ความตาย : สารพัดวิธีลาโลกให้เป็นที่จดจำ

ความตาย : สารพัดวิธีลาโลกให้เป็นที่จดจำ

ความตาย : สารพัดวิธีลาโลกให้เป็นที่จดจำ

เราสร้างอนุสรณ์ถึงผู้วายชนม์ตามเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอันสุดแสนไฮเทค มีวิธีประหลาดมากมายให้เลือก ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของทางเลือก ความตาย หากคุณอยากเป็นที่จดจำ

ลอดประวัติศาสตร์ ผู้คนคิดค้นวิธีวิจิตรพิสดารต่างๆ เพื่อเก็บผู้ล่วงลับไว้ในความทรงจำ เช่น เหล่าพีระมิดแห่งอียิปต์  สุสานแบบ กอทิกของยุโรป หรือทัชมาฮาลในอินเดีย  สิ่งที่ผู้เศร้าโศกบางคนคิดว่ามีความหมาย คนอื่นอาจบอกว่าน่าขนลุก  ย้อนหลังไปในศตวรรษที่สิบเก้าของยุโรปและอเมริกา “ภาพถ่ายแห่ง ความตาย” (death photography) แสดงภาพผู้ล่วงลับในท่าทางที่เหมือนมีชีวิต  ส่วนพิธีศพของพุทธศาสนาแบบทิเบตที่รู้จักกันในนาม “พิธีศพแห่งเวหา” (sky burial)  ศพของผู้ตายจะถูกวางไว้ให้เป็นอาหารของฝูงแร้ง

แนวคิดเกี่ยวกับการให้เกียรติผู้ตายเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิศาสตร์ ศาสนา  ทว่าแนวคิดเป็นเรื่องหนึ่ง  วิธีปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่อง  ในทุกยุคสมัย เทคโนโลยีเท่าที่มีเป็นตัวกำหนดทางเลือกหลากหลายเพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์

จุดบรรจบระหว่างความตายกับเทคโนโลยีเป็นทางแยกที่พลุกพล่านตลอดมา  และในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นทุกที  ความที่ผมเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเลี้ยงชีพ ผมจึงอ้อยอิ่งอยู่ตามทางแยกเหล่านี้เพื่อสังเกตการณ์นวัตกรรมต่างๆ เช่น อนุสรณ์แบบดิจิทัลบนโซเชียลมีเดีย ทางเลือกการฝังอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแม้แต่ป้ายหลุมศพแบบอินเตอร์แอคทีฟ

ในบรรดาทางเลือกสุดไฮเทคสำหรับผู้ล่วงลับยุคใหม่ มีทางเลือกหนึ่งที่โดดเด่นด้วยความพิลึกอย่างแท้จริง  ด้วยความก้าวหน้าอันน่าทึ่งของวิศวอุตสาหกรรม ปัจจุบัน เราสามารถสังเคราะห์แรงทางธรณีอันทรงพลังเพื่อกำหนดชะตากรรมสุดท้ายบนโลกใบนี้ของเรา  มันฟังดูไม่มีเหตุผล สุดขั้ว และมหัศจรรย์ กล่าวคือ เราสามารถเปลี่ยนอัฐิอันไม่จีรังของเราให้กลายเป็นเพชรได้ เพชรของจริง

ด้วยเครื่องจักรสุดไฮเทค วิศวกรสามารถเปลี่ยนคาร์บอนในเถ้าอัฐิมนุษย์ให้กลายเป็นเพชรที่เหมือนกับเพชรในธรรมชาติ ทั้งในแง่กายภาพและคุณสมบัติทางเคมี

ความตาย
คริสทินา มาโทยา อายุ 18 ปี  ตอนที่ผู้เป็นพ่อถึงแก่กรรม  สิบปีถัดมา เธอกับคุณแม่นำเถ้าอัฐิของเขามาเปลี่ยนรูปให้เป็นเพชรครึ่งกะรัต “ทุกครั้งที่ฉันเอาเพชรแห่งความทรงจำให้คนอื่นดู ฉันต้องคุยเรื่องพ่อทุกทีค่ะ” มาโทยา  ตัวแทนบริษัททำเพชร อัลกอร์ดานซา ในสหรัฐฯ บอก

