นี่คือประโยคสั้น ๆ ที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ด้านนวัตกรรมอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวขึ้นในช่วงท้ายของงานเสวนา SACIT Craft Power: Symposium โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ พร้อมผลักดันงานคราฟต์ของไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลก ภายใต้แนวคิด “วิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มศิลปหัตถกรรมปี 2568” เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา
ประโยคข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสรุปสาระสำคัญ ของการเสวนาร่วม 4 ชั่วโมง จากผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่คร่ำวอดในวงการศิลปะหัตกรรม จำนวน 6 ท่าน ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนางานคราฟต์เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นคุณศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้ง ‘SARRANN’ แบรนด์เครื่องประดับไทย ที่นำเสนอเสน่ห์ของหญิงไทยโบราณได้อย่างเฉียบคม และ Mr. Jean Charles Chappuis ที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริษัท Currey & Company ผู้นำเข้างานศิลปะและของแต่งบ้านจากเอเชียสู่ตลาดยุโรป ในจับมือกันมาให้ความรู้ในหัวข้อ “ศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล” ต่อด้วย ศิลปิน นักสร้างสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัย อย่างคุณนักรบ มูลมานัส และ Mr. Haoyang Sun ทูตศิลปะการออกแบบจากประเทศจีน กับหัวข้อ “ถอดรหัสศิลปหัตถกรรม สู่งานศิลปะร่วมสมัย”
ก่อนจะปิดท้ายด้วย หัวข้อ “โลกตื่นตัวเรื่อง Sustainability ไทยตื่นตัวเรื่อง Soft Power” ที่มี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต และ Mr.Martin Venzky-Stalling ที่ปรึกษาอาวุโส อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมทั้ง 6 ท่านได้ให้ความเห็นเรื่องอนาคตงานคราฟต์ไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หัตถกรรมไทยจะขายได้ดีในตลาดสากล ด้วยเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม ฝีมือของครูช่าง และวัตถุดิบเฉพาะถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความเป็น Authentic brand ในระดับชุมชน ที่สามารถก้าวเข้าสู่สปอตไลท์ในเวทีระดับนานาชาติได้ไม่ยาก ซึ่งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ที่เป็นแม่งานในครั้งนี้ ก็ได้ดำเนินกลยุทธ์ผลักดันงานคราฟต์ไทยในหลายรูปแบบ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นให้องค์ความรู้เรื่องการรักษา การค้นหา อัตลักษณ์จนมาถึงปัจจุบันอันเป็นเรื่องของการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อตอบรับกระแสตลาดไทยและตลาดโลก พร้อมผลักดันงานศิลปหัตถกรรมให้เป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
“สวย แต่ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน” คือคำจำกัดความ ต่อคุณค่าของงานคราฟต์ไทย ที่เกิดขึ้นในใจทันทีที่เราก้าวเท้าเข้าไปในงาน ภาพของเครื่องปั้นดินเผา ผ้าซิ่น งานปัก ลงลักษณ์รวมไปถึงชามสังคโลกใบใหญ่ ของเหล่านี้จะขายใคร และขายได้อย่างไร ในโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่มากกว่าสิ่งเก่าในโลกที่แฟชั่นที่เปลี่ยนไปทุกปี ในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
สิ้นเสียงกล่าวเปิดงาน ความสงสัยของเราถูกคลายลงไม่นานต่อจากนั้น หลังจากวิทยากรท่านแรกได้ขึ้นบรรยาย “ยากไหม ถ้าจะทำให้งานคราฟต์ที่ถูกในคนไทยอยู่แล้ว ถูกใจคนทั้งโลกด้วย” คุณศรัณญ อยู่คงดี ในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘SARRANN’ แบรนด์เครื่องประดับไทย ที่ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว ตอบคำถามที่อยู่คาใจเราอย่างมั่นใจว่า “ไม่ยาก”
