ประชาชนเบียร์ กับพันธกิจแห่งวิถีชีวิตของเครื่องดื่มที่เชื่อมโยงผู้คน

เรื่องราวของ ประชาชนเบียร์ เบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต กับความสุขที่เป็นสิทธิ์ของทุกคน

ประชาชนเบียร์ – เบียร์และสุราพื้นบ้านหลังการปลดล็อกกฎกระทรวงในการยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำและกำลังการผลิตขั้นต่ำ สำหรับการผลิตสุราพื้นบ้านและผู้ประกอบการรายเล็กเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นเหมือนอีกก้าวสำคัญของระบบนิเวศธุรกิจของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้นน้ำที่เกษตรกรถึงปลายน้ำที่ผู้บริโภค ซึ่งจะเกิดการพัฒนาและเติบโตในทางสร้างสรรค์จากต้นทุนภูมิปัญญาที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

“ผมเคยคุยกับสรรพสามิต เขาบอกว่าในเมืองไทยมีคนจดทะเบียนสุราชุมชนประมาณพันกว่าแบรนด์ แล้วทำไมคนเหล่านั้นจึงไม่สามารถเข้ามาอยู่ในขบวนหรือระบบได้” ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ และหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน Beer People Festival 2023 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11-12 มีนาคมนี้ เล่าให้เราเห็นภาพใหญ่ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับวิถีชีวิตของคนไทย

ไม่ว่าจะเป็นภาพของสุราพื้นบ้านในภาพจำที่คุ้นเคย หรือคราฟต์เบียร์ที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ “วัฒนธรรมของการกินดื่มที่เคยมองว่าคนกินเหล้าเบียร์เป็นคนไม่ดี อยากให้มันคือเรื่องปกติ ผมอยากให้คนกินเบียร์ได้กินเบียร์ที่ดีในราคาที่พอใจ และมีความสุขกับการกิน คนขายก็ได้ขายแบบเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวมีปัญหา รวมทั้งคนขายอุปกรณ์และวัตถุดิบก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดเบียร์ที่ดีได้ เราเลยชวนทุกคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน”

จุดประกาย ประชาชนเบียร์ และพลังของผู้คนที่เกิดจากความรัก

แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นคนทำกาแฟมาก่อน แต่เมื่อมารู้จักกับคราฟต์เบียร์ที่เกิดจากความเป็นไปได้ใหม่ของวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมทั้งกาแฟที่เขาคุ้นเคยด้วย จึงกลายมาเป็นความสนุกและความสุขจากแอลกอฮอล์และกลุ่มคนที่เข้าใจกัน

แฟนเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางและเป็นพื้นที่ส่วนกลางไม่ใช่แค่สำหรับคนรักเบียร์ แต่สำหรับสื่อสารให้สังคมได้มองเห็นและรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้างในแวดวงแอลกอฮอล์ ทั้งข่าวสาร ความรู้ และการนำเสนอกลุ่มคนทำเบียร์ให้ออกสู่สายตาสาธารณชน

“สิ่งที่เราทำอยู่ ส่วนแรกคือการโปรโมต พูดถึงสุราทางเลือก คราฟต์เบียร์รายเล็กให้มีพื้นที่ในการขายของและทำแบรนด์ของตัวเอง บางทีอาจจะเคยรู้จักแต่ไม่เคยชิม มันก็ยากที่จะเข้าถึงผู้คนได้ เราจึงพยายามจัดอีเวนต์เพื่อให้คนได้เข้ามาชิม มาเจอกัน ตอนนี้ก็พยายามจะจัดอีเวนต์ไปยังต่างจังหวัดให้ได้เท่าที่เราพอมีกำลัง”

“ในแง่องค์ความรู้คือ เราเปิดคอร์สออนไลน์สอนเกี่ยวกับการทำเบียร์ การผลิตเบียร์ การชิมเบียร์ และกฎหมาย ครอบคลุมทั้งหมด เพราะเรามีชุมชนของกลุ่มคนที่เป็นกูรูเข้ามาสอนและแบ่งปันความรู้ในเรื่องที่ตัวเองถนัด จากรุ่นแรกที่มีสิบกว่าคน จนล่าสุดรุ่นที่ 12 มีร้อยกว่าคนแล้วที่เรียนออนไลน์กับเรา และมาด้วยความอยากรู้อยากทดลองทำ อยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ เราเปิดบริษัททำหนังสือ เราซื้อลิขสิทธิ์หนังสือทำเบียร์จากต่างประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์ของวงการคราฟต์เบียร์ มาแปลเป็นภาษาไทย เพราะเราเชื่อว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ”

แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการในกลไกของสังคมหากแต่วงการคราฟต์เบียร์ของไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยองค์ความรู้ด้านการผลิต ความคิดสร้างสรรค์ และความกระหายในการลงมือทำสิ่งที่ตัวเองรัก จนมีแบรนด์คราฟต์เบียร์เข้าสู่หลักพันแล้ว แต่การเปิดพื้นที่ของประชาชนเบียร์ ทั้งพื้นที่ทางกายภาพอย่างการจัดงานอีเวนต์และพื้นที่ทางความสัมพันธ์ ทำให้วงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยก้าวหน้าขึ้น

“คนดื่ม คนต้ม คนขาย คือแกนหลักในการทำงานของเราที่จะสนับสนุนคนทั้งสามกลุ่มนี้ ทุกคนเห็นงานที่เราทำแล้วเข้ามาหา มาเจอ มามีส่วนร่วม ภาพที่ทุกวันนี้ทุกคนบอกว่าเบียร์อร่อย แบรนด์นี้ดี นี่แหละคือเราสนับสนุนให้คนทำเบียร์ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ต้องกลัว”

สุราพื้นบ้าน เรื่องเล่าของชุมชน และเป้าหมายร่วมกัน

“ต้องย้อนไปที่จุดแรกคือ เบียร์เหล้ามันมีมาก่อนกฎหมาย แล้วทำไมถึงไม่เขียนกฎหมายเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้” ขอบเขตของคำว่าประชาชนเบียร์ไม่ได้กินพื้นที่เหมือนกับแค่ชื่อเท่านั้น แต่ยังทำงานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนที่หลากหลายจากทั่วทุกภาคของประเทศ

“สุราชุมชนเป็นอีกเรื่องที่ผมอยากทำงานมาก และกำลังพยายามเอาสุราชุมชนให้เข้ามาอยู่ในการพูดถึงให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหล้าของแต่ละที่ก็มีที่มาและเรื่องราวตำนานที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเข้าใจว่ามันเหมือนคนละโลกระหว่างเหล้าท้องถิ่นกับคราฟต์เบียร์ แต่ผมอยากให้คนที่เห็นได้เข้าไปสัมผัสเองว่า เราคือคนกลุ่มเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่แค่เรื่องการผลิต แต่ยังเป็นเรื่องช่องทางการขายด้วย และประชาชนเบียร์ก็กลายเป็นตัวกลางที่รวมตัวคนเป็นกลุ่มก้อนเพื่อพูดบอกกับสังคม และสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องเดียวกันทั้งหัวเรื่องใหญ่และรายละเอียดปลีกย่อยร่วมกันขึ้นมา”

“สำหรับผม สุราชุมชนเป็นอีกหนึ่งคีย์หลักที่เปลี่ยนประเทศนี้ได้จริงๆ นะ เราพยายามสื่อสารว่า สุราเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถเรียนรู้กับมันได้ และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากมันได้จริงๆ นี่จุดที่เราอยากให้สามารถกระจายทั้งข้อมูลและรายได้ไปสู่ทุกคนได้จริงๆ”

งาน Beer Day เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนรักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “เราเปลี่ยนกรอบคิดจากที่ว่า การกินดื่มเมาแล้วจบไป กลายเป็นการแสดงบทบาทให้เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอะไรที่มากกว่าการกินเบียร์ แต่คือการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง การเติบโตของสุราชุมชนที่เข้าถึงคนดื่มรุ่นใหม่มากขึ้น และการนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่มากกว่าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“เราอยากจุดประกายให้งานนี้มันใหญ่ขึ้นเป็นงานระดับประเทศ ถ้าเราจัดงานเบียร์ที่มันสนับสนุนคนอื่นได้จริงๆ เราเลยเริ่มคิดคอนเซ็ปต์ของงาน Beer People Festival ขึ้น และในอีเวนต์ครั้งนี้ ก็จะมีคอร์สสอนการผลิต หมักสาโท กลั่นเหล้า จากเดิมที่เคยเป็นกิจกรรมหนึ่งที่คนไทยไม่เคยเรียนรู้และสอนให้อยู่ห่าง อยากให้ความรู้เรื่องนี้บอกว่ากับทุกคนว่า นี่เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถเรียนรู้กับมันได้”

