ ขณะเดียวกัน ผู้ชายก็ไว้เครายาวไม่โกนออก และต้องแยกฝั่งชาย-หญิงในงานสังคมหรือพิธีกรรมต่าง ๆ
โมฮัมเม็ดมองว่า ความเป็นอุยกูร์ต้องควบคู่ไปกับการเป็นมุสลิมด้วย “ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของพวกเรา ศาสนาอิสลามเป็นโล่ป้องกันอัตลักษณ์ของชาวอุยกูร์มาโดยตลอด” เขาเสริมว่า “ยิ่งใครเชื่อในอัลลอฮ์อย่างแรงกล้า ก็ยิ่งมีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์สุดแข็งแกร่ง”
ดีลนูร เรย์ฮัน นักวิชาการและหัวหน้าสถาบันอุยกูร์ยุโรปในปารีส ร่วมประท้วงกับกลุ่มอุยกูร์ที่ย้ายจากอิสตันบูลมาฝรั่งเศส เขาถามสาเหตุของการย้ายออกจากตุรกีแล้วได้ความว่า ตุรกีไม่ได้ปลอดภัยสำหรับชาวอุยกูร์อีกต่อไป ไม่ได้รู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้านแล้ว
เรย์ฮันกล่าวว่า เธอยังเป็นชาวมุสลิม และก็ยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอุยกูร์กับศาสนาอิสลามออกจากกัน เธอยังเชื่ออีกว่าโชคชะตาจะปกป้องคนอุยกูร์ที่ต้องระหกระเหิน แยกห่างจากคนรัก ช่วยต่อความหวังว่า วันหนึ่ง คนอุยกูร์จะได้กลับบ้าน
ภาพ แพทริก แว็ก
แปล สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย