ตายอย่างไรไม่เป็นภาระโลก! รวมวิธีการ ทำศพ แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเผาและฝังศพแบบดั้งเดิมสร้างมลพิษมากมายให้กับสิ่งแวดล้อม ผู้คนจึงมองหาทางเลือกใหม่ๆ

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานว่ารัฐนิวยอร์กกลายเป็นรัฐลำดับที่ 6 ในสหรัฐอเมริกาที่ให้อนุมัติ ทำศพ มนุษย์ไปทำปุ๋ยได้ และในปี 2022 อาร์กบิชอป เดสมอนด์ ทูตู ได้เลือกจัดการร่างไร้วิญญาณของตัวเองด้วยวิธีการฌาปนกิจแบบใหม่เรียกว่า “อัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส” (alkaline hydrolysis) หรือการ ‘ละลายศพด้วยน้ำ’

ส่วนใหญ่ วิธีการดูแลร่างคนตายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก นั่นคือการฝังหรือดองศพ ซึ่งมีที่มาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง Caitlin Doughty สัปเหร่อและผู้ก่อตั้งองค์กรดูแลคนตายไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Order of the Good Death กล่าวว่า โดยมากผู้คนไม่มีโอกาสเลือกวิธีการจัดการร่างไร้วิญญาณของตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะจบด้วยวิธีการฝังไม่ก็เผา อันเป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายใน 50 รัฐ

วิธีการฝังศพแบบปกตินั้นเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมในหลายทาง และการดองศพที่ชะลอการเน่าเปื่อยของร่างผู้ตายเพื่อใช้ในพิธีศพ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อนำไปฝังต่อ สารเคมีที่ใช้ดองศพก็ปนเปื้อนไปสู่พื้นดิน การทำโลงศพนั้นก็ต้องใช้ทั้งไม้และเหล็กจำนวนมาก ด้านสุสานเองก็ต้องสร้างช่องคอนกรีตฝังพื้นเพื่อปกป้องโลงและร่าง ครั้นจะเลือกวิธีการฌาปนกิจ (เผา) ก็ต้องใช้ทั้งเชื้อเพลิง และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ได้มีการพัฒนาทฤษฎีและวิธีการ “ตายอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และเริ่มมีการนำเสนอวิธีการเหล่านี้ในหลายๆ ที่ทั่วประเทศ (สหรัฐฯ)

ทำศพ แบบฝังศพแบบธรรมชาติ

การฝังศพแบบธรรมชาติ (Green burials) เป็นวิธีการที่ใช้มาตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักวิธีการฝังศพ ทั้งชาวอเมริกันพื้นเมืองและชาวยิวเคยใช้วิธีนี้มาก่อน แต่ในยุคหลังๆ ผู้คนเริ่มละเลยวิธีนี้เนื่องจากต้องการจัดงานศพในรูปแบบพิธีการที่มีความปราณีต วิธีการนี้กลายเป็นวิธีของคนจนหรือคนชายขอบไปแทน

นิยามของการฝังศพแบบธรรมชาติคือการใช้วัสดุที่ไม่มีสารพิษและย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ร่างผู้ตายจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ และใส่ลงในกล่องไม้สนธรรมดาๆ  ในบางกรณี บางคนเลือกที่จะ “กลายเป็น” ต้นไม้ โดยการปลูกต้นไม้บนร่างของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม วิธีการฝังศพอันเรียบง่ายนี้จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคหรือเกิดมลพิษในดินหรือไม่? ข้อมูลเท่าที่มีการทำวิจัยในเรื่องของการฝังศพแบบดั้งเดิม “ไม่ได้บ่งชี้ว่าร่างผู้ตายเป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเจ้าของร่างแต่อย่างใด” Lee Webster ผู้อำนวยการ New Hampshire Funeral Resources and Education กล่าวและเสริมว่า หลุมศพ สาร และโลงแบบออแกนิกที่ใช้ในการฝังศพแบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดมลพิษแต่อย่างใด

แบบจำลองที่แสดงให้เห็นวิธีการทำศพที่ศูนย์ Recompose ซึ่งเป็นศูนย์การทำปุ๋ยมนุษย์ในเมืองซีแอตเทิล PHOTOGRAPH BY MAT HAYWARD, GETTY IMAGES FOR RECOMPOSE