Beer People Festival งานรวมคนจากทางบ้าน ที่มองไกลระดับโลก

ภายในงาน Beer People Festival ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ นอกจากเบียร์กว่า 400 รสชาติ จากผู้ผลิตเบียร์ โดยเฉพาะกับ Home Brew ที่ตั้งใจให้เป็นตัวเอกสำคัญของงาน อีกโมเดลที่น่าสนใจคือ ร้านโชว์ห่วยที่จำหน่ายสุราทางเลือก ก็เข้ามาร่วมขายและนำเสนอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะวิถีชีวิตอีกด้วย

“นอกจากตัวเบียร์แล้ว เรายังมีคนขายอุปกรณ์การทำเบียร์เหล้า หอกลั่น มาโชว์ของ มีคอร์สเรียนการชิมเบียร์ การผลิตเบียร์ การทำเหล้า และเรื่องกฎหมาย รวมทั้งงานเสวนาทิศทางต่อไปของอนาคตเหล้าเบียร์ไทยกับนักการเมืองจากหลายพรรคที่เชิญมาบอกเล่านโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

“ทุกงานที่เราจัดพยายามสนับสนุนทุกคน ไม่ใช่แค่คนในวงการเหล้าเบียร์จะได้ประโยชน์ โรงแรมแถวนี้ พ่อค้าแม่ค้าแถวนี้ ทุกคนมีความสุขกับการจัดงานเบียร์ ทั้งที่อาจจะมีบางอย่างไม่ได้ถูกกฎหมาย จะเห็นบางมุมที่เราพยายามดันเพดานของการเรียกร้อง เราพยายามผลักดันทุกอย่างให้ภาพรวมของประเทศได้ประโยชน์จากงานที่เราทำ ไม่ใช่แค่คนในวงการเหล้าเบียร์ มันสามารถทำให้งาน Beer Festival เป็นงานระดับโลกได้ ผมอยากเห็นว่าวันนึงมีนักท่องเที่ยวบินมากินเหล้าเบียร์ไม่ต่างจากงาน Oktoberfest ผมอยากเห็นงานเบียร์งานเหล้าที่จัดกันเป็นเดือนได้ ในพื้นที่ที่เพอร์เฟ็กต์ มีโรงแรม อาหาร สนามเด็กเล่น ที่ทุกคนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้”

“เป้าหมายภายในห้าปีนี้คืออยากเห็นงานเบียร์ของเราเป็นงานระดับเอเชียให้ได้ ผมอยากเอา Brewer จากทั่วทั้งเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี มาร่วมกันที่เมืองไทย รวมทั้งเรื่องวัตถุดิบและอุปกรณ์เข้ามาเพิ่มเติมในงานอีก”

“มีคนชอบถามผมว่า ทำเพื่ออะไร” ธนากรผู้มีอาชีพหลักเป็นพนักงานประจำเล่าถึงงานรองที่ทำจนจริงจังถึงปัจจุบันนี้ “ผมเลยกลับมาคิดว่า ชีวิตผมมีความสุขจากอะไรบ้าง ความสุขจากการช่วยเหลือคน ทำให้คนที่ผมช่วยมีความสุข ผมรู้สึกโอเคแล้ว แล้วผมก็คาดหวังว่าวันหนึ่ง ถ้าสิ่งที่ผมทำอยู่ เคลื่อนไหวอยู่ มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อรุ่นที่สองต้มเบียร์อย่างอิสระ ผมได้กินเบียร์ของลูกพี่ นั่งคุยกัน ว่า ชีวิตเราผ่านอะไรมาบ้าง การเคลื่อนไหวเคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง แค่นี้ผมก็โอเคแล้ว เพราะสุดท้ายผมก็ต้องส่งต่อเรื่องที่ผมทำให้กับรุ่นต่อไปอยู่ดี”

“ตอนนี้เด็กรุ่นต่อไปเริ่มมีการเรียนรู้ Brewer บางคนเริ่มมีลูก แล้วลูกก็เริ่มเข้าใจว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ของไม่ดี แต่มันคือของที่อยู่กับสังคมมาตลอด บางคนสิบขวบก็เริ่มต้มเบียร์แล้วเอาเบียร์มาให้ชิมด้วย อันนี้ผมมีความสุขมาก”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี


อ่านเพิ่มเติม เล่าเรื่องเหล้า กับวัฒนธรรมเมรัย

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.