๔๕๐ ปี นครหลวงเวียงจันทน์

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ พลังแห่งชาตินิยมและความแข็งแกร่งทาง วัฒนธรรมจะช่วยธำรงอัตลักษณ์ความเป็นลาวใน นครหลวงเวียงจันทน์ อันงดงามแห่งนี้ได้หรือไม่

นครหลวงเวียงจันทน์ – ฉันยืนอยู่กลางแดดร้อนจัดของฤดูหนาวตรงทางออกจากด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว รอบตัวอื้ออึงด้วยสรรพเสียงและพร่าเลือนด้วยสารพัดความเคลื่อนไหว เสียงเครื่องยนต์ของรถเมล์เที่ยวละ 20 บาทที่วิ่งไปกลับรับส่งผู้โดยสารจากด่านสะพานมิตรภาพทั้งสองฝั่งดังกระหึ่ม แข่งกับเสียงตะโกนเรียกลูกค้าของบรรดาคนขับรถตู้ที่จอดรถรอกันเป็นแถว นักท่องเที่ยวต่างชาติสะพายเป้ใบใหญ่กำลังต่อรองราคากับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ข้างๆ ฉันเป็นคุณป้าชาวลาวนุ่งซิ่นกำลังสนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือ เธอหิ้วถุงช็อปปิ้งซึ่งอัดแน่นไปด้วยข้าวของที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี ไกลออกไปเด็กสาวลาวในชุดเสื้อยืดกางเกงยีนรองเท้าส้นสูง ทรงผมถอดแบบมาจากเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลี กำลังยืนเมาท์กับกลุ่มเพื่อนสาวอย่างออกรส

“ไปเวียงจันทน์มั้ย” ตี๋น้อยกล่าวข้างหูฉันด้วยภาษาไทยไม่เจือสำเนียงอื่น เด็กหนุ่มหน้าตาดีวัยไม่เกิน 25 ปีคนนี้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการขับรถรับส่งผู้โดยสารจากสะพานมิตรภาพ เขากับพ่อมาที่นี่ทุกวันเพื่อช่วยกันหาผู้โดยสาร “บางวันถ้าโชคดีก็ได้สักเที่ยว บางวันมาคอยทั้งวันไม่ได้เลยก็มี ตั้งแต่น้ำท่วมคนไทยมาน้อยลงเยอะ” เขาเล่าขณะที่ฉันตกลงอาศัยรถเขาเข้าไปในตัวเมืองเวียงจันทน์ที่ห่างจากสะพานไปยี่สิบกว่ากิโลเมตร

ด้วยต้นทุนน้ำมันที่แพงลิบลิ่วเท่ากับเมืองไทย ฉันนึกสงสัยว่าค่าโดยสารเที่ยวละ 400 บาทต่อวันจะพอเลี้ยงคนทั้งครอบครัวหรือ “ก็อยู่ได้นะ วันไหนไม่มีผู้โดยสารก็กลับไปกินข้าวบ้าน” กระนั้น ในประเทศที่รายได้ข้าราชการเริ่มต้นที่เดือนละ 1,500 บาท งานของตี๋น้อยดูจะน่าพิสมัยกว่าอีกหลายๆ อาชีพ

พุทธศาสนิกชนลาวจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานบุญธาตุหลวงประเพณีสำคัญประจำปีของนครหลวงเวียงจันทน์ สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาและความผูกพันอย่างลึกซึ้งในพุทธศาสนา ที่แม้แต่อิทธิพลและความเชื่อทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ก็ไม่อาจลบเลือน

ขณะที่รถตู้ของตี๋น้อยแล่นไปช้าๆ ฉันสูดกลิ่นอายของเมืองที่คุ้นเคยอีกครั้ง แค่เพียงปีเดียวเท่านั้น ทิวทัศน์สองฟากระหว่างทางสู่นครเวียงจันทน์เปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ และหากเทียบกับตอนที่ฉันได้มาเยือนครั้งแรกสมัยยังเป็นเด็กก็แทบไม่เหลือเค้าเดิมให้เห็น ท้องนาเขียวชอุ่มกว้างไกลสลับกับบ้านเรือนหลังน้อยและร้านค้าเล็กๆ

เหล่านั้นหายไปแล้ว บัดนี้ริมฝั่งถนนกลับกลายเป็นย่านชุมชน ร้านค้าและตึกอาคารโรงงานที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ตัวอักษรหลากภาษาตามป้ายต่างๆ บ่งบอกถึงการลงทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ไทยและเวียดนาม ส่วนเรือนไม้พื้นถิ่นริมถนนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังก็ตั้งอยู่อย่างหงอยเหงาราวกับหวาดผวาอาคารคอนกรีตรูปทรงแปลกตาเหล่านั้น

