เมื่อรักไร้พรมแดน

เมื่อรักไร้พรมแดน

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อห้าร้อยปีก่อน การใช้ชีวิตคู่ของคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมเหล่านี้ มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ การแต่งงานของหญิงไทยและหญิงมอญกับชาวตะวันตกเป็นไปไม่ได้เนื่องจากกฎหมายพระไอยการหลวงห้ามบิดามารดายกบุตรสาวของตนให้เป็นเมียฝรั่งหรือเข้ารีดนอกศาสนา มิฉะนั้นจะถูก “ฟันคอริบเรือน”

ห้าร้อยปีให้หลังจากการตรากฎหมายพระไอยการอาญาหลวง สังคมไทยเปิดกว้างกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนามากกว่ายุคโบราณอย่างเทียบกันไม่ได้  เมื่อพ้นไปจากการควบคุมความสัมพันธ์ของรัฐ การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและศาสนา และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลจึงเป็นประเด็นสิ่งที่สองฝ่ายต้องเผชิญและเรียนรู้เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ข้ามพรมแดนเอาไว้

 

ทลายปราการสองวัฒนธรรมอันเคร่งครัด

ภัทรพรรณ์ และศรีจาล รานา (ภาพบน)

“ครอบครัวเราเป็นคนจีนที่ค่อนข้างเคร่งครัด การแต่งงานกับลูกคนจีนก็เหมือนกับแต่งกับครอบครัวต้องมีการพบปะกินข้าวกับญาติพี่น้องในหลายโอกาส ซึ่งแรกๆ ก็สร้างความลำบากใจให้เขาอยู่พอสมควร” เป็นคำบอกเล่าของแพน หรือภัทรพรรณ์ เมื่อเราถามถึงอุปสรรคที่ทั้งคู่ต้องฟันฝ่ากว่าจะครองรักกันมายาวนานกว่าสิบปี ขณะที่รานา หรือ “ครูรานา” ที่แพนเรียกสามีซึ่งพบกันครั้งแรกในคลาสเรียนโยคะที่เขาสอนในฟิตเนสแห่งหนึ่งย่านอโศก มีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวเนปาลที่ยังยึดถือระบบวรรณะ

“ครอบครัวเรามาจากวรรณะสูง และที่ผ่านมาคนในครอบครัวก็ไม่เคยแต่งงานกับคนต่างชาติซึ่งถือเป็นคนนอกวรรณะ” แม้จะฟังดูเป็นอุปสรรคที่ยากจะข้าม แต่ก็คงเป็นอย่างที่หลายคนพูดว่า ความรักชนะทุกสิ่ง วันนี้ทั้งแพนและรานาไม่เพียงสมรสเป็นคู่สามีภรรยาที่น่ารัก แต่ยังสามารถเอาชนะหัวใจของคนในครอบครัวทั้งสองฝั่ง และบางทีสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นอุปสรรคของคู่รักต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างภาษา (ทั้งคู่ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่) แพนและรานากลับมองว่า “ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นอุปสรรค เช่น การสื่อสารกับคนในครอบครัวแพน แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ภาษากลับกลายเป็น ‘ตัวช่วย’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเราราบรื่น เพราะการจะทะเลาะกันลึกๆ ด้วยภาษาอังกฤษ [ซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของทั้งคู่] ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนทะเลาะกันด้วยภาษาของตัวเอง” แพนเล่าติดตลกพลางหันไปแซวอีกฝ่ายว่า “จริงไหมคะครู”

 

เมื่อความแตกต่างกลายเป็นเคมีที่ลงตัว

เบรนต์ ดี. สมิท และ อำนาจ รูจีพันธ์

เบรนต์ ดี. สมิท จากสหรัฐอเมริกา และ อำนาจ รูจีพันธ์ หนุ่มไทย

“เราเจอกันครั้งแรกที่สวนลุมฯครับ ตอนนั้นผมกำลังปั่นจักรยาน ส่วนเขากำลังจ๊อกกิ่ง” เบรนต์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเก้าปีก่อนตอนที่เขาพบกับนาจ – อำนาจ รูจีพันธ์ ตอนนั้นเบรนต์อยู่ในวัย 40 ส่วนนาจอายุ  29 เช่นเดียวกับคู่ชายรักชายจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่มีชีวิตค่อนข้างอิสระจากครอบครัว เบรนต์ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเมืองไทยส่วนครอบครัวอยู่ในสหรัฐฯ นาจเองสูญเสียทั้งพ่อและแม่ “เรื่องการยอมรับของครอบครัวเลยไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเราทั้งคู่ครับ”

