สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ : หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง

สนทนาธรรมกับ องค์ดาไลลามะ (ทะไลลามะ) : หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้รับโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตโดยร่วมคณะไปกับคณะภิกษุสงฆ์และฆราวาสชาวไทย  ภายใต้การนำของหอจดหมายเหตุพุทธทาส  อินทปัญโญ  เพื่อไปเข้าเฝ้าสนทนาธรรมกับองค์ทะไลลามะ ประมุขทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต  ณ  กรุงนิวเดลี  สาธารณรัฐอินเดีย  ระหว่างวันที่  15-16  ธันวาคม พ.ศ.  2555 ต่อไปนี้คือสาระสำคัญบางส่วนจากการสนทนาธรรมในครั้งนั้น

 

แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง

“อาตมาไม่เคยพยายามเผยแผ่พุทธศาสนา  อาตมาเป็นชาวพุทธก็จริง  แต่ขณะเดียวกัน อาตมาก็ไม่ควรยึดติดกับความเป็นพุทธของตนเอง  ไม่เช่นนั้นอาตมาก็ไม่สามารถมองเห็นคุณค่าในศาสนาอื่น ๆ  ความท้าทายหรือสิ่งที่อาตมาให้ความสำคัญคือ  การให้แต่ละคนรักษาหรือยึดถือศาสนาของตนเองไว้  แทนที่จะเปลี่ยนศาสนา  อาตมาเดินทางสอนในโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกา  และมักบอกกับผู้คนในประเทศเหล่านั้นว่า พวกคุณนับถือศาสนาคริสต์  ศาสนายิว  ก็ขอให้รักษาไว้  บางครั้งการเปลี่ยนศาสนา อาจก่อให้เกิดความสับสนมากขึ้น  เว้นเสียแต่ว่า  ปัจเจกบุคคลผู้นั้นศึกษาศาสนาใหม่อย่างลึกซึ้ง  และพิจารณาเห็นว่าเหมาะกับจริตหรือทัศนคติของเขาหรือเธอมากกว่า เช่นนั้นก็ถือว่ายอมรับได้  หากปราศจากความเข้าใจนี้แล้ว  ก็อาจเกิดปัญหา  เป็นต้นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม  ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลก  หรือแนวคิดเรื่องอัตตาตัวตน  ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมและเหตุปัจจัย  ต่างจากศาสนาเทวนิยม  นี่คือความแตกต่างสำคัญที่ต้องเข้าใจ  เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้  โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา”

 

ความท้าทายของศาสนาในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

“อาตมาคิดว่าประการแรกที่สุด  ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดถึงมนุษยชาติโดยรวม  ไม่เกี่ยงว่าคุณจะนับถือศาสนาใด  หรือไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตาม  พวกเราพี่น้องมนุษยชาติทั้งชายหญิงต้องอาศัยอยู่ในโลกนี้ด้วยกัน  หากโลกนี้เป็นสุขมากขึ้น  สันติมากขึ้น ทุกคนล้วนย่อมได้ประโยชน์  รวมถึงสัตว์โลกด้วย  อาตมาคิดว่าสิ่งนี้คือภาระหรือความจำเป็นเร่งด่วนของเรา  ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงพยายามหาหนทางช่วยเหลือ อาตมาใช้หลักปรัชญาหรือแนวคิดของอินเดียว่าด้วยจริยธรรมทางโลก  (secular ethics)  โดยไม่ยึดหรืออิงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  แต่มาจากสามัญสำนึกหรือประสบการณ์ร่วมกัน  มุ่งเน้นการปฏิบัติเรื่องเมตตาและกรุณาเพื่อสร้างสันติภายใน บ่มเพาะความมั่นใจและความเข้มแข็งภายในตนเอง  มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่ปฏิบัติเมตตาและกรุณาธรรม  จิตใจจะสงบเพราะความกลัวลดลง  ความยึดมั่นถือมั่นหรือคิดถึงแต่ตนเองมากเกินไปมีแต่จะสร้างความกลัวและความกังวล  แต่เมื่อเราคิด หรือคำานึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่น  จิตใจย่อมไม่มีพื้นที่สำหรับความกลัว  ความสงสัย  และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับนักวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยในการเผยแผ่ธรรมะอย่างไรบ้าง

“ตลอดระยะเวลากว่า  30  ปีที่ผ่านมา  อาตมาติดต่อสื่อสารกับนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างจริงจัง  โดยเฉพาะด้านจักรวาลวิทยา  (cosmology)  เพราะพระอภิธรรมในพุทธศาสนาก็พูดถึงจักรวาลวิทยาด้วยเช่นกัน  หรือเรื่องของประสาทชีววิทยา (neurobiology)  ซึ่งคัมภีร์ในพุทธศาสนาโดยเฉพาะสายตันตระก็มีการพูดถึง  ดังนั้น  การแลกเปลี่ยนกับนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นประโยชน์มาก  แล้วยังมีศาสตร์อย่างควอนตัมฟิสิกส์  (quantum  physics)  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธศาสนาที่ว่า  สรรพสิ่งประกอบด้วยอนุภาค หรือจะเป็นจิตวิทยาที่เราสามารถเทียบเคียงได้กับหลักปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนาในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู  วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างจิตวิทยาค้นพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มหาศาลจากศาสตร์โบราณของอินเดีย  ซึ่งรวมถึงพุทธศาสนาด้วย  เราอาจแบ่งพุทธศาสนาออกกว้างๆ  ได้เป็นพุทธศาสตร์  (Buddhist  Science)  พุทธปรัชญา (Buddhist  Philosophy)  และพุทธศาสนา  (Buddhist  Religion)  สองประการแรก คือหลักสากล ส่วนประการหลังสุดเป็นเรื่องชาวพุทธ”

 

“อาตมาไม่เคยพยายามเผยแผ่พุทธศาสนา  อาตมาเป็นชาวพุทธก็จริง  แต่ขณะเดียวกัน อาตมาก็ไม่ควรยึดติดกับความเป็นพุทธของตนเอง  ไม่เช่นนั้นอาตมาก็ไม่สามารถมองเห็นคุณค่าในศาสนาอื่นๆ”

หลังเสด็จลี้ภัยออกจากทิเบตที่ถูกจีนผนวกเป็นเขตปกครองตนเอง องค์ทะไลลามะทรงอุทิศพระองค์ในการเผยแผ่พุทธศาสนาโดยเฉพาะในโลกตะวันตก และสร้างสันติภาพขึ้นในโลก จนทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ภาพถ่าย AFP)

 

แนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงและปัญหาสังคมอื่น ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน

“ศตวรรษที่ยี่สิบเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม  ว่ากันว่ามีผู้คนล้มตายจากความรุนแรงถึงสองร้อยล้านคน  ด้วยวิธีการประหัตประหารมากมายหลายรูปแบบ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์  คำถามคือความรุนแรงเหล่านั้นช่วยจัดระเบียบโลกให้ดีขึ้นจริงหรือ  หลายคนบอกว่าความรุนแรงเหล่านั้นเป็นสิ่งคุ้มค่า  อาตมาไม่คิดเช่นนั้น  เพราะมีความทุกข์ยากและความเกลียดชังมากขึ้น  ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดใหม่ เลิกคิดเสียทีว่าวิถีของโลกก็เป็นอย่างนั้นเอง เราต้องคิดหาวิธีเพื่อรับมือกับความเป็นจริงใหม่นี้  นอกจากนี้ยังมีปัญหาอย่างโลกร้อน  ประชากรเพิ่มขึ้น  ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน  และปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งอย่างหลังสุดเป็นเรื่องที่น่าวิตก หลายปีก่อน  อาตมาไปบรรยายธรรมให้นักศึกษาอินเดียฟังที่เมืองโชธปุระ (Jodpur) นักศึกษาคนหนึ่งถามอาตมาว่า  คอร์รัปชันถือเป็นเรื่องปกติในประเทศนี้  เมื่อสำาเร็จการศึกษาแล้ว  หากเขาไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน  ชีวิตคงไม่มีทางประสบความสำเร็จ  ไม่กี่วันหลังจากนั้น  อาตมาพบนักธุรกิจคนหนึ่งในมุมไบ  เขาพูดทำนองเดียวกันว่า  ถ้าคุณไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน  ธุรกิจคุณไม่มีวันประสบความสำเร็จ  อาตมาฟังแล้วตกใจมาก  ถ้าผู้คนทั่วไปคิดอย่างนี้แล้ว  โลกเราจะเป็นอย่างไร  เราต้องยืนยันอย่างหนักแน่นว่า  พฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้  อาตมาขอใช้คำว่า คอร์รัปชันคือมะเร็งร้ายชนิดใหม่ของโลก  อาตมาคิดว่าเรื่องสำคัญในตอนนี้คือความมีวินัยในตนเอง  เราจะปลูกฝังความมีวินัยในตนเองอย่างไร…  ที่ผ่านมาศีลธรรมที่อิงกับศาสนาดูจะไม่เพียงพอ  ดังนั้นทุกวันนี้สิ่งที่เราต้องการคือจริยธรรมทางโลกซึ่งส่งผลดีในหลายระดับ  เป็นต้นว่า  ถ้าเราซื่อสัตย์  ตัวเราจะมีความสุขขึ้น  สุขภาพร่างกายดีขึ้น  ชุมชนและสังคมก็ดีขึ้นตาม  ด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมนี้  วินัยในตนเองจะเกิดขึ้นตาม  เราจะสอนเรื่องนี้อย่างไรโดยไม่อิงกับศาสนา  ก็ต้องอาศัยสามัญสำนึก  การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์ร่วมกัน นี่คือการส่งเสริมหลักศีลธรรมผ่านการศึกษาทางโลก”