อยู่ดีๆ ตี๋น้อยก็หักพวงมาลัยรถเข้าข้างทาง เด็กหนุ่มเปิดกระจกรถพร้อมกับยื่นธนบัตรให้เด็กสาวที่ยืนอยู่ใต้ร่มไม้เขาชักมือกลับมาพร้อมกับแผ่นกระดาษกลมๆ แผ่นหนึ่ง “เฉลิมฉลองนครหลวงเวียงจันทน์ครบรอบ 450 ปี” เขายื่นให้ฉันดู บนสติ๊กเกอร์ใบนั้นมีรูปพระธาตุหลวงสัญลักษณ์ของเวียงจันทน์และศูนย์รวมความศรัทธาของคนลาวเด่นสง่าอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยช่อจำปาลาวและพระรูปพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนานครหลวงเวียงจันทน์ “อีกไม่กี่วันก็จะมีงานฉลองแล้วจัดร่วมกับงานบุญธาตุหลวง และวันชาติลาวครบ 35 ปี” ตี๋น้อยเล่าโดยไม่ต้องรอให้ฉันถาม ดูท่าทางเขาก็จะตื่นเต้นกับการฉลองใหญ่ครั้งนี้ไม่น้อย

ไกสอน พมวิหาน ผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการชาตินิยมลาวยุคอาณานิคม และผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกระบวนการสร้างชาติ ไม่ต่างจากโฮจิมินห์ของเวียดนามและเหมาเจ๋อตุงของจีน

เมื่อรถตู้กลางเก่ากลางใหม่ของตี๋น้อยเข้าใกล้ตัวเมืองป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “ขอชมเชยวันสถาปนา ส.ป.ป.ลาวครบ 35 ปี อย่างสุดใจ” ที่ติดอยู่ตามสถานที่ราชการคู่กับป้าย “นครหลวงเวียงจันทน์ 450 ปี” ตามถนนหนทางทั่วไป ก็เริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าสิ่งที่ดึงดูดสายตาที่สุดเห็นจะเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ริมแม่น้ำโขง ที่ซึ่งอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ล้านช้าง ตั้งเด่นเป็นสง่าใกล้กับที่ตั้งพระราชวังเดิมของพระองค์ ที่บัดนี้แปรสภาพเป็น “หอคำ” หรือ “ทำเนียบประธานประเทศ” พระองค์ทรงยืนทอดพระเนตรแม่น้ำโขง พระหัตถ์ผายไปทางฝั่งหนองคาย ป้ายใกล้ๆ กันเขียนว่า “สวนสาธารณะเจ้าอนุ” แม้แดดยามเที่ยงที่กระทบน้ำโขงเป็นประกายระยิบจะแผดแสงแรงจ้าจนบาดตาและบาดผิว แต่คนลาวหลายคนก็ยืนโพสท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ดูเหมือนเวียงจันทน์วันนี้จะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และบรรยากาศของการเฉลิมฉลองอย่างแท้จริง

นครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี เป็นชื่อที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพระราชทานแก่เมืองเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ พระองค์ทรงสถาปนาเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างเมื่อปี พ.ศ. 2103 จากนั้นอีก 6 ปีต่อมา ได้ทรงบูรณะพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง โดยโปรดฯให้สร้างพระธาตุองค์ใหญ่ครอบและพระราชทานนามใหม่ว่า พระธาตุหลวง ด้วยเหตุนี้นครเวียงจันทน์และพระธาตุหลวงจึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ

คืนนั้นในโรงแรมที่พัก ขณะที่สารคดีโทรทัศน์ท้องถิ่นกำลังเล่าประวัติความเป็นมาตลอด 450 ปีของนครเวียงจันทน์ ฉันหลับตาลง ก่อนสติจะหลุดลอยเพราะความง่วงงุน ภาพนครเวียงจันทน์ตามคำพรรณนาของผู้มาเยือนเมื่อหลายร้อยปีก่อนผุดขึ้นในห้วงนึก นครเก่าแก่ที่มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ ริมฝั่งโขงร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น พระราชวังและวัดวาอารามงามวิจิตรรายรอบไปด้วยบ้านเรือนไม้ใต้ถุนสูง

การเปิดประเทศของลาวสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงบวกและลบของโลกาภิวัตน์ รัฐบาลลาวจึงพยายามธำรงรักษาประเพณีดั้งเดิมเพราะเชื่อว่าเป็นเกราะป้องกันอิทธิพลแปลกปลอมจากภายนอก ปฏิทินรูปแม่หญิงลาวในชุดแต่งกายประจำชาติที่เห็นนี้ได้รับการผลิตซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อตอกย้ำความงามตามแบบฉบับของคนลาวในกระแสโลกสมัยใหม่

ทว่าความจริงกับความฝันช่างต่างกันนัก เช้าวันรุ่งขึ้นฉันยืนอยู่ที่ลานน้ำพุ ชายชาวต่างชาติ 6-7 คนกำลังนั่งเปลือยท่อนบนอาบแดดราวกับว่าที่นี่เป็นน้ำพุหน้าบันไดสเปนในกรุงโรม ส่วนลานด้านหลังนั้นเล่าก็เรียงรายไปด้วยร้านอาหารสัญชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อิตาลี หรือสแกนดิเนเวีย ใกล้ๆ กันมีซูเปอร์มาร์เก็ตหรูหราพร้อมสรรพไปด้วยสินค้าส่งตรงจากต่างประเทศชายขอทานคนหนึ่งนั่งอยู่ที่พื้นหน้าห้างพร้อมกับเคาะขันที่วางอยู่ตรงหน้าเบาๆ ติดกันนั้นเป็นร้านกาแฟแบรนด์ดังที่ชาวต่างชาตินิยมมานั่งผ่อนคลาย แล้วยังมีร้านให้เช่ามอเตอร์ไซค์ ชาวยุโรปร่างสูงใหญ่ในเครื่องแบบสิงห์นักบิดเนื้อตัวมอมแมมกำลังก้าวลงจากมอเตอร์ไซค์วิบาก ในเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนไม้เลื้อยยามหน้าฝน คนเวียงจันทน์จะยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสธารเชี่ยวกรากของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

“ความเปลี่ยนแปลงบ่ คนนี้สัมผัสโดยตรง บ้านโดนเวนคืน ขยายสนามหลวงน่ะ ตรงหลังพระธาตุหลวง” ดาว ชายหนุ่มผมสั้นวัย 23 ปี ชี้ไปที่ “ฝน” เพื่อนสาวรุ่นน้อง ทั้งสองเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน เรากำลังนั่งอยู่ในร้านกาแฟ รอบตัวมีแต่ชาวต่างชาติหอบแล็ปท็อปมานั่งทำงานเหมือนภาพคุ้นตาตามร้านกาแฟในเมืองใหญ่ทั่วไป เจ้าตัวที่ถูกพาดพิงถึงส่งยิ้มให้ฉันก่อนจะอธิบาย “เขาสิเฮ็ดเป็นที่พักผ่อน เป็นสวนสาธารณะชุมชนย้ายแล้วรัฐบาลก็จัดที่ดินให้ใหม่ แล้วก็จ่ายค่าเสียหายให้ ทีแรกก็เสียใจที่ว่าเฮาเสียบ้านไป แต่ว่าหลังจากที่ทุกอย่างปรับหมดแล้วก็ดีใจที่เห็นบ้านเมืองเจริญ”

ขอบฟ้าของนครเวียงจันทน์ที่เพิ่งเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 450 ปีไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วยังไม่ถูกบดบังจากมลพิษทางสายตาเฉกเช่นเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน อนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ้มตั้งเด่นเป็นสง่า ในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ผู้รวบรวมดินแดนและสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเคยมีอาณาเขตครอบคลุมถึงดินแดนบางส่วนในภาคอีสานของไทย

โครงการปรับปรุงพื้นที่หลังพระธาตุหลวง หรือโครงการสร้างสวนไชยเชษฐา เป็นหนึ่งใน 21 โครงการพัฒนาเพื่อเฉลิมฉลอง 450 ปีของนครเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงซ่อมแซมศาสนสถานที่สำคัญรวมถึงการตัดถนนสายใหม่ๆ สร้างสวนสาธารณะและสนามกีฬา เพื่อนำเวียงจันทน์ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมือง6 ส ได้แก่ “สะหว่าง สะหงบ สะอาด สะเหมอสีเขียว และสิวิไล” โดยเฉพาะคำว่า “สิวิไล” ซึ่งหากหมายถึงความเจริญทางวัตถุ เวียงจันทน์ก็คงกำลังถูกความศิวิไลซ์เข้ากลืนกิน ตลาดเช้าที่เคยเป็นตลาดชั้นเดียวขนาดใหญ่ แปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าคอมเพล็กซ์ติดแอร์หรูหรา ศูนย์การค้าลักษณะเดียวกันกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดผ่านการลงทุนของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม “คนเวียดเขามานี่เขาเฮียนภาษาลาวมาเลยนะ เฮาบ่ต้องเฮียนภาษาเขา” ดาวเล่าให้ฟัง

“คนลาวยังบ่ค่อยเก่งเรื่องการทำธุรกิจ ต้องค่อยๆ ทำไปกับต่างชาติ ในฐานะที่ฝนจบเศรษฐศาสตร์ ฝนก็ว่าดีนะ เฮ็ดให้เศรษฐกิจชาติเจริญ ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เยอะ ทำให้คนลาวมีงานทำ แต่ก็จะเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม” ฝนเสริม

มีข่าวแว่วมาว่าหอสมุดแห่งชาติกำลังจะย้ายออกไปอยู่นอกเมืองเช่นเดียวกับหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอสมุดซึ่งสร้างในยุคฝรั่งเศสกำลังจะเปลี่ยนเป็นบูติกโฮเต็ล อาคารสไตล์โคโลเนียลที่เป็นหลักฐานของการเข้ามายึดครองเวียงจันทน์ของฝรั่งเศสเหลืออยู่ไม่มากนักและกลายเป็นมรดกที่มีค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางธุรกิจ จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทำให้รถราติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน หน่วยราชการทยอยย้ายออกจากศูนย์กลางเมืองออกไปอยู่รอบนอก ขณะที่รัฐบาลยังคงส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการประชุมในภูมิภาคอาเซียน

“ก็เหมือนเมืองที่กำลังพัฒนาทั่วไป มีตึกรามบ้านช่องถนนหนทางมาพร้อมกับไฟแดงกับวงเวียน มีสัญลักษณ์ของเมืองทันสมัย เมืองขยายไปไวหลาย แต่เสน่ห์ของเวียงจันทน์ก็ยังอยู่ที่มีความเป็นเมืองคู่กับความเป็นชนบทขับรถออกไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เจอท้องนา เจอกระท่อมแล้ว ในเมืองเจริญหลาย แต่ก็ยังมีชนบทอยู่” ปุ้ย หรือดวงแข บุนยาวง เจ้าของร้านหนังสือดอกเกดพูดยิ้มๆ

ทหารผ่านศึกในขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองนครหลวงเวียงจันทน์ครบรอบ 450 ปี แต่งกายด้วยเครื่องแบบเต็มยศ ประดับเหรียญตราอันเป็นเครื่องหมายแห่งการยกย่องในวีรกรรมที่พวกเขาอุทิศให้กับพรรคประชาชนปฏิวัติลาวด้วยความภาคภูมิใจ

ร้านดอกเกดเป็นร้านหนังสือเล็กๆ แทรกตัวอยู่ในกลุ่มอาคารพาณิชย์ใกล้กับอนุสาวรีย์พระเจ้าฟ้างุ้ม ถึงจะเป็นร้านเล็กๆ แต่ก็มีบทบาทสำคัญต่อวงการวรรณกรรมของลาว เพราะแม่ของปุ้ยคือ คุณดวงเดือน บุนยาวง นักเขียนรางวัลซีไรต์ ส่วนคุณตาของปุ้ยคือ มหาสิลาวีระวงส์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศ ร้านดอกเกดจึงเป็นแหล่งผลิตผลงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่ไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง “ในเขตเมืองเวียงจันทน์เอง โบราณสถานเมื่อก่อนคนบ่ค่อยสนใจ พอเกิดการเฉลิมฉลองขึ้น สร้างถนน เปิ้นก็ขุดพบหลักเมืองเก่า ก็ช่วยฮักษาร่องรอยประวัติศาสตร์ไว้ ถ้าไม่มีงานฉลอง คนก็อาจจะลืมไปแล้ว”

แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญและการพัฒนาคือความไม่สะดวกสบายแบบใหม่ๆ “มีรถหลาย รถติด คนเข้ามาทำงานก็ต้องทานอาหารตามร้านอาหาร เมื่อก่อนคนลาวบ่ค่อยกินข้าวนอกบ้าน อาหารธรรมดาก็กลายเป็นอาหารราคาแพงได้ ทั้งเดี๋ยวนี้จะหาร้านขายยาก็บ่ค่อยมี กลายเป็นร้านขายซีดีเพลง ร้านขายมือถือ ร้านซีดีกลายเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตไปแล้ว” ปุ้ยพูดถึงประสบการณ์ของตัว “แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวเอา เฮาไม่อาจจะไปต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าทนบ่ได้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น” เธอพูดปนหัวเราะ

ความเจริญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ผู้คนมากหน้าหลายตาและวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้ามาในเวียงจันทน์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเวียงจันทน์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางงามหลากหลายสายสะพายที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและเพื่อสรรหาทูตวัฒนธรรม “ก็ดีนะ คนชาติอื่นเห็นอะไรสวยๆงามๆ ก็จะได้รู้ว่า อ๋อ คนลาวเป็นแบบนี้ แต่ก็ขอให้นุ่งซิ่นต่อไป ถ้าเมื่อใดมาใส่บิกินี่ประกวดกัน ฝนก็เป็นคนนึงละที่จะต่อต้าน” สาวลาวสมัยใหม่อย่างฝนให้ความเห็น นอกจากการประกวดนางงามก็ยังมีเรื่องการแต่งกายของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม “มันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันก็ขึ้นๆๆๆๆ ไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมา คนลาวอยู่ที่ใดก็เป็นคนลาวโดยตัวนิสัย แต่งยังไง เสื้อผ้า กินอะไรยังไงก็ยังเป็นลาว คนลาวเนเวอร์ไมนด์ บ่เป็นหยัง” ดาวพูดปนหัวเราะตามนิสัยของคนลาวแท้ๆ ที่ไม่ถือสาอะไร

ขบวนพาเหรดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 450 ปีของนครหลวงเวียงจันทน์ ประดับประดาไปด้วยธงชาติและธงรูปค้อนเคียว อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว แสดงให้เห็นถึงอุดมคติของรัฐที่ให้ความสำคัญกับความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศภายใต้การนำพาของพรรคคอมมิวนิสต์ ลาวยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่มขึ้น พนักงานนวดในร้านแห่งหนึ่งเตือนฉันให้ระวังคนกระชากกระเป๋าตอนออกไปเที่ยวเวลากลางคืน ฝนเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวนักท่องเที่ยวไทยทะเลาะกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นถึงขนาดควักปืนออกมาขู่กัน เป็นเรื่องน่าตกใจที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเวียงจันทน์มาก่อน

กระนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ช่วยนำรายได้เข้าประเทศลาวเป็นอันดับ 3 รองจากการทำเหมืองแร่และการขายไฟฟ้า ในช่วงเวลาเพียงสิบกว่าปี จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจากหลักแสนเป็นกว่าสองล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

คืนก่อน ขณะฉันเดินอยู่แถวย่านศูนย์การค้าในเมืองหรือที่เรียกกันว่าเซ็นเตอร์พอยต์ นักมายากลไทยวัยสามสิบปลายคนหนึ่งตั้งโต๊ะขายอุปกรณ์มายากลอยู่ริมถนนมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่มามุงกันเนืองแน่น เราทักทายกันตามประสาเพื่อนร่วมชาติ ”เคยมีคนไทยเดินมาพูดกับผมว่า ‘คนลาวหน้าตาแบบนี้เหรอ เล่นมายากลก็ได้ น่ารักจัง’ พอผมบอกว่า ‘ผมคนกรุงเทพฯเหมือนพี่แหละครับ’ เลยอายเดินหนีไปเลย” ชายหนุ่มร่างท้วมเล่า ฟังแล้วน่าเป็นห่วงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยหลายคนที่ไม่ระวังทัศนคติและคำพูดของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปุ้ยให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า “ก็แล้วแต่คน บางคนเฮ็ดตัวบ่น่าฮักฝรั่งบางคนพูดจาบ่ดีก็มีหลาย แต่คนลาวเห็นคนไทยก็บ่เหมือนเห็นฝรั่ง เห็นว่าคุยกันได้ ก็บ่คิดว่าจะรังเกียจ”

แม้จะเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม ทว่าการเต้นรำแบบ “บัดสลบ” หรือรำวงลาว ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของคนลาวจำนวนมากในปัจจุบัน
ความนิยมวัฒนธรรมต่างชาติอย่างวงบอยแบนด์หรือดนตรีฮิปฮอป กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่วัยรุ่น

