“ไทย” อาจเป็นเมืองหลวงใหม่ “ท่องเที่ยวกัญชา” ร่วมสหรัฐฯ, แอฟริกาใต้ – ขณะที่อัมสเตอร์ดัม ต้นตำรับเมืองหลวงกัญชากำลังเพิ่มความเข้มงวด

สถานที่ ท่องเที่ยวกัญชา แห่งใหม่ เว็บไซต์นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า เมื่ออัมสเตอร์ดัมอำลา ที่ใดจะเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวกัญชาแห่งใหม่ (As Amsterdam bows out, what will be the new capital of cannabis tourism?) โดยมีใจความว่า

อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เปิดการ “ท่องเที่ยวกัญชา” มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว แต่ในตอนนี้พวกเขากำลังค่อย ๆ ถอยห่างจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท

เฟมเก ฮาลเซมา (Famke Halsema) นายกรัฐมนตรีของเมืองชี้ว่า “กัญชากำลังบ่อนทำลายเมือง”
.
กัญชาก่อให้เกิดอาชญากรรมและความวุ่นวายในที่สาธารณะ สร้างความไม่สงบและความเดือดร้อนให้กับชาวเมือง หลายคนเสนอให้ห้ามชาวต่างชาติเข้าร้านคาเฟ่กัญชา เนื่องจากอัมสเตอร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของผู้ที่ชื่นชอบพืชสีเขียวชนิดนี้ โดยเนเธอร์แลนด์ได้ยกเลิกโทษทางอาญาตั้งแต่ปี 1976

ภาครัฐได้ออกกฎหมายใหม่ซึ่งจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สั่งให้บาร์ปิดเร็วขึ้น และเพิ่มโทษปรับเงินราว 3,820 บาท (100 ยูโร) สำหรับการเสพกัญชาในที่สาธารณะ

ซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ากฎหมายเหล่านี้อาจทำให้มี “แหล่งท่องเที่ยวกัญชาแห่งใหม่ทั่วโลก” เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

ในบทความให้ความเห็นว่า “ประเทศไทย” คือหนึ่งในนั้น ร่วมกับแอฟริกาใต้, อุรุกวัย, จาเมกา, มอลตา เม็กซิโก, แคนาดา, และสหรัฐอเมริกา ที่ได้ผ่อนคลายกฎหมายกัญชา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เยอรมนีก็อาจเข้าร่วมในเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากอาจมีการออกกฎหมายกัญชาในเร็ว ๆ นี้
.
สำหรับในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากการผ่อนคลายกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในช่วงรัฐบาลของ (อดีต) นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ปัจจุบันมีร้านขายกัญชาเปิดใหม่มากมาย โดยในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวก็มีอยู่หลายพันแห่งซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย

“ตอนนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่มีอิสระเสรีในเรื่องกัญชา และมีข้อจำกัดในด้านนักท่องเที่ยวน้อยมาก” ไมเคิล โอเรแกน (Michael O’Regan) อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยคาเลโดเนียนในสก็อตแลนด์กล่าวและเสริมว่า “ไทยกำลังดึงดูดนักท่องเที่ยวกัญชาทั่วภูมิภาคเอเชีย และอาจดึงดูดชาวยุโรปมากขึ้นด้วย”

ทาง High Thailand ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาและสถานที่ขายได้ระบุว่า แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เกาะสมุย และเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละแห่งสามารถมองหาร้านกัญชาได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันมีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคนที่ลงทะเบียนเพื่อปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย

กระนั้น ดร. พิพัฒพงศ์ ฟักแฟ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า กฎหมายของไทยค่อนข้างซับซ้อนกว่า โดยกัญชาที่ถูกกฎหมายจะมีสาร THC (กลุ่มสารที่พบในกัญชา) ไม่เกินร้อยละ 0.2

“ผมคิดว่า เราต้องการแนวทางและกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าควรขายหรือจำหน่ายกัญชาที่ไหนและอย่างไร ก่อนที่ประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองหลวงของกัญชา” ดร. พิพัฒพงศ์ ฟักแฟ กล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่ง อย่างเช่นจากเยอรมนีเสริมว่าตัวอย่างจากอัมสเตอร์นั้นควรเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

“พวกเขาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เนเธอร์แลนด์เป็นแบบอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง ภายใต้กฎหมายใหม่ (ของเยอรมนี) กัญชาจะมีจำหน่ายเฉพาะในปริมาณที่จำกัด และให้สำหรับคนที่ลงทะเบียนในกลุ่มที่เรียกว่าชมรมกัญชาเพื่อบริโภคด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ชาวต่างชาติหาซื้อได้ยากขึ้น” จูเลียส อาร์เนกเกอร์ (Julius Arnegger) จากสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวแห่งยอรมนีกล่าว

ทางโอเรแกนเสริมว่า ไม่มีเมืองแห่งไหนในยุโรปอยากจะรึบเร่งจนกลายเป็นอัมสเตอร์แห่งต่อไป “ผมไม่คิดว่าเมืองไหนอยากจะสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ซ้ำและให้นักท่องเที่ยวบินจากทั่วภูมิภาคเพื่อมาเสพกัญชา” โอเรแกนกล่าว

ทาง Forbes ประเมินเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า อุตสหกรรมการท่องเที่ยวกัญชามีมูลค่ากว่า 5.95 แสนล้านบาทต่อปี และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ใช้ใหม่ ๆ เข้ามา และเมื่อมีคนจำนวนมากขึ้น พฤติกรรมที่ไม่น่าเคารพก็เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อเมืองได้

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวกัญชาที่ไม่เคยได้รับความสนใจมากนักกำลังพัฒนาขึ้นในแอฟริกา ตัวอย่างเช่นแอฟริกาใต้ ที่ได้ลดโทษการใช้กัญชาในที่ส่วนตัวในปี 2018

เช่นเดียวกันกับแคนาดาและรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ โคโลราโด แคลิฟอร์เนีย ออริกอน และวอชิงตัน และในอนาคต การท่องเที่ยวกัญชาอาจเฟื่องฟูในคอสตาริกา ปานามา อาร์เจนตินา บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู ซึ่งทั้งหมดได้ผ่อนคลายกฎหมายกัญชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“มันไม่ฉลาดเลยที่นักท่องเที่ยวกัญชาจะเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในพื้นที่ในกำบังซึ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ใช้ไม่ได้กับพวกเขา หรือพวกเขาจะปลอดภัยในระหว่างที่ซึมซับประสบการณ์อยู่” จอห์น ลิปฟอร์ด (John Lipford) อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยแกรนด์วัลเลย์สเตท สหรัฐอเมริกา กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/travel/article/amsterdam-marijuana-ban-cannabis-tourism

อ่านเพิ่มเติม กัญชาเสรี : เมื่อ “กัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.