คุณศรัณญแนะนำเทคนิคที่เขาใช้เสมอในการออกแบบชิ้นงานของ ‘SARRANN’ ว่าการจะพัฒนางานคราฟต์ไทยให้ตอบโจทย์ตลาดโลกได้ ต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน “เราต้องรู้ว่าเรามีอะไรดี เหมือน Light in The Dark เราต้องหาความสว่างของเราให้เจอ ถ้าเจอแล้วจะนำเสนออย่างไรให้แตกต่าง จะสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนคนอื่นได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่ผู้ผลิตงานคราฟต์ไทยต้องตีให้แตก”
“จุดอ่อนของงานคราฟต์ไทย คือสวยมาก สวยเกินไป แถมชิ้นใหญ่ จนไม่ค่อยตอบโจทย์ในชีวิตประจำวัน นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรายังถึงต้องมีการนำงานคราฟต์หลายอย่างจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ในขณะที่งานเซรามิคไทย งานไม้ไทย ก็สามารถทำได้ไม่แพ้กัน”
“ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศ ผมมักจะเจอของที่ทำให้ผมใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเสมอ แม่บ้านญี่ปุ่นมีชุดชงชาจากไม้ไผ่ที่ใช้งานและขายได้ ในขณะที่ครัวบ้านเรามีแค่ทัพพีไม้กับเขียง ของที่ตอบโจทย์จริงก็เป็นพลาสติก นี่เป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ พอกลับมามองที่บ้านเรา จะพาคราฟต์ไทย ไปสู่สากลได้อย่างไร หากไม่ Solve the problem ของคนยุคปัจจุบันให้ได้ก่อน”
เรื่องนี้คุณศรัณญมองว่าการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ของใช้ในชีวิตประจำวันที่หยิบใช้ง่าย เป็นหนึ่งปัจจัยใจที่ช่วยในการส่งออกทางวัฒนธรรม ที่หากใช้ได้แล้ว จะติดเข้าไปอยู่ในใจของผู้ใช้งานได้ดี สินค้าที่ใช้ภายในบ้านหรือใช้กับร่างกาย ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อง่าย เช่น งานจักสานตะกร้าที่ออกแบบให้เข้ากับยุคสมัย ทำจากวัสดุแบบไทย ๆ อย่างกระจูด หรือผักตบชวา แต่ออกแบบให้มีน้ำหนักเบา ถือสบาย มีการใช้งานที่ตอบโจทย์ ใช้งานได้หลายช่วงวัย และอาจจะเพิ่มเติมการเทคนิคบางอย่างเพื่อกลบจุดอ่อนของงานหัตถกรรมประเภทนั้น ๆ เช่นการเคลือบสีตะกร้า ให้แข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ทนลม ทนน้ำ ไม่เป็นเชื้อรา และนั่นคือการ Solve the problem
นอกจากปัญหาเรื่องสินค้าไม่ตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันแล้ว Mr.Jean Charles Chappuis ที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริษัท Currey & Company ผู้นำเข้างานศิลปะและของแต่งบ้านจากเอเชียสู่ตลาดยุโรป ให้ความเห็นเพิ่มเติมในหัวข้อเดียวกันนี้ว่า หัตถกรรมไทยจะตอบโจทย์ตลาดโลกและตามเทรนด์โลกทันได้ ต้องออกก้าวออกจากกรอบข้อจำกัดเดิม ๆ แล้วแทนที่ด้วยการสร้างสรรค์แบบใหม่ให้ได้ก่อน เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตไทยอาจไม่ทราบถึงเรื่องราวและความสนใจของต่างประเทศ จึงผลิตตามใจและความถนัดของตนเอง ด้วยรูปทรง ๆ แบบเดิม ๆ โทนสีแบบเดิม ๆ ในขณะที่ลูกค้าในตลาดยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่มองว่าสีแบบเดิม ๆ เหล่านั้นตกยุคไปแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่งานหัตถกรรมไทยจะจับเทรนด์สีที่เป็นกระแสอยู่ขณะนี้ แล้วออกแบบชิ้นงานใหม่ทั้งขนาดและรูปร่าง ด้วยเทคนิคการผลิตแบบเดิม เพื่อตอบโจทย์การใช้งานและความชอบของลูกค้าในต่างประเทศ
“ผมเชื่อว่าไทยมีศักยภาพเรื่องงานคราฟต์ที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ทั้งคุณภาพและความสวยงาม ถ้าผู้ผลิตสามารถปรับตัวเรื่องนี้ได้ก็จะสามารถตีตลาดยุโรปและอเมริกาได้ไม่ยาก และเมื่อลูกค้าได้ลองใช้ คุ้นเคยกับสินค้าของเราแล้ว ลูกค้ากลุ่มนั้นก็จะกลับมาถามหา งานหัตถกรรมแบบไทยแท้ ที่ใช้สี Thai Tone หรือ Thai Color Palette เอง”