ความขัดแย้งในอดีตระหว่างสองประเทศยังเป็นเหมือนเงาที่คอยติดตามหลอกหลอน ไม่ว่าจะเป็นสารคดีทางโทรทัศน์หรือหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ต่างกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สยามบุกเวียงจันทน์เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของลาว ยิ่งมีการเฉลิมฉลอง 450 ปี ของเวียงจันทน์ เอกสารการชำระประวัติศาสตร์สมัยเจ้าอนุวงศ์ก็เกิดขึ้นมากมาย แม้แต่ที่ร้านดอกเกดหนังสือที่ขายดีที่สุดตอนนี้ก็คือเรื่องเจ้าอนุที่เพิ่งวางแผงแสดงให้เห็นถึงความสนใจในประวัติศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นฉันถามปุ้ยว่า เธอรู้สึกอย่างไรกับคนไทย ความบาดหมางในอดีตส่งผลต่อมาถึงปัจจุบันหรือไม่ “ปุ้ยก็พูดแทนคนอื่นไม่ได้ คนคิดอย่างนั้นก็มี บางคนชังประเทศอื่นก็มี แล้วแต่ประสบการณ์ที่เขาผ่านมา แต่ว่าส่วนตัวเฮา เฮาก็มีญาติพี่น้องเป็นคนไทย ก็บ่ได้คิดอย่างนั้น”

“คนลาวบ่เคยแค้นไผ” ดาวตอบคำถามเดียวกัน “คือมันบ่ใช่เรื่องที่จะมาแค้นกัน มันเรื่องของสงคราม สมัยก่อนเคยสาบานกันไว้ว่า ถ้าน้ำของ (แม่น้ำโขง) บ่แห้ง จะเกลียดฝรั่งไปตลอดชาติ ตอนนี้ฝรั่งเต็มบ้านเต็มเมือง” ดาวพูดยิ้มๆ คนรุ่นใหม่อย่างเขาไม่ได้ถือเอาความบาดหมางในอดีตมาเป็นเรื่องเกลียดชัง สาวน้อยที่นั่งข้างๆ เสริมขึ้นว่า “ในความเป็นจริงแล้ว พวกเฮาสิบ่เว้าเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ถามว่าคนลาวสิลืมบ่ เรื่องนี้ก็อยู่ในบทเฮียนลาวจากรุ่นสู่รุ่น เฮาก็เฮียนฮู้จากบทเฮียนนี้ ว่าเรื่องความสามัคคีสำคัญที่สุด แม่นบ่” ประโยคสุดท้ายฝนหันไปพูดกับชายหนุ่ม “เฮาอยากให้ลาวไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ถ้าคนไทยจะมาเที่ยว ก็ยินดีต้อนฮับเสมอ” หญิงสาวพูดกับฉันด้วยน้ำเสียงจริงจัง แต่ใบหน้ายิ้มแย้ม

หลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน และการสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 เมื่อฉันถามความคิดเห็นที่มีต่อการปกครองในปัจจุบัน ฝนบอกว่า “รัฐบาลก็ดีแล้ว แต่ว่าบางเทื่อก็ยังมีปัญหาประเทศเฮากำลังพัฒนา มันก็ต้องมีอยู่แล้ว อยู่ไสมันก็ต้องมี” ซึ่งก็เป็นความจริงของประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ว่าจะมีการปกครองแบบใด เราคุยกันต่อถึงประเด็นเรื่องการเฉลิมฉลองและการสร้างอนุสาวรีย์และสวนสาธารณะเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของบรรพกษัตริย์ผู้ก่อร่างสร้างเมือง สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเป็นอาณาจักรล้านช้างนั้นเป็นเพียงอดีตอันเลือนรางห่างไกลจากสภาพสังคมปัจจุบันมาก คนรุ่นใหม่ในระบอบการปกครองแบบใหม่ยังสามารถเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีตได้อยู่หรือ “มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ซึ่งลาวเฮาสิบ่มีกษัตริย์แล้ว แต่ว่าบรรดาพวกเปิ้นก็เป็นผู้มีบุญคุณกับประเทศลาวผู้ที่เฮ็ดหยังดีเกี่ยวกับประเทศเฮา เฮาก็บ่ควรจะลืม” ฝนแสดงความเห็นก่อนที่เราจะลากันในคืนนั้น

หลังเปิดประเทศเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ลาวได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง ด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมประเพณีและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ซุกซ่อนจากโลกภายนอกมาเนิ่นนาน

