สังคมไร้เงินสด – เงินสดให้บริการเรามาเป็นอย่างดีนานกว่า 3,000 ปี โดยเงินเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งของ วัตถุบางอย่าง เหรียญ หรือธนบัตรที่มีคุณค่าที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า มันก็ช่วยให้การจ่ายเงินของเราสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทว่าก็กลับสร้างผลกระทบบางอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง
.
ทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอดิเลต และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นในออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนใน 17 ประเทศที่บันทึกไว้ในรายงานของเอกสารที่ตีพิมพ์ก่อนหน้า 71 ฉบับ โดยรวมแล้วมีผู้อยู่ในงานวิจัยมากกว่า 1,100 คน
.
ผลลัพธ์นั้นอาจสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคนได้ ทีมวิจัยพบว่าการชำระแบบไร้เงินสด ทำให้ผู้คนใช้จ่ายมากขึ้น แต่ทว่ากลับไม่มีผลให้คนบริจาคหรือให้ทิปมากขึ้น
.
“ลองนึกภาพ คุณอยู่ที่สวนสนุก และตื่นเต้นกับวันแห่งความสนุกสนาน คุณได้ใช้นาฬิกาอัจฉริยะเพื่อชำระค่าขนม ค่าของที่ระลึก และค่าเครื่องเล่น ทั้งหมดนี้สะดวกมากจนคุณไม่รู้ว่าตัวเองใช้จ่ายไปเท่าไหร่จริง ๆ กันแน่ จนกว่าคุณจะได้ตรวจสอบบัญชีในภายหลังแล้วพบว่า หมดเกลี้ยง!” ศาสตรจารย์ อาร์วิด ฮอฟฟ์แมนน์ (Arvid Hoffmann) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว
.
ทีมวิจัยเรียกปราฏการณ์นี้ว่า ‘ผลกระทบไร้เงินสด’ กล่าวคือเมื่อเรามีตัวเลือกว่าจะชำระแบบไหนได้บ้าง เราส่วนใหญ่มักจะเลือกทำธุรกรรมด้วยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด มากกว่าการจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายมากขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าสิ่งนี้เป็นจริงแม้สังคมจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีก็ตาม
.
แต่ทำไมการจ่ายแบบไร้เงินสดถึงทำให้เราจ่ายเงินเยอะขึ้น? ทีมวิจัยได้ให้เหตุผลไว้บางประการ แต่โดยหลักแล้วเป็นผลกระทบจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเจ็บปวดในการจ่ายเงิน’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกเสนอครั้งแรกในปี 1996 เพื่ออธิบายอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราใช้จ่ายเงิน
.
ทฤษฏีดังกล่าวได้ระบุเอาไว้ว่า เมื่อเราชำระด้วยเงินสด เราจำเป็นต้องนับเหรียญหรือธนบัตรทางกายภาพ แล้วส่งมอบให้อีกฝ่าย ซึ่งพฤติกรรมนี้เปรียบได้ว่าเป็นการสูญเสียอย่างหนึ่ง ในบริบทนี้คือสูญเสียทรัพย์สินที่เป็นของเรา และโดยทั่วไปแล้วมนุษย์มักจะไม่ชอบหรือหลีกเลี่ยงการสูญเสียอยู่แล้ว
.
“การจ่ายด้วยเงินสดจะทำให้เรารู้สึกสูญเสียวัตถุที่จับต้องได้ไปทางกายภาพ” ศาสตราจารย์ ฮอฟฟ์แมนน์ กล่าว “ในทางกลับกัน (ถ้า)ไม่มีอะไรที่จะต้องส่งมอบหรือสูญเสียไป เราจะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง”
.
นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานสนับสนุนแนวทางนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเคยทำการสแกนสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กเชิงฟังก์ชั่น (fMRI) เพื่อสังเกตการทำงานสมองของผู้บริโภค ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจ่ายเงินด้วยเงินสดสามารถกระตุ้นให้สมองที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดและความไม่สบายใจทางจิตใจทำงานได้
.
“นี่คือผลกระทบไร้เงินสดในทางปฏิบัติ หากไม่มีการส่งมอบสิ่งใด ๆ เลยก็อาจสูญเสียการติดตามจำนวนเงินที่ใช้ไปได้ง่าย ๆ” ศาสตราจารย์ ฮอฟฟ์แมนน์ กล่าวเสริม
.
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
.
ทีมวิจัยได้เสนอวิธีง่าย ๆ แต่ได้ผลนั่นคือ เปลี่ยนไปพกเงินสดให้มากขึ้น และเมื่อถืงเวลาที่ต้องจ่าย ให้จ่ายด้วยเงินสด สิ่งนี้จะทำให้ผู้คนใช้เงินน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
.
“เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินกว่าที่วางแผนไว้ เราแนะนำให้ผู้บริโภคพกเงินสดแทนการพกบัตรเครดิตทุกครั้งที่ทำได้ เนื่องจากเป็นวิธีควบคุมตัวเอง” ลักช์แลน สชมเบิร์ก (Lachlan Schomburgk) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
.
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการได้เห็นเงินของเราออกไปจากมือ อาจทำให้ทุกคนใช้เวลาตัดสินใจในการจะซื้ออะไรสักอย่างมากขึ้น และนั่นทำให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
.
“การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดดูเหมือนจะแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเชื่อว่าการวิจัยนี้จะมีความสำคัญเนื่องจากให้ความกระจ่ายในแง่มุมที่ถูกมองข้ามไปของการเปลี่ยนแปลงนี้ ‘วิธีการชำระเงินมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราอย่างไร?’ ความเข้าใจนี้สามารถช่วยให้เราตัดสินใจซื้อโดยมีข้อมูลมากขึ้น”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
sciencedirect.com
adelaide.edu.au
sciencealert.com
theguardian.com
sciencedaily.com