คุณนักรบ มูลมานัส เคยอธิบายความหมายของศิลปะแบบไทย ๆ เอาไว้ในงาน SACIT Craft Power ครั้งก่อนว่า เอกลักษณ์ของศิลปะไทย คือการรับอิทธิพลจากที่ต่าง ๆ มาปรับให้เป็นรูปแบบของเราเอง “ความเป็นไทย” ในมุมองของคุณนักรบ จึงเปรียบได้กับ “ฟองน้ำ” ที่สามารถดูดซับสิ่งดี ๆ จากรอบรอบตัว มาผสมผสานกับสิ่งที่มี จนเกิดเป็นศิลปะรสชาติใหม่ ที่กลมกล่อม ซึ่งคุณนักรบก็เชื่อมั่นว่า การนำเอาความเป็นไทยมาผสมกับความเป็นสากล ผ่านสัมผัสทั้ง 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และคุณท่าทางจิตใจ จนเกิดเป็นศิลปะร่วมสมัย จะช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ชิ้นงานได้
เช่นเดียวกับ Mr. Hao Yang Sun ที่เล่าประสบการณ์การทำงานของตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการจะประสบความสำเร็จนั้น ต้องมีฐานที่แข็งแรงเป็นรากเหง้า (เอกลักษณ์ประจำชาติ) แล้วนำความเป็นสากลมาเติมต่อ เพื่อให้เกิด Common Sense of Value ที่ทุกคนสามารถตีความไปในทิศทางเดียวกันและสร้างคุณค่าร่วมกันได้
กระแสความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้งานหัตถกรรมไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อผู้บริโภคจากทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากแฟชั่นที่ผลิตขึ้นจำนวนมากและสินค้าใช้แล้วทิ้ง ในขณะเดียวกันตลาดโลกก็ยังคงสนใจงานคราฟต์ที่มีเรื่องราว ประเพณี และมีการสืบทอดที่ยั่งยืน แล้วคราฟต์ไทยจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์โลกเช่นนี้ ในขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่อง Sustainability และไทยกำลังตื่นตัวเรื่อง Soft Power
ดร.สิงห์ อินทรชูโตได้ให้ความเห็นในหัวข้อนี้ โดยเปรียบเทียบความยั่งยืนและการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมเป็น Logic & Magic ที่คราฟต์ไทยต้องผลิตชิ้นค้าที่สะกิดตรงถึงจิตใต้สำนึก(Logic) ในขณะเดียวกันก็ต้องสะกดใจให้อยู่หมัด(Magic) การจะทำให้เกิด Logic ได้นั้น อาจเกิดได้ตั้งแต่ระดับครูช่าง ชุมชน เพราะบุคคลเหล่านี้มีความชำนาญในการใช้วัสดุจากธรรมชาติอยู่ และเทคนิคที่ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่การจะทำให้เกิด Magic ระดับที่จะเป็น Soft Power ได้นั้น ดร.สิงห์ มองว่า ต้องอาศัยบุคคลจากภายนอกเข้ามาช่วย ทั้งดีไซเนอร์ นักการตลาด นักขาย ซึ่งส่วนนี้เองที่ ดร.สิงห์เชื่อมั่นว่า SACIT จะเข้ามาทำให้เป็นจริงได้ไม่ยาก
ขณะเดียวกัน Mr. Martin Venzky- Stalling ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นการพัฒนาคราฟต์อย่างยั่งยืนนี้ว่า ความยั่งยืนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความยั่นยืนต่อสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ผู้ผลิตคราฟต์ไทยสามารถสร้างแบรนด์ที่นำเสนอความยั่งยืนได้อีกหลากหลาย โดยยึดโยงจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยแก้ปัญหาความยากจน การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง เป็นต้น
นอกจากนี้ Mr. Martin Venzky- Stalling ยังย้ำแนวคิดสำคัญแก่ผู้ผลิตคราฟต์ไทยทิ้งท้ายงานเสวนานี้ว่า “งานคราฟต์ที่ดีและขายได้ต้องเป็นงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความยั่งยืน และพลังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน” อันประกอบไปด้วยหลัก 3 ส่วน คือ เป็นงานที่สร้างรายได้ เป็นงานที่ให้ความสำคัญกับชุมชน และเป็นงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ SACIT และมุมองของคุณพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท.ที่กล่าวไว้ในงานนี้ว่า การกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ชัดเจน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