 

บ่มเพาะสันติภายในเพื่อสร้างสันติภายนอก

“สันติในโลกต้องมาจากสันติภายใน  หากปราศจากสันติภายในแล้ว  สังคม  ชุมชน  และโลกที่สุขสงบย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  ดังนั้นเราต้องให้การศึกษาแก่ผู้คนเกี่ยวกับการบ่มเพาะสันติภายในใจ  สันติภายในต่างหากคือกุญแจสำคัญที่สุดของชีวิตที่ประสบความสำาเร็จ  เราสอนสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยระบบการศึกษาปกติ  การศึกษาเป็นเรื่องสากล  ศาสนาไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีวันเป็นสากล  ในเมื่อปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ  การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องสากลและต้องอาศัยความร่วมมือจากทั่วโลก  อาตมาคิดเช่นนี้  มิตรสหายของเราบางคนเริ่มลงมือทำาแล้วด้วยการหาหนทางในการส่งเสริมหลักจริยธรรมในระบบการศึกษาสมัยใหม่  อาตมาขอเชิญชวนพวกท่านในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ  นี่คือความรับผิดชอบและผลประโยชน์ร่วมกันของเรา  ทุกวันนี้  เราจำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบร่วมกันในระดับโลก  โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตระหนักที่ว่า  มนุษยชาตินั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ความแตกต่างทางศาสนา  เชื้อชาติ  วัฒนธรรม  และภาษา  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องรอง  สิ่งสำคัญคือ เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน  เมื่อพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรม  พระองค์ไม่เคยทรงเลือกว่าต้องสั่งสอนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ  หากเป็นมนุษยชาติ  แม้แต่พวกเราชาวพุทธ  เวลาสวดมนต์แผ่เมตตา เราไม่เคยพูดว่าเพื่อมนุษยชาติเท่านั้น  หากเผื่อแผ่ครอบคลุมถึงสรรพชีวิตทั้งมวล”

 

สำหรับผู้คนอีกนับไม่ถ้วนในโลก สันติภายในไม่ต่างจากสิ่งหรูหรา ในเมื่อท้องยังหิว และต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

“อาตมาคิดว่า  เราต้องแยกแยะระหว่างความต้องการ  (desire)  กับความโลภ  (greed) สองอย่างนี้แตกต่างกัน  ความต้องการในบางสิ่งที่ดี  ในแง่นี้เราทุกคนเท่าเทียมกัน จริงๆแล้ว  พวกเราชาวพุทธยังบ่มเพาะความต้องการหรือความปรารถนาที่จะบรรลุธรรม หรือพุทธภูมิ  ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือการพูดว่า  พุทธศาสนามุ่งกำจัดความต้องการหรือความอยากให้หมดไป  นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด  ความต้องการที่ปรุงแต่งด้วยอคติบางอย่างกลายเป็นสิ่งไม่ดี  แต่ความต้องการที่ถูกต้องและมีเหตุมีผลไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร  เช่น  ความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมหรือหลุดพ้น  ทำนองเดียวกัน  เราปรารถนาชีวิตที่มีความสุขอย่างถูกทำนองคลองธรรม  แต่หากเราปรารถนาความสุขด้วยการใช้ประโยชน์จากผู้อื่น  ทำร้ายหรือโกงผู้อื่น  เช่นนั้นคือความต้องการที่ผิด   ความต้องการโดยตัวเองเป็นเรื่องกลางๆ  แรงจูงใจบางอย่างทำให้ความต้องการกลายเป็นเรื่องดีและไม่ดี ทำนองเดียวกับความโกรธ  ถ้าเป็นความโกรธที่เกิดจากความเมตตา  ความเป็นห่วงเป็นใยในสวัสดิภาพผู้อื่น  เช่นนั้นความโกรธก็อาจเป็นความโกรธที่ดีได้  แต่ความโกรธที่เกิดจากความรู้สึกแง่ลบต่อผู้อื่น ความโกรธนั้นย่อมไม่ดี  นี่คือธรรมชาติของทุกอารมณ์ที่อิงอาศัยและเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  อารมณ์หนึ่งในสถานการณ์หนึ่งอาจเป็นเรื่องไม่ดี  แต่อารมณ์เดียวกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอาจกลายเป็นเรื่องดีก็ได้  เมื่อเราพูดว่าสันติภายในเป็นเรื่องสำคัญมาก  นั่นไม่ได้หมายความว่า  เราไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาทางวัตถุ  ไม่ได้เป็นเช่นนั้น  เมื่อพระพุทธองค์ทรงละชีวิตทางโลก แต่เพื่อความจำเป็นพระองค์ก็ยังทรงต้องมีข้าวของเครื่องใช้อย่างอัฐบริขารสำหรับสมณสารูป  ในทำนองเดียวกัน  การพัฒนาทางวัตถุยังจำเป็นต้องมี  อาตมาไม่เห็นความขัดแย้งระหว่างการบ่มเพาะสันติภายในกับการพัฒนาทางวัตถุ  เราต้องเข้าใจว่าสำหรับคนที่ยังขาดแคลน  ท้องยังหิว  ชีวิตยังยากลำบาก  พวกเขาอาจยังไม่พร้อมสำหรับการปฏิบัติธรรม  เราจึงต้องปรับปรุงหรือพัฒนาสภาพเงื่อนไขของพวกเขาเสียก่อน  ในเรื่องนี้อาตมาขอยกหลักธรรมว่าด้วย สังคหวัตถุ  4  สองข้อแรก  ได้แก่  ทาน คือการให้เพื่อแบ่งเบาหรือปัดเป่าความลำบาก ทางกาย  และปิยวาจา  การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะ  แนะนำหนทางที่ถูกต้อง เพื่อให้พวกเขาเดินตาม”