ขณะที่คู่รักชายรักชายในไทยจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตคู่แบบเงียบๆ แต่ทำไมวันหนึ่งเพื่อนฝูงจึงได้รับทราบข่าวว่า ทั้งคู่จะแต่งงานกัน “วันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน เพื่อนถามผมว่า พักอยู่กับใคร ผมฟังแล้วเก็บมาคิดว่า ความสัมพันธ์ของเราดูเหมือนไม่ซีเรียส จะแยกทางกันเมื่อไหร่ก็ได้” นาจเล่า “เราไปจดทะเบียนสมรสกันแบบง่ายๆ ที่เมืองเล็กๆ ในชิคาโกบ้านเกิดผม” เบรนต์เล่า ก่อนจะกลับมาจัดงานเลี้ยงในเมืองไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

“น่าแปลกครับที่หลังแต่งงานเรารู้สึกรักกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น สงสัยจะเป็นมนตร์วิเศษของการแต่งงานกระมังครับ” นาจพูดถึงความรู้สึกหลังแต่งงาน เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนยืนยาวมาเกือบสิบปีนอกจาก ความรัก “ผมเคยมีความสัมพันธ์ครั้งๆก่อน แต่ไม่เคยยืนยาว เพราะผมมองหาอีกคนที่เหมือนตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมกลับได้คิดว่า คนอีกคนที่จะเติมเต็มส่วนที่เหลือของเราอาจไม่มีอยู่จริง ถ้าผมต้องการหลุดพ้นไปจากวงจรนี้ ผมต้องเลิกคิดเข้าข้างตัวเองครับ” เบรนต์พบเคมีที่ลงตัวนั้นแล้วในนาจ ผู้ชายที่เขาบอกว่า สงบ ใจดี ยิ้มแย้ม และผ่อนคลาย “ต่างจากผมครับที่เป็นคนใจร้อน ฉุนเฉียวง่าย”

 

ลิ้นกับฟันต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป

บาทหลวงดาเนียล ดนัย และ เอเลนา วรรณะ  

บาทหลวงดาเนียล ดนัย นักบวชในศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์และ เอเลนา วรรณะ อดีตนักร้องประสานเสียง

   

บาทหลวงดาเนียล ดนัย วรรณะ เป็นนักบวชในศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์แห่งสังฆมณฑลมอสโคว์  เริ่มประจำอยู่ที่คริสตจักรออร์โธดอกซ์แห่งเหล่านักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ พัทยา ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ทำหน้าที่ประกอบศาสนกิจแก่คริสตชน เช่น พิธีศีลล้างบาป พิธีศพ พิธีศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ เป็นต้น  เขาได้พบกับเอเลนา นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ออร์โธดอกซ์ ระหว่างการเรียนในวิทยาลัยเทวศาสตร์ปีสุดท้ายที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ10 ปีก่อน และได้เข้าพิธีสมรสกับเธอก่อนบวชเป็นบาทหลวง

“ก่อนจะบวชเป็นบาทหลวงต้องเลือกว่าจะสมรสก่อน หรือบวชเป็นนักพรตก่อน  การสมรสต้องสมรสกับหญิงที่ไม่เคยมีสามี เป็นพรหมจรรย์มาก่อน” บาทหลวงดนัยเล่า “ก่อนสมรสเราต้องตัดสินใจก่อนแล้วว่าจะมาทางนี้  เรารู้หลักปฏิบัติว่าเมื่อสมรสแล้วและเป็นบาทหลวงแล้วจะเลิกกันไม่ได้  ตอนเราแต่งงานกัน ต้องให้สัญญากับพระเจ้าว่าหญิงกับชายต้องผูกมัดกันเป็นหนึ่งเดียวตามหลักพระคัมภีร์ของเรา พอมีบุตรก็ต้องสั่งสอนบุตรให้เป็นคริสตชนออร์โธดอกซ์ที่ดี  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผมเป็นบาทหลวง ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คริสตชนที่มาที่โบสถ์ด้วย”

