CMU Lifelong Education พื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน

CMU Lifelong Education พื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน

CMU Lifelong Education
พื้นที่สาธารณะที่ตั้งใจให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

ภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างอิสระรอบอ่างแก้วเป็นภาพที่ชินตาของเชียงใหม่มาแสนนาน โดยเฉพาะหลังจากการปรับทัศนียภาพครั้งใหญ่ พื้นที่สาธารณะแห่งนี้เปิดต้อนรับทุกคนทั้งในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้งานพื้นที่ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการใช้ชีวิต

“ถ้าเรามองกันดีๆ มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อชุมชน”​ รศ.ดร.​ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง “การมีอยู่ของมหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะ เพื่อนำความรู้ไปทำงาน ช่วยเหลือสังคม หรือประกอบธุรกิจ นั่นคือกรอบเดิมของการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพ”

มหาวิทยาลัยคือแหล่งทรัพยากรอันทรงคุณค่า ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ บุคลากร และอาคารสถานที่ที่ผู้คนในชุมชนเข้าถึงได้ แล้วทำไมการศึกษาขั้นสูงจึงจำกัดอยู่แค่กับการบ่มเพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย? จะดีกว่าไหมถ้าความรู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อสู่ผู้คนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง? นี่คือโจทย์ที่นำมาสู่การก่อตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2561

 

Reinventing University ปรับวัฒนธรรมการเรียนรู้

วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนจะคิดถึงเรื่องการศึกษาเป็นการเรียนที่เกิดขึ้นตามระบบ ขั้นตอน ตามอายุ เพื่อให้จบตามแต่ละขั้นของการศึกษาไป การศึกษาเป็นกระบวนการที่ตอบสนองจุดประสงค์ระยะสั้น”​

ในยุคที่โลกเปิดกว้าง ผู้คนต้องปรับตัวเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่ตลอด หรือแม้แต่การลงลึกในเรื่องราวที่ตัวเองสนใจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป คำว่า ‘การศึกษา’ จึงไม่ได้ถูกผูกติดอยู่กับสถาบันการศึกษาหรือกรอบเวลาอีกต่อไป หากแต่นี่ก็เป็นอีกพันธกิจของสถาบันที่ก็ต้องปรับตัวเปิดกว้างต้อนรับผู้คนอย่างเป็นมิตรเช่นเดียวกัน เป้าหมายชีวิตระยะยาวจึงกลายมาเป็นนิยามของการศึกษายุคใหม่

“การก่อตั้งวิทยาลัยนี้ขึ้นมา เกิดจากประสบการณ์ การมองเห็นข้อมูล แล้วนำมาปรับเปลี่ยนที่วัฒนธรรมการเรียนรู้ แต่การเปลี่ยนในระดับวัฒนธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเป็นเรื่องของความเชื่อ แล้วนำความเชื่อนี้ไปปฏิบัติ บางทีเราเชื่อว่าเราต้องพัฒนาตัวเอง เราไปลงคอร์สออนไลน์เอาไว้ แต่บางทีเราอาจจะไม่ทำก็ได้ นี่จึงเป็นความท้าทายมากว่า เราจะทำให้คนปฏิบัติจริงได้อย่างไร?”

การปรับโครงสร้างให้ผู้คนเข้าถึงข้อจำกัดที่น้อยลง เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ให้ง่ายขึ้น จึงเป็นหลักแนวคิดที่วิทยาลัยยึดถือเพื่อสร้างสรรค์แต่ละหลักสูตรให้เข้าถึงผู้เรียน สร้างแรงจูงใจให้เรียนอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นภาพของการเรียนที่สอดประสานเข้ากับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างไปตามแต่ละบุคคล

“ในด้านการเรียนการสอน เราพยายามทำให้คนถือปฏิบัติเหมือนเป็นวัฒนธรรม จึงมีการปรับปรุงทั้งเรื่องความหลากหลายของหลักสูตร ระยะเวลาในการเรียนที่สั้นกระชับ และการออกแบบแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เข้าถึงได้ตลอด ผสมผสานกับเวิร์คช็อป หรือการพัฒนาความเข้าใจเรื่อง Soft Skill หรือทักษะทางปฏิสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่า ตัวเองจะต้องพัฒนาอยู่เสมอ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และรักที่จะเรียนรู้”

 

