วันหนึ่งในต้นฤดูฝน พ.ศ. 2546 ผมเดินเหยียบเม็ดทรายอยู่บนลานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สายตาจับจ้องไปยังผู้คนมากมายหลากหลายวัยที่ช่วยกันประคองผ้าจีวรสีเหลืองสดกำลังเรียงแถวกันเดินเข้าไปในลานพระบรมธาตุ เสียงของมัคนายกประกาศเชิญชวนให้ซื้อดอกไม้ธูปเทียนทำบุญออกลำโพงดังก้องไปทั่ววัด แล้วขบวนแห่ผ้าเหลืองเป็นริ้วยาวก็มุ่งหน้าไปยังวิหารพระทรงม้า ซึ่งเมื่อมองจากภายนอกดูเป็นวิหารธรรมดา แต่ภายในเป็นบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณบนองค์ พระบรมธาตุ จากนั้นผ้าผืนแล้วผืนเล่าก็ถูกทยอยนำไปโอบรอบส่วนฐานขององค์เจดีย์สีขาวสูงเด่นใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในคาบสมุทรมลายู
นั่นคือบรรยากาศทั่วไปของวัดพระมหาธาตุฯนครศรีธรรมราชเมื่อมีคณะผู้ศรัทธาเดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อประกอบกริยาบุญที่เรียกว่า “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” หรือการนำผ้าพระบฏผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุฯ อันเป็นประเพณีสำคัญของที่นี่ ถือกันว่าจะได้กุศลอย่างแรงกล้าตามความเชื่อของชาวปักษ์ใต้
เมื่อสองทศวรรษก่อนในตอนนั้น ผมมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับทุกคน แต่แล้วจู่ๆประสบการณ์นั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อมาให้ผมค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับมหาสถูปองค์นี้อย่างลุ่มลึก ด้วยเหตุที่ผมเล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะผ่านมาถึงสี่ปีในระดับปริญญาตรีกับอีกสองขวบปีในระดับปริญญาโทที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
จากที่ไม่เคยสนใจมาก่อน กลับได้ก่อรูปกลายเป็นข้อสงสัยว่ารูปทรงและกลิ่นอายของความเป็น “ศรีลังกา” ของพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ตรงฐาน ซึ่งโดดเด่นเหนือเจดีย์แบบเดียวกันในสยามประเทศนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องทำวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตเรื่อง พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช กับการวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ
เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้น 20 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในความจำของผมตลอดเวลา
ลานทรายที่ผมเดินย่ำไปมาในวัดพระมหาธาตุฯ นี้ ไม่ใช่ทรายที่ขนเข้ามาถมลานวัดแบบทั่วไป แต่เป็นทรายธรรมชาติดั้งเดิม
จากการที่ผมได้ลองไล่สำรวจแผนที่ภาพถ่ายทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินบนสันทรายในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ภาพความคิดที่ยังมัวๆ จับใจความได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พอสังเกตเห็นว่าชุมชนและวัดโบราณนั้นตั้งเรียงรายกันยาวเหยียดลงมาจากทางทิศเหนือ คือตั้งแต่บริเวณคลองท่าโพธิ์ ตลาดท่าวัง สนามหน้าเมือง เรื่อยมาจนถึงวัดพระมหาธาตุฯ และเลยลงไปทางใต้ตัวเมืองโดยแทบจะไม่แตกแถวออกไป มีถนนสายสำคัญคือถนนราชดำเนินวิ่งผ่ากลางตามความยาวของสันทรายโดยตลอด นี่คือรูปแบบเมืองอันน่าทึ่งที่ตั้งขึ้นตามภูมิประเทศโบราณภายใต้ข้อจำกัดและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ต่างไปจากเมืองโบราณแห่งอื่นๆที่มักมีคูน้ำคันดินรูปกลมรีหรือรูปเหลี่ยมมุมตามที่คุ้นเคยกัน
หลังจากพยายามสืบค้นประวัติของชื่อเรียก “หาดทรายแก้ว” นี้โดยประมวลเนื้อหาของเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่ามีตำนานอย่างน้อยสองเรื่องที่เนื้อหาใกล้เคียงกันและพิสูจน์ได้ว่าคงถูกจดบันทึกขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา คือ “ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” และ “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” รวมทั้งวรรณคดีท้องถิ่นของนครศรีธรรมราชเรื่อง “พระนิพพานโสตร” ซึ่งมีหลากหลายสำนวนต่างก็กล่าวถึง “เจ้าชายทันตกุมาร” และ “เจ้าหญิงเหมชาลา” ได้อัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) หนีภัยสงครามจากอินเดียลงเรือร่อนเร่มาขึ้นฝั่งที่ “หาดทรายแก้ว ชเลรอบ” พอดีกับที่มี “พระมหาเถรพรหมเทพ” เดินทางผ่านมา จึงมีการทำนายว่า ณ ที่นี้จะกลายเป็นปูชนียสถานสำคัญและเกิดบ้านเมืองขึ้น ทั้งสองจึงได้ฝังพระบรมธาตุรักษาเอาไว้ จนกระทั่งภายหลังมีพระราชาองค์หนึ่งที่เชื่อว่าทรงครองอาณาจักรตามพรลิงค์ในราว พ.ศ.1700 ชื่อ “พระยาศรีธรรมาโศกราช” ทรงขุดพระบรมธาตุขึ้นแล้วสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์บน “หาดทรายแก้ว”
เรื่องราวปรัมปรานี้สะท้อนถึงการบอกเล่าผ่านตำนานว่าภูมิประเทศของนครศรีธรรมราชนั้นเป็นหาดทรายชายฝั่งทะเลโบราณมาก่อน
นอกจากหาดทรายแก้วซึ่งบ่งถึงความสำคัญของที่ตั้งแล้ว เมืองนครศรีธรรมราชยังอยู่บนจุดที่เชื่อมต่อกับการเดินทางข้ามคาบสมุทรในสมัยโบราณระหว่างโลกตะวันตกทางมหาสมุทรอินเดีย-ทะเลอันดามัน ขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดตรัง แล้วเดินทางผ่านช่องเขาแถบอำเภอร่อนพิบูลย์ของนครศรีธรรมราช มาลงยังที่ราบฝั่งอ่าวไทยเพื่อลงสำเภาต่อไปยังโลกตะวันออกคือจีน ดังที่มีคำเรียกเส้นทางเก่าแก่สายนี้กันในปัจจุบันว่า “เส้นทางสายแพรไหมทางทะเล” ซึ่งเกิดคู่ขนานกันไปกับเส้นทางสายแพรไหมทางบกที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินตอนบน เส้นทางค้าขายดังกล่าวนี้มีบทบาททำให้เกิดชุมชนโบราณมากมายในนครศรีธรรมราชนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนรับอารยธรรมจากภายนอก
นั่นคือสิ่งที่ผมพอจะสรุปได้เกี่ยวกับพัฒนาการในเชิงภูมิประเทศที่จะทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเกิดขึ้นและทวีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ต่อมาด้วย
ผมได้เกริ่นถึงตำนานพระบรมธาตุเมืองนครฯเอาไว้บ้างแล้วว่า เจ้าชายและเจ้าหญิงจากอินเดียได้ลี้ภัยสงครามและพบพระมหาเถรทำนายทายทักจึงนำพระเขี้ยวแก้วมาฝังไว้ เนื้อหาตอนต้นของตำนานพระบรมธาตุเมืองนครฯส่วนนี้ กลับไปเหมือนตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกาที่เล่าความเป็นมาของการได้พระบรมสารีริกธาตุสำคัญมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสังเกตว่าเรื่องราวของการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นั้นถูกหยิบยืมมาจากศรีลังกาสมัยโบราณ
เนื้อความต่อมาที่เป็นเรื่องราวของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเองนั้นคือการที่พระยาศรีธรรมาโศกราชได้ก่อพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น ต่อด้วยมีการทิ้งร้างของเมืองเพราะโรคระบาด พระบรมธาตุหักพัง มีคนกลุ่มใหม่เข้ามาซ่อมแซมพระบรมธาตุ มีกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองเมืองและทำสัมพันธไมตรีกับท้าวอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา
น่าสนใจว่าเนื้อความเช่นนี้ผมพบว่ากลับเหมือนขนบของการสร้าง “พุทธทำนาย” ในตำนานของเมืองต่างๆและเจดียสถานหลายต่อหลายแห่งในภูมิภาคนี้ ลักษณะการเชื่อมโยงเรื่องราวในท้องถิ่นให้เก่าแก่ไปถึงสมัยพุทธกาลและมีพุทธทำนายเช่นนี้เป็นผลพวงจากพุทธศาสนาสายลังกาโบราณที่ใช้ คัมภีร์มหาวงส์ ที่เป็นวรรณกรรมบันทึกพงศาวดารเหตุการณ์ต่างๆยุคต้นของประวัติศาสตร์ลังกา เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จลังกาและปราบยักษ์หรือชนพื้นเมืองให้ยอมรับพุทธศาสนา ก่อนจะเข้าสู่ราชวงศ์กษัตริย์ต่างๆ ที่ปกครองเกาะลังกาสืบกันลงมา นับเป็นแม่แบบในการอธิบายความเป็นมาของภูมิสถานและกล่าวอ้างถึงพุทธวาจาเพื่อ “เคลม” ความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองตน ในทำนองเดียวกับการใช้ตำนานพระเจ้าเลียบโลกในดินแดนล้านนาหรือตำนานอุรังคธาตุของสองฝั่งแม่น้ำโขง
ดังนั้นผมจึงสรุปได้ว่า ตำนานและนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระบรมธาตุนี้จึงแสดงถึงประเด็นสำคัญสองเรื่อง นั่นคือความเก่าแก่ขององค์พระเจดีย์ที่ไม่มีใครทราบถึงอายุสมัยแน่นอน จนต้องอธิบายผ่านตำนานปรัมปรา กับความเกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนาจากศรีลังกาโบราณ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปร่างหน้าตาของพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
ในเบื้องต้นผมเชื่อว่าพยานหลักฐานสำคัญในเรื่องนี้คือรูปแบบทางศิลปกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชในภาพรวมนั้นราวกับถ่ายถอดลักษณะสำคัญของสถูปในศิลปะลังกา คือเป็นทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ยกฐานประทักษิณสูงประดับด้วยรูปปั้นช้างล้อม มีบัลลังก์เหนือองค์ระฆังเป็นแท่นสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาอิง จากนั้นเป็นยอดทรงกรวยสูงประกอบด้วยปล้องไฉนและปลียอดซึ่งมีการหุ้มทองคำ
แต่หากใครเคยพบเห็นเจดีย์มากพอก็อาจกล่าวได้ว่าหน้าตาของพระบรมธาตุฯ เมืองนคร แทบจะไม่เหมือนเจดีย์องค์ใดเลยในแถบนี้ ดังนั้นในการตรวจสอบนี้จำเป็นจะต้องใช้วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อพิสูจน์ว่า “ตำนานเรื่องเล่า” กับ “รูปแบบศิลปกรรม” จะถูกต้องตรงกันหรือไม่
ทว่าการหาคำตอบเกี่ยวกับการสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชคงไม่อาจใช้ข้อมูลเฉพาะเพียงในดินแดนไทยได้อย่างเดียวเสียแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องพาตัวเองเหาะข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังดินแดนที่เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด คือศรีลังกานั่นเอง
“อายุบวร” เป็นคำทักทายของศรีลังกาเหมือน “สวัสดี” ของไทย เราได้ยินคำนี้มาตลอดทางนับตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบิน กรุงโคลัมโบ เป็นนครหลวงทำให้ผมและผู้ร่วมคณะเดินทางมายังศรีลังกาตื่นตาพอๆกับที่คุ้นเคย
ที่ว่าตื่นตาเพราะผมเพิ่งจะเคยเหยียบย่างมาสู่ดินแดนสิงหลทวีป ซึ่งเป็นต้นธารส่วนหนึ่งของอารยธรรมพุทธศาสนาในบ้านเรา สิ่งแวดล้อมที่ดูแปลกตาปะปนกับผู้คนต่างสำเนียงภาษา เสียงอึกทึกครึกโครมบนท้องถนน หรือแม้แต่การมีคนเดินติดตามพวกเราโดยไม่ทราบจุดประสงค์ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากแผ่นดินเกิด
