การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมแบบดิจิทัลทั่วโลกกำลังนำพาประเทศไทยเข้าสู่ความท้าทายใหม่ ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติของการศึกษา
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้รับช่วงทางเทคโนโลยี (Technology Adopter) มาโดยตลอดจะผลักตัวเองให้ก้าวทันความผันผวนนี้ได้หรือไม่ ระบบการศึกษาของเราจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ในการสร้างบุคลากรที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคตได้โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Ecole 42 Bangkok คือโรงเรียนทางเลือกสายไอทีแห่งแรกในประเทศไทย ที่จะสอนให้คุณรู้จักโลกกว้างสายงานดิจิทัลโดยไม่มีครู ผ่านการเรียนรู้แบบ Gamification ใช้เทคนิคเกม มาเป็นตัวช่วย เหมือนเล่นเกมออนไลน์ที่ผู้เรียนได้อัพสกิลไปเรื่อย ๆ การเรียนแบบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการกดสูตรลัดในสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในเวลาจำกัด
เพื่อทำความเข้าใจที่มา แนวคิด ภารกิจของที่นี่จึงมุ่งเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมและขยายขอบเขตความรู้สายไอทีของเยาวชนไทย เพราะที่นี่เปิดให้เรียนฟรี ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน มีอุปกรณ์ไว้บริการผู้เรียนครบครัน และไม่จำกัดว่าจะเรียนจบสายวิทย์ สายศิลป์ ศึกษาอยู่ในระบบ หรืออยู่นอกระบบ ขอเพียงอายุเกิน 18 ปี ก็สามารถสมัครเรียนได้
National Geographic Thailand ชวนคุณสนทนากับ ผศ.ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน Executive Director และ ผศ. อัครเดช วัชระภูพงษ์ Director of Information Technology ของ Ecole 42 Bangkok ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Ecole 42 ประเทศฝรั่งเศส และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาจารย์อัครเดชได้วาดแผนผังระบบนิเวศของอุตสาหกรรมให้เราเห็นภาพอย่างน่าสนใจ ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่แล้ว อาชีพสายไอทีอย่าง Developer หรือ Programmer ยังเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เพราะผู้คนในสังคมยังไม่ได้สัมผัสกับผลงานของพวกเขาโดยตรง
แต่วันนี้ คุณป้าข้างบ้านเริ่มคุ้นเคยกับการเช็คข่าวสารผ่านแชท แอปพลิเคชัน หรือการช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านเว็บอีคอมเมิร์ซแล้ว หลักฐานของการเคลื่อนที่เข้าสู่สังคมดิจิทัลที่ชัดเจนที่สุดคือตัวเราเอง
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทำงานสายดิจิทัลจะเป็นที่ต้องการตัวทั้งจากบริษัทในไทยและต่างประเทศ
แม้เราจะคุ้นชินกันแค่คำว่า Developer หรือ Programmer แต่ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ยังเต็มไปด้วยกองภูเขาของบุคลากรจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้เตรียมข้อมูล ผู้ทดสอบ (Tester) ผู้ตรวจสอบคุณภาพ (Quality Check) ที่ทำงานสอดประสานกัน เพื่อถ่ายทอดความต้องการของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์
จึงกล่าวได้ว่า สายอาชีพนี้เปรียบเสมือนพระพรหม-ผู้สร้าง ในขณะเดียวกันก็เป็นพระศิวะ-ผู้ทำลายเช่นกัน เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบเปลี่ยนไป ก็ต้องชะล้างของเก่าและสร้างของใหม่ขึ้นมาแทนที่
ทุกวันนี้อาชีพสายไอทีเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสูงเป็นอันดับต้น ๆ และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็เลือกประเทศไทยเป็นที่ลงหลักปักฐานในการทำงานสายนี้ มากกว่าการไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพสูงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ โดยอ.อัครเดชมองว่าเป็นเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากค่าแรงของไทยยังไม่สูงเท่าประเทศเหล่านั้น แต่บุคลากรของเรามีศักยภาพไม่แพ้กัน จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า รวมถึงยังเป็นโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้เติบโตโดยมีตลาดแรงงานรองรับ
