นัต: พลังศรัทธาของมวลชน

นัต: พลังศรัทธาของมวลชน

สียงดนตรีจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านดังกังวานไปทั่วบริเวณ สลับกับเสียงจอแจของเหล่าศรัทธาชนที่ประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ น่าจะไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นคน เพื่อนร่วมทางคนหนึ่งแย้งว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ที่หลักแสนคนมากกว่า ผมลองเดินสำรวจไปรอบๆได้ไม่นาน จึงเห็นด้วยกับตัวเลขหลักแสนนั้น พร้อมๆกับความรู้สึกทึ่งในพลังศรัทธาที่ผู้คนเหล่านี้มีต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันว่า “นัต”

เราออกเดินทางจากเมืองมัณฑะเลย์กันตั้งแต่เช้ามืดตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมทางชาวพม่าว่า แม้ระยะทางจากตัวเมืองไปถึงหมู่บ้านต่องปะโยงจะห่างเพียงแค่ 20 กิโลเมตร ทว่าในช่วงเทศกาลอย่างนี้ ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกับเรา หมู่บ้านต่องปะโยงซึ่งในช่วงเวลาปกติเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ โอบล้อมไปด้วยทุ่งนาและพื้นที่ปศุสัตว์จะแปรสภาพเป็นดินแดนแห่งศรัทธาของผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ผู้เซ่นไหว้แสวงบุญ ร่างทรง นักท่องเที่ยว ไปจนถึงพ่อค้านักธุรกิจ

ยานพาหนะหลากชนิดทั้งรถบัส รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถอีแต๊กอีแต๋น ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นรถโดยสาร และรถราเหล่านั้นจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนบนถนนลูกรังที่กว้างแค่พอให้รถสวนกันได้อย่างทุลักทุเล ตลอดสองข้างทางมีมวลชนคอยถือภาชนะสำหรับใส่เงินบริจาคจากเหล่านักแสวงบุญ ขณะที่บางส่วนเดินทางด้วยรถไฟซึ่งก็แน่นขนัดจนผู้โดยสารบางส่วนหนีขึ้นไปนั่งรับลมบนหลังคา และอีกจำนวนไม่น้อยที่ห้อยโหนอยู่รอบๆขบวนรถ เช่นเดียวกับพวกที่ทยอยกันมาทางเรือเพื่อเลี่ยงการจราจรติดขัด  ตลอดริมฝั่งแม่น้ำอิรวดีมีเรือหลากหลายชนิดคอยบริการนักแสวงบุญตามกำลังทรัพย์ ทั้งเรือยนต์และเรือแจวขนาดเล็กคอยให้บริการตลอดทั้งวัน แม้บรรยากาศจะดูสับสนวุ่นวาย แต่เมื่อมองเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าผู้คน ผมก็พออนุมานได้ว่า นี่คือเทศกาลที่พวกเขารอคอยมากเพียงใด

อู มิน ซู อายุ 56 ปี เป็นหนึ่งในนัตกะด่อหรือร่างทรงนัตอาวุโสที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก เขาเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าชื่อดังที่ตลาดโบโจ๊กในเมืองย่างกุ้ง เริ่มเป็นนัตกะด่อมาตั้งแต่อายุ 20 ปี

ตามคติของชาวพม่า “นัต” หมายถึงผู้ทรงฤทธิ์ ซึ่งเป็นได้ทั้งเทพยดาและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ นัตคอยปกป้องคุ้มครองผู้คนให้อยู่เย็นเป็นสุขและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต นักปราชญ์ชาวพม่าเชื่อกันว่า เดิมทีคำว่า นัต  แผลงมาจากคำว่า “นาถ” ในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นที่พึ่ง” นัตจะมีฐานะกึ่งเทพกึ่งผี มีระดับสูงกว่าผีทั่วไป แต่ไม่เทียบเท่าเทวดา

ชาวพม่าบูชานัตมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยการตั้งหิ้งบูชาไว้ในบ้าน หิ้งบูชานัตมักตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของผนังหน้าบ้าน นัตที่ชาวพม่าบูชาในบ้านนี้เรียกว่า “นัตเรือน” หรือ “มีงมหาคีรีนัต” ซึ่งเชื่อกันว่า ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นให้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถพบเห็นหิ้งบูชานัตได้ทั่วไปตามบ้านเรือนของชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ โดยหิ้งพระจะอยู่สูงกว่าหิ้งนัตอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการจัดลำดับความสำคัญทางความเชื่อและศรัทธา

ชาวพม่าแบ่งนัตออกเป็น 3 ประเภท คือ นัตพุทธ นัตใน และนัตนอก โดยที่ “นัตพุทธ” เป็นนัตที่หลอมรวมความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ากับตำนานท้องถิ่นเรื่องนัตของชาวพม่า มีทั้งสิ้น 37 องค์ “นัตใน” หมายถึงนัตที่ถูกกําหนดให้อยู่ในเขตกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง เมืองพุกาม ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธา มีทั้งสิ้น 37 องค์เช่นกัน ขณะที่”นัตนอก” คือนัตที่จัดให้อยู่นอกของเขตกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง ถือเป็นนัตที่ทรงอิทธิพลทางความเชื่อและยังคงได้รับการบูชาเซ่นไหว้มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นัตนอกยังถือเป็นนัตที่ได้รับความนิยมในการอัญเชิญเข้าประทับทรงจากบรรดาร่างทรงนัตหรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “นัตกะด่อ” มากที่สุด และเป็นที่มาของเทศกาลบูชานัตที่หมู่บ้านต่องปะโยงแห่งนี้

