ถนนที่สูญหายของอัฟกานิสถาน เผยให้เห็นชาติที่ย่อยยับจากสงคราม

ถนนที่สูญหายของอัฟกานิสถาน เผยให้เห็นชาติที่ย่อยยับจากสงคราม

การเดินทาง 3,300 กิโลเมตรไปตามส่วนที่หลงเหลือของทางหลวงสายหลัก เผยให้เห็นชาติที่ย่อยยับจากสงคราม กำลังก้าวเดินถอยหลัง

พวกเราหลุดพ้นจากความคับคั่งของการจราจรยามเช้าในกรุงคาบูลได้ในที่สุด แผนที่บนจอสมาร์ตโฟนของผมประเมินว่าจะใช้เวลาเก้าชั่วโมงในการขับรถ 500 กิโลเมตรไปยังกันดะฮาร์ตามทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นถนน ราคาแพงและสำคัญที่สุดในอัฟกานิสถาน

สหรัฐอเมริกาทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ไปกับถนนลาดยางสายนี้ ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของถนนวงแหวนรอบประเทศยาว 2,200 กิโลเมตร เพื่อย่นเวลาการเดินทางและกระตุ้นธุรกิจการค้าระหว่างเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ที่สุดอันดับสองของประเทศ แต่คงเป็นเรื่องไร้สาระ หากคิดจะไปกินมื้อเย็นที่กันดะฮาร์

พวกผู้ชายโพกศีรษะหลบเข้าร่มจากแสงแดดเที่ยงวันในหมู่บ้านซังกีซาร์  แคว้นกันดะฮาร์  ที่ซึ่งมุลลาห์ โมฮัมเหม็ด  โอมาร์ก่อตั้งกลุ่มตอลิบานในทศวรรษ 1990  ผู้สวามิภักดิ์จากทั่วประเทศมาร่วมละหมาดในมัสยิดซึ่งเมาลาวี  ฮายาตุลลาห์ (ที่สองจากขวา) เป็นผู้นำอยู่ในขณะนี้
ปศุสัตว์คลาคลํ่ากันอยู่ที่ตลาดในเมมานะห์  เมืองเอกของแคว้นฟาร์ยับ  ความแห้งแล้งยาวนานหลายปีทำให้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เหี่ยวแห้ง คุกคามต่อวิถีชีวิตในชาติที่ทำเกษตรเป็นส่วนใหญ่

ทางหลวงสายนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1950 และ 1960 โดยสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา คู่แข่งในสงครามเย็นที่แย่งชิงกันมีอิทธิพลเหนือกรุงคาบูล เป็นทางหลวงที่เสียหายยับเยินจากสงครามและการทอดทิ้งหลายทศวรรษ จนเหลือถนนลาดยางอยู่แค่เพียง 50 กิโลเมตรในปี 2001 ตอนถนนช่วงที่เชื่อมระหว่างคาบูลกับกันดะฮาร์ได้รับการซ่อมแซมและเปิดใช้อีกครั้งเมื่อปี 2003

ซัลเมย์ คาลิลซาด เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถาน ประกาศว่า “เรากำลังยืนอยู่บนถนนสู่อนาคตของอัฟกานิสถานอย่างแท้จริง… นี่คืออนาคตแห่งความรุ่งเรือง” สิบเก้าปีต่อมา เส้นทางถนนอันย่อยยับกลับกลายเป็นประจักษ์พยานชวนสะท้านถึงความวิบัติจากความรุนแรงที่ลุกลาม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ตามมา

รถบรรทุกขนของเพียบแปล้ระหว่างเดินทางผ่านพื้นที่ห่างไกลของแคว้นฟาราห์ ทางตะวันตกของอัฟกานิสถาน  คนขับรถบรรทุกเล่าว่า  ตำรวจเรียกเก็บส่วย แลกกับการอนุญาตให้ขนส่งสินค้าได้ภายใต้รัฐบาลเดิม แต่ตอนนี้ตอลิบานไม่ทำอย่างนั้นแล้ว
นักรบตอลิบานลาดตระเวนทางหลวงแห่งชาติหมายเลข 1 ใกล้ไมดานชาห์ร เมืองเอกของแคว้นวาร์ดัก  ในฐานะประตูสู่กรุงคาบูล  ถนนช่วงนี้ตกเป็นเป้าของมือวางระเบิดฝ่ายตอลิบานระหว่างการต่อสู้ยาวนานหลายปีเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถาน ที่สหรัฐฯ ให้การหนุนหลัง

ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงทางใต้ของกรุงคาบูล ในแคว้นวาร์ดัก ผิวถนนลาดยางเริ่มมีรอยแตก เป็นหลุมเป็นบ่อจากระเบิดของฝ่ายตอลิบาน บังคับให้ผมต้องหักหลบหรือเหยียบเบรกซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุ ผมแทบไม่ได้เปลี่ยนเกียร์สูงกว่าเกียร์สามเลย บรรดาหญิงม่ายสวมบูรการ้องขอของแจก กับพวกเด็กผู้ชายถือพลั่วเป็นเหมือนป้ายเตือนว่าต้องชะลอความเร็วเพื่อรับมือกับสภาพถนนที่เสียหายจากระเบิดอีกระลอก

ขับรถหนนี้เครียดน้อยกว่าการเดินทางครั้งหลังสุดของผมที่ผ่านฐานที่มั่นของกลุ่มตอลิบานในแถบนี้ กองกำลังติดอาวุธมุสลิมนิกายซุนนีสายอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ยึดอำนาจครั้งแรกเมื่อปี 1996 และถูกโค่นอำนาจโดยสหรัฐฯ เมื่อปี 2001 โทษฐานให้ที่พักพิงแก่อุซามะห์ บิน ลาดิน หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน เกือบ 20 ปีต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2020 ผมอยู่บนถนนสายนี้ ขณะกองกำลังติดอาวุธกลุ่มตอลิบานกำลังกระหน่ำโจมตีขบวนรถทหารของกองทัพอัฟกานิสถาน การยิงต่อสู้เปิดฉากขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พลเรือนน้อยนิดที่หลงเหลือเสี่ยงตายเดินทาง กันเอาเอง ขณะกองทหารรัฐบาลซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยกว่าได้แต่ซุ่มหลบอยู่ตามด่านชั้นนอกที่ถูกสาดด้วยห่ากระสุน

เด็กหญิงนั่งเบียดเสียดในโรงเรียนชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการกุศลต่างชาติในแคว้นวาร์ดัก โรงเรียนลักษณะนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นในชนบทและเขตที่ตอลิบานยึดครอง ก่อนกลุ่มอิสลามสายแข็งนี้จะกลับมาครองอำนาจอีกครั้งในปี 2021
แพทย์หญิงรอชาแน็ก วาร์ดัก วัย 64 ปี เยี่ยมหอผู้ป่วยสูติกรรมที่โรงพยาบาลในเขตเซย์ยีดาบาด แคว้นวาร์ดัก

ด่านตำรวจที่ผมใช้พักแรมคืนนั้น ตอนนี้กลายเป็นเพียงกองซากปรักเสียแล้ว อีกหลายสิบแห่งถูกทิ้งร้าง ซากรถถังที่ถูกทำลายตั้งแต่ยุคโซเวียตยึดครองช่วงปี 1979-1989 จอดทิ้งอยู่ในระยะสายตาของรถฮัมวีอเมริกันสภาพย่อยยับ ครบหนึ่งปีแล้วนับจากตอลิบานหวนกลับมายึดอำนาจอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารหลัง 20 ปีผ่านไป ช่างภาพ บอลาซส์ การ์ดี กับผมเช่ารถโตโยต้าแลนด์ครูสเซอร์คันหนึ่งเพื่อขับไปตามทางหลวงแห่งชาติหมายเลข 1 ที่รู้จักกันดีกว่าในชื่อถนนวงแหวน ซึ่งเชื่อมเมืองใหญ่สี่เมืองในสี่ภูมิภาคเหนือใต้ออกตก ในช่วงสองทศวรรษ ของการทำข่าวในอัฟกานิสถานของเรา สถานการณ์เคยสุ่มเสี่ยงอันตรายเกินกว่าจะเดินทางได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ความรุนแรงที่บรรเทาเบาบางลงเปิดโอกาสอันหาได้ยากในการเดินทางสำรวจประเทศ

