ผู้คนที่ตกค้างอยู่ในโรงแรมหรูสมัยสหภาพโซเวียต กลางกรุงทบิลิซี ประเทศ จอร์เจีย

ผู้คนที่ตกค้างอยู่ในโรงแรมหรูสมัยสหภาพโซเวียต

ในใจกลางกรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย มีโรงแรมโอ่อ่าแห่งหนึ่งตั้งอยู่ โรงแรมนี้เคยเป็นโรงแรมหรูหราที่สุดแห่งหนึ่งในเมือง แต่ปัจจุบัน โรงแรมจอร์เจียเป็นสัญลักษณ์อันน่าหดหู่ของความจริงยุคหลังโซเวียต กล่าวคือ ครึ่งหนึ่งของอาคารถูกรัฐบาลจอร์เจียก่อกำแพงเพื่อจัดให้เป็นที่อยู่ของชาวจอร์เจียชาติพันธุ์ต่างๆกว่า 200,000 คน ซึ่งพลัดที่นาคาที่อยู่จากสงครามจอร์เจีย-อับคาเซียเมื่อปี 1992 อีกครึ่งหนึ่งของอาคารส่วนใหญ่เป็นห้องว่าง ยกเว้นสองชั้นบนสุดที่ทีมงานหญิงสูงวัยสามคนซึ่งพลัดถิ่นจากสงครามเช่นกัน คอยดูแลแขกผู้มาพักเป็นครั้งคราวในห้องพักที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยม

อเล็กซานดรา โรส ฮาวแลนด์ ซึ่งกำลังทำโครงการถ่ายภาพระยะยาวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ได้ยินเรื่องชุมชนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่อาศัยอยู่ในจอร์เจีย เธอจึงเดินทางไปยังกรุงทบิลิซีเมื่อปีที่แล้วเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม (อับคาเซียไม่ได้รับการรับรองเป็นประเทศเอกราชอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงเรียกผู้คนเหล่านี้ว่า “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” แทนคำว่าผู้ลี้ภัย)

ฮาวแลนด์กำลังสำรวจถนนหนทางตอนที่เธอแวะเข้าห้องน้ำในโรงแรมจอร์เจีย และรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในมิติอื่น “ฉันหลงเสน่ห์บรรยากาศค่ะ” เธอบอก ขณะเดินขึ้นบันไดมืดๆไปสามชั้น เธอก็พบกับพวกผู้หญิงซึ่งให้สัมภาษณ์โดยมีล่ามช่วยแปล

ฮาวแลนด์ได้รู้ว่าหญิงสองคนนั้นอาศัยในโรงแรม ส่วนอีกคนหนึ่งเพิ่งย้ายออกไปอยู่อพาร์ตเมนต์เล็กๆกับลูกสาวที่เป็นผู้ใหญ่แล้วของเธอ วันๆพวกเธอจะใช้เวลาทำความสะอาด รีดผ้า และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน อันเป็นงานประจำที่พวกเธอทำไม่ว่าจะมีแขกหรือไม่ (ตอนฮาวแลนด์อยู่ที่นั่น สมาชิก 50 คนของคณะนักร้องประสานเสียงจอร์เจียนโพลีโฟนิกเปิดห้องพักทั้งสองชั้น พวกเขาเป็นแขกกลุ่มแรกในรอบห้าเดือน) ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับค่าจ้างราวเดือนละ 60 ดอลลาร์สหรัฐ กระนั้น บ่อยครั้งก็ได้รับเงินเดือนทุกๆสามหรือสี่เดือน และในประเทศที่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายขอบของสังคม โรงแรมนี้เป็นสถานที่หนึ่งในไม่กี่แห่งที่จะจ้างพวกเธอ

พวกเธอแบ่งปันเรื่องราวการสูญเสียอันน่าสะเทือนใจ ทั้งการสูญเสียบ้าน สามีกับลูกๆ และชีวิตที่สุขสบาย พวกเธอพูดถึงความรู้สึกของการติดกับ ไร้หนทางที่จะได้กลับบ้าน และไร้หนทางที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อื่น “คุณมองเห็นความเจ็บปวดได้ในทุกถ้อยคำที่เธอพูด และในทุกกิริยาท่าทางค่ะ” ฮาวแลนด์กล่าว

ฮาวแลนด์ไม่สามารถถ่ายภาพผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่อาศัยอยู่ในอีกซีกหนึ่งของอาคารได้ พวกเขารู้สึกไม่สบายใจที่จะให้ถ่ายภาพ แต่เรื่องราวของหญิงสามคนนี้เพียงอย่างเดียวก็ได้เพิ่มมิติใหม่ให้เรื่องราวที่ฮาวแลนด์ต้องการจะบอกเล่าเกี่ยวกับการพลัดถิ่น ความขัดแย้ง และอัตลักษณ์ในโลกที่พรมแดนกำลังเปลี่ยนแปลงไป