ในแต่ละปีที่หมู่บ้านต่องปะโยงจะจัดเทศกาลบูชาเซ่นไหว้นัตขึ้นทั้งหมดสามครั้ง  โดยช่วงเดือนธันวาคมนับเป็นครั้งแรก ครั้งที่สองอยู่ในเดือนมีนาคม และครั้งสุดท้ายคือช่วงขึ้น 10-15 ค่ำของเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นเทศกาลบูชานัตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเทศกาลนัตในยุคปัจจุบัน คือการเป็นเทศกาลที่เหล่าหญิงข้ามเพศในประเทศพม่ามารวมตัวกันมากที่สุดกว่างานไหนๆ จนถึงขนาดเรียกขานกันในหมู่คนท้องถิ่นว่าเป็น “เทศกาลเกย์”

ท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำอิรวดีคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาจากทุกภูมิภาค หมู่บ้านต่องปะโยงสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางรถ รถไฟ และเรือ เทศกาลบวงสรวงนัตเป็นช่วงเวลาแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้า

ในช่วงเวลานี้ของปี เขาหรือเธอเหล่านั้นจะเลือกเดินทางมาที่นี่อย่างที่ไม่ต้องคิดนาน “เหมือนได้กลับบ้านมาเจอพี่น้อง มาทำบุญ มาสนุกสนาน มาเติมพลังแล้วกลับไปลุยใหม่” “เปิ้ล” สตรีข้ามเพศชาวพม่าบอกผมด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉานเธอเดินทางกลับมาหลังจากไปทำงานที่ประเทศไทยเพื่อมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ เธอบอกว่าไปทำงานที่ไทยย่างเข้าสู่ปีที่ 7 และขอปฏิเสธที่จะเปิดเผยถึงอาชีพ บอกเพียงแต่ว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานธรรมดาๆ “อยากให้กะเทยในพม่าสวยเหมือนกะเทยเมืองไทยค่ะ ที่เมืองไทยกะเทยกับผู้หญิงเหมือนกันจนแยกไม่ออก” คือประโยคท้ายๆ ที่เราคุยกัน

ไม่เพียงแต่ผู้ร่วมงานจำนวนมากที่เป็นหญิงข้ามเพศ นัตกะด่อซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเคารพบูชามากมาย ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นหญิงข้ามเพศทั้งสิ้น พวกเขาแต่งกายด้วยอาภรณ์สีสันสะดุดตา และให้ความสำคัญกับการแต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างพิถีพิถัน ลิปสติกสีแดงสดบรรจงทาบนริมฝีปาก แป้งพัฟเนื้อละเอียดค่อยๆ แต้มแต่งลงบนใบหน้าเช่นเดียวกับแปรงปัดแก้มปลายแต้มด้วยสีชมพูอ่อน ขณะที่คิ้วและขนตาปลอมดูจะเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

มีนัตกะด่อเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นชายหรือหญิงแท้ๆ และมักไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในหมู่ผู้นับถือนัต ตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมงานเทศกาล ผมพยายามมองหานัตกะด่อที่เป็นผู้ชายแท้ๆ จนกระทั่งวันสุดท้ายก็ยังไม่พบ

นอกเหนือจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แล้ว เทศกาลบวงสรวงนัตที่ต่องปะโดงยังเป็นหนึ่งในงานออกร้านลำดับต้นๆ ของประเทศพม่า มีการขายสินค้าและสวนสนุกเร่

โกจอ มิน นัตกะด่ออาวุโสคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นร่างว่าเกิดขึ้นจากความศรัทธาส่วนตัวตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งพ่อแม่และญาติๆ ของเขาล้วนมีศรัทธาต่อนัตมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเองรู้สึกถึงความหลงใหลและสัมผัสได้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่มาดลใจ เขาบอกว่าเขาจึงยอมเปิดใจรับดวงวิญญาณนัตเข้ามาประทับทรง “ฉันเริ่มรู้สึกตอนอายุประมาณ 11 ขวบ พอความรู้สึกแบบเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะปฏิเสธโอกาสดีๆ อย่างนั้น” เขาบอกกับผมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น“ตลอดระยะเวลาประทับทรงฉันรู้สึกตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะพูดจาหรือทำนายทายทัก เพียงแต่เป็นการพูดที่ไม่ได้เตรียมไว้ก่อนรู้ตอนนั้นว่าต้องพูดแบบนั้น”

พิธีทรงเจ้านัตเป็นพิธีทรงเจ้าเข้าผีที่มีขั้นตอนซับซ้อน แต่นั่นกลับยกระดับให้นัตมีแนวโน้มเข้าใกล้สถานะของความเป็นเทพมากว่าผีทั่วๆ ไป ข้อสังเกตของผมอีกประการคือ การเป็นร่างทรงนัตเปิดโอกาสให้หญิงข้ามเพศมีบทบาทในสังคมพม่า และมีสถานะที่ได้รับการยอมรับ แตกต่างจากบทบาทอื่นๆ ในสังคมที่เรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่เปิดกว้างนักอย่างพม่า

เรื่อง ยศธร ไตรยศ
ภาพถ่าย โสภณ เชียรวิทยาคุณ

 

อ่านเพิ่มเติม

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นทุกวันในอียิปต์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.