รวมประวัติศาสตร์การ ประท้วง พลังหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงโลก

ประวัติศาสตร์การ ประท้วง พลังหนุ่มสาวขับเคลื่อนการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

จากนักเรียนพาร์กแลนด์ถึงอาหรับสปริง วัยรุ่นและหนุ่มสาวเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า

เมื่อมองดูหนุ่มสาวจากยุคสมัยใหม่ต่างๆ คุณจะเห็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจ  แกนนำ “March for Our Lives” ก็ไม่ต่างกันเลย  บรรดานักเรียนจากพาร์กแลนด์ ฟลอริดา ผู้เผชิญกับโศกนาฎกรรมกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมของตนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดงานเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนและหยุดการกราดยิงในโรงเรียน

ถึงแม้หลายคนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยาวชนเหล่านั้น แต่ก็มีคนอีกมากที่พูดถึงความมุ่งมั่น ชีวิตชีวา ความสนใจ และความฉลาดรอบรู้  พวกเขาเสนอสารที่ชัดเจน ขับเคลื่อนประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงและนักการเมือง แม้แต่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และมิเชล โอบามา

ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร  เด็กนักเรียนเหล่านี้เป็นข้อต่อใหม่ล่าสุดของสายโซ่นักกิจกรรมรุ่นเยาว์ในช่วงหลายทศวรรษที่อยู่ในแถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปทั่วโลก และขบวนการเคลื่อนไหวทั้ง 5 ขบวนการต่อไปนี้ถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยผู้ประท้วงหนุ่มสาว

 

ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง

นักกิจกรรมสิทธิพลเมือง ผู้ประท้วงหนุ่มสาว เข้าร่วมในการเดินขบวน 1 ใน 3 หนที่แอละแบมา จากเซลมาถึงมอนต์โกเมอรีในปี 1965 การประท้วงครั้งนั้นเป็นก้าวสำคัญสู่หนทางของการออกกฎหมายสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างแบ่งแยกบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ภาพถ่าย Buyenlarge, Getty Images

เยาวชนเป็นฟันเฟืองสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่น่าจดจำที่สุด และเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังช่วงสำคัญเหล่านั้น  เยาวชนเหล่านั้นร่วมกันเคลื่อนไหวให้ยกเลิกโรงเรียนที่แบ่งแยกสีผิวทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ท้าทายการแบ่งแยกสีผิวด้วยการออกเดินทางด้วยรถบัสเพื่อหยุดการแบ่งแยกสีผิว (Freedom Rides) และผลักดันสิทธิผู้ออกเสียงและการออกกฎหมายสิทธิพลเมือง

ในหมู่แกนนำนักศึกษาที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือคณะกรรมการนักศึกษาผู้ประสานงานด้านสันติวิธี (Student Nonviolent Coordinating Committee -SNCC) อันเป็นกลุ่มที่ประท้วงด้วยสันติวิธีและช่วยฝึกผู้เดินขบวนประท้วง  กลุ่มอิสระดังกล่าวรักษาความอุตสาหะอย่างแรงกล้าในแถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน เพียรทนต่อความรุนแรง และการปราบปรามจากรัฐตลอดการเคลื่อนไหว

SNCC นับเป็นกลุ่มสิทธิพลเมืองที่ใหญ่ที่สุดและจัดตั้งอย่างเป็นระบบที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเยาวชนผู้ปฏิเสธการเชิดชูคนผิวขาว

เยาวชนผู้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองยอมอ้าแขนรับสิ่งที่จอห์น เลวิส หนึ่งในประธาน SNCC เรียกว่า “ความลำบากที่ดีงาม” หรือการเรียกร้องซึ่งจัดวางเพื่อกระตุ้นเร้า ท้าทาย และก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่กริ่งเกรง

ขบวนการประท้วงสงครามเวียดนาม

นักศึกษาประท้วงสงครามเวียดนามหน้าสถานทูตอเมริกาในลอนดอน ภาพถ่าย Mirrorpix/Getty Images

