อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ มีความโดดเด่นอะไรบ้าง? หลังประเทศไทยเสนอให้เป็นมรดกโลก

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ มีความโดดเด่นอะไรบ้าง? หลังประเทศไทยเสนอให้เป็นมรดกโลก

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กำลังจะเป็นมรดกโลก ล่าสุดทางผู้แทนของยูเนสโกได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินความพร้อมทุกด้านแล้ว และกระบวนการขอขึ้นทะเบียนทั้งหมดได้รับการประเมินและผ่านการตรวจสอบขั้นสุดท้ายแล้ว

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอนำเสนอความโดดเด่นที่ทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้บรรยายไว้ว่า เมืองโบราณหรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ เป็นแหล่งทางวัฒนธรรมทวารวดีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60-80 เมตร

อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า พื้นที่แห่งนี้มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 1,700-1,500 ปีมาแล้ว

จากการสำรวจพื้นที่ในรัศมี 15 กิโลเมตรจากเมืองศรีเทพโบราณ พบแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ต่างๆ อย่างน้อย 6 แห่ง ได้แก่ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำเครื่องประดับหิน และสถานที่ประกอบพิธีกรรมหรือฝังศพ

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบลูกปัดและเครื่องประดับจากอินโดแปซิฟิก รวมถึงลูกปัดโมราและคาร์เนเลียน (Carnelian) กำไลหยก และหวีงาช้างแกะสลัก ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาค

ทางยูเนสโกได้ให้เหตุผลสำคัญ 3 ประการดังนี้

1.ที่ตั้งถิ่นฐานที่มีความได้เปรียบและใช้ที่ดินได้อย่างชาญฉลาด ช่วยเพิ่มการเติบโตอย่างมั่นคงของการค้าและวัฒนธรรม

เนื่องจากตัวเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดี ประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักซึ่งในพื้นที่มีลำน้ำทำหน้าที่เป็นต้นน้ำ มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุและป่า
.
ไม่เพียงเท่านั้น เมืองยังตั้งอยู่ระหว่างที่ราบสูงโคราช ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเส้นการค้าทางทะเลได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง

2. เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย

ในด้านนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีบทบาทสำคัญในการรับและถ่ายทอดความเชื่อทางศาสนาจาก 2 วัฒนธรรมใหญ่ คือ พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบทวารวดีจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มแม่น้ำลพบุรี (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 11)

กับศาสนาฮินดูและพุทธมหายานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอาณาจักรขอมโบราณ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 – 13) ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมมากมายที่โดดเด่น

3.มีความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์

ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซลิเยร์ (Jean Boisselie) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสยืนยันว่า ศิลปะของเมืองโบราณศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากศิลปะประติมากรรมขอมโบราณอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิธีการแกะสลัก และลักษณะสัญลักษณ์ต่าง ๆ

โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลาย ๆ แบบ จนสร้างเป็นแหล่งศิลปะที่ไม่มีสถานที่แห่งใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เทียบได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความรู้ ภูมิปัญญา และทักษะ

ยูเนสโกระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่กว่า 700 ปี ก่อนจะค่อย ๆ หมดความสำคัญลงไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 เนื่องจากเมืองละโว้และเมืองพิมายที่เกิดใหม่ ทำให้เกิดเส้นทางการค้าเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การละทิ้งเมืองศรีเทพ

สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะเกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการสมัยสามัญครั้งที่ 45 ในวันที่ 10-25 กันยายนนี้ ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพถ่ายโดย กรมศิลปากร

ที่มา

https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6402/

https://www.thairath.co.th/news/local/north/27164

อ่านเพิ่มเติม การเป็น แหล่งมรดกโลก จะช่วยเรื่องภัยคุกคาม-ท่องเที่ยวเกินขนาด ได้ไหม

Recommend