ลาว : ประเทศที่วัดวาและไร่นาบรรจบกัน ณ ริมน้ำโขง

ลาว : ประเทศที่วัดวาและไร่นาบรรจบกัน ณ ริมน้ำโขง

ลาว: ประเทศที่วัดวาและไร่นาบรรจบกัน ณ ริมน้ำโขง

ร่วมเดินทางผ่านรูปภาพไปตามแถบแม่น้ำโขงสู่ดินแดน ลาวใต้ จากภูเพียงบ่อละเวนหรือที่ราบสูงโบลาเวนซึ่งเป็นจุดสูงสุดของภูมิภาคสู่มหานทีสี่พันดอน หรือเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงจุดที่ต่ำที่สุดในแถบนี้

และร่วมชมวัดวาอารามเก่าแก่ ท้องไร่ท้องนา น้ำตกสุดตระการตา และวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขงได้จากภาพเหล่านี้

ชายชาวประมงขณะแล่นเรือไปตามแม่น้ำโขงในแถบสี่พันดอนหรือเกาะแก่งกว่า 4,000 แห่งทางตอนใต้ของประเทศลาว ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชา ลักษณะเด่นของพื้นที่ดอนหรือเกาะเหล่านี้คือการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามวิถีดั้งเดิม
นครปากเซ เมืองริมแม่น้ำอันเงียบสงบถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางท่องเที่ยวเลียบแม่น้ำโขงต่าง ๆ ในแถบลาวใต้ สถาปัตยกรรมที่ตั้งตระหง่านเหนือตัวเมืองในภาพคือวัดพูสะเหลา วัดบนเนินเขาที่มีทัศนียภาพสวยงามราวกับภาพวาดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สายน้ำแห่งชีวิตที่ไหลคดเคี้ยวผ่านหมู่บ้านด้านล่าง
การเดินทางเริ่มด้วยเสียงสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงของพระสงฆ์ เมื่อบทสวดจบลงเหล่าพระสงฆ์ก็นำข้าวเหนียวและขนมหวานต่างๆ ที่ได้รับจากชาวบ้านใส่ลงในบาตรที่คลุมด้วยผ้าถลกอย่างสวยงาม
จุดเด่นของวัดพูสะเหลาคือบรรดาพระพุทธรูปสีทองอร่ามที่เรียงซ้อนกันหลายต่อหลายแถว และบรรยากาศภายในวัดที่ยังคงความผ่อนคลายและความยั่งยืนของศาสนาไว้ คล้ายคลึงกับกระแสพระพุทธศาสนาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเดินทางต่อไปตามริมฝั่งโขงจะพบกับที่ราบสูงโบลาเวนหรือภูเพียงบ่อละเวน บริเวณที่มีดินภูเขาไฟที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ภูมิอากาศอบอุ่น และแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำโขง ด้วยเหตุนี้เองบริเวณนี้จึงเป็นแหล่งผลิตข้าวและผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศ
นอกจากนี้ ผลผลิตที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากคือเมล็ดกาแฟ ในภาพ สหกรณ์ชาวสวนใจกาแฟ (Jhai Coffee Farmers Cooperative) อธิบายว่าสมาชิกในกลุ่มเป็นทั้งผู้ปลูกและผู้คั่วเมล็ดกาแฟรายย่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปตามร้านกาแฟขนาดเล็กอีกหลายต่อหลายแห่งในพื้นที่นี้
แขวงจำปาสัก หรืออีกฟากหนึ่งของริมน้ำโขงที่ไหลผ่านภูเพียงบ่อละเวนเป็นที่ตั้งของวัดพู ปราสาทหินที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพื้นที่ โบราณสถานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อิทธิผลจากวัฒนธรรมขอมโบราณเมื่อหลายพันปีก่อน
สาเหตุที่วัดพูถูกสร้างขึ้นโดยใช้ศิลปะและวัฒนธรรมแบบเดียวกับที่ใช้สร้างนครวัดนั้นเป็นเพราะพื้นที่ของประเทศลาวและกัมพูชาสามารถข้ามเขตแดนได้โดยง่ายเพียงแค่ข้ามแม่น้ำโขง จากภาพจะเห็นได้ว่าแม้ในปัจจุบันบริเวณวัดพูจะมีความสำคัญแต่ก็ยังมีเหล่าวัวควายออกมาหากินในแถบนี้อยู่