คืนเดือนเพ็ญต่อมาเป็นคืนแรกของงานเฉลิมฉลอง 450 ปีอย่างเป็นทางการ ลานหน้าพระธาตุหลวงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยที่มาเที่ยวงานออกร้าน รวมทั้งมาทำบุญเวียนเทียน เสียงเพลงดังกระหึ่มงาน บรรดาร้านค้าต่างประชันกันโฆษณาผ่านเครื่องขยายเสียงที่ดังแผดจนฟังไม่ได้ศัพท์ ไฟนีออนและสปอตไลต์ตามซุ้มต่างๆ สร้างลวดลายหลากสีสันชวนปวดตา ฉันรีบเดินฝ่าความโกลาหลด้านนอกเข้าไปสู่องค์พระธาตุหลวงที่เด่นเป็นสง่า สีทองของพระธาตุแผ่รัศมีความสงบออกมาสยบความวุ่นวายที่เกิดขึ้นด้านหน้า ฝนยืนคอยฉันอยู่พร้อมดอกไม้ในมือ คืนนี้เธอนุ่งซิ่นเรียบร้อยสวยงามเพราะเพิ่งกลับจากทำงาน ในฐานะที่เป็นคนบ้านธาตุหลวงแต่เดิม เธอคุ้นเคยกับการทำบุญที่พระธาตุเป็นอย่างดี “เวียนรอบองค์ธาตุสามรอบนะเอื้อย” ฝนยื่นช่อดอกไม้ธูปเทียนให้

ทันทีที่เราก้าวเข้ามาในเขตขององค์พระธาตุ ความอึกทึกครึกโครมข้างนอกก็ดูเหมือนจะห่างไกลออกไปหลายปีแสงเราพนมมือไหว้นบพระธาตุหลวงแล้วค่อยๆ เดินอย่างสงบอ้อมองค์ธาตุใหญ่ รอบๆ ตัววับแวมไปด้วยแสงธูปเทียนที่ส่องแทรกความมืด เพื่อนร่วมเวียนเทียนหลายสิบมีทั้งหญิงชาย เด็กน้อยและแม่เฒ่า พระสงฆ์และฆราวาส สิ่งเดียวที่ทุกคนมีเหมือนกันคือศรัทธาและความตั้งใจในการมาประกอบบุญในคืนนี้ เราหยุดเดินเมื่อเวียนเทียนครบสามรอบ เณรน้อยสามรูปกำลังช่วยกันปักเทียนลงที่แท่นข้างพระธาตุ ฉันมองไปที่องค์ธาตุที่เป็นศูนย์รวมจิตใจแล้วตระหนักขึ้นมาว่า จิตวิญญาณเก่าแก่ของเวียงจันทน์ยังคงไม่เสื่อมสูญ ทว่ายังอวลกรุ่นอยู่ในตัวคนรุ่นใหม่อย่างดาวและฝน ไม่ว่าเขาและเธอจะแต่งตัวอย่างไร หรือเวียงจันทน์จะหน้าตาเป็นอย่างไร

”ความเป็นเวียงจันทน์อยู่ที่คนนะพี่ ฝนเชื่อว่า ไม่ว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง คนเวียงจันทน์ก็ยังเหมือนเดิม ฝนฮักบ้านเมืองนี้หลาย” คำพูดของฝนช่วยเตือนให้ฉันระลึกได้ว่า ความเจริญทางวัตถุสามารถเกิดขึ้นได้ควบคู่กับความเจริญทางจิตใจ หากผู้คนเคารพในคุณค่าของตนโดยไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง

ยามกลางวันพระธาตุหลวงยังคงงามสง่ากลางเปลวแดดฉันเดินฝ่าความร้อนผ่านลานกว้างไปยังศาลาการเปรียญวัดนี้ก็ไม่ต่างจากวัดอื่นๆ ที่เรามักพบเห็นผู้เฒ่าผู้แก่มาทำบุญถวายเพลทุกวัน กอปรกับช่วงบุญธาตุหลวงปีนี้คนยิ่งหลั่งไหลมากันมาก เมื่อเห็นคนแปลกหน้าเดินเข้ามา บรรดาแม่เฒ่านุ่งซิ่นเกล้ามวยพาดผ้าเบี่ยงซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นเวียงจันทน์แบบดั้งเดิมก็กวักมือเรียกให้ไปนั่งร่วมวงกินข้าวกลางวัน

การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวในลาว นอกจากจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง เช่นล่าสุดเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นวาระที่เวียงจันทน์มีอายุครบ 450 ปี ชาวนครหลวงก็มีโอกาสเห็นนางสังขานหรือนางสงกรานต์เป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองเดียวที่มีประเพณีแห่นางสังขานในช่วงเทศกาลสงกรานต์