อย่างไรก็ตามทีมอาจารย์ยังมองว่าโปรแกรมเมอร์ไทยยังมีจุดอ่อนที่เราต้องก้าวข้ามผ่านให้ได้
หนึ่ง คือความสามารถด้านภาษาที่ทำให้เรายังติดขัดเรื่องการสื่อสารกับผู้ว่าจ้าง
สอง คือการติดอยู่ในกรอบของการศึกษาแบบเดิม ที่ต้องเรียนให้จบปริญญาตรี-โท จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ระยะเวลาที่ยาวนานที่เราใช้ไปในระบบการศึกษานั้น นอกจากจะไม่ได้การันตีคุณภาพแล้ว ยังหมายถึงความล่าช้าในการผลิตบุคลากร
และนำไปสู่ปัญหาที่สาม คือ เราไม่สามารถผลิตโปรแกรมเมอร์ได้เพียงพอและไม่ทันใช้งาน นั่นเอง
อาจารย์ชัยยันต์ อธิบายถึงต้นแบบของโรงเรียนทางเลือกสายไอทีนี้ที่เกิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและการสร้างคนไม่ทันใช้ไม่ต่างจากประเทศไทย
จึงเกิดเป็นไอเดียย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ของโปรแกรมเมอร์จาก 5 ปี เหลือแค่ 1-2 ปี และกลายเป็นโรงเรียนทางเลือกสายอาชีพดิจิทัลแห่งแรกขึ้นที่ปารีสเมื่อปี 2013
Ecole 42 ต้นตำรับประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ จนปัจจุบันมีสาขาอยู่ใน 22 ประเทศทั่วโลก รวมถึง 3 ประเทศในเอเชีย โดยเริ่มจากญี่ปุ่นเป็นที่แรก ตามด้วยเกาหลี และไทยเป็นประเทศที่ 3
สูตรความสำเร็จของ Ecole 42 ประกอบด้วยหลักการใหญ่ ๆ 3 ข้อ
ข้อแรก คือการเป็นโรงเรียนที่เปิดให้เรียนฟรี ฟรีทั้งในความหมายเชิงเศรษฐกิจ คือไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน โดยทางโรงเรียนเปิดพื้นที่ และมีอุปกรณ์ คือเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้บริการ ผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนเวลาไหนก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนั้น ฟรีในอีกความหมายคือการไม่จำกัดพื้นฐานความรู้ของผู้เรียน ไม่ว่าจะเรียนจบสายวิทย์ สายศิลป์ ศึกษาอยู่ในระบบ หรืออยู่นอกระบบ ขอเพียงอายุเกิน 18 ปี ก็สามารถสมัครเรียน ทำการทดสอบออนไลน์ และเข้ามาเป็นผู้เรียนในสังกัดได้ทั้งสิ้น
นั่นนำไปสู่อิสระในอีกมิติ คือความเท่าเทียมทางการศึกษา เพราะไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ขอเพียงมีความสามารถและตั้งใจ ก็สามารถเรียนรู้ทักษะที่จะนำไปประกอบอาชีพและสร้างเนื้อสร้างตัวได้โดยถ้วนหน้า
ข้อที่สอง น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการเรียนรู้ที่หลุดจากกรอบของครู-ศิษย์ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับการศึกษาในระบบ อาจารย์ชัยยันต์อธิบายว่า ที่ Ecole 42 ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากโจทย์งาน (Assignment) ที่ได้รับผ่านระบบ ศึกษากระบวนการทำงานจากเนื้อหาที่เตรียมไว้ให้ในรูปแบบวีดีโอ และหากยังไม่เข้าใจก็สามารถถามเพื่อนร่วมชั้นได้แทนที่จะถามอาจารย์ (Peer-to-Peer Learning) เพราะการถามอาจารย์อาจจะได้เพียงคำตอบเดียว แต่การถามเพื่อนนั้นอาจจะได้คำตอบที่หลากหลายมากกว่า นำไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ
นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถข้ามไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เพื่อเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นต่างภาษา-วัฒนธรรม ที่ Ecole 42 ในประเทศใดก็ได้ทั่วโลก เพียงใช้บัตรนักศึกษาใบเดียวก็เข้าถึงระบบการเรียนได้ครบถ้วน
ไม่เพียงเท่านั้น การเรียนรู้ยังไม่ได้จบแค่ในหลักสูตร แต่ Ecole 42 ที่ต้องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในเวลาจำกัด ยังมีแนวคิดการนำผู้ว่าจ้างเข้ามาร่วมให้ความรู้ ซึ่งนับว่าตรงประเด็นมาก ใครจะบอกว่าผู้เรียนพร้อมจะออกไปทำงานหรือไม่ได้ดีไปกว่าผู้ว่าจ้างเอง แต่แน่นอนว่าผู้ว่าจ้างไม่ได้เข้ามาตั้งแต่วันแรก ผู้เรียนจะต้องผ่านการเรียนใน ระดับ (Level) ที่กำหนดให้ได้ จึงจะได้เจอกับด่านถัดไป
