เด็กสองคนหิ้วถุงช็อปปิ้ง ออกจากบ้านในกรุงคาบูลที่ถูกกลุ่มตอลิบานยึดครอง คนอายุมากกว่าสวมบูรกา คนผมสั้นสวมกางเกง คนทั่วไปที่พบเห็นอาจคิดว่า นี่คือพี่สาวกับน้องชายที่กำลังออกไปทำธุระ ทั้งสองเปลี่ยนเส้นทางไปในแต่ละวัน และเมื่อไปถึงจุดหมาย ก็จะดูให้แน่ใจว่าไม่มีใครมองอยู่ก่อนมุดประตูรั้วเข้าไป
พวกเธอกำลังไปโรงเรียน
นั่นคือฤดูใบไม้ร่วงปี 1996 และการศึกษาของเด็กหญิงเพิ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ครูและผู้ปกครองเสี่ยงตาย หากถูกจับได้ว่าปล่อยให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียน เด็กคนเล็กซึ่งมีอายุหกขวบชื่อ ชาบานา บาซิจ-ราซิค แต่งตัวเป็นเด็กผู้ชายเพื่อตบตาว่าเป็นผู้ติดตามเพศชายที่พี่สาวจำเป็นต้องมีเวลาออกนอกบ้าน ทั้งคู่ซ่อนหนังสือไว้ในกระเป๋าสำหรับห้องเรียนลับ วันหนึ่ง พวกเธอสงสัยว่ามีคนสะกดรอยตาม จึงขอให้พ่อแม่เลิกส่งไปเรียน แต่พ่อแม่ปฏิเสธ เพราะการศึกษาคุ้มค่ากับความเสี่ยง
เมื่อสองปีก่อน ตอนที่บาซิจ-ราซิคอายุ 31 ปี กลุ่มตอลิบานยึดครองอัฟกานิสถานอีกครั้ง ถึงตอนนั้น เธอก็เป็น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้นำอัฟกานิสถาน หรือโซลา (School of Leadership, Afghanistan: SOLA) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนแห่งเดียวในประเทศ และวางแผนการหลบหนีมาหลายเดือนแล้ว เธอเผาระเบียนประวัติของโรงเรียนและลอบส่งเจ้าหน้าที่ ครอบครัว และนักเรียน 256 คนผ่านสนามบินอันสับสนอลหม่านของคาบูลขึ้นเครื่องบินไปรวันดา ประเทศเดียวที่ยอมรับพวกเขา
การศึกษาของเด็กหญิงเป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆที่กลุ่มตอลิบานสั่งห้ามเสมอเมื่อพวกเขายึดอำนาจ ทุกวันนี้ ในอัฟกานิสถาน เด็กหญิงถูกห้ามเรียนต่อหลังจบชั้นประถมหก เด็กหญิงวัยเรียนไม่ถึงร้อยละ 20 ได้เรียนหนังสือ กฎหมายใหม่ๆลิดรอนสิทธิหลายอย่างที่พวกเธอเคยมี
ผู้หญิงและเด็กหญิงถูกลบหายไปช้าๆ บาซิจ-ราซิคบอก เธอได้รับรางวัลนักสำรวจแห่งปีของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จากความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ และความพยายามอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยที่จะให้เด็กหญิงและเด็กสาว ชาวอัฟกานิสถานเข้าถึงการศึกษา
ตอนนี้ บาซิจ-ราซิคกับทีมงานดำเนินกิจการโรงเรียนโซลาพลัดถิ่นจากวิทยาเขตในรวันดา ประเทศที่ผู้คนใช้ชีวิต ผ่านความยากลำบากจากสงครามและการพลัดถิ่นมายาวนานและรู้ซึ้งถึงการหาที่พักพิง โซลาสอนนักเรียน 61 คน บางคนเพิ่งมาถึงจากชุมชนผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานในอุซเบกิสถาน ปากีสถาน และอิหร่าน
แต่บาซิจ-ราซิคคิดว่า โรงเรียนที่มีอาคารสถานที่เพียงแห่งเดียวไม่เพียงพอ ชาวอัฟกานิสถานพลัดถิ่น รวมถึงสามีของเธอ มาตี อามิน ผู้เติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยที่ปากีสถาน กลายเป็นประชากรผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากที่สุดอันดับสามของโลก ผู้ลี้ภัยโดยเฉลี่ยพลัดถิ่นที่อยู่นาน 10 ถึง 15 ปี บาซิจ-ราซิคกับอามิน ซึ่งมีลูกคนแรกเมื่อปี 2022 อยากช่วยชดเชยช่วงเวลาที่สูญเสียไปเหล่านั้น
ในปีที่สามของการดำเนินงาน โรงเรียนโซลาพลัดถิ่นมีแผนการเปิดตัวโซลาเอกซ์ หรือหลักสูตรเคลื่อนที่ที่เอื้อให้เด็กๆเรียนหนังสือผ่านโทรศัพท์โดยใช้แอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ ระบบโล-ไฟของโซลาจะเปิดห้องแชตซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องเรียนให้ครูโพสต์บทเรียนและการบ้าน ชั้นเรียนนี้เข้าถึงได้ทุกที่ในโลก รวมถึงในอัฟกานิสถานด้วย โซลาเอกซ์จะมอบประกาศนียบัตรให้นักเรียนหลังจบการศึกษา บาซิจ-ราซิคนึกย้อนไปถึงระเบียนประวัติของโรงเรียนที่เธอเผาทำลายตอนที่อยู่ในอัฟกานิสถาน นักเรียนเหล่านี้จะได้ไม่ต้องกังวลว่าหลักฐานการศึกษาของพวกเธอจะสูญหาย
ในเวลาเดียวกัน โซลาก็หยั่งรากในรวันดา โดยซื้อที่ดินและสร้างวิทยาเขตซึ่งจะเป็นที่อยู่และที่เรียนของเด็กกว่า 200 คน ตั้งแต่ชั้นประถมหกถึงมัธยมหก หากสักวันหนึ่ง โรงเรียนได้ย้ายกลับอัฟกานิสถาน วิทยาเขตแห่งใหม่นี้จะยังเปิดต่อไป เป็นบ้านที่ไกลจากบ้านและที่พักพิง หากกลุ่มหัวรุนแรงทำให้อัฟกานิสถานแตกสลายอีกครั้ง
บาซิจ-ราซิคมองพันธกิจของเธอเป็นการสร้างต้นแบบของการให้การศึกษาแก่นักเรียนที่พลัดที่นาคาที่อยู่ “โซลาไม่ใช่แค่โรงเรียนค่ะ” เธอบอก “มันคือขบวนการเคลื่อนไหว”
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
ภาพถ่าย พารี ดูโควิช
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี ณ โรงเรียนไกลจากบ้าน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/581775