คลังหน่วยกิตแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะด้านการเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงองค์ความรู้
คลังหน่วยกิตแห่งชาติ – ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใบปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรยังคงเป็นเรื่องจำเป็นในฐานะเครื่องมือรับรองความรู้ความสามารถ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การศึกษาไม่ได้ถูกจำกัดทั้งในเรื่องพรมแดนหรือหมวดวิชาอีกต่อไป การหาความรู้นอกห้องเรียนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้คนที่ต้องการ Upskill พัฒนาทักษะเดิม และ Reskill เพิ่มเติมทักษะใหม่ จึงยิ่งเป็นเรื่องดีถ้าทักษะเหล่านี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
ด้วยความเร็วและความง่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ทำได้ง่ายและเรียลไทม์มากขึ้น เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มจัดการเรียนการสอนในแบบการศึกษาตลอดชีวิตผ่านเครื่องมือดิจิทัลอย่างเป็นจริงเป็นจัง และนับเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องรวบรวมความรู้ความเชี่ยวชาญจากโลกออฟไลน์มาสร้างพื้นที่ออนไลน์ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนจากทุกที่
การจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้เป็นระบบจึงเป็นหัวเรื่องที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Lifelong Learning Nation หรือประเทศที่เอื้อต่อการศึกษาตามนโยบายที่วางเอาไว้ แนวความคิดในการจัดตั้ง คลังหน่วยกิตแห่งชาติ หรือ National Credit Bank System จึงเริ่มต้นขึ้น
นโยบายภาครัฐ เพื่อสร้างระบบนิเวศการศึกษาตลอดชีวิต
โจทย์ตั้งต้นที่สำคัญ และนับเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศไทยคือ การพัฒนากำลังคนให้กับประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่การศึกษาภาคบังคับหรือในระบบเท่านั้น แต่การศึกษาตามอัธยาศัย หรือการศึกษานอกห้องเรียนก็กลายมาเป็นรูปแบบใหม่ของการเรียนรู้ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน งานรูปแบบใหม่ และพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้คนที่แตกต่างจากอดีต
การเปลี่ยนให้ผู้คนจากทุกช่วงวัย ทุกอายุ ทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยเครื่องมือดิจิทัลอย่างแพลตฟอร์มการเรียนการสอน คอร์สอบรม หรือการศึกษาตามอัธยาศัยได้เริ่มต้นและประสบความสำเร็จมาแล้วระยะหนึ่ง ลำดับถัดมาจึงเป็นหน้าที่ของนโยบายภาครัฐในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศของการศึกษาแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
คลังหน่วยกิตแห่งชาติ หรือ National Credit Bank System จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียนที่ต้องการสะสมหน่วยกิตในวิชาเรียนที่ตัวเองสนใจสำหรับต่อยอดในอนาคต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการเรียนรู้หัวเรื่องอื่นนอกจากวิชาเอกของตัวเอง คนทำงานที่ต้องการเพิ่มทักษะใหม่ให้กับอาชีพหรือย้ายสายงาน ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้อย่างไม่มีสิ้นสุด สามารถเข้าถึงแหล่งวิชาและหลักสูตรต่างๆ จากหลากหลายแหล่งเรียนรู้ แล้วเก็ฐสะสมหน่วยกิตเหล่านี้นำมาเทียบโอน และสะสมเพื่อขอใบรับรองการเรียนรู้ หรือปริญญาบัตร ตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษา
ในส่วนระเบียบของทางภาครัฐเอง ก็ได้มีการประกาศกฎกระทรวงฯ เรื่องมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2565 ไปเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบ Lifelong Learning หรือการศึกษาตลอดชีวิต ที่ว่า
‘การสะสมผลการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อพัฒนาตนเองหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสำเร็จหลักสูตรการศึกษา หรือเพื่อขอรับปริญญา ให้กระทำได้โดยระบบคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
- การนำผลการเรียน ผลลัพธ์การเรียนรู้ สมรรถนะ หรือประสบการณ์มาเทียบหน่วยกิตและสะสมในคลังหน่วยกิตได้ตามหลักเกณฑ์การเทียบโอน
- การไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ คุณวุฒิของผู้เรียน และระยะเวลาในการเรียน
- การลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสม
- การลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตในสถาบันอุดมศึกษามากกว่าหนึ่งแห่งได้’
นิยามมหาวิทยาลัยในอดีต สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในปัจจุบัน
ตลาดแรงงานในปัจจุบัน และมองไกลต่อไปถึงอนาคตคือ งานรูปแบบใหม่ๆ ที่มาจากความรู้และทักษะหลายสาขา รวมรวมและบูรณาการกลายเป็นอาชีพที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียง ศาสตร์ หรือสาขาวิชาเอก เหมือนในอดีตอีกต่อไป
และนี่เป็นโจทย์สำคัญที่มหาวิทยาลัยยุคใหม่จะต้องตามให้ทัน เพื่อใช้องค์ความรู้และบุคลากรที่มีในมือเพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยในมุมมองแบบองค์รวม ทั้งการศึกษาภาคปกติ ควบคู่ไปกับการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้เรียน
ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ระเบียบซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ อว. และอีกส่วนคือ เชิงเทคนิค ในแง่ของแพลตฟอร์ม แหล่งข้อมูล หรือระบบสารสนเทศ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกลไกที่สมบูรณ์
ในการเริ่มต้นระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ทาง อว. จึงร่วมมือกับ SkillLane สตาร์ตอัปการศึกษาที่รวมวิชานอกห้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการนำร่องทดลองระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างเต็มความสามารถ ลดข้อจำกัด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึง และเชื่อมโยงแหล่งความรู้เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะเริ่มใช้งานจริงในช่วงกลางปี พ.ศ.2566
นอกจากคลังหน่วยกิตแห่งชาติจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการศึกษาไทยในยุคดิจิทัลแล้ว ยังเปลี่ยนภาพอุดมคติของการศึกษาในแบบเดิมๆ ที่จะต้องจำกัดในวงมหาวิทยาลัยหรือเฉพาะสาขาวิชา มาสู่การศึกษาตามความอยากเรียนอยากรู้ และความสนใจของผู้เรียน เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของประเทศ อันเป็นคุณค่าอันแท้จริงของการศึกษา
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี