ฮามาส และตัวประกัน – กลุ่มนี้ตั้งใจเล็งเป้าหมายเป็น “แรงงานไทย” หรือไม่

ฮามาส และตัวประกัน – ทำไมกลุ่มติดอาวุธนี้ตั้งใจเล็งเป้าหมายเป็น “แรงงานไทย” หรือเป็นแค่ความบังเอิญ? ทำไมพวกเขาต้องจับตัวประกัน และอิสราเอลมีทางเลือกอะไรบ้าง?

ฮามาส (Hamas) คือชื่อกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่ครองอำนาจอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา โดยขึ้นเป็นผู้นำแทนที่องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่สิ้นอำนาจไป
.
ฮามาสมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อยึดคืนพื้นที่เดิมทั้งหมดที่ชาวปาเลสไตน์เคยอาศัยอยู่มานานนับร้อย ๆ ปี โดยพวกเขาอ้างว่าชาวอิสราเอลยึดครองดินแดนเหล่านั้นไปโดยมิชอบ
.
แม้จะมีความขัดแย้งกันเรื่อยมาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส แต่ยังไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่าครั้งนี้ กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัวด้วยจรวดหลายพันลูก และบุกข้ามพรมแดนคร่าชีวิตชาวเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,300 ราย และได้จับกุมตัวประกัน 126 รายตามการยืนยันล่าสุดของอิสราเอล
.

– กลุ่มตัวประกันของ ฮามาส มีใครบ้าง?

.
ตามรายงานระบุว่าส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอล แต่มีชาวต่างชาติบางส่วน โดยเฉพาะ “แรงงานไทย” ที่มีสัดส่วนมากเป็นพิเศษ ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 16 คน และมีแรงงานไทยที่เสียชีวิต 28 คน ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยกำลังหาทางพยายามช่วยเหลือ
.

– ทำไมฮามาสต้องจับตัวประกัน?

.
ศาสตราจารย์ เจมส์ ฟอเรสต์ (James Forest) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ อาชญาวิทยาและความยุติธรรมศึกษา จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โลเวลล์ กล่าวว่า อาจมีขึ้นเพื่อดึงความสนใจของทั่วโลกไปยังความสิ้นหวัง ความลำบาก และความยากจนของผู้คนในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม
.
รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุเอาไว้ในเดือนกรกฎาคมปี 2020 ว่า “แม้อิสราเอลจะอ้างเหตุผลในการปิดฉนวนกาซาว่าเพื่อควบคุมกลุ่มฮามาสและรับประกันความปลอดภัยของอิสราเอล
.
แต่ผลกระทบที่แท้จริงนั้นกลับเป็นการทำลายเศรษฐกิจของฉนวนกาซา ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างประเมินค่าไม่ได้ต่อประชากร 2 ล้านคน”
.
ศาสตราจารย์ฟอเรสต์กล่าวว่า ผู้นำกลุ่มฮามาสอาจรู้สึกว่าภาพหรือพาดหัวข่าวเกี่ยวกับอาคารที่ถูกทำลายด้วยระเบิด ไม่สามารถดึงอารมณ์และความสนใจของผู้อ่านได้มากกว่าภาพของเชลย ซึ่งจะทำให้สื่อสนใจได้ยาวนานกว่า
.
อย่างไรก็ตาม การจับผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกประณาม เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้กระทำการนี้
.
แม้ฮามาสจะอ้างว่าทำเพื่อปลดปล่อยดินแดนของตนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ในปัจจุบันอาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดีแล้วก็ได้ เนื่องจากทำให้เกิดการตอบโต้จากหลายประเทศ
.

– ทำไมฮามาสต้องจับคนไทย?

.
ด้วยสัดส่วนแรงงานไทยที่ถูกจับตัวประกันมากเป็นพิเศษ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาได้ว่ากลุ่มฮามาสเล็งเป้าหมายที่คนไทยหรือไม่? เราพูดให้ชัดเจนแบบนั้นได้ยาก แต่ข้อเท็จจริงคือ มีคนไทยเดินทางไปทำงานด้านภาคการเกษตรอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก
.
และพื้นที่การเกษตรของอิสราเอลที่เรียกว่า ‘คิบบุตช์’ กับ ‘โมซาฟ’ นั้นตั้งอยู่รอบ ๆ ฉนวนกาซา เมื่อกลุ่มฮามาสบุกเข้ามาทางภาคพื้นดิน คนไทยที่เป็นแรงงานในพื้นที่จึงมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ
.
เมื่อฮามาสเข้ามา พวกเขาจะกวาดต้อนทุกคนที่เจอเพื่อเน้นจำนวนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างแรงกดดันในหลาย ๆ ด้านต่ออิสราเอล
.

– แล้วอิสราเอลมีทางเลือกอะไรบ้าง?

.
ศาสตราจารย์ฟอเรสต์เสริมว่า อิสราเอลอาจยกระดับความคุมเข้มต่อพื้นที่ฉนวนกาซามากขึ้น แต่อย่างที่เห็นอยู่เรื่อยมา การกระทำเหล่านั้นยิ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์เกลียดชังอิสราเอลยิ่งขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นสู้กับการถูกกดขี่
.
ประการต่อมา อิสราเอลอาจสังหารผู้นำกลุ่มฮามาส แต่ศาสตราจารย์ฟอเรสต์กล่าวว่า ทางเลือกนี้ไม่อาจมีประโยชน์อะไร เนื่องจากคนเก่าตายไป คนใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่และอาจโหดเหี้ยมขึ้น
.
อีกทางเลือกหนึ่งคือการเจรจา แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นเสมอมาว่าการเจรจาแทบไม่เคยเกิดขึ้นระหว่างการเผชิญหน้าทางทหารที่รุนแรง
.
กลุ่มฮามาสมีความเชื่อว่าพวกเขามีความชอบธรรมที่จะเผชิญหน้ากับอิสราเอลอย่างเต็มที่และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะต่อสู้ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม
.
ดังนั้นความท้าทายก็คือ ไม่มีความหวังที่จะมีการเจรจาเพื่อสันติภาพอันยั่งยืนต่อกลุ่มที่เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
.
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Image by hosny salah from Pixabay
ที่มา

https://theconversation.com/israel-has-no-good-options-for-dealing-with-hamas-hostage-taking-in-gaza-215364

https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/122803-hostageIsrael.html

https://www.nytimes.com/article/israel-hostages-hamas-explained.html

https://www.theguardian.com/world/2023/oct/15/israel-confirms-people-hostage-hamas

https://www.wsj.com/livecoverage/israel-hamas-war-gaza-conflict/card/what-is-happening-with-the-hostages-in-gaza–tZ1KpczDakaC3xaJKiFr


อ่านเพิ่มเติม ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและ ปาเลสไตน์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.