 

“เมื่อพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรม  พระองค์ไม่เคยทรงเลือกว่าต้องสั่งสอนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ… แม้แต่พวกเราชาวพุทธ  เวลาสวดมนต์แผ่เมตตา เราไม่เคยพูดว่าเพื่อมนุษยชาติเท่านั้น  หากเผื่อแผ่ครอบคลุมถึงสรรพชีวิตทั้งมวล”

องค์ทะไลลามะทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะครูและเด็กนักเรี่ยนที่โรงเรียนพุทธศาสนาแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย (ภาพถ่าย AFP)

 

ผู้หญิงควรมีบทบาทอย่างไรในการปลูกฝังศีลธรรมและเมตตาธรรม

“ในสังคมมนุษย์ยุคแรกๆ  ความแข็งแรงทางกายคือปัจจัยสำคัญของความเป็นผู้นำ  นั่นคือจุดเริ่มต้นของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ต่อมาเมื่อการศึกษาพัฒนาดีขึ้น ความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงจึงเกิดตามมา ปัจจุบัน เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบ่มเพาะเมตตาธรรมในจิตใจ  นอกเหนือจากการศึกษาทางโลก  เมื่อพูดในเชิงชีววิทยา  เราต้องยอมรับว่า ผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ชายในเรื่องความทุกข์ยากของผู้อื่น ดังนั้นในการปลูกฝังเมตตาธรรมในสังคมมนุษย์  ผู้หญิงจึงควรมีบทบาทมากขึ้น  อาตมาอยากยกตัวอย่างแม่ของอาตมาซึ่งเป็นหญิงชาวบ้าน  อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  ไร้การศึกษา  เป็นชาวไร่ชาวนา  แต่แม่มีหัวใจที่อ่อนโยน  ทุกครั้งที่เห็นขอทาน  แม่มักร้องไห้  ลูกๆไม่เคยเห็นใบหน้าโกรธขึ้งของแม่เลย  ลูกๆ จึงถูกเลี้ยงดูขึ้นมาในบรรยากาศแบบนี้  อาตมาย้ำว่า  ในชีวิตมนุษย์  การศึกษาสำคัญมาก  แต่ความรักนั้นสำคัญยิ่งกว่าการศึกษาเสียอีก  อาตมาไม่คิดว่ามีนักวิทยาศาสตร์คนไหนพูดว่า  ยิ่งมีการศึกษามาก  สุขภาพยิ่งดี  แต่จิตใจที่อ่อนโยนดีงามต่างหากที่ส่งเสริมให้เรามีสุขภาพดี” —โกวิทย์  ผดุงเรืองกิจ  เก็บความและเรียบเรียง ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2556

 

อ่านเพิ่มเติม

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช กับการปฏิบัติธรรมอันเบิกบาน

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.