ทว่าภาพของต้นหมากรากไม้ทิวทัศน์ที่ไม่ต่างจากเมืองไทย ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ได้ไปที่ไหนไกลกว่าต่างจังหวัดในบ้านเรา โบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธสถานเต็มไปด้วยสถูปเจดีย์พระพุทธรูปแตกหัก ราวกับเดินเล่นอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สักแห่งแถวอยุธยาหรือสุโขทัย เราเดินทางไปยังเมืองโบราณสำคัญเพื่อเยี่ยมชมงานศิลปะศรีลังกาสมัยโบราณ แน่นอนว่าเมืองโบราณสำคัญสองแห่งที่คณะเดินทางของพวกเราร่ำเรียนกันมาคือกรุงอนุราธปุระ (Anuradhapura) และโปลนนารุวะ (Polonnaruva) เป็นหมุดหมายสำคัญที่ผมต้องไปเยือนเพื่อเก็บข้อมูล
อย่างไรก็ตาม การมาสำรวจของนักประวัติศาสตร์ศิลปะย่อมไม่ใช่การมาจับเสือมือเปล่า หนังสือตำราเกี่ยวกับศิลปะลังกาถูกคลี่ออกอ่านจับใจความสำคัญเพื่อเป็นแนวทางก่อนการมาถึงแล้ว หนังสือ เที่ยวเมืองลังกา ของ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นหนังสือภาษาไทยที่ให้ข้อมูลครบถ้วนที่สุดเพียงเล่มเดียวในขณะนั้น เราจึงต้องคลำทางด้วยภาษาต่างประเทศ ดังเช่นหนังสือว่าด้วยสถาปัตยกรรมลังกาในยุคต้นและยุคกลาง Religious Architecture in Early and Medival Sri Lanka ของอาจารย์โรแลนด์ ซิลวา (Roland Silva) ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยที่ละเอียดลออและทำให้เราเข้าใจศิลปะลังกาลุ่มลึกมากขึ้น
อนุราธปุระเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของลังกา มีอายุเก่าแก่ยืนนานนับพันปีคือระหว่างพุทธศตวรรษที่หนึ่งถึงสิบเจ็ด ตั้งอยู่ค่อนไปทางตอนเหนือของเกาะลังกา ขณะที่เมืองโปลนนารุวะซึ่งถูกสร้างเป็นราชธานีแห่งต่อมาในพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ดถึงสิบแปด นั้นค่อนเข้ามาทางใจกลางเกาะเพื่อป้องกันการรุกรานของชาวทมิฬโจฬะจากปลายแหลมอนุทวีปอินเดีย
ผมมุ่งหน้าไปยังเมืองอนุราธปุระ ซึ่งมี “มหาสถูป” หรือเจดีย์ทรงระฆังขนาดมหึมาหลายองค์ แต่ละองค์ล้วนมีขนาดใหญ่โตมโหฬารระดับเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ สำหรับรูปแบบโดยรวมนั้น สถูปเจดีย์ของลังกาสืบลงมาจากสถูปในศิลปะอินเดียโบราณยุคพระเจ้าอโศกมหาราช คือมีองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณกว้าง มีแท่นสี่เหลี่ยมหรือบัลลังก์อยู่บนองค์ระฆัง ต่อด้วยยอดทรงกรวยเตี้ยๆซึ่งวิวัฒนาการมาจากฉัตร
ทั้งนี้ การตรวจสอบรูปแบบตามวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น จำเป็นจะต้องทราบรูปลักษณ์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแต่ละส่วนโดยละเอียดก่อน เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบให้ทราบถึงอิทธิพลทางงานช่างและอายุสมัยการสร้าง-ซ่อม แต่สภาพของมหาสถูปแห่งอนุราธปุระส่วนใหญ่ไม่เปิดโอกาสเช่นนั้นเพราะผ่านกาลเวลามายาวนาน
เมื่อถึงจุดหมายแห่งแรกในเมืองอนุราธปุระ มหาสถูปรุวันเวลิเสยะ (Ruvanveli Seya) ต้อนรับผมด้วยลานทรายร้อนระอุที่ต้องเดินเท้าเปล่าเข้าไปตามธรรมเนียมเคร่งครัดของที่นี่ เช่นเดียวกับที่คนไทยเราต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าโบสถ์วิหาร องค์เจดีย์ทุกวันนี้ได้รับการบูรณะจนขาวสะอาดเต็มองค์ด้วยความศรัทธา แต่น่าเสียดายที่ไม่เหลือเค้าโครงเดิมแล้ว ถึงกระนั้นก็นับว่าไม่เสียเปล่า เพราะผมยังได้เห็นฐานประทักษิณที่มีประติมากรรมรูปช้างยืนเรียงกันเป็นแถวล้อมรอบหรือ “หัตถีปราการ” ที่แปลว่ากำแพงช้างนั่นเอง และช้างล้อมที่ว่านี้เป็นรูปลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่มีปรากฏประดับฐานพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราชด้วย
