งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การ คิดบวก มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการมีอายุมากขึ้น (แก่ขึ้น) อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีพอ ๆ กับการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดี
นักวิทยาศาสตร์รู้มาสักระยะหนึ่งแล้วว่าคนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นกับเพื่อนฝูงและครอบครัวมักจะมีอายุยืนยาว ทางทีมงานจากมหาวิทยาลัยบริคฮัม ยัง (Brigham Young University) ได้ตรวจสอบผลลัพธ์จากงานวิจัยกว่า 148 ชิ้นที่ย้อนหลังไปถึงปี 1900 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์
การศึกษาเหล่านั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 308,849 คน และใช้เวลาติดตามเฉลี่ย 7.5 ปี โดยผลสรุปนั้นน่าประหลาดใจ
พวกเขาพบว่าผู้คนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีมีแนวโน้มจะมีชีวิตอยู่นานกว่าผู้คนที่เหงาและโดดเดี่ยวถึงร้อยละ 50
หรือจะกล่าวอีกอย่างได้ว่า ชีวิตทางสังคมที่น่าพึงพอใจนั้นมีประโยชน์ต่อการอยู่รอด และอาจสำคัญกว่าการออกกำลังกายหรือการเอาชนะโรคอ้วนด้วยซ้ำ
การคิดบวก การมองโลกในแง่ดี การจินตนาการว่าเราจะมีวัยชราที่ดี และได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดีจะช่วยให้ชีวิตยืนยาวได้
ศาสตราจารย์ เบคก้า เลวี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล เสริมว่าความเชื่อก็มีอิทธิพลต่อสุขภาพที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น
“สิ่งที่ฉันสังเกตเห็นจริง ๆ ก็คือในญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะปฏิบัติต่อสมาชิกที่อายุมากนั้นแตกต่างเมื่อเทียบกับการปฏิบัติต่อคนวัยชราที่ฉันเคยเห็นในสหรัฐอเมริกา” เลวีกล่าว
ศาสตราจารย์เลวีอธิบายว่า ในญี่ปุ่น ผู้สูงอายุได้รับความเคารพนับถือ พวกเขาไม่ได้ถูกรังเกียจหรือถูกเยาะเย้ยว่าเป็นแค่ ‘คนแก่’
สิ่งนี้ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และนั่นทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นในความสัมพันธ์ทางสังคม
ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์เลวีได้แสดงให้เห็นว่า คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีทัศนคติดีต่ออายุที่มากขึ้นยังสามารถทำงานในชีวิตประจำวันได้ดีในอีก 18 ปีข้างหน้า เช่น สามารถเดินระยะไกลได้มากกว่าคนที่คิดว่าวัยชรานั้นเป็นความสิ้นหวัง
การศึกษาทางสมองก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์เลวีได้ศึกษาผู้ที่มียีน APOE ε4 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ คนที่มีทัศนคติในแง่ดีเกี่ยวกับวัยสูงอายุมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนกังวลกับอนาคตมากถึงร้อยละ 47
โดยสรุปแล้วคนที่มีเชื่อว่าความชราในอนาคตจะเป็นช่วงชีวิตที่สดใสจะมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่เศร้าหมองโดยเฉลี่ยแล้ว 7 ราวปีครึ่ง
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าการคิดเชิงบวกทำอะไรกระบวนการในร่างกาย แต่ศาสตราจารย์เลวีคาดว่าผู้ที่มีการมองโลกในแง่ดีมักจัดการและควบคุมตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
คนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่ดี (มากกว่าจะตามใจปากตนเอง) ออกกำลังกาย และกินยาตามใบสั่ง รวมถึงมีฮอร์โมนคอร์ติซอลและตัวบ่งชี้ความเครียดทางชีวภาพอื่น ๆ ในระดับที่ต่ำกว่า
“สิ่งสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องอายุก็คือพวกมันสามารถปรับเปลี่ยนได้” ศาสตราจารย์เลวีกล่าว “แนวคิดก็คือทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเชื่อเกี่ยวกับอายุของตนเอง รวมถึงความเชื่อเรื่องอายุที่พวกเขาพบในชีวิตประจำวัน”
เนื่องจากปัจจุบัน อคติในสังคมจากคนในช่วงอายุอื่นๆ ที่มีต่อผู้สูงอายุนั้นแย่ลงเรื่อย ๆ คนชรากลายเป็นกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยและถูกทำเป็นเรื่องหรือมีมตลก ๆ ในสังคม
ทำให้คนวัยชราขาดการสนับสนุนทางสังคมที่ดี นำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม ถ้าคุณกำลังคิดว่าคุณแก่เกินไปที่จะทำสิ่งต่าง ๆ จงบอกกับตัวเองแบบนี้
“ไม่” ฟราน สมิธ ผู้เขียนบทความของ National Geographic เขียน “ฉันไม่ได้แก่เกินไป ฉันอาจจะทำมันช้าลงหรือฉันอาจจะทำมันน้อยลง แต่ฉันยังไม่แก่เกินไปที่เต้น เดิน หรือทำอะไรที่ฉันชอบ”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/longevity-positive-thinking-prolong-health