ทั้งคู่รู้จักกันผ่านเพื่อนของพระคุณท่านบาทหลวงโอเล็กซ์ เชเรพานิน ซึ่งเป็นผู้แทนถาวรของสังฆมณฑลมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ประจำประเทศไทย  เอเลนาเติบโตในครอบครัวออร์โธดอกซ์ ในขณะที่บาทหลวงดนัยซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าวตั้งแต่อายุ 20 ปี ก็รักและชอบวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของออร์โธดอกซ์  เมื่อย้ายจากเมืองเยโรสลาฟล์มาไทย เอเลนาต้องปรับตัวเรื่องอาหารการกินและอากาศที่แตกต่างจากบ้านเกิดเมืองนอนมาก

บาทหลวงดนัยกล่าวถึงหลักการใช้ชีวิตคู่ว่า “ลิ้นกับฟันเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป  หากกระทบกระทั่งกันก็ต้องนึกถึงตอนที่เจอกันครั้งแรก รักกัน ช่วยเหลือกัน เอาใจใส่กันในยามเจ็บป่วย”

 

คิดแบบไทย 50% คิดแบบญี่ปุ่น 50%

สุรชาติ, โชโกะ และฌานาดา ฮาบพนม

สุรชาติ หนุ่มไทยจากสกลนครและโชโกะ สาวญี่ปุ่น พร้อมด้วยฌานาดา ฮาบพนม ลูกสาวของทั้งคู่

ฝ่ายชายเป็นคนสกลนครที่ย้ายตามมารดามาทำงานก่อสร้างที่ภูเก็ตตั้งแต่ยังเล็ก ผ่านการงานอาชีพมาหลายอย่างตั้งแต่อยู่ร้านวิดีโอ เป็นช่างทาสี เป็นนักเต้นประกวดในเธคและผับ บีชบอย และแบ็คอัพแดนเซอร์  เขาได้พบกับโชโกะ นักท่องเที่ยวสาวญี่ปุ่นจากฟุกุโอกะที่มาเรียนภาษาอังกฤษที่ภูเก็ตเพราะราคาถูกโดยตั้งใจจะไปออสเตรเลียต่อ  ในขณะที่เขากำลังหัดเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่พอดี  ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น คนญี่ปุ่นนิยมมาเที่ยวภูเก็ตมากกว่าทุกวันนี้  เมื่อพบกัน สุรชาติจึงชวนโชโกะคุยและกลายเป็นไกด์พาเธอเที่ยว

“คบมาเข้าปีที่ 9 แล้ว” สุรชาติย้อนคิดและบอกว่ายังไม่ได้จัดงานแต่งงานเพราะคุณแม่ของโชโกะนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลมานาน 7 ปี  “แค่ไปจดทะเบียนกันที่กรุงเทพฯ กัน” ทั้งสุรชาติและโชโกยอมรับว่าปีแรกๆ ของชีวิตคู่ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารและวัฒนธรรมไทยอีสานกับญี่ปุ่น “ต้องจูนเขาหากันเยอะครับ เขาไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ผมเป็นคนอีสานนับถือผีบ้าน ปู่ย่าตายาย บ้านมีหิ้งพระ เขาก็ถามว่าทำไมต้องไหว้ด้วย  ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ เขาก็ตกใจว่าทำไม [คน] เยอะอย่างนี้ คุยกันยาวติดลม แต่ของเขาคุยกันไม่นาน แม้แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันมา 10-20 ปีก็ยังไม่เคยคุยกันเลย”  โชโกะบอกว่าเมื่อสุรชาติไปเยี่ยมบ้านญาติที่สกลนคร “ไปตั้งแต่เก้าโมงเช้า กลับหกโมงเย็น”  ในขณะที่สุรชาติก็ “ช็อกหลายอย่าง” ความบ้านเมืองญี่ปุ่นมีกฎระเบียบ “เสียงดังไม่ได้ ทำบาร์บีคิวข้างนอกไม่ได้ เขาจะให้เกียรติและเกรงใจคนอื่น”

