BASCII CHULA สร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ จากโจทย์ของทักษะแห่งอนาคต

BASCII CHULA แก่นของมหาวิทยาลัยในยุคเปลี่ยนผ่าน กับการสร้างหลักสูตรที่สนับสนุนความฝันของผู้เรียน ให้เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ โดยมองเป้าหมายของปลายทางในอนาคตเป็นตัวตั้ง

ทักษะในศตวรรษที่ 21 ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกของการทำงานยุคปัจจุบัน นี่จึงเป็นโจทย์ของสถาบันการศึกษายุคใหม่ที่จะต้องกล้าปรับตัวและปรับหลักสูตรให้เดินหน้าไปพร้อมกับความต้องการของตลาดแรงงานและตลาดโลก

“เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เกิดคำถามใหญ่ในจุฬาฯ หลังจากครบรอบ 100 ปีว่า แล้วการศึกษาในศตวรรษที่ 2 ของจุฬาฯ จะหน้าตาเป็นอย่างไร?” รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นให้เราฟังด้วยคำถามที่ไม่ได้ตอบเพียงข้อสงสัยของจุฬาฯ เอง แต่ยังตอบคำถามในแวดวงการศึกษาระดับสากล

 

Passion for Future Education การศึกษาแห่งอนาคต

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ถ้าเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้จากศูนย์ หน้าตาของมหาวิทยาลัยควรต้องเป็นอย่างไร?” จากข้อสงสัยนำมาสู่การค้นหาแก่นแท้ และคุณค่าของการศึกษายุคใหม่ ยุคที่บริบทรอบด้านของสังคมเปลี่ยนจากเดิมแบบพลิกหน้ามือ

“เราเริ่มต้นจากการมองฉากทัศน์ของการศึกษาระดับสูง จากเดิมที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการด้านระบบการศึกษา ปัจจุบันผู้ประกอบการผันตัวมาทำงานด้านเทคโนโลยีการศึกษากันมากมาย แต่สิ่งที่บริษัท EdTech เหล่านี้ทำได้เป็นเพียงแค่การสนับสนุนด้านการศึกษา งานในส่วนของเนื้อหาความรู้ใหม่เชิงลึกหรืองานวิจัยที่มีความหมาย และประสบการณ์เรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบัณฑิตให้ประสบความสำเร็จทั้งต่อตนเองและสังคมยังคงเป็นคุณค่าหลักของมหาวิทยาลัยอยู่ดี เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องเก่งในการสร้างความรู้ใหม่ และความรู้ใหม่นั้นต้องเป็นความรู้ที่นำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง”

จากการวิเคราะห์โดยทีมคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ตกผลึกออกมาเป็นคำตอบที่ว่า การศึกษาแห่งอนาคตควรมี 4 องค์ประกอบ 1) Global สากล 2) Integrated บูรณาการข้ามศาสตร์และบูรณาการธุรกิจวิจัยนวัตกรรมกับการศึกษา 3) Relevant ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม 4) Life-long learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดังนั้นพันธกิจของมหาวิทยาลัยยุคใหม่ เพิ่มการสร้างประโยชน์สูงต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม เพราะธุรกิจจะเป็นตัวสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจและสังคม ด้วยองค์ความรู้ใหม่และงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสร้างขึ้น ซึ่งองค์ความรู้จะเกิดเป็นรายได้ขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีนวัตกรรม และนวัตกรรมย่อมต้องถูกขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก ประเทศ และสังคม ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นโจทย์ของโลกใบนี้ก็ว่าได้

“ความต้องการของนิสิตสมัยนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว นิสิตต้องการการเรียนรู้รายบุคคล นี่จึงเป็นที่มาที่ว่า ทำไม BAScii จึงให้นิสิตเลือกเรียนเฉพาะทางในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ พร้อมกันกับมอบประสบการณ์การทำงานจริงที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในชีวิตจริง ภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบนานาชาติ เพื่อให้สามารถคิดใหม่และคิดใหญ่ได้ระดับโลก”