ในชิบิร์กัน  เมืองเอกของแคว้นโจว์ซจัน  พวกผู้หญิงสวมบูรการออยู่นอกห้องพิจารณาคดีที่ถูกระเบิดถล่ม เพื่อเข้าให้การในคดีของพวกเธอ  ตอลิบานห้ามผู้หญิงทำงานราชการหลายตำแหน่ง  และสั่งให้คลุมผ้าตั้งแต่หัวจดเท้าในที่สาธารณะ  แม้กระทั่ง ผู้ประกาศข่าวหญิงก็ยังต้องคลุมผ้าปกปิดใบหน้า
ถนนดินฝุ่นคลุ้งช่วงหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 1 ตัดผ่านหมู่บ้านบุซไบ แคว้นบาดกิส แคว้นยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีมีแผนปรับปรุงถนนช่วงจากบาดกิสถึงฟาร์ยับตั้งแต่หลายปีก่อน  แต่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและการขาดแคลนวัสดุ  ทำให้งานต้องหยุดชะงักลง

ตลอดสองสัปดาห์ ใน 18 แคว้นกับระยะทาง 3,354 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึงการต้องขับออกนอกเส้นทางเข้าไปในภูมิประเทศขรุขระกันดาร เราพบเหล่านักรบเดนตาย ชาวไร่พเนจร ผู้หญิงที่ทนทุกข์กับข้อจำกัดอันเข้มงวดสุดโต่งที่ไม่พบเห็นมาตั้งแต่ปี 2001 และเด็กๆ ที่ถูกบังคับให้ทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่สายสัมพันธ์หนึ่งที่เกี่ยวร้อยทุกคนไว้ด้วยกัน คือความโล่งอกที่สงครามยืดเยื้อยาวนานซึ่งเข่นฆ่าชาวอัฟกานิสถานไปกว่า 150,000 ชีวิตจบสิ้นลงแล้ว และสิ่งที่ดูเหมือนความสงบเรียบร้อยหวนคืนมาอีกครั้ง แต่ก็ยังรวมถึงความสิ้นหวังที่กำลังก่อตัวขึ้น เมื่อระบอบตอลิบานใหม่หาได้มีความโอนอ่อนผ่อนปรนมากกว่าของเดิมเลย

แม้สัญญาว่าจะนิรโทษกรรมอดีตศัตรู และจะเคารพสิทธิชนกลุ่มน้อยและสตรี แต่กลุ่มตอลิบานก็ยังตั้งหน้าตั้งตาประหารชีวิตกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่ยอมจำนนโดยไม่ผ่านการไต่สวน ล้มเหลวในการหยุดยั้งการโจมตีระหว่าง นิกาย และลบล้างความพยายามต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างดุดัน ตั้งแต่กีดกันไม่ให้ทำงานราชการบางตำแหน่ง บังคับให้ผู้ประกาศข่าวหญิงสวมผ้าคลุมหน้า ไปจนถึงห้ามเด็กผู้หญิงเข้าเรียนในระดับมัธยม นับตั้งแต่กลุ่ม ตอลิบานหวนคืนสู่อำนาจ เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างยิ่งตกอยู่ในสภาวะถดถอย ส่งผลให้ประชากรถึงร้อยละ 95 ต้องหิวโหย ตามข้อมูลจากโครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติ

จากที่เคยเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิอิสลามอันเรืองอำนาจ เมืองโบราณแห่งกัซนีซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นกัซนี ล่มสลายสู่ความทรุดโทรมจากสงครามและการบริหารผิดพลาด พลเมืองส่วนใหญ่ย้ายหนีไปอยู่เมืองใหม่ที่มีบริการต่างๆ ดีกว่า
โฮมายูน  โมราดี  วัย 15 ปี จากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ฮาซารา  นั่งอยู่ในร้านของบิดา  ขณะศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูงกว่า ที่เรียนจากโรงเรียน

ตามศูนย์กลางเมืองใหญ่ต่างๆ ที่ฝุ่นคลุ้งและหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่ทรุดโทรมผุพัง เราพบร่องรอยของโครงการพัฒนาสู่ความทันสมัยซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพียงไม่กี่แห่ง ทุกกิโลเมตรที่ขับไปนั้น สัญญาณแห่งลางร้ายจากอดีตอันมืดมนและคับแคบทางความคิดปรากฏให้เห็น ตอกย้ำให้ตระหนักว่าประเทศนี้กำลัง เดินถอยหลัง

เรื่อง เจสัน มอตลาก

ภาพถ่าย บอลาซส์ การ์ดี

ติดตามสารคดี ถนนที่สูญหายของอัฟกานิสถาน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม ป่วย ขัดสน ยากจน ขาดอาหาร วิกฤตชีวิตอัฟกานิสถานยุคตาลีบัน

Recommend