จับสัญญาณความรุนแรงอย่างไร? ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม

จับสัญญาณความรุนแรงอย่างไร? ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม

หลังเกิดเหตุกราดยิงขึ้นในโรงเรียนมัธยมมาจอรี สโตนแมน ดักลาส ในเมืองพาร์คแลนด์ ของรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 17 ราย มือปืนผู้ก่อเหตุวัย 19 ปี เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นเหตุกราดยิงรุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ประเด็นการครอบครองอาวุธปืนถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง ในขณะที่ยอดสั่งซื้อกระเป๋าเป้สำหรับนักเรียนที่สามารถกันกระสุนได้พุ่งสูงขึ้นถึง 40% จากความกังวลของบรรดาพ่อแม่

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวที่ยกมาข้างต้นและการเยียวยาสภาพจิตใจของนักเรียนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์แล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เราจะมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ จับสัญญาณความรุนแรงได้อย่างไร? ก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เพื่อที่โศกนาฏกรรมทำนองนี้จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

เว็บไซต์ TIME พูดคุยกับ Peter Langman นักจิตวิทยาเจ้าของคลีนิคในเพนซิลเวเนีย เจ้าของหนังสือ Why Kids Kill: Inside the Minds of School Shooters, School Shooters และ Jeff Temple ได้ให้ข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่สามารถนำไปปรับใช้ได้ และป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกของคุณได้

ทำความเข้าใจสัญญาณความรุนแรง

สัญญาณเตือนพื้นฐานของความรุนแรงสามารถจับได้จาก “เค้าลาง” Langman กล่าว “ผู้คนจะแสดงความสนใจของตนออกมา” เขาอธิบาย “บางครั้งพวกเขาคุยโวว่ามีแผนจะทำอะไร เขาอาจพูดติดตลกว่า ฉันจะเอาปืนมาที่โรงเรียนและไล่ฆ่าคน หรือบางครั้งอาจลึกซึ้งกว่านั้นเช่นการเตือนเพื่อนว่า อย่าไปที่โรงอาหารในวันนั้นๆ นะ”

มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เค้าลางเหล่านี้บ่งบอกพฤติกรรมของตัวเด็กๆ เอง ซึ่งเด็กควรรายงานเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ทราบ แม้ว่ามันจะเป็นการพูดเล่นในกลุ่มก็ตาม และปล่อยให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจเองว่าพฤติกรรมนั้นๆ ควรเป็นกังวลหรือไม่ ด้านโรงเรียนเองสามารถมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ด้วยการเปิดช่องทางไม่ว่าจะเป็นฮอทไลน์, เว็บไซต์ หรือกล่องสำหรับรับแจ้งสัญญาณเหล่านี้

สิ่งสำคัญเลยก็คือทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าการรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าเป็นกังวล เป็นคนละเรื่องกับนิสัยขี้ฟ้อง Langman กล่าวเสริม

“คุณอาจจงใจฟ้องพ่อแม่เรื่องที่พี่สาวน้องชายคุณทำ แต่เหตุผลสำหรับการรายงานเรื่องพฤติกรรมที่น่าเป็นกังวลนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของทุกคน” Langman กล่าว “หากคุณช่วยให้เด็กๆ เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น พวกเขาจะตัดสินใจได้เอง”

เด็กนักเรียนเดินเรียงแถวออกมาจากสถานที่เกิดเหตุกราดยิงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018  
ภาพถ่ายโดย Joe Raedle, Getty Images

สนับสนุนให้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชั้นเรียน

พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงก็เช่น การปลีกตัวออกจากสังคมหรือท่าทางที่ซึมเศร้าหดหู่ ซึ่งจะดีกว่าหากเพื่อนร่วมชั้นเรียนช่วยกันหาทางแก้ปัญหาหรือรับฟัง แทนที่จะผลักเขาออกจากสังคม เพราะความหวาดกลัวว่าบุคคลนั้นอาจเป็นอันตราย

“การสนทนาคือวิธีที่ดีที่สุดในการรับรู้ได้ว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนใดของคุณกำลังต้องการความช่วยหลือ” Temple กล่าว “ผมว่ามันไม่เป็นไรนะ ในกรณีที่คุณยังเป็นเด็ก ตรงเข้าไปหาครูได้เลยและบอกเขาไปว่า ผม/หนูกังวลเกี่ยวกับจอห์น”

อย่าตีตราอาการเจ็บป่วยทางจิต

ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า “เห็นสัญญาณต้องเข้าไปพูดคุย” อาการป่วยทางจิตเป็นอะไรที่เข้าใจได้ยาก ในสังคมแล้วผู้ป่วยทางจิตมักกลายเป็นแพะรับบาปในหลายปัญหา ส่วนในสังคมที่เล็กลงมาอย่างโรงเรียน ภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กผู้นั้นไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนร่วมชั้นถึงปฏิบัติกับเขาอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะเขาแตกต่างจากคนอื่น ทางที่ดีคือทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนควรสอนให้เด็กๆ เข้าใจถึงความต่างนี้

“ใครบางคนที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ไม่ได้แปลว่าเขาอันตราย แต่ใครบางคนที่มีพฤติกรรมแปลกๆ และพูดถึงเรื่องปืนด้วย นั่นคือสัญญาณอันตราย” Langman กล่าว “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคนที่เข้าสังคมไม่เก่งหรือคนที่ใส่แต่สีดำ แต่มันคือเค้าลางบางอย่างที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมน่าเป็นห่วงต่างหาก”

อย่าอายเมื่อต้องพูดเรื่องยากๆ

แน่นอนว่าการพูดคุยเรื่องความรุนแรงกับลูกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การสนทนาให้พวกเขาเข้าใจจะช่วยพวกเขาได้ในระยะยาว “มันดูยากที่จะพูดคุย แต่อย่างน้อยมันช่วยให้เด็กๆ รู้ว่าควรทำอะไร และเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่จะรับมือกับเรื่องนี้ยังไง” Langman กล่าว

Temple กล่าวเสริมว่าการสนทนาอย่างเปิดใจและซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก “ซื่อสัตย์กับพวกเขา” เขากล่าว “บอกพวกเขาว่าเรื่องร้ายๆ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ไม่ใช่บ่อยครั้ง และจะมีคนคอยช่วยให้พวกเขาปลอดภัย”

เรื่อง Jamie Ducharme

ที่มา : How to Help Your Kids Spot and Report Signs of Mass Violence Before Tragedy Strikes

อ่านเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.