บทสรุปจึงออกมาเป็น สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn School of Integrated Innovation ที่ว่าด้วยการเตรียมนิสิตเพื่อจุดประสงค์ให้เป็น นวัตกร ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม และนักพัฒนาสังคม  โดยเตรียมความพร้อมให้ออกไปเผชิญโลกจริงตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเปิดสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต ด้านนวัตกรรมบูรณาการ (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation)

“หลักสูตรของ BAScii จึงเกิดขึ้นโดยจุดเริ่มต้นไม่ได้เอาวิชาเรียนมาเป็นตัวตั้ง แต่เราใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้ง ว่าเราต้องการสร้างผู้นำระดับโลก แล้วคนเหล่านั้นต้องมีคุณลักษณะอย่างไร? ก็เหมือนกับที่เราเปรียบเทียบเป็นต้นไม้แห่งปัญญา ที่มีรากฐานในเรื่องความเป็นคนดีและทักษะในศตวรรษที่ 21 เสริมความลึกในเรื่องเทคโนโลยีกับธุรกิจ และความกว้าง คือรู้รอบในโครงการที่ตัวเองริเริ่มเลือกทำ ผ่านการเรียนแบบ Project-Based Learning หรือการเรียนโดยใช้โครงการเป็นตัวนำ”

 

Startup Sandbox กระบะทรายในชีวิตการศึกษา

ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เพราะสถาบันเราเป็นหน่วยงานระดับคณะที่จุฬาจัดตั้งใหม่ กำหนดให้มีพันธกิจหลักคือ การพัฒนารูปแบบการศึกษาสำหรับโลกแห่งอนาคต โดยสถาบันดำเนินการภายใต้โมเดลกระบะทราย (Sandbox) การเรียนการสอนจะมุ่งเน้นเป้าหมายที่มีนิสิตเป็นศูนย์กลาง ให้มีอิสระในการแสวงหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมในฝัน โดยบูรณาการจากความรู้ในศาสตร์ต่างๆ สามารถลองผิดลองถูกเพื่อที่จะได้ประสบการณ์จากการล้มลุกคลุกคลานในขณะเรียน เปรียบเสมือนการสร้างปราสาท ถ้าปราสาททรายออกมาไม่ได้ดั่งใจ ก็สามารถล้มทิ้งแล้วสร้างใหม่ได้” ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้เราฟังแบบเห็นภาพง่ายๆ

“ระบบการอุดมศึกษาในปัจจุบัน ถูกออกแบบมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19  ที่เน้นให้นิสิตเรียนลึกในศาสตร์เดียว หรือเรียกว่า ‘ระบบไซโล’ บัณฑิตแต่ละคณะจึงสนใจเฉพาะศาสตร์ของตัวเอง โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ทั้งที่ในโลกจริง ปัญหาต่างๆล้วนเกี่ยวเนื่องกันหลายศาสตร์ กล่าวคือเป็นสหวิชาการทั้งสิ้น ยิ่งปัจจุบัน มีแนวโน้มว่า ความรู้ต่างๆสามารถค้นหาได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว และความรู้ส่วนใหญ่ได้ถูกพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้สะดวกและรวดเร็วกว่า ดังนั้นในช่วงวัยเรียนนั้น น่าจะเป็นโอกาสที่จะปูความรู้พื้นฐานให้แน่น บ่มเพาะทักษะที่สำคัญในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และฝึกฝนการใช้ชีวิตเป็นพลเมืองโลกในอนาคตตั้งแต่ช่วงนี้”

 

วิชาแก่น หรือความรู้พื้นฐานที่นี่ รวมเรียกว่า STEAM ประกอบด้วย Science, Technology, Engineering, Mathematics และ Arts ซึ่งล้วนจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ด้วยตัวเองในอนาคต ร่วมกับกับกลุ่มวิชาที่จะช่วยให้บัณฑิตเจริญเติบโตเป็นชนชั้นผู้นำ (Elite Class) ของโลกได้ในอนาคต อย่างน้อยต้องประกอบด้วยกลุ่มวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) และกลุ่มวิชาธุรกิจการประกอบการ (Entrepreneurship) ซึ่งเป็นแก่นวิชาหลักของหลักสูตร BAScii ที่นิสิตทุกคนจะต้องเรียนแบบบูรณาการ “เพราะเราผลิตบัณฑิตไม่ใช่เพื่อออกไปเป็นลูกจ้างตลอดชีพ แต่เพื่อไปเป็นผู้ประกอบการที่สร้างงานให้ผู้อื่นทำ”