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกพบว่า “ไม่มีหลักฐานที่บอกว่าซากศพทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่โรคระบาด เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่ในร่างที่ตายแล้วได้”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าวิธีการฝังศพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบใหม่จะได้ผลตามที่ต้องการจริง ยกตัวอย่างเช่น ชุด mushroom suit ที่อ้างว่าเป็นชุดที่ฝังร่างคนตายไปแล้วจะช่วยสร้างเป็นสารอาหารให้กับพื้นดินได้ โดยทางผู้ผลิตได้จ้างสัปเหร่อ Melissa Unfred เพื่อศึกษาชุดนี้ โดยในขณะนี้ Unfred พบว่ายังไม่มีหลักฐานเดี่ยวกับประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างอย่างชัดเจน

ทำศพ แบบร่างละลายน้ำ

การเผาศพหนึ่งครั้งได้สร้างคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 242 กิโลกรัม (534 ปอนด์) สารพิษที่มาจากกรดการดองศพและกระบวนตกแต่งศพด้วยเคมีอื่นๆ ก็สามารถลอยสู่ชั้นบรรยากาศได้เช่นกัน  ‘การเผาศพด้วยน้ำ’ (Water cremation) หรือกระบวนการ อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส (alkaline hydrolysis)  นั้นให้ผลแบบเดียวกับการเผาศพ แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดน้อยกว่า และสำหรับบางคนก็ส่งผลในระดับจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน

ชาวพื้นเมืองฮาวายได้รับเอาวิธีการเผาศพด้วยน้ำมาเป็นเวลากว่าพันปี โดยการนำน้ำร้อนจากภูเขาไฟมาละลายร่างของผู้ตายออกเป็นเสี่ยงๆ Dean Fisher ที่ปรึกษาด้านการเผาศพด้วยน้ำและอดีตผู้อำนวยการโครงการบริจาคร่างกายของมาโย คลินิก กล่าวและเสริมว่า จากนั้นพวกเขาจะเผากระดูกที่เหลือ โดยเชื่อกันว่าแก่นแท้ของจิตวิญญาณผู้ตายจะถูกเก็บรักษาไว้

ประเพณีนี้ได้หายไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในเดือนกรกฎาคม 2022 รัฐฮาวายได้อนุญาตให้การเผาศพด้วยน้ำถูกกฎหมาย วัฒนธรรมนี้จึงกลับมาอีกครั้ง

เครื่องการเผาศพด้วยน้ำยุคใหม่ทำงานโดยการปั้มอัลคาไลน์ร้อนเหลวไปไว้รอบๆ ร่างผู้ตายเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกระบวนการเร่งการย่อยสลายร่างตามธรรมชาติ โดยกระดูกและส่วนที่เหลือจากร่างผู้ตายจะถูกบดและส่งคืนให้กับครอบครัว โดยสิ่งที่เหลือจากกระบวนการนี้คือน้ำกลั่นปราศจากเชื้อและสารพิษ ที่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ และไม่มีการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่การเผาศพด้วยน้ำก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน ข้อแรกคือการเผาศพแบบดั้งเดิมสามารถเข้าถึงได้มากกว่า เร็วกว่า และแพงน้อยกว่า นอกจากนี้ การเผาศพด้วยน้ำต้องใช้พลังงานเพื่อให้ความร้อนน้ำและเดินเครื่องปั้ม อย่างไรก็ตาม งานศึกษาในปี 2011 แสดงให้เห็นว่ามีการใช้พลังงานเพียงร้อยละ 10 ที่ใช้กับการเผาศพด้วยเปลวเพลิง

นอกจากนี้ มีผู้ที่วิจารณ์ว่าการเผาศพด้วยน้ำนั้นเป็นเรื่องผิดศีลธรรมและไม่เป็นการเคารพผู้ตาย เนื่องจากเป็นการปล่อยร่างผู้ตายไหลไปกับระบบท่อระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม มีผู้สนับสนุนแย้งว่าการเผาศพด้วยน้ำเป็นเพียงการแร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายของร่างตามธรรมชาติ เหมือนกับเลือดจากการดองศพที่ต้องปล่อยทิ้งไปเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การเผาศพด้วยน้ำเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ วิธีนี้ถูกกฎหมายใน 28 รัฐ โดย 15 รัฐในนี้เพิ่งอนุมัติไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ปุ๋ยมนุษย์