“เมื่อก่อนรอบๆ นี้เป็นป่าหมดเลยนะ มิดหัวเลย เดินมาวัดนี่ย่าน (กลัว) แทบแย่ บ่มีไฟฟ้า” แม่เฒ่าดวงตาวัย 71 ปีเล่า “ตื่นมาก็ต้องมาตำข้าวต้องเฮ็ดนา แล้วก็เดินไปขายผักเก็บปูมาปิ้งขายที่ตลาดเช้าเก่า ตรงน้ำพุเดี๋ยวนี้นะ มันบ่สวยคือจั๋งซี้ดอก ของก็บ่หลาย มีพี่น้องไทยเอาของมาขายด้วย แต่เมื่อก่อนอยากได้อะไรก็ต้องหาต้องเฮ็ดเอา บ่เหมือนสมัยนี้ไปซื้อได้หมด เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเจริญ มันดีกว่าเก่าหลาย” เมื่อฉันถามว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน “ก็ชอบแบบนี้แหละ ข้าวก็บ่ต้องตำ น้ำก็บ่ต้องหาบ เจริญหลาย ทันสมัย คนมาเที่ยวก็เอาเงินมาให้ มีเงินทำบุญ แต่ตลาดเช้าอันใหม่นี่แม่ยังบ่ขึ้นซักเทื่อ บ่กล้าขึ้นบันไดเลื่อน ย่าน” แม่เฒ่าพูดปนหัวเราะ ”ความเปลี่ยนแปลงมันก็ธรรมดา อยากให้มันเจริญขึ้นไปอีก แต่ตึกสูงหลายก็บ่เอานะ ย่าน”

และแล้วเวียงจันทน์ก็จูงมือฉันมาพบกับสถานีรถไฟท่านาแล้งที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ร่วมทุนก่อสร้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ประมาณ 25 กิโลเมตร ภาพทุ่งนาเขียวชอุ่มยังเป็นภาพเดียวกับที่ฉันเคยเห็นเมื่อยังเด็กแต่อีกไม่ช้าก็คงเปลี่ยนไปหากระบบรถไฟทั่วประเทศซึ่งร่วมทุนกับจีนได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ขบวนรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้งน่าจะเป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศที่สั้นที่สุดและราคาโดยสารถูกที่สุดในโลกด้วยระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตรและค่าตั๋ว 20 บาท นายสถานีที่หัวลำโพงบอกฉันว่าไม่ค่อยมีคนลาวหรือคนไทยขึ้นนักหรอก ส่วนใหญ่มีแต่ฝรั่ง

ซึ่งก็คงจะจริงอย่างเขาว่า เพราะถึงแม้จะมีครอบครัวคนลาวพาลูกหลานมาดูรถไฟ มีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก สุดท้ายแล้วบนสองตู้รถไฟที่วิ่งข้ามน้ำโขงนั้นอัดแน่นไปด้วยวัยรุ่นฝรั่ง นอกจากกลุ่มของฉันที่เป็นคนไทย ที่เหลือก็มีเพียงคณะนักธุรกิจชาวเวียดนามที่พูดภาษาลาวคล่องปร๋อ เมื่อรถไฟแล่นข้ามสะพานมิตรภาพ คนบนรถพากันชะโงกหน้าออกไปดูทิวทัศน์ ฉันพยายามมองหาเส้นแบ่งเขตกึ่งกลางของสองประเทศ นอกจากธงชาติแล้วก็ไม่พบความแตกต่างใดๆ ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง

หรือที่จริงแล้วเส้นแบ่งอยู่ที่ใจของเราเอง หากเราไม่ให้ความขัดแย้งในอดีตมาเป็นสิ่งกำหนดอนาคต ก็ไม่มีเส้นแบ่งขวางกั้นใดๆที่จะมากั้นจิตใจของคนสองฝั่งไม่ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับเส้นแบ่งความเปลี่ยนแปลงระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่ไม่เคยมีอยู่จริง “ความเปลี่ยนแปลงมันก็เรื่องธรรมดาลูก ธรรมดา” คำพูดของแม่เฒ่าดวงตาแวบเข้ามา ก่อนที่ฉันจะเอนตัวลงพิงพนัก คิดฝันถึงครั้งต่อไปที่จะได้มาเยือนเวียงจันทน์อีกครั้ง

เรื่อง พัชรวีร์ ตันประวัติ
ภาพถ่าย สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2554


อ่านเพิ่มเติม ลาว : ประเทศที่วัดวาและไร่นาบรรจบกัน ณ ริมน้ำโขง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.