หลายบริษัททั่วโลก กำลังเสนอบริการแก่บรรดาครอบครัวที่มีแนวคิดและทรัพยากรในการรำลึกถึงผู้เป็นที่รักด้วยวิธีการอันยืนยงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  อัลกอร์ดานซา บริษัทสัญชาติสวิสก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้วยเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักสุดไฮเทค เหล่าวิศวกรสามารถเปลี่ยนคาร์บอนในเถ้าอัฐิมนุษย์ให้กลายเป็นเพชรที่เหมือนกับเพชรในธรรมชาติ ทั้งในแง่กายภาพและคุณสมบัติทางเคมีอย่างไม่ผิดเพี้ยน กระบวนการทางธรณีวิทยาที่เคยใช้เวลานับร้อยล้านปี สามารถทำให้สำเร็จได้ในชั่วไม่กี่สัปดาห์

กระบวนการดำเนินไปดังนี้ ภายหลังพิธีเผาศพ  ครอบครัวผู้สูญเสียส่งเถ้าอัฐิ 500 กรัมไปยังห้องปฏิบัติการของอัลกอร์ดานซาในสวิตเซอร์แลนด์  ที่นั่น นักวิทยาศาสตร์นำเถ้าอัฐิไปสกัดธาตุคาร์บอนบริสุทธิ์และเอาสิ่งเจือปนอื่นๆออก (เถ้าอัฐิที่เหลือจะถูกส่งกลับ)  หลังจากนั้น อัลกอร์ดานซาจะใช้เครื่องมือเดียวกับที่แม่ธรณีใช้ในการทำเพชรก็คือ ความร้อนและแรงดัน

ขั้นต่อไป เถ้าอัฐิที่เป็นคาร์บอนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นแกรไฟต์ ซึ่งเป็นอัญรูปของคาร์บอนที่อะตอมถูกอัดจนเป็นแผ่นบางแน่นและเสถียร  จากนั้น คาร์บอนจะถูกอบเป็นเวลานานในเครื่องจักรที่ใช้ความดันและอุณหภูมิสูงหรือเอชพีเอชที  (high-pressure, high-temperature: HPHT) อุณหภูมิที่ใช้อาจสูงถึงราว 1,300 องศาเซลเซียส (ลองเปรียบกับเตาหลอมเหล็กที่มีอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส)

มาถึงเรื่องความดัน ภายในเครื่องเอชพีเอชที ใช้ระบบคิวบิกเพรสสร้างแรงดัน 60,000 บาร์ลงบนแกรไฟต์ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุล ทำให้คาร์บอนกลายเป็นเพชรบริสุทธิ์

เพื่อความชัดเจน เพชรเหล่านี้ไม่เพียงเหมือนกับเพชรธรรมชาติ แต่ยังเหมือนกันถึงระดับอะตอมด้วย อัญมณีที่ได้อาจถูกเก็บไว้ในรูปดั้งเดิม หรือจะตัดและเจียระไนโดยผู้เชี่ยวชาญของอัลกอร์ดานซาก็ได้

โดยทั่วไป กระบวนการทั้งหมด จากการรับเถ้าอัฐิถึงการจัดส่งเพชรขั้นสุดท้าย ใช้เวลาห้าถึงแปดเดือน  บริษัทสร้าง “เพชรแห่งความทรงจำ” ราว 1,000 เม็ดต่อปีและมีตัวแทนอยู่ใน 34 ประเทศ

อัลกอร์ดานซาเสนอแพกเกจราคาเริ่มต้นราว 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ คริสตินา มาโทยา ตัวแทนในสหรัฐฯ กล่าว  ส่วนเรื่องราคานั้น อาจไม่สุภาพที่จะถาม แต่ใครๆ ก็อยากรู้กันทั้งนั้นใช่ไหม

“ที่ผ่านมา เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดที่อัลกอร์ดานซาเคยทำหนัก 1.76 กะรัตและเจียระไนเป็นรูปเหลี่ยมเกสร” มาโทยากล่าว “สนนราคาอยู่ที่ 38,000 เหรียญสหรัฐ”

