วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ 4 หลักสูตรใหม่ จาก Thammasat School of Engineering

ก้าวสู่โลกกว้างของวิศวกรยุคใหม่ กับทักษะรอบด้านที่มีมากกว่า อัปเดตกว่า ย่อมได้เปรียบกว่า

โลกแห่งการทำงานและการเรียนในปัจจุบันก้าวข้ามคำว่าขอบเขตไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะสาขาวิชาชีพใดก็จำเป็นจะต้องวิ่งตามให้ทันนวัตกรรมและแนวโน้มของยุคสมัยให้ได้

เช่นเดียวกันกับสาขาวิชาวิศวกรรม อีกหนึ่งสาขาที่นับเป็นอาชีพผู้สร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนโลกให้เดินไปข้างหน้า ทักษะและองค์ความรู้ข้ามสายงานเป็นเครื่องมือจำเป็นที่จะทำให้ได้เปรียบในตลาดแรงงานยุคใหม่ทั้งในสายงานวิศวกรรมศาสตร์ รวมไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

หลักสูตร ‘วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ’ หรือ TEPE (Thammasat English Programme of Engineering) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเริ่มต้นขึ้นในปีการศึกษา 2566 เพื่อสร้างวิศวกรศักยภาพสูง เติมทักษะความรู้หรือคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไปพร้อมกับการสร้างวิศวกรผู้สร้างนวัตกรรมที่ตอบกับความต้องการรอบด้านของประชากรโลก

สร้างหลักสูตรใหม่ จากแนวโน้มวิศวกรรมแห่งอนาคต

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลอดระยะทางกว่า 3 ทศวรรษของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านทั้งเทรนด์การศึกษาในแต่ละยุคสมัยและเพาะบ่มความเชี่ยวชาญของการเป็นพื้นที่แห่งองค์ความรู้จนเชี่ยวกรำ จนมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวของมหาวิทยาลัยก็มีบทบาทในการปรับกรอบความคิดหรือ Mindset โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ข้ามศาสตร์และทักษะความรู้ให้กับนักศึกษาเช่นเดียวกัน

“มาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 33 แล้ว ถึงเวลาต้องมีการทบทวนบทบาทของสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมที่เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ เป็นที่มาของปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทักษะตามความต้องการของอนาคต” รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเปิดตัว 4 หลักสูตรใหม่

รศ.ดร.นภดล อุชายภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหารหลักสูตรนวัตกรรม

หลักสูตรโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TEPE ถูกออกแบบโดยมองไปถึงแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต และการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ไม่ได้จำกัดปลายทางอยู่ที่การฝึกงานหรือทำโปรเจกต์จบในแบบเดิมๆ

ตลอดระยะเวลา 4 ปีในหลักสูตรจัดการเรียนการสอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งเป็นการเรียนตามรายวิชาของโครงสร้างหลักสูตร 3.5 ปี และเทอมสุดท้ายนักศึกษาสามารถเลือกศึกษาตามแผนการเรียนที่ตนเองต้องการได้ ได้แก่

  1. Research Track – เลือกทำโปรเจกต์หรือทำงานวิจัย (Research)
  2. Exchange Track – เลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ กับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาของคณะ
  3. Long-term Internship Track – เลือกเข้าร่วมโครงการฝึกงานระยะยาว ณ สถานประกอบการในประเทศไทย หรือต่างประเทศ

พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ กับองค์ความรู้ฉบับสมบูรณ์

ในส่วนของหลักสูตรบูรณาการ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานพันธมิตรที่จะช่วยเข้ามาเติมเต็มการเรียนการสอนให้เข้มข้น และเข้าถึงการประยุกต์ใช้งานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและโลกอย่างแท้จริง

เวทีเสวนากับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 3 แห่ง

ความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 3 จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ทั้ง 4 เพื่อเพิ่มทักษะเฉพาะทางไปพร้อมกับความรู้รอบด้านจากผู้รู้จริงที่รวบรวมมาให้พร้อมเรียนรู้เพื่อสร้างวิศวกรยุคใหม่ออกสู่ตลาดโลก

  1. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและข้อมูล (Electrical and Data Engineering) กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

หลักสูตรที่เน้นองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระบบ IoT, AI, Coding, Cloud Computing และการประมวลผลข้อมูล ครบทั้ง Hardware, Software และ Data Analysis โดยความร่วมมือกับ NECTEC ที่มุ่งเน้นส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิศวกรรม เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากตัวจริง และพัฒนาโปรเจกต์จากชั้นเรียนสู่การใช้งานจริง

  1. หลักสูตรวิศวกรรมโยธา และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Civil Engineering and Real Estate Development) กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. (TDS)

หลักสูตรที่เน้นองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการก่อสร้าง พร้อมกันกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และการวางแผนการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง โดยนักศึกษาทั้ง 2 คณะสามารถลงทะเบียนเก็บหน่วยกิตในรายวิชาที่เกี่ยวข้องได้

  1. หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลและการจัดการอุตสาหกรรม (Mechanical Engineering and Industrial Management) กับมหาวิทยาลัยอีแกม ลาซาล ประเทศฝรั่งเศส (ECAM LaSalle, France)

หลักสูตรมุ่งเน้นผลิตวิศวกรเครื่องกลที่มีองค์ความรู้ด้านการบริหารอุตสาหกรรม บูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ระบบ IoT และ Automation รวมทั้งการจัดการอุตสาหกรรม โดยทาง ECAM เปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาผ่านโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยในความร่วมมือ และล่าสุดกับการเปิดตัว Training Center ที่ มธ.ศูนย์พัทยา เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมแห่ง EEC

  1. หลักสูตรวิศวกรรมเคมีและการจัดการ (Chemical Engineering and Management)

หลักสูตรวิศวกรรมเคมีที่ควบคู่ไปกับความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดการทางวิศวกรรม รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี เพื่อพร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ตอัพแบบเต็มตัว

นับว่าการเริ่มต้นการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมและสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของการเรียนวิศวกรรม อันเป็นรากฐานที่แข็งแรงของการพัฒนาแนวคิดของนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมในอนาคต ต่อยอดไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศผ่านบุคลากรคุณภาพยิ่งขึ้นไป

โครงการหลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ (TEPE)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

โทร. 0-2564-3001 ต่อ 3256 , 08-3618-3410

Facebook Fanpage : TEP-TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Line Official : @tse-thammasat

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี


อ่านเพิ่มเติม คลังหน่วยกิตแห่งชาติ สู่อนาคตไทยผ่านการศึกษาตลอดชีวิต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.