ในระหว่าง 4 ปีของการศึกษา นิสิตทุกคนจะต้องทำ ‘โครงงานนวัตกรรม’ ด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆประกอบขึ้นเป็นโมเดลธุรกิจ โครงสร้างของหลักสูตรจึงเป็นปลายเปิดให้นิสิตมองหาเป้าหมายนวัตกรรมของตนเองก่อน ตามความชอบและความถนัด แล้วจึงเลือกเรียนวิชาต่างๆที่จะมาสนับสนุนเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีอาจารย์และพี่เลี้ยงภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในการตั้งบริษัท Startup มาก่อนมาคอยให้คำปรึกษา

หลักสูตรที่ออกแบบโดยมองย้อนกลับจากเป้าหมายสูงสุดมาสู่การจัดวิชาเรียนเพื่อสนับสนุน ซึ่งวางเป้าหมายสูงสุดไว้ว่า นิสิตที่จบหลักสูตรหลังผ่านไป 4 ปี คือ นิสิตจะสามารถสร้างธุรกิจ Startup อย่างเต็มตัวเพื่อรณรงค์หาทุนและพร้อมที่จะ Scale Up ในระดับนานาชาติได้

ดังนั้น ชั้นปีที่ 1 นิสิตจะเรียนรู้โมเดลธุรกิจและมีไอเดียในการเลือกโครงงานนวัตกรรม เปีที่ 2 แล้ว นิสิตจะเริ่มมีแนวความคิดในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมของตนเอง หรือบางกลุ่มอาจสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้เลย และเมื่อผ่านชั้นปีที่ 3 แล้วนิสิตหลายกลุ่มสามารถทดลองเปิดธุรกิจเพื่อทดสอบโมเดลธุรกิจที่ได้วางต้นแบบไว้

 

“เราให้นิสิตเลือกทำโครงการนวัตกรรมใน 4 สาขา” อ.วรศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงการแบ่งสาขาเพื่อให้นิสิตสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ตรงกับความสนใจ และนำไปใช้งานได้จริงในโครงการของตน

“สาขาแรก เป็นเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Health & Well-being) สังคมในอนาคตเป็นสังคมของคนสูงวัย โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อโควิด-19 สุขภาพกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงมองเห็นว่า จะต้องสร้างนวัตกรรม สร้างเครื่องมือเทคโนโลยีให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น”

“สาขาที่สอง จากการที่ประชากรของโลกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น (Urbanization) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 แล้ว สังคมเมืองจึงต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สามารถดูแลและรองรับคนทุกขนชั้นได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“สาขาที่สาม เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกับเป้าหมาย 17 ข้อของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ นิสิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปแล้วจะต้องทำตัวเป็นพลเมืองโลก รู้จักรับผิดชอบต่อโลก ด้วยการนำความรู้และเทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาของโลก”

“และสาขาสุดท้าย เป็นเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ในอนาคต เราเรียกว่า ปัญญาดิจิทัลประยุกต์ (Applied Digital Intelligence) ซึ่งก็ประกอบด้วยเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) และวิทยาการข้อมูล (Data Science) บัณฑิตส่วนนี้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างและใช้เครื่องมือแห่งอนาคต และที่สำคัญคือ เข้าใจประเด็นปัญหาและควบคุมการใช้เทคโนโลยีเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การคิดนอกกรอบจึงเป็นนิยามที่เห็นภาพได้ชัดเจน เริ่มจากที่ทางสถาบันกล้าคิดและกล้าทำหลักสูตรนอกกรอบ โดยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่มองเป้าหมายเป็นสำคัญ และการสนับสนุนให้นิสิตกล้าคิดนอกกรอบ เพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นผู้นำแห่งอนาคต สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะก้าวเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาของโลกในอนาคต

 

Real World Experiences เรียนรู้จากโลกจริง

สำหรับ BAScii กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าเนื้อหาและความรู้ การเรียนการสอนที่นี่จึงเน้นให้นิสิตได้ลงมือทำ Project-Based Learning หรือการเรียนรู้จากการทำโครงงาน เพื่อฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