การทำปุ๋ยมนุษย์คือการทำให้ร่างผู้ตายผ่านกระบวนการที่ควบคุมอย่างเข้มงวดให้กลายเป็นดิน ซึ่งจากการนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยที่สวนหลังบ้านของคุณ โดยกระบวนการจะทำในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ร่างจะถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุจากธรรมชาติอย่างเศษไม้ ใช้เวลาเพียง 1 เดือน จุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายจะเริ่มย่อยสลายร่างผู้ตาย และจะมีการเป่าออกซิเจนไปในบรรจุภัณฑ์เพื่อเร่งให้จุลินทรีย์เหล่านั้นทำงานอีกครั้ง

Adeline O’Keefe จากศูนย์การตายธรรมชาติถ่ายภาพร่วมกับโลงศพไม้ไผ่ในกรุงลอนดอน ศูนย์นี้เป็นหนึ่งในหลายศูนย์รอบโลกที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการจัดเตรียมงานศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม PHOTOGRAPH BY ABBIE TRAYLER-SMITH, THE GUARDIAN/EYEVINE/REDUX

เมื่อผ่านไป 30-50 วัน ทั้งกระดูกสารอินทรีย์จะเริ่มแตกตัวออก กระดูกจะนำเอามาบดและใส่กลับไปที่เดิม ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 อาทิตย์เพื่อให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายต่อให้เสร็จ ผลที่ได้คือดินขนาดราว 1 ลูกบาศก์เมตรเพื่อให้ครอบครัวนำไปใช้งานหรือบริจาคให้กระบวนการทางสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้พลังงานจากธรรมชาติในการทำปุ๋ยมนุษย์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘การย่อยสลายอินทรีย์ตามธรรมชาติ” (natural organic reduction – NOR) เช่น การใช้เชื้อเพลิงเพื่อขนส่งอุปกรณ์ เช่น เศษไม้ และไฟฟ้าที่ใช้ในการปั้มอากาศ เดินเครื่องพัดลม และการไหลเวียนอากาศภายใน

“เรากำลังเริ่มใช้พลังงานเหล่านี้ให้น้อยลงค่ะ” Katrina Spade ผู้ก่อตั้ง Recompose ผู้ให้บริการทำปุ๋ยมนุษย์แห่งแรกของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน กล่าว และเสริมว่า กระบวนการของบริษัทของเธอได้แสดงว่ามีการลดคาร์บอนได้ราว 1 ตัน ต่อคน เมื่อเทียบกับการเผาศพแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม การทำปุ๋ยมนุษย์ยังไม่แพร่หลาย และอนุมัติให้ถูกกฎหมายแค่ใน 6 รัฐเท่านั้น โดยนิวยอร์กเป็นรัฐล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา ด้านรัฐแมสซาชูเซตต์ได้เสนอร่างกฎหมายในเรื่องนี้แล้ว และ Spade เชื่อว่าจะมีรัฐที่อนุมัติให้ถูกกฎหมายมากขึ้นในปี 2023

อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะไม่สนใจการทำศพแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผู้สนับสนุนทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้บอกว่า การทำศพเช่นนี้ยังมีข้อดีคือ สมาชิกในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการพิธีศพของคนรัก ตั้งแต่อาบน้ำแต่งตัวให้ศพที่บ้าน ไปจนถึงการนำศพลงฝังด้วยตัวเอง หากพวกเขาเลือกวิธีทำศพแบบรักษ์โลก

“มันไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ก็เป็นเรื่องดีถ้าคุณทำได้ หากคุณต้องการ” ประธานสภาการฝังศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเหล่านี้ “คุณจะได้เห็นพวกเขาข้ามผ่านห้วงอารมณ์ และเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น พวกเขาก็มีรอยยิ้มที่จริงใจบนใบหน้า” และพวกเขายอมรับกระบวนการทางเลือกนี้ในที่สุด

เรื่อง ALLIE YANG


อ่านเพิ่มเติม ความตาย : สารพัดวิธีลาโลกให้เป็นที่จดจำ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.