Learning Ecosystem ระบบนิเวศการศึกษายุคใหม่

ด้วยจุดแข็งของความเป็นมหาวิทยาลัย ที่นอกจากจะเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญขององค์ความรู้ทั้งดั้งเดิมและการผลิตองค์ความรู้ใหม่ในหลากหลายสาขาวิชาแล้ว วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตยังทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อจุดความร่วมมือจากองค์กรหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่เข้มแข็งและใช้งานได้จริงในชีวิต

วิทยาลัยแบ่งหลักสูตรการศึกษาออกเป็นการอบรมระยะสั้น เรียนร่วม เกษียณมีดี และ Skills4life ครอบคลุมทุกช่วงวัยของชีวิต

โครงการเรียนร่วม หรือ Advanced@CMU คือโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกสถาบัน รวมทั้งบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาร่วมเรียนกับวิชาในคณะของนักศึกษา มช. ในฐานะ ‘ผู้เรียน’ ในแบบ Non Degree หรือสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตสำหรับเทียบโอนได้ในอนาคตหากผ่านเข้าเป็นนักศึกษา มช. และที่สำคัญคือ การได้ประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนเป็นนักศึกษาของ มช.

“คำว่า advanced มีหลายความหมาย อาจจะแปลว่า ล่วงหน้า เรียนก่อน หรือหมายถึงระดับที่สูงกว่า ตรงนี้เกิดจากไอเดียที่ว่า ในการศึกษาระดับมัธยมศึกษามีโอกาสที่โรงเรียนมัธยมน่าจะต้องเริ่มออกแบบความรู้ที่นักเรียนอยากมีด้วยตัวเองได้ ผ่านวิชาในหมวดวิชาเลือกเสรี แต่ด้วยข้อจำกัดของโรงเรียนเองที่ไม่สามารถสร้างคอร์สที่ตอบโจทย์กับทุกคนได้ เราเลยมีคอร์สของมหาวิทยาลัยเทอมละเกือบร้อยกว่าตัวให้นักเรียนเลือก นักเรียนก็จะได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียน หรือเป็นช่องให้เด็กได้ลองค้นหาตัวเองดู”

น้องนายน์ – ภรภัทร ชนาวิทย์ และน้องเก้า – ศิริณิช ติมัน

โครงการนี้เริ่มต้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ น้องเก้า – ศิริณิช ติมัน และน้องนายน์ – ภรภัทร ชนาวิทย์​ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เลือกลงเรียนวิชาแคลคูลัสระดับมหาวิทยาลัย

“จริงๆ ผมอยากเรียนต่อคณะแพทย์” น้องเก้าเริ่มเล่า “แต่ผมไปเจอวิชาฟิสิกส์ที่ต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เยอะก็เริ่มสนใจแคลคูลัส จนไปคุยกับเพื่อนที่เป็นโอลิมปิกฟิสิกส์ว่าแคลคูลัสทำให้เข้าใจนิยามทางคณิตศาสตร์ในเชิงลึก เพื่อเราจะสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้มากขึ้น เลยลองเรียนและเจอของจริงเลยดีกว่า”

“ตั้งแต่ขึ้นชั้นมัธยมปลายมา ผมไม่ได้เรียนเพื่อเอาไปสอบ สำหรับผมคือ เรียนเพื่อรู้ความเป็นไปของสิ่งที่เรียนจริงๆ เหมือนบางทีก็เรียนสนองความอยากของตัวเอง เพราะอยากรู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น อยากรู้ว่าแต่ละสูตรมีเบื้องหลังเป็นมาอย่างไร เรียนแบบอยากรู้มันก็สนุกดีตรงที่เราได้เรียนรู้อะไรลึกๆ เชื่อมโยงความรู้ แล้วก็จำได้ไม่ลืมเลย”

ส่วนน้องนายน์ เธอเลือกเรียนวิชาแคลคูลัสเพราะความชอบในวิชาคณิตศาสตร์เป็นทุนเดิม “หนูได้ยินคนบอกว่าวิชาแคลคูลัสค่อนข้างยาก ก็เลยอยากลองดู พอมาเรียนจริงก็สอบได้ 98.2 คะแนน และได้ค้นพบความชอบของตัวเองในห้องเรียนนี้ ส่วนวิชาถัดไปอยากเรียนบัญชี เพราะตั้งใจอยากเข้าบริหารตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เลยอยากลองเรียนให้เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนในอนาคต”

เพราะเป็นการเรียนในแบบมหาวิทยาลัย มาตรฐานทั้งหมดตั้งแต่การเรียนการสอนในห้องเรียน ไปจนถึงการสอบวัดผลจึงใช้แบบเดียวกับห้องเรียนมหาวิทยาลัย “เพราะเราไม่ได้อยากให้เขาได้แค่ความรู้ เราอยากให้เขาได้ประสบการณ์เหมือนกับเด็กมหาวิทยาลัยจริงๆ” อาจารย์ปรารถนาเสริม