ในขณะที่ฟิสิกส์ของเพชรแห่งความทรงจำนั้นน่าทึ่ง จากพันล้านปีสู่ช่วงไม่กี่สัปดาห์  ราคาอาจไกลเกินเอื้อมสำหรับเรา  แต่ความตายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและส่วนใหญ่ไม่น่าพึงประสงค์ แล้วไฉนยังต้องแพงอีกด้วยเล่า

แล้วบริษัทอีกแห่งหนึ่งก็ก้าวสู่ตลาดเล็กๆ สุดพิลึกนี้  บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติสเปนชื่อ ไบโอสเอิร์น  (Bios Urn) เสนอทางเลือกแห่งความทรงจำไฮเทคที่เราจ่ายไหวมากกว่า

ความตาย
ไบโอส์เอิร์น (บนและล่าง) นวัตกรรมจากบริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติสเปน (ขอบคุณภาพถ่ายจาก www.biosurn.com)

ความตาย

ด้วยแอปในสมาร์ตโฟนกับโกศอินเทอร์แอคทีฟ บริษัทดังกล่าวชวนบรรดาครอบครัวที่โศกเศร้าเปลี่ยนผู้ล่วงลับอันเป็นที่รักให้กลายเป็นต้นไม้ในบ้าน  แคปซูลของอัฐิจะถูกวางไว้ที่ก้นภาชนะขนาดใหญ่ที่จะใช้ปลูกต้นกล้า  เมื่อต้นกล้าเติบโตขึ้นจะแผ่รากไปถึงอัฐิ  อุปกรณ์เซนเซอร์ “ไบโอสอินคิวบ์” ที่ติดตั้งภายในจะตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพดิน ตลอดจนรดน้ำและดูแลต้นอ่อนแห่งความทรงจำแบบอัตโนมัติ  ข้อมูลจะถูกส่งเข้าสมาร์ตโฟนทำให้ครอบครัวดูแลต้นอ่อนได้ระหว่างที่มันเติบโตเป็นต้นไม้

บริษัทดังกล่าวเสนอทางเลือกให้สองแบบ แบบแรกคือโกศย่อยสลายได้แบบธรรมดากับกระถางในราคา 145 ดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนที่แพงกว่าจะเป็นแบบที่ทำงานร่วมกับตัวเซนเซอร์และแอป สนนราคาราว 700 ดอลลาร์สหรัฐ

แคนดี เค. คานน์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการไว้ทุกข์สมัยใหม่แถวหน้าคนหนึ่งของโลก เธอสอนศาสนาเปรียบเทียบอยู่ ที่มหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ในเทกซัส คานน์บอกว่าในฐานะประเพณีการไว้ทุกข์ เพชรแห่งความทรงจำกับโกศอัจฉริยะต่างก็เป็นการผลิตซ้ำของประเพณีที่เก่าแก่กว่าเท่านั้น  ทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางจิตวิทยาในการสืบเนื่องของสายสัมพันธ์

แนวคิดของการเก็บรักษาผู้ล่วงลับไว้ในชีวิตของเราไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ นั้นดีต่อเรามากกว่าการตัดขาดอย่างสิ้นเชิง เช่น การฝังศพ  เพชรและโกศสะท้อนถึง “ความต้องการพิธีกรรมที่สืบเนื่องซึ่งเกี่ยวข้องและระลึกถึงบทบาทของการสูญเสียผู้วายชนม์” คานน์กล่าว “มันทำให้ผู้ที่ยังอยู่โศกเศร้าได้โดยไม่ต้องถูกบังคับให้ ‘ก้าวต่อไป’ หรือลืมผู้ตาย”

หากคุณสนใจดำเนินตามเส้นทางที่แสนแปลกประหลาดนี้ คานน์เสนอให้พิจารณาถึงความงามอย่างประหลาดของอัญมณีไว้ทุกข์สมัยวิกตอเรีย  “ผู้โศกเศร้าจะเก็บปอยผมของผู้ล่วงลับไว้ในอัญมณีสำหรับสวมใส่” เธอกล่าว “ผมที่ถูกถักด้วยการออกแบบที่ซับซ้อนจนเป็นแหวน เข็มประดับเสื้อ หรือเข็มกลัด ซึ่งมีเพียงเจ้าตัวที่รู้ที่มาของผมเหล่านั้น”

คานน์กล่าวว่าเครื่องประดับเหล่านั้นมีหน้าที่เดียวกับเพชรหรือโกศในปัจจุบัน รวมทั้งภาพถ่ายของความตายในยุคก่อน  เป็นเรื่องที่คนเราหันเข้าหาเทคโนโลยีในยุคนั้นๆ เพื่อรับมือกับความตายและการตาย  คนโรมันทำ คนเปอร์เซียก็ทำ ชาวมายาก็ด้วย  เราก็ทำเหมือนกันด้วยไมโครชิปที่ละเอียดอ่อนและเครื่องจักรขนาดใหญ่  เทคโนโลยีเปลี่ยนไปก็จริง แต่ประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์นั้นไม่เคยแปรเปลี่ยน

เนื่องจากผมยังพอมีเวลา (หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น) ผมวางแผนจะเลื่อนการตัดสินใจใดๆ ออกไปจนกระทั่งผมได้สำรวจทางเลือกในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดทั้งหมดของผม  ตอนนี้ผมเอนไปทางต้นไม้  มันชื่นใจมากกว่า และที่ผ่านมาผมก็นิยมความนิ่งสงบของพืชพรรณในฐานะทางเลือกของชีวิต

ส่วนเพชรที่ว่านั่น ท่าจะชอบแรงกดดันอย่างหนักหน่วง 

ความตาย
คอมพิวเตอร์จะมาแทนป้ายหลุมศพไหม แคที ทอร์นตัน คิดเรื่องความตายมาพักใหญ่แล้ว  ปีที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์สุสานผู้นี้สำรวจคำจารึกบนป้ายหลุมศพและวิจัย “ผู้อาศัย” ที่ถูกฝังอยู่ในสุสานเลกวูดในบ้านเกิดของเธอที่มินนีแอโพลิส   คนทั่วโลกกำลังตั้งคำถามว่า สุสานเป็นการใช้ที่ดินซึ่งนับวันมีแต่จะหายากอย่างยั่งยืนหรือไม่  “หากไม่ได้วางแผนมาก่อน เรื่องราวที่ถูกฝังในสุสานอาจสูญหายตลอดไป” ทอร์นตันว่า  แต่เทคโนโลยีกำลังเสนอทางออกให้  ทอร์นตันกำลังสำรวจว่า การกลายเป็นเมืองใหญ่ระดับโลกและกำเนิดของการจัดเก็บเอกสารแบบดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงแบบแผนในการรำลึกถึงผู้ตายหรือไม่ (ภาพถ่าย: แกรี เบิร์กส์, CITY OF LONDON CEMETERY AND  CREMATORIUM)

จากเถ้าสู่เถ้า: ทางเลือกอื่นๆ

เพชรแห่งความทรงจำ : เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกร่วมสมัยในกระบวนการจัดการเถ้าอัฐิจากพิธีศพ

ดนตรีไม่มีวันตาย : บริษัทแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรจะอัดเถ้าอัฐิของผู้เป็นที่รักของคุณเข้าไปในแผ่นเสียงไวนิลที่สั่งทำขึ้นเฉพาะ

ใต้สมุทร : คนรักทะเลอาจวางแผนชีวิตหลังสิ้นใจกับบริษัทแห่งหนึ่งในฟลอริดาที่เปลี่ยนเถ้าอัฐิให้เป็นปะการังเทียมและแหล่งอาศัยสำหรับสัตว์ทะเล

สู่จักรวาล : บริษัทแห่งหนึ่งในเมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส จับมือกับบริษัทเที่ยวบินอวกาศเพื่อส่งเถ้าอัฐิขึ้นสู่วงโคจรไปดวงจันทร์ หรือไกลกว่านั้น  แต่แน่นอนว่า ราคาก็พุ่งสู่อวกาศด้วย

เรื่อง : เกลน แมคโดนัลด์

ภาพถ่าย: แดน วินเทอร์ส

อ่านสารคดีเรื่องอื่นๆ ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562 


อ่านเพิ่มเติม

ความตายหาใช่การลาจาก ประเพณีแปลก เก็บศพไว้ในบ้าน

Recommend