แม้จะได้ชื่อว่า เป็นเดือนที่สภาพอากาศประเทศไทยร้อนที่สุดในรอบปี อุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส (และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีๆ) แต่ก็ยังโชคดีที่ในเดือนนี้เมืองไทยเรามี “เทศกาลสงกรานต์” หรือที่นิยมเรียกกันในเชิงท่องเที่ยวว่า “Water festival” เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เล่นสาดน้ำ พอได้คลายความร้อนกันบ้าง
อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วที่มาที่ไปของเทศกาลสงกรานต์กลับมีนัยลึกซึ้งมากกว่าการเล่นสาดน้ำคลายร้อนอยู่มาก เพราะนอก จากจะเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าและดวงดาวแล้วยังแฝงนัยบางอย่างทางสังคมอีกด้วย
ชาวอินเดียโบราณเป็นหนึ่งในชนชาติที่กำหนดเดือนและปีด้วยรูปแบบสุริยคติ ด้วยการสังเกตการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ผ่านกลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่มบนท้องฟ้า กลุ่มดาวเหล่านี้มีตำแหน่งไล่เรียงจากทิศตะวันตกไปตะวันออกโดยมีระยะห่างแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน เริ่มจากกลุ่มดาวแกะ กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวปู กลุ่มดาวสิงโต กลุ่มดาวหญิงสาว กลุ่มดาวคันชั่ง กลุ่มดาวแมงป่อง กลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มดาวแพะทะเล กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และกลุ่มดาวปลา
ดวงอาทิตย์จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการเคลื่อนผ่านจากกลุ่มดาวจักรราศีจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่ม แต่ระหว่างนั้นในช่วงวันที่ 14-15 ของเดือนอันเป็น “ระยะครึ่งทาง” ของการเคลื่อนผ่านนี้ ชาวอินเดียโบราณจะเรียกว่า “สงกรานต์” สำหรับความหมายของคำว่า สงกรานต์ หรือสังกรานติ นี้ นักวิชาการหลายท่านอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “การเคลื่อนผ่าน หรือย้ายที่ของดวงอาทิตย์”
เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวจักรราศีครบทั้ง 12 กลุ่ม จึงจะถือเป็น 1 ปี หรือประมาณ 365 วัน และแน่นอนว่า ด้วยหลักคิดนี้ทำให้ทุกเดือนต้องมีวันสงกรานต์ นั่นเท่ากับ 1 ปี จะมีวันสงกรานต์ 12 วันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียให้ความสำคัญกับสงกรานต์เพียง 2 ช่วง คือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกลับมายังกลุ่มดาวแพะทะเล หรือราศีมังกรในเดือนมกราคมที่เรียกว่า “มกรสังกรานติ” และอีกช่วงเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกลับมายังกลุ่มดาวแกะหรือราศีเมษในเดือนเมษายน อันเป็นกลุ่มดาวจักรราศีตั้งต้นอีกครั้งจะถือเป็นการเริ่มต้นวงโคจรใหม่ เรียกกันว่า “เมษสังกรานติ”
การอธิบายดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้วในทางดาราศาสตร์กลับหมายถึง การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ และเมื่อโลกโคจรมาอยู่ในจุดที่ด้านหลังของดวงอาทิตย์ตรงกับกลุ่มดาวแกะอีกครั้งถือเป็นการเริ่มวงโคจรของโลกครั้งใหม่
ไม่เพียงแต่ชาวไทยที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและความเชื่อจากอินเดียโบราณที่ว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศักราชใหม่ หรือปีใหม่ แต่นักวิชาการยังพบว่า หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับอิทธิพลนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเนปาล ศรีลังกา บังคลาเทศ ลาว พม่า กัมพูชา เพียงแต่ในแต่ละประเทศก็ “เลือกรับ” และ “ปรับใช้” ให้เหมาะกับวัฒนธรรมของตนเองแตกต่างกันไป
สำหรับประเทศไทย ถือกันว่า วันที่ 13 เมษายนถือเป็น “วันมหาสงกรานต์ หรือวันสิ้นปี” ส่วนวันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ เรียกว่า วันเนา ส่วนวันที่ 15 เมษายน นับเป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่
ในแต่ละวันนั้นก็จะมีกิจกรรม ประเพณี รวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันไป นักวิชาการพบว่า พิธีกรรมเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์นั้นคงเริ่มต้นปรากฎอย่างน้อยในสมัยอยุธยา อีกทั้งยังเป็นพิธีหลวงประกอบด้วยพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ซึ่งจัดเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ส่วนราษฎรทั่วไปนั้นน่าจะเริ่มรู้จักและเข้าถึงเทศกาลสงกรานต์ไม่เร็วไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 3
เทศกาลสงกรานต์ของราษฎรไทยสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นยังไม่ปรากฏการเล่นสาดน้ำ คงมีแต่การทำบุญเลี้ยงพระ และสรงน้ำพระ ซึ่งถือเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลตามหลักพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องการชำระล้างจิตใจพร้อมรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
นักมานุษยวิทยาและนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เปรียบเสมือนช่วงพักผ่อนของชาวบ้านหลังฤดูการเก็บเกี่ยวได้ผ่านพ้นไป ในช่วงนี้จึงมีการละเล่นเกิดขึ้นมากมาย นัยว่าเพื่อสร้างความบันเทิง และผ่อนคลายจิตใจ ส่วนการเล่นสาดน้ำช่วยดับความร้อนอบอ้าวจากสภาพอากาศนั้นมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเกิดตามมาภายหลังไม่ช้าไปกว่า พ.ศ.2500
อีกทั้งยังพบแง่มุมที่น่าสนใจว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ถูกจำกัดบทบาททางสังคมหลายๆ อย่างตลอดมา สามารถ “ฝ่ากฎ” เหล่านั้นได้แบบไม่ผิดจารีตประเพณี ไม่ว่าจะเล่นสนุกกับผู้ชายได้ทุกอย่าง และอาจเลยเถิดไปขั้นกลั่นแกล้งได้สารพัดรูปแบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ที่มีโอกาสถูกผู้หญิงสาดน้ำ หรือถูกอุ้มไปโยนน้ำได้เช่นกัน
นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังสันนิษฐานว่า ในเทศกาลสงกรานต์นอกจากประชาชนจะสาดน้ำกันเพื่อความสนุกสนานแล้ว น้ำยังเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับการชำระล้างความทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งสกปรก สิ่งไม่ดีออกไป นับเป็นการเริ่มต้นใหม่ และนัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสังคมเกษตรกรรมด้วย
ปัจจุบันแม้สงกรานต์สมัยใหม่ที่เรียกอย่างเก๋ไก๋ว่า Water festival จะทำให้ความหมายของเทศกาลเคลื่อนไปจากอดีตเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะคนไทยเอง สงกรานต์ยังถือเป็น “ปีใหม่” เป็นจุดเริ่มต้นการทำอะไรใหม่ๆ … ไม่เปลี่ยนแปลง
เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์