“โครงงานจะสำเร็จเกิดผลจริงได้ จำเป็นต้องใช้ 6C ประกอบร่วมกัน ได้แก่ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์), Critical Thinking (ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์), Cross Culture (การทลายกำแพงระหว่างวัฒนธรรม), Communication (การสื่อสาร), Collaboration (ความร่วมมือ) และ Computer Literacy (ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกปลูกฝังอยู่ในตัวนิสิตของ BAScii ตลอดการเรียนและการทำงาน” อ.วรศักดิ์กล่าว

จากเรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านประสบการณ์การเรียนของนิสิตด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเข้าเรียนในคณะใหม่ที่นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในชีวิต จนมาถึงตอนนี้ (ปีการศึกษา 2564) ที่มีนิสิตชั้นปีที่ 3 เป็นนิสิตรุ่นแรกของสถาบัน และเดินทางก้าวออกไปสู่วงการสตาร์ทอัพผ่านประสบการณ์เริ่มต้นโครงการในชีวิตจริงเรียบร้อยแล้ว

แน็ตตี้ – ณัฐภรณ์ ตรีเทพจุลยากูล นิสิตชั้นปีที่ 3 เป็นนิสิตรุ่นแรกของสถาบัน เธอเล่าให้ฟังถึงการเลือกเข้าเรียนที่นี่ได้อย่างน่าสนใจ “นับเป็นประสบการณ์แห่งการตัดสินใจเลยค่ะ เพราะเป็นรุ่นแรก แต่เหตุผลหลักๆ ที่เลือกเรียนที่นี่คือ แน็ตเป็นคนมีเป้าหมายอยู่แล้วว่า อยากทำธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการ คณะนี้จึงตอบโจทย์ที่สุดเพราะใหม่มาก”

“แต่ด้วยความที่เป็นคณะใหม่มาก คนก็มักจะถามว่าเรียนอะไร เราก็จะตอบไปง่ายๆ ว่าเป็นเหมือน BBA+ISE ที่ได้ทั้งเรื่องธุรกิจและวิศวกรรม แต่ความพิเศษของการเรียนที่นี่คือ ด้วยการเรียนแบบ Project-Based ทำให้เราแบ่งเวลาของตัวเองได้ ทำกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัย และมีเวลาในการริเริ่มเป็นเจ้าของอะไรบางอย่าง ซึ่งพอได้ลงมือทำจริงๆ ก็มีทั้งสำเร็จและเฟล แต่ก็ยังมีการสนับสนุนจากพี่ๆ อาจารย์ให้ลุกขึ้นใหม่ได้”

“จนตอนนี้ก็มีโครงการที่ทำกับเพื่อนๆ ในคณะเป็นแพลตฟอร์มการระดมทุนช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศไทย และต้องการเงินสนับสนุนค่ารักษาพยาบาล ซึ่งการเรียนแบบนี้เป็นเหมือนการเปิดประตูบานใหม่ เป็นประสบการณ์ให้เราได้รู้จักตัวเอง รู้จักโลก รู้จักผู้คนได้ลึกและกว้างกว่าที่เคย”

ในส่วนของ ข้าวปุ้น – ปวเรศ เทวหสกุลทอง และ น้ำทิพย์ – ญาณิน เกษมสิน ทั้งสองเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ที่สนใจในเรื่องราวการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง ทั้งสองได้พัฒนาโครงการของตัวเองด้วยการทำชุดตรวจ ATK และการบันทึกผลตรวจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะที่ริเริ่มโครงการของตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ยังได้ทดลองการเข้าฝึกงานกับองค์กรในความร่วมมือของทางคณะด้วย

ข้าวปุ้นเล่าถึงประสบการณ์การเรียนแบบลงมือทำ “คณะนี้ต่างจากคณะสายวิชาชีพ ตรงที่เราอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าจบไปทำงานอะไรในตอนแรก แต่ระหว่างที่เรียน เราได้รู้จักตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ได้มีโอกาสลองเข้าไปทำตรงนั้น และได้มองเห็นเส้นทางในอนาคตของตัวเองมากขึ้น ถ้าสุดท้ายแล้วโครงการที่ทำอยู่สำเร็จ เราก็ได้กลายเป็นผู้ประกอบการอย่างที่หวังไว้จริงๆ แต่ถ้าผิดพลาด เราก็ยังมีทางเลือกอีกหลายเส้นทางจากการฝึกงาน ยังมีโอกาสของการทำงานในอนาคตอยู่”