เหมือนกับเล่นเกมออนไลน์ที่ได้เพิ่มสกิลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ทักษะในการทำอาชีพที่ต้องการ ซึ่งหลักการ Gamified Curriculum นี้อาจถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการกดสูตรลัด เพราะผู้เรียนจะรู้สึกว่าได้รับความท้าทายที่เหมาะสมและจำเป็น ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ อีกทั้งระบบจะมีการแสดงผลให้เห็นถึงทักษะต่าง ๆ ที่ผู้เรียนได้ไปแล้วในรูปแบบของกราฟแมงมุม (Spider Web chart) ที่นำไปใช้สื่อสารกับผู้ว่าจ้างได้ในอนาคตอีกด้วย
แนวคิดของ Ecole 42 นั้นน่าสนใจแน่นอน และน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ได้ดีไม่น้อย
หลังจากมีการลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่าง Ecole 42 ประเทศฝรั่งเศส และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปลายปี 2019 ตระเตรียมพื้นที่และบุคลากรที่จะให้บริการ Ecole 42 Bangkok มาตลอดปี 2020 จนได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เรียนจำนวนมากให้ความสนใจทั้งโทรศัพท์มาสอบถามและสมัครทำการทดสอบออนไลน์ไปแล้วมากกว่า 6,000 คน
ผู้ให้ความสนใจมีทั้งที่เป็นนักเรียนที่กำลังจะเรียนจบมัธยมปลาย แต่ต้องการหาทางเลือกอื่นในการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอื่น แต่รู้สึกว่าคณะปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ คนทำงานที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพหลังจากที่ทำงานมาระยะหนึ่ง ไปจนถึงกลุ่มวัยใกล้เกษียณอายุที่ต้องการทักษะใหม่ เพิ่มทางเลือกให้กับตัวเอง
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า แพลตฟอร์ม Ecole 42 น่าจะเป็นทั้งทางเลือกและทางออกให้กับผู้คนในสังคมได้ไม่มากก็น้อย
ก่อนจะเปิดให้เรียน Batch แรกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งรับผู้เรียนทั้งหมด 150 คน เราคงยังไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้เรียนชาวไทยจะตอบรับรูปแบบการเรียนรู้ที่ต้องพึ่งพาตนเองมากขนาดนี้ได้ดีแค่ไหน หรือแม้แต่วัฒนธรรมการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นนี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด
แต่ทั้งอาจารย์ชัยยันต์และอาจารย์อัครเดชมองเห็นตรงกันว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้และต้องมีการปรับแต่งอยู่ตลอดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คือการสร้างบุคลากรสายดิจิทัลออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างหยุดไม่อยู่ในทุกวันนี้ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ว่าสถาบันการศึกษาในไทยมีความตั้งใจที่จะสร้างบุคลากรออกมาอย่างต่อเนื่อง
และแม้ว่าการเรียนรู้จากโรงเรียนทางเลือกนี้จะไม่มีปริญญาให้เมื่อจบคอร์ส ที่อาจจะตรงข้ามกับความคุ้นชินและความเชื่อของสังคมไทย แต่นั่นก็ทำให้ Ecole 42 Bangkok มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือการทำความเข้าใจกับกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมในไทยเพื่อให้ปลดล็อคเงื่อนไขการจ้างงาน และจ่ายค่าจ้างตามความสามารถแทน น่าโล่งใจที่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมไทยเองก็กำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางนั้น เช่นเดียวกันกับตลาดโลก
เรื่อง เกวลิน ศักดิ์สยามกุล
หากคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาทางเลือกหรือสายอาชีพใหม่ให้กับชีวิต เข้าไปทดลองทำแบบทดสอบได้ 42 Bangkok นี่อาจเป็นการเปิดประตูสู่ชีวิตใหม่ สู่โลกที่การศึกษาเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดสำหรับคุณก็ได้
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : สำรวจสกุลเงินดิจิทัลและการขุดบิทคอยน์ แหล่งถลุงพลังงานมหาศาลของโลก