เด็กหนุ่มกว่าสองล้านคนถูกเกณฑ์เข้ากองทัพสหรัฐฯ ระหว่างสงครามเวียดนาม ไม่น่าแปลกใจที่คนหนุ่มสาวเหล่านั้นจะเป็นกองหน้าในการประท้วงความขัดแย้งดังกล่าว  ขบวนการนักศึกษาซึ่งช่วยทำให้คนอเมริกันทั่วไปหันมาประท้วงสงครามในทศวรรษ 1960 ร่วมกับนักกิจกรรมรุ่นเยาว์นั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองและการต่อต้านของฝ่ายซ้ายในยุคสงครามเย็น

เด็กนักศึกษเดินขบวน เข้าร่วมกิจกรรม และต่อต้านสงคราม  การประท้วงต่างๆ จุดประกายและแบ่งคนอเมริกัน ซึ่งโต้แย้งกันว่านักศึกษาควรได้รับอนุญาตให้ประท้วงหรือหยุดประท้วง  ในการประท้วงเช่นที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเคนต์สเตต เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1970 นักศึกษาที่ปราศจากอาวุธถูกตำรวจสังหาร ถูกแก๊สน้ำตา และขัดขวาง  สมาชิกกลุ่มอย่างกลุ่มนักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนสำคัญในขบวนการต่อต้านสงครามกลายเป็นเป้าหมายของเอฟบีไอ

“เราคิดถูกเกี่ยวกับสงคราม” มิเชล เอส. แอนซารา ผู้นำกลุ่ม SDS ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดกล่าว “เราเข้าใจว่าพวกเรากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสในการถกเถียงกัน”  แอนซาราบอก “คุณจะไม่ได้ถกเถียงใดๆ ถ้าหากมัวแต่สุภาพ”

การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

กลุ่มนักศึกษาจีนขี่จักรยานรอบกรุงปักกิ่ง โบกธงและป้ายผ้า เพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ภาพถ่ายโดย Peter Turnley, Getty Images

“ผมอิจฉาเสรีภาพที่นักศึกษาของผมมีตอนนี้” โรวีนา เหอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่วิทยาลัยไมเคิลในเวอร์มอนต์ ผู้เขียนหนังสือ  Tiananmen Exiles: Voices of the Struggle for Democracy in China  เมื่อปี 1989 เขายังเป็นวัยรุ่นอยู่ในประเทศจีน “เมื่อผมอายุเท่าพวกเขา พวกเรานับล้านๆ คนเดินไปบนถนนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของผม เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาอเมริกันได้รับตั้งแต่แรกเกิดและไม่เห็นว่าสำคัญ”

ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้คนทั่วโลกได้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่แห่งนั้น แต่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศจีนเมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยและมีการเล่นพรรคเล่นพวก  นักกิจกรรมนับแสนๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เดินโบกธง ร้องเพลง และกล่าวปราศรัยไปตามท้องถนน

วันที่ 3 และ 4 มิถุนายน 1989 ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมต้องพบกับเหตุการณ์ที่พลิกผันเมื่อทหารเป็นพันๆ นายเข้าจู่โจมพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กราดยิงไปยังนักศึกษาที่ปราศจากอาวุธ และสลายการชุมนุมด้วยรถถังและปืนไรเฟิล  จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้จำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอน

จีนไม่เคยยอมรับว่ามีการสังหารหมู่ครั้งนั้นอย่างเป็นทางการเลย และยังคงเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการสนทนาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  สามทศวรรษหลังเหตุการณ์ดังกล่าว “เราก็ยังไม่อาจนำความยุติธรรมมาให้ชีวิตคนหนุ่มสาวนับร้อยๆ ที่ถูกทำลายด้วยปืนและรถถัง”  เหอและเพื่อนนักวิจัยขบวนการเคลื่อนไหวเทียนอันเหมินยังกลัวการตอบโต้จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

อาหรับสปริง

เด็กสาวคนหนึ่งร่ำไห้ที่จัตุรัสทาห์ริรหลังการประกาศว่าประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก จะลงจากตำแหน่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังการประท้วงทั่วไปในภูมิภาค นาน 18 วัน ภาพถ่าย คริส ฮอนโดรส

สำหรับบางคน ทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กมีภาพเหมารวมของคนหนุ่มสาวที่ติดมือถือและไม่สนใจใคร แต่ในช่วงอาหรับสปริงปี 2010 โซเชียลมีเดียช่วยคนหนึ่มสาวจัดตั้งการปฏิวัติแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเริ่มมาจากตูนิเซีย แล้วกระจายสู่อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ซีเรีย บาห์เรน และประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ

คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยด้วยความโกรธแค้นการคอร์รัปชันในหมู่ตำรวจ เศรษฐกิจตกต่ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และระบบที่กดขี่ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเช่นจัตุรัสทาห์ริรในไคโรเป็นพื้นที่การต่อสู้  การประท้วงต่างๆ เหล่านี้จุดประกายมาจากพ่อค้าเร่หนุ่มชาวตูนิเซียคนหนึ่งที่เผาตัวเองเมื่อตำรวจยึดรถเข็นของเขาไป

นักกิจกรรมหนุ่มสาวไม่ใช่เป็นเพียงคนที่เข้าร่วมการประท้วงต่างๆ เท่านั้น แต่ยังขยายสู่สงครามกลางเมืองซีเรีย และส่งผลให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ต้องลาออก

นักวิเคราะห์อย่าง เอ็ม โคลอ์ มัลเดริก จากมหาวิทยาลัยบอสตันเชื่อว่าอาหรับสปริง “จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีแรงผลักดันทางอุดมคติและจำนวนมหาชนของคนหนุ่มสาวที่โกรธเคือง”

 

สิทธิเรื่องน้ำของคนพื้นเมือง

สองนักกิจกรรมเพื่อสิทธิการใช้น้ำสองคนยืนอยู่หน้ากองเพลิงที่แผดเผาที่พักดั้งเดิมของชาวนาวาโฮ ที่แคนนอนบอล นอร์ทดาโกตา ผู้ประท้วงยึดเขตสงวนสแตนดิงร็อกนานนับเดือนเพื่อประท้วงการวางท่อน้ำมันดาโกตาแอคเซสไปป์ไลน์ และถูกบังคับให้สลายตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 บางกลุ่มจึงจุดไฟเผาบางส่วนของที่พัก ภาพถ่ายโดย สตีเฟน หยาง, Getty Images

“คนหนุ่มสาวอ่อนล้ากับการคิดว่าพวกเขาไม่มีอนาคต” มิเคลลา ไอออน เชลล์ โดมิงเกซ กล่าว “คุณเอาดินแดนของเราไป แล้วตอนนี้คุณยังมาเอาที่ดินเรา สร้างท่อส่งน้ำมัน และทำลายน้ำของเราอีก”  เธอพูดถึงท่อส่งน้ำมันที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง  ท่อดังกล่าวถูกออกแบบให้ส่งน้ำมันทั่วสหรัฐอเมริการ ซึ่งมันวางผ่านในที่ดินของชาวอเมริกันพื้นเมืองและใกล้แหล่งน้ำ  นักกิจกรรมอย่างเชลล์ โดมิงเกซ ต่อต้านท่อส่งน้ำมันดังกล่าวอย่างแข็งขัน

ดาโกตาแอคเซสไปป์ไลน์ (DAPL) เป็นหนึ่งในท่อส่งน้ำมันที่ถูกวางผ่านเขตสงวนอินเดียนสแตนดิงร็อก และการรับรองให้ก่อสร้างในปี 2016 ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความขุ่นเคืองลำพาให้ผู้ประท้วงนับพันคนมาตั้งแคมป์ จนกลายเป็นพื้นที่ประท้วงและการจับกุม   สภาเยาวชนชนเผ่านานาชาติ ซึ่งทำงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ จัดตั้ง และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้นำหนุ่มสาว ที่ต่อสู้ในนามของสิ่งแวดล้อม เติบโตขึ้นมาจากการประท้วงที่สแตนดิงร็อค  ปัจจุบันนี้ ไอออน เชลล์ โดมิงเกซ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ประสานงานให้กลุ่มดังกล่าว

“แต่ละคนในชุมชนของเราควรได้เข้าถึงน้ำและอากาศที่สะอาด” เธอกล่าว  การก่อสร้าง DAPL เดินหน้าไปทั้งที่มีการประท้วง แต่ IIYC และกลุ่มหนุ่มสาวอื่นๆ ยังเดินหน้าต่อสู้โครงการอื่นๆ เช่น คีย์สโตนไปป์ไลน์ ซึ่งคุกคามสิทธิการใช้น้ำของชนเผ่า  “เราเชื่อว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลก เราต่างหากที่เป็นของโลก” เธอกล่าว

เรื่อง เอริน เบลกมอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

ใครคือผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.