“ตอนเรียนมัธยมปลาย ก็ได้ลองเลือกเรียนหลายสายทั้งธุรกิจและศิลปะ และพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เลยรู้สึกว่า BAScii เป็นคณะที่รวมความชอบความสนใจของตัวเองในคณะนี้ และยังได้เปิดโอกาสในการสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองตั้งแต่ยังเรียน” น้ำทิพย์เล่า “พอเรียนหลายวิชาไปเรื่อยๆ เราก็ได้พบว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ คือการวิจัยผู้ใช้งานและการออกแบบโซลูชั่น เลยได้เห็นตัวเองชัดขึ้นผ่านทั้งการเรียน และการทำงานพาร์ทไทม์ในบริษัท ซึ่งกำลังจะทำแบบฟูลไทม์ตอนปิดเทอมนี้”

 

‘บัณฑิตพันธุ์ใหม่’ คือนิยามที่ อ.วรศักดิ์ ให้กับนิสิตของ BAScii  “พันธุ์ใหม่ ก็คือ บุคลากรที่เมื่อจบไปแล้วกลายเป็น ทุนมนุษย์ (Human Capital) ของประเทศและของโลก ชึ่งหมายถึงบุคคลที่เพียบพร้อมไปด้วย ความรู้ ทักษะ กรอบความคิด และคุณสมบัติทางสังคม ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือผลในเชิงบวกต่อสังคม พร้อมกับดำรงตนเป็นพลเมืองโลกที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของสังคมโลกได้ตลอดเวลา และมีความพร้อมในการร่วมรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาของโลก สรุปสั้นๆ คือ สถาบันเราสร้างบัณฑิตสำหรับโลกอนาคต”

การพัฒนาบุคลากรของ BAScii เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของพลเมืองโลกอย่างแท้จริง โดยอาจารย์เกือบ 70% เป็นอาจารย์ใหม่ไฟแรงจากต่างประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ GIFTED หรือ Global Innovator Faculty Towards Early-Careered Development ที่เปิดรับบุคลากรที่มีศักยภาพจากทั่วโลกเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ร่วมกัน จุดประสงค์เพื่อสร้างศูนย์กลางระบบการศึกษานานาชาติของภูมิภาค โดยเริ่มต้นขึ้นที่นี่ และเป้าหมายจำนวนนิสิตต่างชาติที่ 30% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 10% อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19

 

“ผมได้รับคำถามจากผู้ปกครองบ่อยมากว่า เด็กจบไปแล้วทำอะไร?” อ.วรศักดิ์เล่า “เราต้องยอมรับว่าราเป็นหลักสูตรใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ก่อนจะเข้ามาเราบอกผู้ปกครองชัดเจนมากว่า นิสิตที่เข้ามาเค้ามองประโยชน์ของอนาคตมากกว่าปัจจุบัน เด็กจะมาเรียนกับเรา เค้าต้องมีความคิดพิเศษมากๆ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการยอมเสียสละปัจจุบันเพื่ออนาคต อย่างการเรียนเฉพาะทางอย่างไรก็ไม่ตกงาน แต่เรียนกับเราต้องสร้างงานเอง เพราะฉะนั้นเด็กที่จบจากเราจะเป็นผู้ประกอบการก็ได้ นวัตกรก็ได้  ไปช่วยปรับเปลี่ยนองค์กร หรือนำความรู้ที่เรียนจากเราก็ไปเรียนต่อได้ โดยเฉพาะกับพันธมิตรมหาวิทยาลัยทั่วโลก”

“เราคิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่พิเศษมาก แล้วก็ในอนาคตผมคิดว่า ถ้ามองไปไกลๆ เขาจะเติบโตเป็น ‘ต้นทุนมนุษย์’ ที่เป็นหลักของประเทศต่อไป”

 

สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 4 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10)
โทร. 0-2218-3137
https://scii.chula.ac.th

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


อ่านเพิ่มเติม CMU Lifelong Education พื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.