เรื่อง อเล็กซา คีฟ

ภาพถ่าย อเล็กซานดรา โรส ฮาวแลนด์

ลาริสซา วัย 68 ปี ได้งานรีดผ้าปูที่นอนในโรงแรมจอร์เจียเมื่อหกปีก่อน เธอหนีออกจากจากเมืองซุคุมีบ้านเกิดเมื่อปี 1992 ในช่วงเริ่มต้นสงครามอับคาเซีย เธอจากมาพร้อมกับลูกชายสองในสามคน ข้าวของไม่กี่ชิ้น และได้พบแหล่งพักพิงในกรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย
Photograph by Alexandra Rose Howland
โถงทางเดินบนชั้นที่ถูกทอดทิ้งชั้นหนึ่งของโรงแรมจอร์เจีย
Photograph by Alexandra Rose Howland
มเซีย วัย 59 ปี แบกผ้าปูที่นอนที่รีดแล้วเข้าไปในห้องเก็บผ้าปูที่นอนภายในโรงแรมจอร์เจีย มเซียทำงานในตำแหน่งเดิมที่โรงแรมแห่งนี้มาเกือบเก้าปีแล้ว ถึงแม้จะจ่ายค่าจ้างไม่สม่ำเสมอ แต่เธอก็พอใจกับความมั่นคงและความคงเส้นคงวาที่โรงแรมจอร์เจียมอบให้เธอ
Photograph by Alexandra Rose Howland
ห้องพักที่โรงแรมจอร์เจีย โรงแรมแห่งนี้อยู่ได้ด้วยการเปิดห้องให้แขกกลุ่มใหญ่เข้าพัก
Photograph by Alexandra Rose Howland
มเซีย วัย 59 ปี นั่งพักสูบบุหรี่อยู่ในครัวของโรงแรมจอร์เจีย เธอเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในช่วงสงคราม ซึ่งต้องหลบหนีความขัดแย้งและมาทำงานเป็นคนขับรถข้ามแนวหน้าไปๆมาๆ มเซียได้รับบาดเจ็บในระหว่างการสู้รบ แผลเป็นขนาดใหญ่ทั่วท้องของเธอยังคงสร้างความเจ็บปวดให้เธอ
Photograph by Alexandra Rose Howland
ทัศนียภาพของกรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย จากหน้าต่างบานหนึ่งในโรงแรมจอร์เจีย มีเพียงสองชั้นที่ยังเปิดเป็นโรงแรม ส่วนที่เหลือของอาคารเป็นที่พักอาศัยของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและคนไร้บ้าน
Photograph by Alexandra Rose Howland
ภาพถ่ายครอบครัวเก่าๆของลาริสซากับลูกชายหนึ่งในสามคนของเธอ ภาพถ่ายครอบครัวเป็นหนึ่งในของไม่กี่อย่างที่เธอนำติดตัวมาด้วยตอนที่เธอและลูกๆหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงสงคราม
Photograph by Alexandra Rose Howland
สมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงจอร์เจียนโพลีโฟนิก ซึ่งเปิดห้องพักของโรงแรมทั้งสองชั้น เล่นเกมแบ็กแกมมอนกันในห้องนั่งเล่นของโรงแรม
Photograph by Alexandra Rose Howland
สมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงจอร์เจียนโพลีโฟนิกนั่งอยู่ในห้องของเขาที่โรงแรมจอร์เจีย
Photograph by Alexandra Rose Howland
นานา วัย 58 ปี จากเมืองซุคุมี อับคาเซีย ทำความสะอาดใต้โต๊ะในห้องโถงต้อนรับแขก แม้ว่าจะต้อนรับแขกเพียงปีละไม่กี่คน แค่หญิงทั้งสามก็ทำความสะอาดแต่ละห้องทุกวัน
Photograph by Alexandra Rose Howland
นานา วัย 58 ปี ทำความสะอาดหลังผ้าม่านที่ชั้นบนสุดของโรงแรมจอร์เจีย ซึ่งเธอทำงานมาสี่ปีแล้ว ในฐานะผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ นานาหางานทำได้ยาก และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอยู่ที่โรงแรม ถึงแม้ว่าจะจ่ายค่าจ้างไม่สม่ำเสมอก็ตาม
Photograph by Alexandra Rose Howland
นานา วัย 58 ปี ถูบันไดของโรงแรมจอร์เจีย เธอหนีออกจากอับคาเซียพร้อมกับลูกๆในช่วงเริ่มต้นสงคราม เมื่อถูกสามีทอดทิ้งหลังจากเขาถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้ายและต่อมาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เธอจึงต้องเลี้ยงดูลูกๆตามลำพัง นานาได้รับเงินเพียงเดือนละ 60.80 ดอลลาร์สหรัฐ เธอจึงต้องพึ่งเงินเดือนของลูกสาว
Photograph by Alexandra Rose Howland
สมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงจอร์เจียนโพลีโฟนิกเตรียมตัวสำหรับการแสดงในใจกลางกรุงทบิลิซี
Photograph by Alexandra Rose Howland
ลาริสซาแอบมองผ่านประตูลิฟต์ที่โรงแรมจอร์เจีย แม้จะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้เนื่องจากอายุของเธอ สุขภาพที่ไม่แข็งแรง และเงินทองที่มีเพียงเล็กน้อย แต่ลาริสซายังคงฝันที่จะกลับไปมีชีวิตเหมือนช่วงก่อนเกิดสงคราม กลับไปยังบ้านริมชายฝั่งของเธอ
Photograph by Alexandra Rose Howland

 

อ่านเพิ่มเติม

บินทะยานไปกับแอร์โครยอ สายการบินเกาหลีเหนือ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.