แม่น้ำโขงถือเป็นเส้นเลือดสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงดินแดนลาวใต้ เนื่องจากแม่น้ำสายนี้เป็นทั้งแหล่งรายได้และแหล่งอาหารสำหรับประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งเห็นได้จากภาพผู้คนทำนาบนผืนดินที่นำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้
ชาวนาในแขวงจำปาสักจะอาศัยในบ้านยกพื้นสูงที่ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนนาซึ่งขนาบไปกับแม่น้ำ นอกจากนี้ในทุกๆ ฤดูฝน น้ำซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารจากแม่น้ำโขงจะล้นตลิ่งและไหลท่วมทุ่งนาที่อยู่ในระดับต่ำกว่า น้ำที่ท่วมเข้ามานั้นมีส่วนทำให้ต้นข้าวที่ปลูกเจริญงอกงาม
วัดพูหรือปราสาทหินที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของบรรดาแปลงนาในจำปาสักนั้นตกแต่งด้วยสิ่งของต่าง ๆ อย่างสวยงาม ปราสาทหินเหล่านี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นแหล่งประดิษฐานรูปเคารพต่าง ๆ มากมาย และเป็นสถานที่ผู้เยี่ยมชมจะนำดอกลีลาวดีมาถวายเป็นเครื่องบูชา
ชายชาวประมงทอดแหจากเรือขุดแบบดั้งเดิมซึ่งทำจากขอนไม้ท่ามกลางทิวทัศน์ที่ยังสวยงามแม้เวลาจะผ่านไปนับพันปีในภาพนี้จะเห็นว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเมืองตอนใต้ที่อยู่ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชานั้นไม่ได้ไหลรวมเป็นแม่น้ำสายเดียว ทว่าแตกออกเป็นลำน้ำสาขาย่อยหลายสายจนเกิดเป็นโครงข่ายลำน้ำของเกาะเล็ก ๆ จำนวนมาก หรือก็คือสี่พันดอนที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปนั่นเอง
ชีวิตบนเกาะเหล่านี้เป็นไปอย่างผ่อนคลายและไม่รีบร้อน เกาะหลักอย่างดอนเดดนั้นเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาเพื่อพักผ่อนเพียงไม่กี่วัน แต่ท้ายที่สุดแล้วผืนน้ำที่รายล้อมไปด้วยต้นปาล์ม แสงอาทิตย์สีส้มยามตกดิน และบรรดาที่พักริมน้ำอันเงียบสงบก็ทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นอยู่ต่ออีกหลายสัปดาห์
เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มลาลับจากเกาะดอนเดด คุณกะต่าย ชาวประมงพื้นบ้านผู้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมาตลอดชีวิตก็เริ่มใช้เวลาไปกับการซ่อมเรือประมงของเขา ภาพเช่นนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามพื้นที่แถบปลายแม่น้ำโขงในประเทศลาว นอกจากนี้คุณกะต่ายยังเล่าว่าเขานำปลาที่จับได้ไปตากแห้งและนำไปขายตามตลาดในท้องถิ่น
ตอนใต้สุดของเกาะแก่งเหล่านี้มีน้ำตกแสนตระการตาแห่งหนึ่งชื่อหลี่ผี สถานที่ท่องเที่ยวนี้ทำหน้าที่กำหนดพรมแดนระหว่างประเทศลาวและกัมพูชา ด้วยน้ำตกแห่งนี้มีบริเวณที่กระแสน้ำเชี่ยวกรากจนเรือไม่สามารถแล่นผ่านได้จึงถูกใช้เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติเพื่อกั้นไม่ให้เรือแล่นเข้าไปในจุดที่ไกลออกไป นอกจากนี้บริเวณน้ำเชี่ยวนี้ยังถือเป็นจุดสิ้นสุดการเที่ยวเลียบแม่น้ำโขงตลอดสายในดินแดนลาวใต้อีกด้วย

เรื่อง ริชาร์ด เจมส์ เทย์เลอร์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่าน วิถีชาวลาวที่ (อาจ) สูญสลายไปกับการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง

ชาวลาว, แม่น้ำโขง

 

Recommend