“เขาสงสัยว่าทำไมคนไทยต้องขอเงินพ่อแม่ ทำไมพ่อแม่ต้องให้ลูก ทำไมไม่ให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง แต่คนญี่ปุ่นช่วยเหลือตัวเอง ตัวใครตัวมัน  คนญี่ปุ่นมีสัจจะวาจา ถือคำมั่นสัญญาและศักดิ์ศรีเป็นอันดับต้นๆ แต่คนไทยอะลุ้มอล่วย เรื่องแค่นี้ไม่เป็นไร  สำหรับเขา ถ้าเราสัญญาแล้วทำไม่ได้ ทำไมต้องสัญญา”

แต่ความแตกต่างนั้นบรรเทาเบาบางลงเมื่อสุรชาติพยายาม “เอานิสัยคนไทยกับคนญี่ปุ่นมาผสมกัน ทำอะไรไปก็ง้อเขาก่อน ประนีประนอม” ในขณะที่โชโกะใช้หลัก “โชกาไน” คือ “ช่วยไม่ได้” หรือ “ไม่เป็นไร” ในแบบไทยนั่นเอง

 

การสื่อสารและการเคารพกันเป็นกุญแจ

กริสรินทร์ จูงศิริวัฒน์ และเจมส์ มอนโร อดัมส์

กริสรินทร์ จูงศิริวัฒน์ และเจมส์ มอนโร อดัมส์ จากสหรัฐอเมริกา

เจมส์กับกริสรินทร์ หรือ “ยุ้ย” พบกันครั้งแรกในเหตุการณ์ปะทะกันของฝ่าย กปปส. และ นปช ที่หลักสี่ ปี 2557 ในขณะที่เจมส์ทำงานเป็นช่างภาพ และยุ้ยเป็นฟิกเซอร์ (ผู้ช่วยประสานงานท้องถิ่น) เติบโตและเล่าเรียนที่อังกฤษ  ก่อนได้พบกันต่างฝ่ายต่างเคยตั้งกฎเฉพาะตัวไว้ว่าจะไม่เดตกับ “สาวไทย” และ “หนุ่มอเมริกัน”

“เท่าที่เจอก่อนหน้าเจมส์ ผู้ชายอเมริกันออกจะน่าเบื่อ  เจมส์มาจากแคลิฟอร์เนีย เขาเป็นคนดีมาก โรแมนติก ส่วนฉันไม่เลยค่ะ แต่ตอนที่เจอกัน ฉันเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย” ยุ้ยเล่า  เจมส์เสริมว่าเขาไม่คิดเดตกับผู้หญิงไทยเพราะ “ผมมีภาพประทับใจผิดๆ เกี่ยวกับผู้หญิงไทย จนมาพบยุ้ยและคบกันนานจนรู้ว่าไม่ควรเหมาว่าทุกคนเป็นเหมือนกัน” เมื่อเดตกับเจมส์ คนทั่วไปมักคิดว่ายุ้ยเป็นคนญี่ปุ่น “เพราะสาวไทยไม่เดตกับคนแอฟริกันอเมริกัน”

สำหรับทั้งคู่ “คัลเจอร์ช็อค” หรือความตระหนกทางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะฝ่ายหญิงได้รับการศึกษาในสังคมตะวันตก ส่วนฝ่ายชายก็มีเพื่อนเป็นคนไทยและจีนในอเมริกา และการไปร้านอาหารจีนเป็นเรื่องธรรมดา  “ดิฉันมาจากครอบครัวชาวจีน  คุณย่าของดิฉันประหลาดเรื่องใจมากทักษะการใช้ตะเกียบของเจมส์  เขาไปวัดและบูชาพระราหูด้วยค่ะ”

ยุ้ยเชื่อว่าเมื่อใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายก็เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอยู่ดี  เธอคือว่ากุญแจของความสัมพันธ์คือการสื่อสาร “การแต่งงานก็เหมือนความสัมพันธ์แบบอื่นๆ  ถ้าหากไม่เปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง เราจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างไร  ถ้าหากไม่สามารถสื่อสารถึงความรู้สึกได้ พอปล่อยให้ผ่านไปนานๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่”  ฉันพบว่าคนจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร”  ส่วนเจมส์บอกว่าสำหรับเขา การเคารพซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ

เรื่อง โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ, นิรมล มูนจินดา

ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา

 

อ่านเพิ่มเติม

Gen Love – รักเข้มข้น

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.