เรื่องราวใน มหาวงส์ พงศาวดารลังกากล่าวเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งราว พ.ศ. 400 มีกษัตริย์ทมิฬชื่อ “เอฬาระ” ได้เข้ามาปกครองเกาะลังกา พระเจ้าทุฏฐคามนี ซึ่งเป็นชาวสิงหล ได้ออกไปกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะเหนือทัพชาวทมิฬ จึงโปรดให้สร้างสถูปที่มีรูปช้างล้อมไว้เป็นอนุสรณ์ ขณะเดียวกันตามคติทางพุทธศาสนานั้นเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคลผู้แบกจักรวาลเอาไว้ ดังนั้นการสร้างพระมหาสถูปที่มีช้างล้อมจึงหมายถึงการสถาปนาให้พระมหาสถูปเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง ส่วนมหาสถูปอื่นๆในราชธานีเก่าแห่งนี้ ถูกกาลเวลากัดกร่อนจนเหลือเพียงเนินดินขนาดมหึมาปะบนกับก้อนหินสลักลวดลายประดับตกแต่งตกหล่นอยู่โดยรอบ
ไม่เฉพาะสถูปเจดีย์ที่เป็นเป้าหมาย ผมยังคงต้องสังเกตสิ่งก่อสร้างอื่นๆภายในศาสนสถานของลังกาโบราณด้วยเพื่อให้มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ได้มากที่สุด เช่น “โพธิฆระ” หรืออาคารที่สร้างไว้ประดิษฐานบูชาต้นโพธิ์ ตามความเชื่อว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่กรุงอนุราธปุระนั้นเป็นกิ่งไม้ซึ่งตอนมาจากต้นจริงซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทับตรัสรู้ที่พุทธคยา จากนั้นก็แตกหน่อออกต้นไปทั่ว เกิดเป็นลัทธิบูชาต้นโพธิ์ที่ถือว่าต้นโพธิ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบมาจากสมัยพุทธกาลขึ้นมากมายในลังกา แล้วยังแพร่เข้ามาถึงดินแดนไทยด้วย การบูชาต้นโพธิ์นี้แท้จริงก็คือลัทธิการนับถือต้นไม้ใหญ่ที่เชื่อว่ามีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่แล้ว ก่อนกลายมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทางพุทธศาสนาด้วยนั่นเอง
หลังจากการเก็บข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศจนครบตามที่ตั้งเป้าไว้แล้ว ผมจึงพอจะสรุปสาระสำคัญได้ว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชไม่ได้มีรูปแบบเหมือนมหาสถูปทางลังกาเพียงองค์ใดองค์หนึ่ง แต่สร้างขึ้นโดยอาศัยภาพรวมจากความเป็นมหาสถูปของศรีลังกา ด้วยเค้าโครงและรายละเอียดบางอย่างใกล้ชิดกับสถูปสมัยเมืองโปลนนารุวะในช่วงราว พ.ศ.1700 อันได้แก่ทรวดทรงขององค์ระฆังที่เป็นทรงโอคว่ำใหญ่ บัลลังก์สี่เหลี่ยมก่อทึบประดับเสาเสมือนรั้วรอบ มีแกนปล้องไฉนที่ประดับรูปบุคคล (พระเวียน) โดยรอบก่อนถึงยอดทรงกรวย
ที่สำคัญคือมียี่ห้อของความเป็นลังกา อันได้แก่ประติมากรรมรูปช้างในซุ้มหน้านางประดับล้อมเรียงรายที่ส่วนฐาน นอกจากนี้ยังหลอมรวมรูปแบบทางสถาปัตยกรรมจากศิลปะศรีวิชัย ซึ่งเป็นศิลปะที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในภาคใต้มาก่อนเข้าไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง ดังเช่นการยกฐานสูงที่ประดับเสาอิงติดผนังเป็นแนวสลับกับช้างล้อม โดยในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างซุ้มพระพุทธรูปทับลงไปบนแนวเสาอีกที
นอกจากรูปแบบทางศิลปะขององค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว สิ่งก่อสร้างสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ยืนยันความเป็นลังกา นั่นคือวิหารโพธิ์ลังกา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมธาตุ เป็นอาคารคล้ายเฉลียงพาไลโอบล้อมต้นโพธิ์เอาไว้ ไม่ต่างจาก “โพธิฆระ” ที่พบในลังกา ถือเป็นข้อมูลบริบทที่ช่วยยืนยันความเข้มของอิทธิพลลังกาควบคู่กันไปกับรูปแบบศิลปกรรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช
ผมจึงสรุปได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้น น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่สิบแปด (ประมาณ พ.ศ.1700-1800) สอดคล้องสัมพันธ์กับระยะที่พุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นและแผ่ออกมายังรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกจากที่นครศรีธรรมราชแล้วยังมีหลักฐานของเจดีย์แบบลังกาปรากฏอยู่ในที่อื่นๆ เช่น เจดีย์ฉปัต (Sapada) ในเมืองพุกาม หรือเจดีย์สลักหินทรายขนาดเล็กภายในปราสาทพระขรรค์ที่เมืองพระนครหลวงหรือนครธม (Angkor Thom) ของกัมพูชา ล้วนแล้วแต่ก็มีรูปแบบจากอิทธิพลลังกาทั้งสิ้น
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความชำรุดเสียหายและงานซ่อมแซมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต ทำให้องค์พระบรมธาตุมีหน้าตาแตกต่างไปจากสถูปต้นแบบที่เกาะลังกามากพอสมควร สังเกตได้จากส่วนยอดคือปล้องไฉนและปลียอดหุ้มด้วยทองคำทรงสูงเรียวต่างจากทรงกรวยเตี้ยๆของลังกา โดยน่าจะซ่อมสร้างขึ้นใหม่หลังจากยอดเดิมหักพังลงในสมัยอยุธยา หรือการต่อเพิงออกมาโดยรอบคล้ายระเบียงคลุมที่ฐานเจดีย์ให้เป็นวิหารทับเกษตร รวมทั้งสิ่งก่อสร้างบริวารอื่นๆที่ค่อยๆถูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นรอบองค์พระบรมธาตุดังเช่นเจดีย์ราย พระวิหาร ฯลฯ ทำให้พระบรมธาตุเจดีย์มีหน้าตาเหมือนวัดแบบไทยๆที่คุ้นตามากกว่าเป็นมหาสถูปแบบที่ผมได้เห็นในศรีลังกา
พอทบทวนเรื่องราวนับตั้งแต่ได้มาเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ 20 ปีก่อน จนกระทั่งได้ร่วมประชุมหารือการยื่นขอรับรองให้วัดพระมหาธาตุฯ เป็นมรดกโลก ผมตระหนักยิ่งขึ้นตามคำที่ครูบาอาจารย์บอกสอนไว้ว่าหากจะทำอะไรก็ตั้งใจ “ทำจริง” ค้นคว้าให้ลุ่มลึกและศึกษาอย่างมีระบบมีหลักฐานรองรับ แล้วความสำเร็จจะเป็นรางวัลของเราเอง เหมือนที่ผม “พยายาม” สืบหารากแก่นการเกิดขึ้นขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชจนได้ผลอย่างน่าพึงพอใจ และในที่สุดมันได้กลายเป็นสะพานส่งให้ผมก้าวมาสู่พื้นที่ทางวิชาการอย่างเต็มตัว
งานด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผมยึดเอามาเป็นอาชีพหลักนั้นคือการสืบหาความจริงที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมากที่สุดเพื่อนำเอาความรู้ภูมิปัญญารวมทั้งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิตและสร้าง “ผลกำไร” ให้กับมนุษยชาติ แม้ในอนาคตจะมีหลักฐานและผลการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากงานวิจัยเรื่องพระบรมธาตุเจดีย์ฯ ที่ผมได้เคยเสนอไว้ ผมก็เห็นว่ามันจะเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการที่น่าติดตามไม่น้อยไปกว่าการได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้น
เพราะในโลกที่หมุนไปข้างหน้านั้น มีรากฐานสำคัญจากอดีตก้าวตามติดเป็นเงาอยู่เสมอ
เรื่อง ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ภาพประกอบ พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน, สุรเชษฐ์ แก้วสกุล
ติดตามสารคดี สืบค้นต้นเค้า พระบรมธาตุเมืองนคร ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/584135