“ผมคิดว่าเพราะเราเรียนวิชาของมหาวิทยาลัย เราก็ควรจะปรับตัวให้เรียนแบบนั้นให้ได้”​ น้องเก้าแชร์ให้ฟังถึงประสบการณ์การเรียนรูปแบบใหม่ของตัวเอง “การเรียนแบบมหาวิทยาลัยทำให้ผมโตขึ้นเยอะ อาจารย์ไม่ทวงงานแล้วนะ แต่เราต้องไปตามส่งเอง ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้มากขึ้น ก็กลายเป็นสกิลติดตัว ผมก็ภูมิใจด้วยที่เราข้ามผ่านตัวเองที่เป็นเด็กมาได้”

 

Long Term Goals ความรู้เพื่อคนทุกช่วงวัย

“เนื่องจากชื่อคือ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต ก็ต้องแตกการเรียนให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มด้วย” อาจารย์ปรารถนาเล่าถึงหลักสูตรที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน “ในอนาคต ปริญญาอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การได้ความรู้ หรือใบแสดงผลการเรียนของ มช. มันก็การันตีอะไรบางอย่าง ว่าเขามีทักษะตรงนั้น ก็มีทั้งการอบรมระยะสั้น หรือเรียนสะสมหน่วยกิตไว้ก่อนได้”

“เพราะตอนนี้เรามีคนอายุ 55 ขึ้นไปคิดเป็น 20% ของประชากรประเทศ” อีกกลุ่มที่ลืมไม่ได้ในยุคที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โครงการ ‘เกษียณมีดี’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเติมไฟให้กับผู้สูงวัยทั่วประเทศ “กลุ่มคนสูงวัยหลายคนเขายังไม่พร้อมจะเกษียณ เราเลยมาคิดว่าต้องมีทักษะอะไรบ้างที่ทำให้สามารถผันตัวเองมาทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ”

ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทยมีทั้งเรื่องเทคโนโลยี การขนส่ง และนวัตกรรมการเงิน โครงการเกษียณมีดีจึงต้องการต่อยอดทักษะการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ไปพร้อมกับการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านให้คงอยู่ และทำรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้โดยตรง

“เราใช้วิธี Train the Trainer หรือเอาแหล่งเรียนรู้ไปอบรมครูโรงเรียนผู้สูงอายุที่เป็นครูเกษียณ ครูการศึกษานอกโรงเรียน หรือพระ ในแต่ละชุมชนอีกที เริ่มจากไปพบปะกันต่อหน้าหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นก็จะใช้การคุยกันแบบออนไลน์ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตั้งราคา การถ่ายรูป ทักษะความรู้ด้านการเงิน ไปจนถึงการเปิดตลาดส่วนกลางให้มีพื้นที่ซื้อขายได้จริง ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งปี เราทำได้ 9 จังหวัดจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งเป้า 10,000 คนในปีแรกที่จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้”

เราถามถึงเป้าหมายในอนาคตของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “เราจินตนาการว่า ทุกคนไม่ว่าคนไทย หรือใครก็ตาม ควรต้องมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงความรู้ที่มหาวิทยาลัยสามารถมอบให้ได้”

อาจารย์ปรารถนาขยายความต่อ “ในอนาคตข้างหน้า เราอยากเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งทางกายภาพ และเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน ไม่จำกัดว่าเป็นใคร ปลายทางแล้ว เราอยากให้คนมีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ วิทยาลัยเอง อย่างน้อยจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเชื่อ”

“ความฝันของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต คือการทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมอาจารย์ปรารถนาทิ้งท้าย “ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ท้าทาย วันนี้มหาวิทยาลัยได้เริ่มปรับระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งด้านหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และประสบการณ์เข้าถึงให้กับคนทุกวัย”

“ต่อไป ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้เรียนที่จะขับเคลื่อนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้หมุนเวียนสร้างพลวัตให้กับสังคมต่อไป”

 

วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทร. 0-5394-3695-6, 06-4995-9333
https://www.lifelong.cmu.ac.th

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ อโณทัย สินโพธิ์ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อ่านเพิ่มเติม Art of Anatomy ศิลปะแห่งร่างกาย และการเรียนรู้ความงามของสัดส่วนมนุษย์

Recommend