การแต่งงานระหว่างหญิงไทยและหญิงมอญกับชาวตะวันตกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นไปไม่ได้เนื่องจากกฎหมายพระไอยการหลวงห้ามบิดามารดายกบุตรสาวของตนให้ “เปนเมียฝารัง อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายูอันต่างสาสนา แลให้เข้ารีตถือหย่างมฤฉาทิฐินอกพระศาสนา ท่านว่ามันผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน” และให้ลงโทษหกประการ ซึ่งประการแรกก็คือ “ให้ฟันคอริบเรือน”
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ อธิบายไว้ในบทความ “สิทธิพลเมืองในการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมช่วงก่อน พ.ศ. 2475” ตีพิมพ์ใน วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2554 ว่า พลเมืองเพศหญิงไทยมอญถูกรัฐเข้ามาจัดการควบคุมร่างกายและความสัมพันธ์ส่วนตัว ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศด้วย (แต่ไม่ห้ามในผู้ชาย) โดยรัฐสยามเริ่มจำแนก “คนในและคนนอก” ด้วยการใช้ “ประเทศ” และ “ศาสนา” มาเป็นเส้นแบ่งแยกชาติพันธุ์ โดยชาติที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าวนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม และไม่ได้กำหนดชาวจีนและญี่ปุ่นเอาไว้เลย
ราว 50 ปีถัดมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กฎหมายการแต่งงานข้ามเชื้อชาติและศาสนาเข้มงวดขึ้น โดยรวมเอาฝ่ายชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงต่างชาติและศาสนาด้วย และยังคงโทษร้ายแรงถึงชีวิตเอาไว้ ในขณะเดียวกันการตั้งชุมชนของชาวต่างชาติต่างศาสนาก็แยกขาดจากราษฎรทั่วไปด้วย
จนหลังสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาที่รัฐไทยผ่อนคลายการควบคุมพลเมืองลงไป และเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็มีกฏหมายฉบับแรกของสยามที่ให้สิทธิพลงเมืองแต่งงานข้ามวัฒนธรรมได้ แต่ยังจำกัดให้มีข้อบังคับในหมู่เจ้านายและราชวงศ์
ห้าร้อยปีให้หลังจากการตรากฎหมายพระไอยการอาญาหลวง สังคมไทยเปิดกว้างกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนามากกว่ายุคโบราณอย่างเทียบกันไม่ได้ เมื่อพ้นไปจากการควบคุมความสัมพันธ์ของรัฐ การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและศาสนา และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลจึงเป็นประเด็นสิ่งที่สองฝ่ายต้องเผชิญและเรียนรู้เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ข้ามพรมแดนเอาไว้
อ่านเพิ่มเติม